Life

BRAIN BENEFITS OF PLAYING CHESS : ‘หมากรุก’ โคตรเกมกระดาน ที่พร้อมปั่นศักยภาพสมองให้ถึงขีดสุด

By: HYENA November 9, 2020

ช่วงนี้มีหลายคนที่กำลังพูดถึง หรือไม่ก็กำลังดูภาพยนตร์ซีรีส์ที่ได้รับความนิยมอย่างหนักนั่นก็คือ ‘The Queen’s Gambit’ กันอย่างแน่นอน ซึ่งอย่างที่รู้ๆ กันว่า ซีรีส์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของหญิงสาวที่มีความสามารถเก่งฉกาจในกีฬาหมากรุก และหญิงสาวสุดแจ่มคนนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก Anya Taylor-Joy ที่ตอนนี้หนุ่มๆ หลายคนใจละลายในความแจ่มของเธอเข้าอย่างจัง จนต้อง Repeat ดูวนซ้ำไปซ้ำมาหลายๆ ครั้ง พลางคิดในใจถ้าได้เปิดแมตช์โขกหมากรุกกับสาวผู้นี้สักตาคงจะดีไม่น้อย

แต่ใช่ว่าเรื่องนี้จะน่าสนใจที่ความสวยของดารานักแสดงเพียงอย่างเดียว  เพราะทางด้านความเข้มข้น สนุกสนานของเรื่องนี้ก็ถือว่าจัดเต็มเหมือนกัน โดยเฉพาะเนื้อหาที่สมจริง และแฝงไว้ซึ่งเทคนิคอันแพรวพราว รวมไปถึงรายละเอียดต่างๆ ที่โคตรมีเสน่ห์ดึงดูดของกีฬาหมากรุก จนทำเอาหลายๆ คนเกิดสนใจอยากจะลองเล่นกันขึ้นมาบ้างเหมือนกัน

และถ้าหากว่าใครที่กำลังสนใจกีฬาหมากรุกอยู่พอดี รวมไปถึงคนที่เพิ่งดู ‘The Queen’s Gambit’ มาแล้วเกิดแรงบันดาลใจอยากเล่นหมากรุกขึ้นมาเผื่อจะเจอกับนักหมากรุกสาวสวยๆ เหมือนในซีรีส์ล่ะก็ ต้องบอกเลยว่าอย่าเพิ่งหวังลมๆ แล้งๆ ในมากนัก! เพราะในบทความนี้เราอยากให้ทุกคนลองมาทำความรู้จักกับกีฬาหมากรุกแบบจริงๆ จังๆ กันดีกว่า เพราะเขาว่ากันว่า หมากรุกนั้นเป็นกีฬาที่มีประโยชน์มากกว่าแค่ฆ่าเวลา หรือแค่ให้ความสนุก เพราะวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันมาแล้วว่า การเล่นหมากรุกนั้นช่วยพัฒนาสมอง เพิ่มความฉลาด และความสามารถในด้านอื่นๆ ได้อีกหลายด้านอย่างไม่น่าเหลือเชื่อเลยทีเดียว


การเล่นหมากรุกช่วยให้คุณฉลาดขึ้นได้อย่างไร?


 

ช่วยเพิ่ม IQ

เดิมทีหมากรุกนั้นมีปัญหาทางภาพลักษณ์ว่าเป็นเกมส์กีฬาของคนฉลาด หรือคนที่มี IQ สูง จึงทำให้หลายครั้งเกิดข้อถกเถียงกันว่า คนฉลาดชอบเล่นหมากรุก หรือการเล่นหมากรุกช่วยทำให้คนฉลาดขึ้นกันแน่? คำตอบก็คือ เป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง แต่ที่แน่ๆ ก็คือมีผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ไขข้อข้องใจในเรื่องนี้เอาไว้ว่า ในการใช้สมองครุ่นคิดทุกครั้งก่อนที่จะเดินหมากเป็นประจำ สามารถช่วยเพิ่มความฉลาดทางสติปัญญาหรือ IQ ของคนได้จริงๆ โดยการยืนยันจากผลการทดลองให้นักเรียกชาวเวนเนซุเอลาจำนวน 4,000 คน เล่นหมากรุกเป็นประจำติดต่อกันาน 4 เดือน พบว่าผลสอบการวัด IQ ของพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


หมากรุกช่วยป้องกันโรค Alzheimer’s

เนื่องจากสมองนั้นจำต้องรับการบริหารไม่ต่างจากกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ในร่างกาย เหมือนกล้ามแขน กล้ามขา กล้ามนม กล้ามตูด ดังนั้น มันจึงมีความจำเป็นมากที่จะต้องได้รับการบริหาร โดยผลการค้นคว้าล่าสุดที่ถูกนำเสนอใน The New England Journal of Medicine เอาไว้ว่า เมื่อให้คนชรามีอายุ 75 ปี ขึ้นไป พลังสมองโดยเฉพาะในด้านของความจำจะถดถอยลงอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากที่ได้ลองให้คนชราที่อายุยังไม่ถึง 75 เล่นหมากรุกเป็นประจำสม่ำเสมอ พอถึงช่วยอายุ 75 พบว่า อาการภาวะสมองเสื่อมหรือ โรค Alzheimer’s เกิดขึ้นช้าลง โดย Dr.Robert Freidland ได้อธิบายเอาผลการวิจัยนี้เอาไว้ว่า เนื้อเยื่อสมองของคนเราถ้าหากปราศาสจากการใช้งานอย่างต่อเนื่อง สมองก็สูญเสียพลังไป และการเล่นหมากรุกนั้นถือเป็นการบริหารสมองได้เป็นอย่างดี และนั่นก็คือเหตุผลว่าทำไมถึงควรเล่นหมากรุกกันให้มากๆ ก่อนที่จะเข้าสู่วัย 75 ก่อนที่สมองจะเริ่มเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว


ช่วยออกกำลังสมองทั้งสองซีก

มีการศึกษาวิจัยในประเทศเยอรมันพบว่า เมื่อนำเอานักกีฬาหมากรุก และคนทั่วไปมาตรวจจับปฎิกิริยาการตอบสนองของสมอง โดยแบ่งเป็นการใช้สมองซีกซ้าย และซีกขวา ผลปรากฎว่าคนทั่วไปส่วนใหญ่จะมีการใช้สมองในแต่ละซีกไม่เท่ากัน บางคนอาจจะใช้ซีกซ้ายเยอะกว่าซีกขวา และบางคนก็อาจจะใช้ซีกขวามากกว่าซีกซ้าย ผิดกันกับนักหมากรุกที่เล่นหมากรุกเป็นประจำ พวกเขาสามารถใช้สมองทั้งสองซีกในการครุ่นคิดได้พร้อมๆ กัน และนั่นส่งผลให้นักหมากรุกคิด และตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ได้แม่นยำ และรวดเร็วกว่า


ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์

เนื่องจากสมองซีกขวานั้นเป็นแหล่งกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์ จึงไม่แปลกใจเลยว่า การฝึกกระตุ้นสมองซีกขวานั้นจะช่วยพัฒนาในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ให้ไอเดียบรรเจิดพุ่งกระฉุดออกมาได้ โดยเฉพาะการใช้หมากรุกมาช่วยในการฝึกบริหารสมองซึกขวานั้น มันสามารถทำได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อมีผลการวิจัยหนึ่งได้นำเอาเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่ง มาแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อทดลองทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเล่นหมากรุก ใช้คอมพิวเตอร์ วาดรูป และกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 32 สัปดาห์เพื่อดูว่า กิจกรรมาอะไรที่ก่อให้เกิดการพัฒนาสมองซีกขวาได้ดีที่สุด ผลปรากฏว่า กลุ่มนักเรียนที่เล่นหมากรุกสามารถทำคะแนนในการวัดผลความทางความคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ และไม่ใช่เพียงแค่ในหมวกความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่พวกเขายังได้ผลคะแนนของการทดสอบในกระบวนการคิดในทุกๆ หมวดได้มากกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ ที่ทำกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่การเล่นหมากรุกอีกด้วย


ทำให้ความจำดีขึ้น

นักกีฬาหมากรุกส่วนใหญ่จะรู้ดีว่าความจำเป็นสิ่งสำคัญมากในกีฬาชนิดนี้ เพราะการเป็นผู้เล่นหมากรุกที่ดีนั้น ต้องคอยจดจำว่าคู่ต่อสู้มักจะใช้วิธีการอย่างไรในการเดินหมาก ซึ่งถ้าหากเราสามารถจดจำหรือจับทางวิธีการเดินหมากของคู่แข่งได้ เปอร์เซ็นต์ในการชนะการแข่งขันหมากรุกในกระดานนั้นก็มีสูงมากขึ้นไปด้วยเช่นกัน ในปี  1985 ได้มีการทดลองพยามเอานักเรียนกลุ่มหนึ่งมาพัฒนาผลการเรียนของพวกเขา ด้วยการให้พวกเขาเล่นหมากรุกเป็นประจำ ผลปรากฎว่า พวกเขาสามารถทำผลการเรียนได้ดีขึ้น และมีทักษะในการจัดระเบียบต่างๆ ได้ดีขึ้นมาเป็นของแถมอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกผลการศึกษาหนึ่งที่ให้ผลลัพธ์คล้ายคลึงกัน เมื่อมีโรงเรียนหนึ่งในรัฐเพนซลเวเนีย ได้ให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มหนึ่งมาเล่นหมากรุก หลังจากนั้นพบว่า เด็กนักเรียนเหล่านี้มีการพัฒนาในด้านความจำ และทักษะการพูดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


เพิ่มทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

หากใครเล่นกีฬาหมากรุกเป็นประจำจะรู้ดีว่า การเดินหมากนั้น เป็นเหมือนการเจอปริศาชิ้นใหญ่ที่ต้องไขมันให้ได้ในทุกครั้งที่จะเดิน แถมยังต้องไขมันให้ได้เร็วสุดอีกด้วย เพราะคู่ต่อสู้ที่ต้องเจอในการเล่นหมากรุกจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเล่นตลอดเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงการจับทางได้ของคู่แข่ง ดังนั้นการเล่นหมากรุกเป็นประจำจะช่วยให้ผู้เล่นฝึกให้ใช้ความคิดเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าแบบดีที่สุด และเร็วที่สุดจนเป็นกลายนิสัย


พัฒนาทักษะการอ่าน

ผลการค้นคว้าของ Dr.Stuart Margulie ในปี 1991 พบว่า เมื่อนำเอาเด็กนักเรียนระดับประถมจำนวน 53 คน ที่เข้าร่วมโปรแกรมหมากรุกมาประเมินเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่ได้เล่นหมากรุกจากทั่วประเทศ ผลลัพธ์ที่ออกมาชัดเจนว่า การเล่นหมากรุกทำให้ประสิทธิภาพในการอ่านเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


พัฒนาสมาธิ

ในบางครั้งนักหมากรุกหลายคนจะมีบุคลิกที่เงียบขึม สุขุม และดูจะจดจ่อกับอะไรได้นานกว่าคนทั่วไป ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่า การพัฒนาการใช้สมาธิของคนเราสามารถเกิดขึ้นได้จากเกมส์หมากรุก เนื่องจากในการการเล่นหมากรุกส่วนใหญ่นักกีฬาต้องจดจ่อ และจับจ้องอย่างมีสมาธิอยู่ตลอดเวลา ทุกการเดินหมากนั้นต้องการการคิดอย่างรอบครอบ เพราะการเหม่อ หรือแม้กระทั่งแวบคิดเรื่องอื่นเพียงชั่วครู่ อาจจะส่งผลให้เดินหมากผิดได้ และการเดินผิดเพียงหนึ่งตาอาจนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ ในผลการศึกษาวิจัยจำนวนมากทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และประเทศจีนที่ได้ทำออกมาครั้งแล้วครั้งเล่าพบว่า ผู้ที่เล่นหมากรุกเป็นประจำนั้นมีสมาธิที่จดจ่อ และการตัดสินใจที่เฉียบคมกว่าคนทั่วไปอยู่มากพอสมควร


ทำให้เยื่อประสาท Dendrite โตขึ้น

Dendrite มีลักษณะเหมือนกิ่งก้านของต้นไม้ทำหน้าที่นำสัญญาณส่งผ่านระหว่างเซลล์ประสาทกับเซลล์ประสาทที่อยู่ติดกัน ดังนั้นเมื่อเรามี Dendrite สมองของเราก็จะสามารถส่งสัญญาณต่างๆ ได้มากขึ้น เร็วขึ้น และการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะหมากรุกนั้น ทำให้ Dendrite เติบโต และเพิ่มมากขึ้น


สอนการวางแผนล่วงหน้า

นอกจากการเพิ่มทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่หมากรุกทำได้อย่างเยี่ยมยอดแล้ว การเล่นหมากรุกยังช่วยพัฒนาสมองส่วนหน้าซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการางแผน ตัดสิน และการควบคุมตัวเองอีกด้วย ดังนั้นในทางวิทยาศาสตร์จึงมีการสนับสนุนให้วัยรุ่นเล่นกีฬาหมากรุกกันอย่างแพร่หลาย เพราะมันจะช่วยพัฒนาการตัดสินใจให้ดีขึ้น ซึ่งการตัดสินใจเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงค์ชีวิตเป็นอย่างมาก และเราก็มีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ สำหรับการทำอะไรโดยขาดการตัดสิน ทำไปโดยคึกคะนองซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเกิดในกลุ่มวัยรุ่นแทบทั้งนั้น


และนี่ก็คือข้อดีทั้งหมดของการเล่นกีฬาหมากรุกที่เราได้นำเอามาฝากชาว UNLOCKMEN กันนะครับ จะเห็นได้ว่าหมากรุกที่นอกจากจะให้ความสนุกเพลิดเพลินแล้ว มันยังช่วยพัฒนาสมอง พัฒนาบุคลิกภาพ และพัฒนาภาวะอารมณ์ได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นอย่ามัวแต่ดูความสวยของนางเอกใน  ‘The Queen’s Gambit’ เพลินอย่างเดียวนะครับ ลองหันมาทำความรู้จักกับกีฬาชนิดนี้กันดูบ้างก็ดีไม่น้อย ส่วนใครกำลังสนใจหรือตัดสินใจที่จะเริ่มเล่นหมากรุกอยู่ล่ะก็ อย่ารอช้าเลยครับ เราขอสนับสนุน มันต้องช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นบ้างแน่นอน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

Source 

HYENA
WRITER: HYENA
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line