DESIGN

WABI-SABI ที่ไม่สมบูรณ์ผสมความแข็งกร้าวของ BRUTALIST สู่ออฟฟิศสุดเท่กลางกรุงเบอร์ลิน

By: unlockmen February 11, 2020

ต่อให้ไม่รู้จักชื่อหรือที่มาที่ไปแน่ชัด แต่เชื่อว่าหนุ่ม ๆ หลายคนคงเคยเห็นการออกแบบสไตล์บรูทัลลิสต์ (Brutalist) ผ่านตากันมาบ้าง บรูทัลลิสต์ถือเป็นงานดีไซน์ที่เน้นโครงสร้างและชูความโดดเด่นของสัจจะวัสดุอย่าง ‘คอนกรีต’ เป็นหลัก

แต่บางครั้งก็นำรูปทรงเรขาคณิตและแพตเทิร์นซ้ำไปซ้ำมามาใช้ในงานออกแบบ เพื่อเติมความสนุกสนานหรือลูกเล่นให้งานนั้น ๆ แม้บรูทัลลิสต์จะเกิดขึ้นในช่วงปี 1950-1970 แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสไตล์นี้ยังมีเสน่ห์และผู้คนยังนิยมจวบจนทุกวันนี้

แม้แต่ Annabell Kutucu นักออกแบบและตกแต่งภายใน ผู้คร่ำหวอดในวงการออกแบบบ้านหรูมากว่า 10 ปี ก็นำสไตล์บรูทัลลิสต์มาผนวกเข้ากับงานของเธอด้วย เธอได้รับโจทย์จาก NOA – No Ordinary Agency ให้ออกแบบ ‘Brutalist Silence’ ออฟฟิศกึ่ง Co-working Space ริมแม่น้ำชเปร (Spree) ในกรุงเบอร์ลิน

dezeen

ออฟฟิศแห่งนี้ถูกฉาบด้วยพื้นผิวคอนกรีตไล่ตั้งแต่พื้น ผนัง ไปจนถึงเพดาน เน้นชูความโดดเด่นของคอนกรีตตามสไตล์บรูทัลลิสต์โดยไม่ปรุงแต่ง ผิวคอนกรีตที่เป็นพระเอกหลักไม่เพียงสร้างบรรยากาศเงียบสงบเหมาะกับการทำงาน หากยังทำให้ออฟฟิศนี้ดูเรียบง่าย เนี้ยบเท่ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เติมความเคร่งขรึมให้สเปซที่ว่างเปล่าด้วยเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ ชั้นวาง built-in รวมทั้งผนังกั้นห้องที่ทำจากไม้โอ๊ครมควัน นอกจากนั้นยังมีของตกแต่งโบราณหลากชิ้นตั้งวางตามจุดต่าง ๆ ในออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นชามเซรามิกสีเอิร์ธโทน โคมไฟตั้งพื้นตัวบาง หรือแม้แต่เก้าอี้เก่าแก่ผลงานของ Daniel Wenger ที่ถูกสร้างตั้งแต่ปี 1960

แม้เพดานด้านบนจะใช้โครงสร้างหนา ๆ ของคอนกรีตเพื่อให้ออฟฟิศดูแข็งแรงและมั่นคง แต่พื้นผิวคอนกรีตก็ไม่ได้ทำให้ดูอึดอัดทึบตัน เพราะพื้นที่ตรงกลางของออฟฟิศถูกเนรมิตให้เป็นทางเดินทอดยาวเชื่อมทุกโซนเข้าด้วยกัน แถมยังใช้หน้าต่างกระจกบานกว้างเอื้อให้แสงธรรมชาติลอดผ่านเข้ามาได้

dezeen

ข้อเสียของการใช้พื้นผิวคอนกรีตโดยไม่ได้แต่งเติม คืออาจทำให้พื้นผิวไม่เรียบเนียนและไม่สม่ำเสมอกัน แต่ Annabell Kutucu กลับไม่ได้มองว่าตรงนั้นเป็นปัญหา เธอใช้พื้นผิวที่ไม่เสมอกันและของตกแต่งเก่า ๆ ที่มีรอยขีดข่วน

สะท้อนแรงบันดาลใจของการออกแบบที่นำหลักปรัชญาโบราณของญี่ปุ่นอย่าง วะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi) มาใช้ เชื่อว่าความงดงามนั้นไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไปและความงามที่เราเห็นอาจเป็นสิ่งชั่วคราวด้วยซ้ำ

dezeen

แม้ในอดีตสไตล์บรูทัลลิสต์จะถูกตราหน้าว่าเป็นการออกแบบที่ดูโหดร้าย ก้าวร้าว เข้าถึงยาก และแฝงอุดมการณ์ของเผด็จการเอาไว้ แต่กาลเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่างานดีไซน์คอนกรีตที่เป็นเอกลักษณ์ของบรูทัลลิสต์ สามารถยืนหยัดอยู่ในวงการออกแบบในยุคปัจจุบันอย่างไร้ข้อกังขา

แถม ‘Brutalist Silence’ แห่งนี้ ยังผสมผสานงานดีไซน์สองขั้วเข้าด้วยกันและสร้างสมดุลให้กับสถาปัตยกรรม แกมสะท้อนว่ามันไม่ได้เป็นอะไรที่ตายตัว หากเกิดขึ้นได้จากความสร้างสรรค์ของผู้สร้างมัน

 

Photography is by Ana Santl.

 

COVER SOURCE SOURCE

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line