Life

BOREOUT SYNDROME: 5 วิธีพิชิตความเบื่อ จุดไฟในการทำงานให้ลุกโชนอีกครั้ง!!

By: unlockmen December 8, 2020

หลายคนอาจเคยเกิดอาการเบื่องานที่ตัวเองทำอยู่ เพราะบางครั้งงานที่ทำอยู่ก็ไม่ได้น่าสนใจ หรือ บางครั้งเราอาจทำงานน้อยเกินไปจนรู้สึกว่าตัวเองทำประโยชน์ให้กับที่ทำงานไม่เพียงพอ ส่งผลให้เราไม่มีแพสชั่นในการทำงาน และรู้สึกว่าการทำงานเป็นเรื่องน่าเบื่อขึ้นมา อาการนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Boreout Syndrome’ และส่งผลเสียต่อเราทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต เราเลยอยากมาแนะนำ 5 วิธีการรับมือกับอาการ Boreout เพื่อให้เรากลับมาทำงานได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง


Boreout ต่างจาก Burnout อย่างไร ?

Boreout Syndrome คือ อาการเบื่องานที่มักเกิดขึ้นจากการทำงานที่ไม่มีคุณภาพเพียงพอ หรือ น้อยเกินไป บางครั้งก็เกิดจากการทำงานที่ไม่สอดคล้องกับรายละเอียดของงาน หลายคนอาจจะสับสนอาการนี้กับ Burnout เพราะมันค่อนข้างมีความคล้ายกัน แต่เราอยากบอกว่า 2 อย่างนี้แตกต่างกันมาก โดย Boreout เกิดขึ้นจากการทำงานน้อยเกินไป หรือ งานส่วนใหญ่ที่ทำไม่น่าสนใจเพียงพอ  ส่งผลให้เรารู้สึกว่าไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองในการทำงานอย่างเต็มที่ เสียแพสชั่นในการทำงาน และเกิดอาการ Boreout ในที่สุด

ส่วน Burnout จะตรงข้ามกับ Boreout  คือ เกิดจากการทำงานมากเกินไปจนเหนื่อย เครียด รู้สึกไม่มีพลังงานไปทำอย่างอื่น และเมื่อจิตใจเราเหนื่อยล้าจากงาน อาการ Burnout ก็สามารถเกิดขึ้น ซึ่งอาการ Boreout และ Burnout ต่างส่งผลเสียต่อชีวิตเราได้มากพอ ๆ กัน

สรุปอาการต่าง ๆ ของ Boreout จะมีดังนี้

    • ภูมิใจในตัวเองต่ำ
    • รู้สึกละอายใจ และรู้สึกผิด
    • ชอบหาวิธีเลี่ยงงาน หรือ ฆ่าเวลา
    • รู้สึกเข้ากับคนในที่ทำงานไม่ได้
    • รู้สึกไม่มีตัวตนในที่ทำงาน
    • รู้สึกไม่เป็นโยชน์ต่อที่ทำงาน
    • ภาวะซึมเศร้า

Boreout ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง ?

จะเป็น ทำให้เกิด ภาวะซึมเศร้า ความเครียด ความวิตกกังวล ไม่มีความสุขกับงาน นอกจากนี้ยัง เป็นปัจจัยทางอ้อมที่ทำให้เราเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ง่ายขึ้นด้วย งานวิจัยชิ้นหนึ่ง (2020) ศึกษากลุ่มตัวอย่าง 186 คนที่เฟ้นหามาจากหอการค้าในประเทศตุรกี และพบว่า อาการ Boreout มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับ ภาวะซึมเศร้า ความเครียด และความวิตกกังวล งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง (2003) พบว่า คนที่ Boreout มักจะไม่ค่อยมีความสุขกับงาน นอกจากนี้ บางงานวิจัย (2010) ศึกษากลุ่มข้าราชการในลอนดอนกว่า 7,500 คน และพบว่า คนที่เบื่อบ่อยจะมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนอื่นราว 2 – 3 เท่า แต่อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเชื่อว่า ความเบื่ออาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาการเจ็บปวดโดยตรง แต่เกิดจากทำพฤติกรรมแย่ ๆ เพื่อเติมเต็มความเบื่อมากกว่า เช่น กินเหล้า สูบบุหรี่

แต่นอกจากผลเสียที่เกิดขึ้นกับตัวเราเองแล้ว อาการ boreout สามารถส่งผลเสียต่อองค์กรได้ด้วย เช่น ทำให้พนักงานเริ่มทำงานที่มักใช้เวลาสั้น ๆ ยาวนานขึ้น เพื่อให้ดูเหมือนว่าตัวเองกำลังยุ่ง ทำให้พนักงานเริ่มทำแค่งานที่ต้องทำ และไม่ทำอะไรเพิ่มให้กับองค์กร บางครั้งพวกเขาก็มาทำงานสายมากขึ้น ลาป่วยบ่อยขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาอาจเป็นภาระของทีมมากขึ้น เมื่อการเบื่องานไม่ดีกับใครเลย จึงเป็นเหตุผลให้คนที่ Boreout อยู่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง


ทำอย่างไรดีเมื่อเกิดอาการ Boreout

ไม่ว่าจะเกิดอาการ Boreout หรือ Burnout การย้ายงานคงจะเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่ทุกคนอยากทำ เพราะการหางานใหม่เป็นเรืองยาก  เราเลยอยากจะมาแนะนำ 5 วิธีในการรับมือกับอาการ Boreout กัน ลองดูวิธีเหล่านี้แล้วนำไปปรับใช้กับตัวเองดู !

 

หาความหมายของสิ่งที่ทำอยู่
สาเหตุที่เราเบื่องานอาจเป็นเพราะ เรารู้สึกว่า ตัวเองไม่รู้จะทำงานไปเพื่ออะไร ? หรือ ไม่รู้ว่างานของเราส่งผลต่อเราอย่างไรบ้าง ? กล่าวคือ เราไม่รุู้ว่างานของตัวเองมีคุณค่ามีความหมายอะไร จึงรู้สึกขาดแพสชั่น ดังนั้น เพื่อเติมเต็มความหมายในการทำงาน เราอยากแนะนำให้ ลองไปพบกับคนที่ได้รับประโยชน์จากงานของเรา หรือ ลองคิดถึงผลประโยชน์ที่งานของเราสร้างให้กับคนอื่น รวมถึง วางแผนการทำงานที่ทำให้เราบรรลุเป้าหมายในสิ่งที่เราอยากทำ จะช่วยให้เราพบคุณค่าและความหมายมากขึ้น

 

เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัว
การทำงานในสิ่งแวดล้อมที่เราไม่ชอบ อาจทำให้เรารู้สึกเบื่องานได้ เพราะไม่มีใครอยากอยู่ในที่ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกอึดอัด หรือ ที่ที่รู้สึกว่าไม่น่าอยู่ ด้งนั้น การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในการทำงานจึงช่วยให้เรามีความสุขในการทำงานมากขึ้นได้ ลองจัดโต๊ะทำงานใหม่ ย้ายตำแหน่งของสิ่งของ หรือ หาของตกแต่งให้โต๊ะของเราดูน่านั่งทำงานมากขึ้น เช่น เพิ่มสีแดง ส้ม เหลือง และเขียว ซึ่งเป็นสีที่ช่วยเพิ่มความสุขให้กับเราได้

 

ลองทำอะไรใหม่ ๆ บ้าง
การทำอะไรใหม่ ๆ ช่วยให้เราอารมณ์ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ หรือ การได้ไปเที่ยวในที่ใหม่ ๆ ฯลฯ และหากเรารู้สึกว่าความเบื่องานทำให้เรารู้สึกวิตักกังวล และไม่รู้สึกภูมิใจในตัวเอง การช่วยเหลือคนอื่นอาจช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นจากอาการเหล่านี้ได้ อ้างอิงจากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง (2013) วิเคราะห์งานวิจัย 40 ชิ้นแล้วพบว่า การเป็นอาสาสมัครช่วยลดความเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้า มีความพึงพอใจในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น และมีความเสี่ยงเจ็บป่วยจากอาการเจ็บปวดทางกายที่เกิดขึ้นจากปัญหาด้านสุขภาพจิตด้วย

 

กล้าพูดความรู้สึกของตัวเอง
ไม่ว่าจะรู้สึกเบื่อกับเรื่องอะไรก็ตาม การพูดความรู้สึกของตัวเองออกมาก็ช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้เสมอ ฉะนั้น เวลาเราเบื่อ ลองพูดเรื่องนี้กับคนที่เราเชื่อใจ หรือ อยากให้รับรู้ เช่น เพื่อน หรือ หัวหน้า อาจช่วยให้เรารู้สึกโล่งใจมากขึ้น และที่สำคัญต้องหาสาเหตุของมันด้วย ลองหาเหตุผลว่าอะไรทำให้เรารู้สึกแบบนี้ เช่น จำนวนงาน ความยากง่ายของงาน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจปัญหามากขึ้น สามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้มากขึ้น และอาจช่วยให้เราแก้ไขมันได้เร็วขึ้นด้วย

 

พักผ่อนให้เพียงพอและเหมาะสม

บางทีอาการเบื่ออาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติด้านการนอนหลับ เช่น นอนดึก หรือ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เมื่อเราไม่มีแรง เวลาทำงานเราก็อาจรู้สึกไม่อยากทำงาน และเกิดอาการเบื่อ ดังนั้น เราเลยจำเป็นต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและเหมาะสม ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูพลังงาน สภาพจิตใจ และเรี่ยวแรงให้เราสามารถกลับมาทำงานด้วยความรู้สึกที่ดีได้อีกครั้งหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม อาการเบื่ออาจเกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า ดังนั้น การไปพบผู้เชี่ยวชาญก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เรารอดพ้นจากความเบื่อได้เหมือนกัน


APPENDIXS: 1 / 2 / 3

 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line