Life

NIHON STORIES: BLACK COMPANY บริษัทสีดำในญี่ปุ่นที่ใช้งานลูกน้องหนักยิ่งกว่าทาส

By: TOIISAN February 12, 2019

ถ้าทำงานแล้วได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่าหรือมีหัวหน้าที่เข้าอกเข้าใจถึงงานหนักแค่ไหนก็ยังไหว แต่นั่นไม่ใช่กับบริษัทที่มีนโยบายแบบ Black Company เพราะนอกจากจะใช้งานหนักเยี่ยงทาสแล้ว บริษัทสีดำเหล่านี้ยังจ่ายเงินค่าล่วงเวลาในจำนวนที่น้อยนิด หรือถ้าหนักขึ้นไปอีกอาจจะต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้างด้วยซ้ำ แถมยังต้องทำงานในวันหยุดอีกด้วย มันเกิดอะไรขึ้น ? แล้วทำไมเหล่ามนุษย์เงินเดือนเหล่านั้นถึงยังต้องยอมทนอยู่ ? 

ในช่วงสมัยที่ยากูซ่ายังมีอยู่ทั่วทั้งญี่ปุ่น ยากูซ่าเหล่านี้จะเปิดบริษัทเพื่อวัตถุประสงค์หลายอย่างไม่ว่าจะการสร้างช่องทางเป็นแหล่งรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงแก๊งของตัวเอง หรือมีไว้เพื่อบังหน้าจากการทำธุรกิจใต้ดินผิดกฎหมาย ทำให้ในสมัยก่อนบริษัทของยากูซ่าเหล่านี้จะถูกเรียกกันว่า Black Company

อย่างไรก็ตาม บริษัทสีดำที่ว่าในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงแค่ชื่อเรียกเฉพาะกับธุรกิจของเหล่ายากูซ่าอีกต่อไป แต่มันหมายถึงสำนักงานต่าง ๆ ทั่วเกาะญี่ปุ่นที่ใช้แรงงานพนักงานกินเงินเดือนเยี่ยงทาสอีกด้วย

Medium

Black company (ブラック企業 burakku kigyō) บริษัทสุดโหดที่ชอบใช้งานพนักงานมากเกินความจำเป็น และมักเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการในสายครีเอทีฟและสายบันเทิงอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร บริษัทผลิตเกม และรายการทีวีช่องต่าง ๆ ปัจจุบันบริษัทสีดำในญี่ปุ่นเหล่านี้ก็ขยายวงไปยังวงการอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว

นอกจากรายได้อันน้อยนิดกับการทำงานล่วงเวลาที่หนักหน่วง อีกหนึ่งสิ่งที่ตามมาและพบเห็นได้บ่อยครั้งในบริษัทประเภท Black Company คือเรื่องของ power harassment หรือการกดขี่ กดดัน ข่มขู่พนักงานไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย ซึ่งเหล่าลูกน้องในบริษัทสีดำเหล่านี้จะต้องน้อมรับแต่โดยดี ห้ามเรียกร้องหรือคัดค้านอะไรทั้งสิ้น

ไม่ใช่เพียงแค่ความกดดันหรือการข่มขู่เท่านั้น เพราะในบางครั้งพนักงานที่เป็นผู้หญิงก็มักจะโดน sexual harassment หรือการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศอยู่บ่อยครั้ง การกล่าวอ้างนี้ก็ไม่ได้เขียนขึ้นลอย ๆ เพราะการสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2016 พบว่าเหล่าหญิงสาวมนุษย์เงินเดือนกว่าร้อยละ 3 ถูกคุกคามทางเพศโดยคนในที่ทำงาน

ในเมื่อเงินก็น้อย เหนื่อยจนแทบขาดใจ แถมยังโดนกดดันหรือบางครั้งอาจลามไปถึงการคุกคามทางเพศด้วยซ้ำ แล้วทำไมมนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่นถึงยังต้องทนอยู่กับบริษัทสีดำอีก ?

สาเหตุที่ทำให้ผู้คนต้องทนอยู่นั้นมีหลายปัจจัยด้วยกันไม่ว่าจะเป็นความเคยชินจากการโดนวิจารณ์บ่อยครั้งจนเสียความมั่นใจ พาลคิดว่าตัวเองไม่เก่งและไม่มีความสามารถอย่างที่บริษัทบอกจริง ๆ ก็ทำให้คนไม่กล้าลาออกไปไหน

Medium

นอกจากความไม่มั่นใจในตัวเองที่ทำให้คิดว่าเราจะขาดบริษัทไปไม่ได้ ค่านิยมดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต้องเร่งพัฒนาเมืองให้ทันประเทศอื่นพร้อมกับความคิดที่ว่าค่าของคนจะอยู่ที่ผลงานที่แสดงออกมา ทำให้ผู้คนในญี่ปุ่นเกิดความบ้างาน และคิดว่างานจะหนักแค่ไหนก็ต้องทนได้เพราะยังดีกว่าอยู่แบบไม่มีงานทำ

รวมไปถึงระบบจ้างงานตลอดชีพของญี่ปุ่นที่เมื่อบริษัทรับพนักงานเข้าทำงานแล้วก็จะจ้างไปจนถึงเกษียณ เลยทำให้คนญี่ปุ่นไม่นิยมย้ายงานกันบ่อย ๆ

เพราะบางครั้งการลาออกจากงานอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของพนักงานกินเงินเดือนในญี่ปุ่นเสมอไป เนื่องจากผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นปี 2018 ระบุว่ามีบริษัทที่ถูกจัดว่าเป็น Black Company นั้นมีเกือบทั่วทั้งเกาะญี่ปุ่น

livedoor

ดังนั้นไม่ว่ามองไปทางไหนก็มักจะเจอกับ Black Company อยู่เสมอ เมื่อลาออกก็ไม่ได้ งานก็หนัก เงินเดือนก็น้อย ผลที่ตามมาจึงทำให้มีพนักงานกินเงินเดือนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจหาทางออกโดยการฆ่าตัวตาย

ในปี 2008 มีพนักงานอายุ 26 ปีคนหนึ่ง ทำงานในบริษัทด้านอาหารฆ่าตัวตายหลังจากเข้าทำงานไม่ถึง 60 วัน เพราะการใช้งานที่กดขี่และล่วงเวลาโดยไม่ได้ค่าตอบแทน ทำให้ทางบริษัทต้องออกมาขอโทษภายหลังพร้อมกับรับผิดชอบค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 130 ล้านเยน

ในปี 2013 กับกรณีนักข่าวสาวเสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลวเนื่องจากการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละเดือนเธอได้หยุดเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น และก็ยังมีกรณีทำนองนี้เกิดขึ้นให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ในญี่ปุ่น แถมบางบริษัทก็ไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายให้โดยใช้ช่องโหว่ตั้งแต่ตอนจ้างงานด้วยการไม่ออกสัญญาจ้างให้กับพนักงานในวันที่ทำข้อตกลงกัน

The Japan Times

แม้ปัจจุบันหลายบริษัทที่มีระบบแบบ Black Company จะถูกเปิดชื่อออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีผู้คนไม่น้อยที่เลือกก้าวเข้าไปอยู่ในบริษัทเหล่านี้ เพราะอัตราการแข่งขันเพื่อหางานทำของคนญี่ปุ่นที่ถือคติที่ว่า “ถึงคุณไม่ทำก็ยังมีคนอื่นที่พร้อมเข้ามาทำแทนเสมอ” จึงทำให้บริษัทสีดำยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้

 

SOURCE1 SOURCE2

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line