Life

BOOK HANGOVER : เมื่อหนังสือเล่มโปรดทำให้เราเมาค้างจน Move On ไม่ไหว

By: GEESUCH November 28, 2022

ในช่วงเวลาปีแรกของการทำงาน (ประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว) เราซื้อหนังสือเรื่อง The Catcher in the Rye ของ J. D. Salinger จากร้านหนังสือออนไลน์แห่งหนึ่ง โดยมีเหตุผลไม่ได้ซับซ้อนว่า เป็นหนังสือที่ถูก Name Drop ในหนังไฮสคูลอเมริกันหลายเรื่อง ในแง่ที่ว่าเป็นหนังสือนอกเวลาที่ต้องใช้อ่านเพื่อเขียนเรียงความส่ง ซึ่งหนังที่เรารักที่สุดในชีวิตอย่าง The Perks of Being a Wallflower (2012) ก็พูดถึงวรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้เช่นกัน

เราได้อ่านหนังสือเล่มนี้จริง ๆ ตอนออกจากงานแรกที่พูดถึงในรรทัดก่อน แปลกดี (1) หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องของเด็กหนุ่มวัยมัธยม Holden Caulfield กับช่วงเวลาการเติบโตสั้น ๆ ขณะขึ้นรถไฟไปนิวยอร์ก ซึ่งเต็มไปด้วยการตะโกนโหวกเหวกโวยวายของตัวละครตลอดทั้งเรื่อง แปลกดี (2) หลังจากผ่านไป 3 เดือนที่อ่านหนังสือเล่มที่ว่าจบ เราอ่านหนังสือเล่มไหนต่อไม่ได้เลย เพราะเรื่องราวของโฮลเดนยังค้างคาในจิตใจของตัวเอง วนเวียนอยู่ในความทรงจำเป็นระยะ ๆ ตลอดมา

UNLOCKMEN ขอแนะนำให้เหล่าหนอนหนังสือได้รู้จักกับ Book Hangover อาการของคนอ่านที่ไม่ Move On เพราะว่ามัน Move On ไม่ได้ เพื่อให้สามารถช่วยรับมือกับหนังสือเล่มถัด ๆ ไป  


รู้จักอาการ Book Hangover

Book Hangover : อาการของหนอนหนังสือที่มูฟออนออกจากหนังสือที่เพิ่งอ่านจบไปไม่ได้ นั่งก็คิดถึงเขา หลับตาก็ฝันถึงเธอ จะทำอะไรก็เห็นภาพเรื่องราวบนหน้ากระดาษเหล่านั้นซ้อนทับขึ้นมาเสมอ หนักไปไกลจนคิดต่อไปว่าเรื่องราวหลังจากหน้าสุดท้ายของพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไปนะ? เป็นอาการที่จะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาอ่านหนังสือดี ๆ สักเล่มเท่านั้น และมักจะเป็นนิยายหรือเรื่องแต่งเสมอ

Maja Djikic ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย University of Toronto ผู้ศึกษาเรื่องจิตวิทยาของการอ่านสามารถมีผลกระทบต่อจิตใจคนบอกว่า อาการเมาค้างจากหนังสือเป็นรูปแบบของความเศร้าปกติรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงว่าผู้อ่านได้สูญเสียบางสิ่งที่มีค่าต่อพวกเขาไป ตั้งแต่เหล่าตัวละครที่มีความผูกพันธ์กันแน่นแฟ้นเหมือนพี่น้องที่เดินทางมาด้วยกันตลอดทั้งเรื่อง ไปจนถึงการสูญเสียโลกทั้งใบในนั้นไป และผู้อ่านบางคนอาจมี ‘อาการเมาค้างเรื้อรัง’ (Persistent Hangover) คือการที่ประเด็นสำคัญของหนังสือยังคงทำงานอยู่ในจิตใจไม่ไปไหนสักที 


การขนส่งทางอารมณ์ที่พาผู้อ่านเข้าไปอยู่ในหนังสือ 

ต้องบอกว่าอาการเมาค้างจากหนังสือไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีที่มาที่ไป แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางอารมณ์ที่ทฤษฎีจิตวิทยาแห่งการอ่านเรียกว่า ‘การขนส่งทางอารมณ์’ (Emotional Transportation) อันเป็นประสบการณ์ที่เหล่า Book Lover คุ้นเคยกันดี มันคือการที่ตัวเราหลงหายไปในหนังสือ โลกแห่งความจริงถูกปิดกั้น ผู้อ่านกำลังสัมผัสโลกในหน้าหนังสือผ่านสายตาของตัวละคร ประหนึ่งว่ากลายเป็นหนึ่งเดียวกับเราไปแล้ว  

ในจุดนี้เอง มีงานวิจัยของชาวดัตช์สรุปปรากฎการณ์การขนส่งทางอารมณ์เอาไว้ว่า มันคือการที่ระบบทางจิตใจทั้งหมดโฟกัสไปที่เรื่องเล่าของหนังสือ จนเกิดการสูญเสียการตระหนักถึงตัวเอง (self- awareness) และทำให้เกิดห้วงขณะซึ่งทำให้โลกของหนังสือกลายเป็นโลกแห่งความจริงขึ้นมาได้ในที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายว่าทำไมเราถึงคิดถึงเรื่องที่แต่งขึ้นในหนังสือมากมายเหลือเกิน


เมื่อความเห็นอกเห็นใจทำร้ายคนอ่านหนังสือ 

อยากบอกทุกคนที่มองตัวละครในหนังสือเป็นเพื่อนสนิทว่า “แกไม่ได้คิดไปเองนะเว้ย” เพราะสมองของพวกเราประมวลความรู้สึกความเป็นเพื่อนสนิทของตัวละครในหนังสือ แบบเดียวกับเพื่อนสนิทในชีวิตจริงเลยล่ะ

เมื่อเป็นเพื่อนสนิทกับตัวละครแล้ว การอ่านนิยายยังเป็นตัวกระตุ้นทักษะในการเป็นผู้มีความเข้าอกเข้าใจ (Emphaty) และแบ่งปันความรู้สึกต่อคนอื่นมากขึ้นด้วย ซึ่งทฤษฎี ‘การขนส่งทางอารมณ์’ ในบรรทัดก่อนเป็นสิ่งที่อธิบายการเกิดของความรู้สึกนี้ และ Maja Djikic ศาตราจารย์ในบทแรกของพวกเราก็เคยทำการวิจัยเก็บตัวอย่างผลการทดลองมาแล้ว ผลลัพธ์ของเธอแสดงให้เห็นว่าคนที่อ่านนิยายจะทำคะแนนเรื่องความเห็นอกเห็นใจได้สูงกว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยคนอื่น ๆ ก็เป็นสิ่งที่ตอกย้ำเรื่องนี้อย่างชัดเจน แต่เพราะความมีความเห็นอกเห็นใจที่มากขึ้นนี่ล่ะ ที่ทำให้อาการของ Book Hangover ยิ่งรุนแรงขึ้นไปด้วย เป็นความสัมพันธ์ที่เป็นเหมือนดาบสองคม


อาการเมาค้างจากหนังสือก็มีข้อดีนะ    

แม้ว่าตลอด 3 หัวข้อที่เล่ามาจะทำให้อาการเมาค้างจากหนังสือดูเป็นตัวร้าย แต่เอาจริง ๆ อาการนี้ก็มีข้อดีอย่างคาดไม่ถึงอยู่เหมือนกันนะ 

“อาการเมาค้างจากหนังสือนั้น มักจะมาคู่กับการที่ผู้อ่านยังคงคิดไตร่ตรองหาทางออกกับประเด็นที่รบกวนจิตใจของตัวเอง ซึ่งกระบวนการในการ Move On ตรงนี้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวของพวกเราไปได้ นิยายที่ดีมีพลังมากถึงขนาดว่า เป็นตัวเปิดประตูให้ผู้อ่านอยู่ในสถานะที่กล้าออกไปเปลี่ยนแปลงตัวเองมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการ ‘มองโลกในแง่ดี’ ซึ่งมาจากการที่ผู้อ่านได้รับประสบการณ์ใหม่ผ่านสายตาของคนอื่น ในที่นี้ก็คือเหล่าตัวละครในหนังสือนั่นเอง”

– Maja Djikic 

ในบางครั้งอาการเมาค้างจากหนังสือก็สามารถแก้ได้ง่าย ๆ ด้วยการหาหนังสือเล่มอื่นมาอ่านแทนที่เล่มเก่า เพื่อเปิดการเดินทางครั้งใหม่ให้ทุเลาความคิดถึงจากเรื่องราวก่อนหน้านี้ลงได้บ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นวิธีที่ใช้ได้ดีเสมอไป ก็ขึ้นอยู่กับคนอ่านแตะละคนด้วย แต่ข้อเท็จจริง 100% ก็คือ หนังสือดี ๆ สักเล่มสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีที่เรามองโลกได้เสมอ ซึ่งหากจะมาพร้อมอาการเมาค้างบ้าง ก็ดูจะเป็นราคาที่สมเหตุสมผลที่จะจ่าย เพื่อให้ได้เจอกับเรื่องราวดี ๆ ผู้คนดี ๆ บทสรุปประทับใจซึ่งอาจจะเปลี่ยนชีวิตเราไปได้เลย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเศร้าอย่างไรก็ขอเชียร์ให้ทุกคนอ่านหนังสือกันเถอะ : )


แต่ถ้าอาการเมาค้างมันทำร้ายเธอ ให้วิธีของ Goodreads ช่วยสิ

สำหรับเพื่อน ๆ ที่อาการเมาค้างหนังสือมันทำร้าย เราเข้าใจพวกเธอทุกคน (เพราะตัวเองก็ move on ไม่ได้ล่ะ) จะขอแบ่งปันวิธีจาก Goodreads ที่เขาตั้งกระทู้รวบรวมวิธีแก้แฮงค์อาการ Book Hangover จากผู้อ่านทางบ้าน ให้พวกเรา Move On ไปด้วยกัน 

“ฉันจะพยายามเปลี่ยนแนวของหนังสือเล่มต่อไป หรือเลือกเล่มที่มีเนื้อหาเบา ๆ มาอ่านแทน แต่ถ้ามันไม่ได้ผล ก็จะเปิดทีวีดูซีรีส์แบบมาราธอน จนกว่าความกระหายในการอ่านจะกลับมาอีกครั้ง”

– Rebecca

“ลงมือเขียนรีวิวเล่มนั้นซะเลย แล้วก็คุยกับเพื่อนที่อ่านเล่มเดียวกันด้วย หรืออาจจะเขียนบันทึกประจำวันเพื่อช่วยประมวลผลว่าอะไรที่ทำให้เราอินกับหนังสือเล่มนั้น อะไรคือแกนศูนย์กลางของอารมณ์นั้น และจะนำมาปรับใช้กับชีวิตได้อย่างไร”

– Melissa

“ของเราจะพักจากการอ่าน 2-3 วัน โดยจะไม่หยิบหนังสือเล่มไหนขึ้นมาอ่านเลยระหว่างนั้น”

– Jessica

“วิธีของผมอาจจะฟังดูแย่มากนะ เพื่อที่จะ Move On และปล่อยหนังสือเล่มนั้นไป ผมจะอ่านบทวิจารณ์แย่ ๆ ที่มีคนเขียนถึงหนังสือเล่มที่ตัวเองรัก เพื่อเปิดมุมมองให้รอบด้านมากขึ้น”

– Leslie

“เมื่อ Move On จากเล่มนั้นไม่ได้ไม่ว่าจะพยายามหนักขนาดไหน ฉันจะกลับไปอ่านมันซ้ำอีกครั้งล่ะ”

– Carol

“ผมเลือกที่จะไปเมาค้างของจริงแทนครับ”

– Steve


SOURCE : 

1 / 2 / 3

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line