Entertainment

“ยอดขายเทปซีดีล้านตลับ” สื่อกลางดนตรีจากนวัตกรรมยุครุ่งเรือง สู่ของสะสมหายากมากมูลค่าในปัจจุบัน

By: unlockmen January 8, 2018

เราได้ก้าวผ่านเสียงเพลงบนนวัตกรรมมามากมาย ตั้งแต่แผ่นเสียง เทป แผ่นซีดี หัวใจหลักของการฟังเพลงในยุค 00’s มาสู่ของสะสมในยุคปัจจุบัน อะไรทำให้สถานะของ “เทปและซีดีเพลง” เปลี่ยนไป แม้อนาคตของเทปเพลงคาสเซ็ทจะหมดหวัง แต่สถานะของซีดียังคงอยู่ได้แม้ในวันที่ Music Streaming เข้ามาแทนที่

ยุคล้านตลับ

หากจะวัดความนิยมของศิลปินในช่วงปี 2000 นอกจากชาร์ทติดอันดับ คงไม่พ้นนับจากยอดขายเทปและแผ่นซีดี หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า “ยอดขายล้านตลับ” เป็นอย่างดี ยิ่งศิลปินคนไหนมียอดขายซีดีได้ถึงหนึ่งล้านก็อปปี้ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมของผู้ฟัง

ศิลปินชื่อดังหลายคนได้มีโอกาสพาอัลบั้มของตัวเองไปแตะล้านตลับหลายอัลบั้ม ไม่ว่าจะเป็น “เบิร์ด ธงไชย” ที่การันตีความเป็นซุปตาร์ในวงการเพลงด้วยล้านตลับทุกอัลบั้ม “นิโคล เทริโอ” “ลิฟต์ ออยล์” “โบสุนิตา” “พลพล” และอีกมากมายนับไม่ถ้วน ถือว่าช่วงนั้นถ้าอัลบั้มไหนมีเพลงดัง โอกาสที่จะขายได้ล้านตลับเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย เพราะไม่ว่าจะเปลี่ยนปก อัลบั้มพิเศษ อัลบั้มเพลงยอดนิยมประจำปี ก็มักขายได้ถึงล้านตลับเช่นกัน

และในช่วงนั้นทั้งคนฟังเพลง และแฟนคลับเอง นอกจากการยกพวกกันไปสนับสนุนทุกงานคอนเสิร์ต รวมถึงการช่วยกันโทรไปโหวตขอเพลงเพื่อให้ศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบติดชาร์ทอันดับสูง ๆ ก็มักจะใช้ซีดีเป็นช่องทางในการฟังเพลงจากศิลปิน และซัพพอร์ตศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลยสำหรับยอดขายเจ็ดหลักต่ออัลบั้ม

แต่ถ้าเอาเทียบกับยอดวิวล้านวิวใน YouTube การทำยอดขายล้านตลับได้ มันช่างมีความยิ่งใหญ่มากกว่า ได้มายากกว่ายอดวิวล้านวิว ที่ดูเหมือนเพลงทุกเพลงจะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วด้วยเงินโฆษณา หรือเพลงที่ไม่ได้เป็นที่นิยมอะไร บางเพลงแค่โป๊ บางเพลงแค่ฮา ก็แชร์กันดูโดยไม่ได้สร้างคุณค่าหรือฐานแฟนคลับให้เพิ่มขึ้นได้ เรียกว่าล้านเหมือนกัน แต่คนละระดับกันก็ไม่ผิด

ความถดถอยของซีดีเพลง เมื่อ Music Streaming เข้ามาแทนที่

เมื่อเวลาผ่านไป Innovation ใหม่ ๆ ก็เข้ามาแทนที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การใช้ซีดีเพื่อฟังเพลงได้รับความนิยมน้อยลงไปเรื่อย ๆ จากคู่แข่งอย่างเพลง mp3 แบบผิดลิขสิทธิ์ ตั้งแต่แบบแผ่นผีที่ออกเร็วกว่าค่ายวางขาย จนไปถึงเว็บไซต์อัพโหลดไฟล์ ทั้งหมดนี้เป็นของฟรีแบบผิดกฎหมาย ไม่มีเงินส่วนไหนเข้ากระเป๋าศิลปินแม้แต่บาทเดียว ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ซีดีเพลงหมดความนิยมไป โดยอาจได้ยอดขายจากแฟนคลับตัวจริงของศิลปินอยู่บ้าง

แต่อะไรมีเกิดก็ต้องมีดับ สิ่งผิดกฎหมายสุดท้ายก็มาพ่ายแพ้จนได้ เข้าสู่ยุค Music Streamimg ที่เราสามารถฟังเพลงออนไลน์ได้แบบฟรี ๆ แม้จะมี spot โฆษณาแทรกสักเล็กน้อย กับคุณภาพเสียงที่ด้อยกว่า แต่ก็ไม่แย่ถ้าเน้นฟังแบบไม่คิดอะไรมาก (และไม่ฟรี แต่อยู่ในราคาที่ถูกแสนถูก) ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้อง save ใส่เครื่องให้เปลือง memory storage เพียงแค่คุณมีอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อ ไม่ว่าจะเป็น Spotify, Tidal, Deezer, Apple Music, JOOX และอื่น ๆ อีกมากมาย เราสามารถเลือกใช้ได้ตามความพอใจ และอย่างน้อย ศิลปินก็ยังได้เงินค่าลิขสิทธิ์ไปด้วย ไม่รั่วไหลไปสู่กระเป๋าพวกผีใต้ดินอีกต่อไป

เมื่อการฟังเพลงมีตัวช่วยที่สะดวกสบาย และราคาประหยัดมากขึ้น ถ้าเทียบกับการฟังเพลงในยุคซีดี ที่เราต้องเสียเงินในราคา 129-299 บาท เพื่อเพลงหนึ่งอัลบั้ม แต่ Music Streaming สามารถให้เราฟังเพลงได้ฟรีและแบบสมาชิกรายเดือนในราคาตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป แต่เราสามารถฟังเพลงได้จากศิลปินทั่วโลก ไม่จำกัดค่าย ทำให้ Music Streaming เข้ามาแทนที่ซีดีเพลงแบบเต็มตัว

Image Courtesy : Quatz / Nikhi Sonnad

อย่างไรก็ตาม มีผลวิจัยว่า algorithm ของ Music Streaming ที่คอยเลือกเพลงขึ้นมาให้เราฟัง การจัด Playlist ที่เรามักจะกด Follow ตามทันทีที่เห็นจำนวนคนเยอะ หรือ Chart ที่เราก็ไม่รู้ว่าตัวเลขจัดอันดับนั้นมาจากไหน ได้กลายเป็นตัวแทนการกำหนดทิศทางของวงการเพลงไปแล้ว แทนที่จะเป็นคะแนนโหวตจากคนฟังตัวจริง กลายเป็นการทำธุรกิจสอดแทรกของเหล่า Application โดยที่เราไม่รู้ตัว อย่างเช่น Spotify ที่มีการเปิดเผยว่าได้ใช้เงินจ้าง Producer ให้ผลิตเพลง เพื่อนำไปปล่อยใน Playlist ของตัวเอง เพื่อสร้างจำนวนคนฟังจาก algorithm ที่ตัวเองเลือกเอง เพื่อนำไปขาย Royalty Fee ต่อ ทำกำไรหลายเด้งจากพวกเราคนฟังโดยที่ไม่รู้ตัว รวมถึงการจำกัดความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน ที่มักจะยึดแนวเพลงจาก algorithm ว่าแนวไหนฮิต ก็ผลิตแนวนั้น

ซีดีเพลงในฐานะ “ของสะสม”

แม้ว่าซีดีเพลงจะไม่ได้รับความนิยมอย่างในอดีตอีกต่อไป แต่ซีดีเพลงก็ยังไม่หายไปจากไลน์ผลิตของวงการเพลง เหตุผลสำคัญคือ มันยังขายได้ในฐานะ “ของสะสม” สำหรับแฟนคลับหรือผู้ที่ชื่นชอบการฟังเพลง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการได้เห็นปกอัลบั้มสวย ๆ แผ่นซีดีเงาวับ ได้จับต้องผลงานจากศิลปินที่ตนชื่นชอบ มันคือความสุขอย่างนึงเหมือนกัน นั่นทำให้ร้านขายแผ่นเพลงอย่าง Tower Record หรือร้านในไทยอย่าง “ร้านน้อง ท่าพระจันทร์ ร้านโดเรมี และอีกมากมาย ยังสามารถประคับประคองตัวเองได้แบบอินดี้ ๆ แม้จะอยู่ในยุค Music Streaming ก็ตาม

หลายครั้งที่เราซื้อซีดีเพลงมาเพื่อเก็บ ไม่แม้แต่แกะห่อ แล้วรู้สึกว่าการได้เป็นเจ้าของมัน ถือว่าเป็นการตอบสนองความต้องการของเราเองแล้ว นั่นแหละ มันคือการสะสม เหมือนกับของสะสมอย่างอื่น แม้จะเปลี่ยนสถานะจากเทคโนโลยีที่ให้ความบันเทิงมาสู่ของสะสม สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือ “คุณค่าทางจิตใจ” ที่จะยังอบอวลทุกครั้งที่ได้เห็นมัน

แม้ซีดีไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป แต่ถือเป็นปกติของเทคโนโลยีที่มีเข้ามาแล้วก็ต้องก้าวออกไปเมื่อมีของที่ใหม่และสะดวกกว่าเข้ามาแทนที่ เหมือนกับเทปคาสเซ็ตที่เลือนหายไป กลายมาเป็นซีดี จนมาถึง Music Streaming ในปัจจุบัน แต่ในความหายาก ก็ทำให้มันมีความพิเศษ มีเสน่ห์มากขึ้น

เรามีเสียงเพลงบนนวัตกรรมที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย แต่เรายังคงสามารถใช้ซีดีเพลงเป็นที่เก็บความทรงจำ ความชอบ อยู่ในอัลบั้มสี่เหลี่ยมบางๆนั้นได้อีกนานแสนนาน ตราบใดที่เรายังคงรักและหลงใหลในความสุนทรีย์แห่งเสียงที่ยังโลดแล่นข้ามกาลเวลาอยู่เสมอ ยิ่งในยุคนี้ เราเชื่อว่าถ้ามีการนำ Limited Edition CD ออกมาผลิตขายใหม่ให้คนเก็บสะสม น่าจะขายดีกว่าที่คิดไว้แน่นอน เพราะแม้สุดท้ายแล้ว สื่อกลางจะเปลี่ยนไป แต่คุณค่าทางใจที่แฟนเพลงมีให้ศิลปินนั้น ไม่มีวันเปลี่ยนไป

อ่านจบแล้ว ลองไปเปิดกล่องสะสมซีดีเก่า ๆ ที่เราเก็บไว้กันดู แล้วจะรู้สึกถึงเสน่ห์ของมัน จนต้องเอาไปเปิดฟังทันทีแน่นอน

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line