Entertainment

เมื่อ GEN X และ Y มี MTV เด็ก GEN Z ก็มี Boiler Room ที่ขับเคลื่อนวงการดนตรีเช่นกัน

By: Thada June 23, 2017

การที่เราสามารถคาดเดาทิศทางของเทคโนโลยีหรือพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ได้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ได้เปรียบในเชิงธุรกิจที่เราจะสามารถคิดค้นนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ออกมาเพื่อรองรับความต้องการเหล่านั้น คล้ายกับกรณี Boiler Room ช่องดนตรีออนไลน์ที่กำลังโด่งดังอย่างมากในขณะนี้

ก่อนอื่นเลย เราเชื่อว่าหากคุณไม่ได้สนใจกับเรื่องของดนตรีมากนัก ไม่มีทางที่จะเคยได้ยินชื่อของ Boiler Room อย่างแน่นอน แต่ปัจจุบัน Boiler Room ถือเป็นช่องออนไลน์ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดช่องหนึ่งทางแพลตฟอร์มออนไลน์ในต่างประเทศ ถ้าจะให้เทียบก็คงเหมือนกับยุคหนึ่งที่เรามี MTV เป็นช่องทางที่ขับเคลื่อนวงการดนตรี

Boiler Room เกิดจากความตั้งใจของ Blasie Bellvise ชาวอังกฤษ ที่ไปชักชวนให้ Thristian Richards และ Femi Adeyemi มาลองอัดมิกซ์เทปเพื่อจะลองอัพโหลดบนออนไลน์แม็กกาซีนของตัวเขาเอง ซึ่งนับว่ามันเป็น EP แรกของ Boiler Room ที่ใช้การถ่ายทำอย่างง่าย ๆ ด้วยกล้อง Webcam และอัพโหลดขึ้นทาง Ustrem ทุกอย่างทำขึ้นมาอย่างเรียบง่าย และบ้าน ๆ

Blasie Bellvise ผู้ก่อตั้ง Boiler Room

แต่หลังจากเปิดตัว Boiler Room’s First session ในเดือน มีนาคม 2010 ไม่นานพวกเขาก็ได้รับความสนใจในวงกว้างทันที เพราะไม่ว่าจะเป็น BBC , Fader , Time out , Hypetrak ล้วนนำเสนอไอเดียสุดแปลกใหม่ที่ต้องการทำช่องทางดนตรีให้กับนักดนตรีใต้ดินได้มีพื้นที่ในสร้างสรรค์งานของตนเอง

จากแนวคิดที่จะทำมิกซ์เทปโชว์อินดี้เล็ก ๆ ที่เริ่มจากสถานที่ง่าย ๆ อย่างห้องนอนของพวกเขาในลอนดอนประเทศอังกฤษ  กลายมาเป็นช่องถ่ายทอดสดออนไลน์ขนาดใหญ่ที่มีผู้ชมเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างรวดเร็วภายในปีแรกที่เริ่มออกอากาศ อีกทั้งมีนักดนตรีชื่อดังมากมายต่างตบเท้ามาออกอากาศโชว์มิกซ์เทปกับ Boiler Room

ทำให้พวกเขาเริ่มมีการขยับขยายไปถ่ายทำอย่างต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่เยอรมัน หรือ รัสเซีย ซึ่งพวกเขาไม่ได้ปิดกั้นเฉพาะดนตรีแนวเสียงสังเคราะห์เพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่นในปี 2011 Boiler Room ได้รับเกียรติจากวงดนตรีระดับตำนานอย่าง Radiohead มาเป็นแขกรับเชิญเพื่อแสดงโชว์ในแบบที่ไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อน ยิ่งทำให้ Boiler Room เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง

แม้ดูเหมือนในช่วงแรก Boiler Room จะให้ความสนใจดนตรีอิเล็กโทรนิกส์เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อพวกเขาเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง รายการของเขาก็เพิ่มความหลากหลายเข้าไปไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ hip-hop , jazz , classic

อีกทั้งพวกเขาให้ความสนใจกับวัฒนธรรมที่หลากหลายทางดนตรี  ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของ Boiler Room เนื่องจากรายการของพวกเขาเป็นการเล่นกับบรรยากาศแบบสด ๆ ทำให้เมื่อมีการถ่ายทำนอกสถานที่ (outdoor) ผู้ชมจึงได้ฟีลภาพบรรยากาศราวกับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นแบบสด ๆ ด้วยเพลงกับภาพที่ล้อไปในทางเดียวกัน (ขนาดทำการแสดงในร้านแผ่นเสียงก็ทำมาแล้ว)

ตอนนี้ Boiler Room จึงไม่ใช่เพียงช่องออนไลน์ใต้ดินอีกต่อไป เพราะมีเทศกาลดนตรีระดับโลกมากมายยื่นมือมาขอเป็นพันธมิตรกับพวกเขา ทำให้ลักษณะการดำเนินรายการของพวกเขามีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบแบบแผนมากยิ่งขึ้น อย่างแรกเลยคือเรื่องคุณภาพวิดีโอและเสียงที่คมชัด มีการแบ่งช่วงรายการอย่างชัดเจน ทั้งในส่วนของโชว์สดในสตูดิโอ หลังจากนั้นก็เป็นการตอบถามระหว่างศิลปินกับผู้ดำเนินรายการ รวมถึงมีช่วงของสารคดีดนตรี

จากปี 2010 ถึงปัจจุบัน Boiler Room ได้มีโชว์ทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ และทุก ๆ เดือนจะมีการนำเสนอผลงานดนตรีใหม่ราว 30 -35 ตอน มีคนกดติดตามมากกว่า 1 ล้านคน นับว่าวันนี้พวกเขาเป็นอีกช่องออนไลน์ที่มีความแข็งแรง และตัวตนที่ชัดเจน สำหรับชาว UNLOCKMEN คนใดที่ชื่นชอบในเรื่องของดนตรีก็สามารถเข้าไปติดตามได้ YouTube : Boiler Room  

เห็นไหมว่าจากไอเดียเล็ก ๆ ที่อยากทำในสิ่งที่ชอบกลับกลายเป็นแหล่งชุมนุมขนาดใหญ่ที่คนมีความชอบเหมือนกันไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนามารวมตัวกัน  ซึ่งหากทุกท่านมีไอเดียอะไรก็อย่าเก็บมันไว้ จงลงมือทำมันซะอย่าเพิ่งไปสนผลลัพธ์ แต่ควรใส่ใจกับวิธีการของมันเสียก่อน

 

 

link to Boilerroomtv

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line