Entertainment

CINEPHILE: 7 เพลงตอนจบภาพยนตร์ที่ผ่านไปนานแค่ไหนก็ตราตรึงในความทรงจำ

By: PERLE March 13, 2019

บทความนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวจากคนชอบดูหนังคนหนึ่งเท่านั้นและมีการสปอยตอนจบของภาพยนตร์หลายเรื่อง

ตลอดระยะเวลาชั่วโมงครึ่ง 2 ชั่วโมง หรืออาจมากกว่านั้นของภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง ทุกช็อต ทุกซีน ทุกไดอะล็อก ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามซีนที่ทำให้ผู้ชมจดจำภาพยนตร์เรื่องนั้นได้ดีที่สุดและตราตรึงในใจไปอีกนานสำหรับเรามันคือซีนจบ เพราะมันคือการสรุปเรื่องราวทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นมันเป็นการปูทางให้เราได้รู้ชีวิตของตัวละครหลัง End Credit ที่เราจะไม่ได้เห็นแล้ว

ภาพยนตร์ทุกเรื่องมีตอนจบในแบบของตัวเอง แต่สำหรับเราตอนจบจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นถ้าได้เพลงเพราะ ๆ เข้ากับเนื้อเรื่องบรรเลงขึ้นมา วันนี้เราจะมาพูดถึงเพลงเหล่านั้น เป็นการย้อนรำลึกความทรงจำ ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ความประทับใจก็ไม่เคยเสื่อมคลาย

Song: A Real Hero – College & Electric Youth
Movie: Drive (2011)

แค่ชื่อเพลง A Real Hero ก็อธิบายภาพยนตร์เรื่องนี้ได้หมดทุกอย่างแล้ว เพราะ Drive ผลงานการกำกับของ Nicolas Winding Refn เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักขับรถนิรนามอย่าง Driver ที่ในตอนกลางวันประกอบอาชีพสุจริตเป็นสตันท์แมนให้กับกองถ่ายภาพยนตร์ แต่ในตอนกลางคืนเขาอาศัยอยู่ในโลกมืด ทำหน้าที่ขับรถพาอาชญากรหลบหนี

ชีวิตแต่ละวันของ Driver ผ่านไปอย่างไร้ความหมาย จนกระทั่งเขาได้เจอกับเพื่อนบ้านสาวอย่าง Irene ความสัมพันธ์ที่งดงามก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ทั้ง 2 ต่างก็รู้ดีว่ามันคือความรักที่เป็นไปไม่ได้

ในตอนจบหลังจากที่ Driver จัดการเรื่องราวทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ชีวิตของ Irene ดีขึ้นเพราะเขา แต่ Driver กลับตัดสินใจออกจากชีวิตของ Irene ไปเงียบ ๆ ไม่มีแม้แต่การบอกลา แล้วทันใดนั้นเพลง A Real Hero ก็บรรเลงขึ้น

‘ไม่มีแม้กระทั่งชื่อ ไม่จำเป็นต้องมีตัวตน แต่ทุกสิ่งที่ Driver มอบให้ Irene นั้นคู่ควรแล้วกับคำว่า A Real Hero’

Song: Just Like Honey – The Jesus and Mary Chain
Movie: Lost in Translation (2003)

Lost in Translation คือภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวการ ‘พบกันครั้งหนึ่ง คิดถึงตลอดไป’ ของคู่ชาย-หญิง อเมริกัน ในแผ่นดินอาทิตย์อุทัย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย เป็นชนวนให้เกิดความรู้สึกบางอย่างที่ยากจะอธิบาย

Bob ดาราชายรุ่นใหญ่ชาวอเมริกันเดินทางมาเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อถ่ายทำโฆษณาเพียงลำพัง เขาใช้ชีวิตอย่างเปลี่ยวเหงาท่ามกลางวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย ก่อนที่จะได้พบกับ Charlotte หญิงสาวจากประเทศเดียวกัน เธอเดินทางมาที่ญี่ปุ่นพร้อมกับสามี แต่สามีเธอยุ่งกับงานจนเธอเองก็รู้สึกโดดเดี่ยวไม่ต่างจาก Bob

ถึงแม้ต่างฝ่ายต่างก็มีความสัมพันธ์ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ด้วยบรรยากาศและห้วงแห่งอารมณ์ที่พาไปก็ทำให้ยากที่จะห้ามใจ สุดท้ายความสัมพันธ์ต้องห้ามก็เริ่มก่อตัวขึ้น

ความรักครั้งนี้ไม่ต่างอะไรจากนาฬิกาทราย ต่างฝ่ายต่างรู้ดีว่าเมื่อเวลาหมดลงก็ต้องแยกย้าย ทิ้งทุกอย่างให้อยู่แค่ในความทรงจำ ซึ่งในฉากสุดท้าย Bob ได้มาเจอกับ Charlotte เพื่อบอกลา โดยบรรยากาศรอบข้างนั้นรายล้อมด้วยผู้คนที่เดินขวักไขว่ แต่สำหรับพวกเขาแล้วทั้งโลกเหมือนมีแค่เราสอง เป็นการบอกลาที่เจ็บปวด ก่อนที่เพลง Just Like Honey จะดังขึ้น แล้วทั้งคู่ก็แยกจากกันไปคนละทาง กลับสู่โลกของตัวเอง

Song: Stand By Me – Ben E. King
Movie: Stand By Me (1986)

ไม่ใช่แค่เพราะชื่อเพลงเป็นชื่อเดียวกับชื่อเรื่องเท่านั้น แต่เพลง Stand By Me ของ Ben E. King คือส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประทับอยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืม

เชื่อว่าทุกคนคงมีประสบการณ์วัยเด็กที่รายล้อมไปด้วยเพื่อน แม้ตอนนี้คุณเติบโตเป็นผู้ใหญ่และเพื่อนเหล่านั้นจะหลุดออกจากวงโคจรชีวิตไปแล้ว บางคนเราอาจจะจำได้แค่ชื่อด้วยซ้ำ แต่ในความทรงจำของคุณ พวกเขาเหล่านั้นไม่เคยหายไปไหน ทุกคนยังเป็นเด็กที่กำลังวิ่งเล่นอย่างมีความสุข

ไม่ต่างจาก Gordie Lachance ตัวเอกของเรื่อง ตอนเด็กเขาและกลุ่มเพื่อนได้เผชิญเหตุการณ์อะไรบางอย่างร่วมกันซึ่งเปลี่ยนแปลงมุมมองที่พวกเขามีต่อโลกไปตลอดกาล เป็นการ Coming of Age ครั้งใหญ่ในชีวิต

แม้หลังจากนั้นทุกคนจะแยกย้ายกันไปตามทางเดินชีวิตของตัวเอง จนปัจจุบัน Gordie Lachance เติบโตเป็นชายวัยกลางคน มีครอบครัวที่อบอุ่นแล้ว แต่เมื่อไรก็ตามที่หวนย้อนคิดถึงอดีต เขาก็ยังรู้สึกว่าเพื่อนในวัยเด็กไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่เปลี่ยนสภาพกลายเป็นกลุ่มก้อนความทรงจำเท่านั้น

‘So darlin’, darlin’, stand by me, oh stand by me
Oh stand by me, stand by me’

Song: Baby You’re A Rich Man – The Beatles
Movie: The Social Network (2010)

นี่คือภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่มีฉากจบทรงพลังที่สุด

อย่างที่ทุกคนรู้ The Social Network คือภาพยนตร์เชิงอัตชีวประวัติ ที่เล่าเรื่องราวของ Mark Zuckerberg เจ้าของ Social Network ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกปัจจุบันอย่าง Facebook

ต้องยอมรับว่าผู้กำกับ David Fincher และ  Aaron Sorkin มือเขียนบทไม่ได้เล่าเรื่องของ Mark ออกมาในแง่ดีเท่าไรนัก หนักไปในด้านเทา ๆ เกือบดำด้วยซ้ำ เพราะกว่าที่เขาจะก้าวมาอยู่บนจุดสูงสุดของอาณาจักรออนไลน์สีน้ำเงินนี้ได้ เขาต้องตัดสินใจทำอะไรมากมาย ไม่เว้นแม้แต่การหักหลังเพื่อนสนิท

ในตอนจบของเรื่อง Facebook ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม Mark Zuckerberg กลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านที่อายุน้อยที่สุดในโลก แต่เขากลับรู้สึกเปลี่ยวเหงาโดดเดี่ยว นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ พยายามกด Add Friend แฟนเก่าของตัวเอง Refresh หน้าจอซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยหวังว่าอีกฝ่ายจะกด Accept แล้วเพลง Baby You’re A Rich Man ของ The Beatles ก็ดังขึ้น

ตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้เหมือนกำลังบอกเราว่า Mark Zuckerberg คือผู้สร้างสังคมให้คนทั้งโลกได้รู้จักกัน มีเงินนับล้านในบัญชี แต่กลับล้มเหลวในความสัมพันธ์ส่วนตัว เป็นอะไรที่ย้อนแย้งอย่างน่าประหลาด

Song: Where Is My Mind – The Pixies
Movie: Fight Club (1999)

เชื่อว่านี่คือภาพยนตร์อันดับ 1 ในดวงใจใครหลายคน นอกจากฉากหักมุมที่เล่นเราจนเหวอแล้ว ฉากจบของ Fight Club เองก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน

Fight Club คือภาพยนตร์ที่จิกกัดระบบทุนนิยมได้อย่างเจ็บแสบ เล่าเรื่องผ่านมุมมองของพนักงานออฟฟิศไร้ชื่อ (จริง ๆ ก็คงมีชื่อแหละ เพียงแต่ตัวหนังเจตนาไม่เอ่ยถึง) ที่จมอยู่กับชีวิตอันเบื่อหน่าย ต้องทนทำงานที่ตัวเองไม่ชอบ เพียงเพื่อจะมีเงินมาเอาชีวิตรอดในสังคมทุนนิยม

จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้พบกับเซลล์แมนขายสบู่ลึกลับนามว่า Tyler Durden ซึ่งชายคนนี้ได้แนะนำให้เขาได้รู้จักกับ Fight Club คลับใต้ดินลึกลับที่ให้คนมาชกต่อยกันเพื่อระบายความเครียด แล้วหลังจากนั้นชีวิตเขาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

ในฉากจบของเรื่อง หนุ่มไร้ชื่อคนนี้กับ Marla Singer หญิงสาวท่าทางเพี้ยน ๆ ที่วนเวียนอยู่ในชีวิตของเขามาตั้งแต่ต้นเรื่องได้ยืนจับมือกันอยู่ในตึก เฝ้ามองการล่มสลายของเมืองที่กำลังระเบิดอย่างช้า ๆ ก่อนที่เพลง Where Is My Mind จะบรรเลงขึ้นมาได้อย่างถูกจังหวะ ทำให้ฉากนี้กลายเป็นการล่มสลายที่ดูงดงามและตราตรึงอยู่ในใจผู้ชมทุกคน

‘You met me at a very strange time in my life.’

Song: My Way – Sid Vicious
Movie: Goodfellas (1990)

Goodfellas คือผลงานภาพยนตร์มาสเตอร์พีซขึ้นหิ้งของผู้กำกับระดับตำนาน Martin Scorsese ตัวหนังเล่าเรื่องชีวิตการเป็นมาเฟียของ Henry Hill ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เริ่มจากการเป็นเบ๊ชั้นล่าง ก่อนจะค่อย ๆ ไต่เต้าจนเป็นระดับหัวหน้าแก๊ง

เมื่อได้ชื่อว่าเป็นมาเฟีย ทำธุรกิจสีดำ แน่นอนว่าจุดจบของชีวิตย่อมไม่สวยนัก Henry Hill เองก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าเขาจะโชคดีที่ไม่ตาย แต่ก็ต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไปตลอดชีวิต

ฉากสุดท้าย Henry Hill รำพึงถึงชีวิตของตัวเอง ก่อนที่เพลง My Way จะดังขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือการที่ Martin Scorsese เลือกใช้เวอร์ชันของ Sid Vicious แทนที่จะเป็นเวอร์ชันต้นฉบับของ Frank Sinatra ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความเป็นดนตรีพังก์ร็อกของเวอร์ชันนี้เข้ากับอารมณ์หนังมากกว่า

แต่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ (ที่ต้องขอออกตัวก่อนว่าเป็นการวิเคราะห์ของเราเอง) คือถ้าใครรู้จัก Sid Vicious ก็น่าจะรู้ว่าเขาคือศิลปินหัวขบถตัวพ่อ เป็น Iconic ของวงการพังก์ก็ว่าได้ เช่นเดียวกับ Henry Hill ที่ตัดสินใจเลือกเดินแหกกฎสังคมมาตั้งแต่เด็กด้วยการเป็นมาเฟีย เป็นการตัดสินใจด้วยตัวเองโดยไม่ได้มีใครบังคับ ซึ่งนี่แหละคือ My Way ของ Henry Hill

Song: The Sound of Silence – Simon & Garfunkel
Movie: The Graduate (1967)

มาถึงเพลงสุดท้ายและเรื่องสุดท้ายกันแล้ว ถ้าย้อนกลับไปเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้วนี่คือภาพยนตร์ขวัญใจอเมริกันชนที่สอนอะไรให้กับผู้ชมมากมายผ่านชีวิตและความรักอันยุ่งเหยิงของเด็กหนุ่มธรรมดา ๆ คนหนึ่ง

The Graduate เล่าเรื่องราวของ Ben Braddock เด็กหนุ่มวัยคะนอง ที่เพิ่งจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมาหมาด ๆ และกำลังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเอง ความสับสนของชีวิตเริ่มต้นขึ้นเมื่อเขามีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับ Mrs. Robinson ภรรยาของเพื่อนพ่อตัวเอง

ทุกอย่างยิ่งยุ่งเหยิงไปกันใหญ่เมื่อครอบครัวของ Ben พยายามที่จะเกี่ยวดองกับครอบครัว Robinson โดยการให้ Ben ออกเดตกับ Elaine Robinson ลูกสาวของ Mrs. Robinson ซึ่งทั้งคู่ต่างก็ตกหลุมรักกัน

ในตอนสุดท้ายของเรื่อง Elaine Robinson จำใจแต่งงานกับชายอื่น เนื่องจาก Ben ดูเป็นผู้ชายที่ใช้ไม่ได้ เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อในสายตาของผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม Ben ตัดสินใจทำอะไรที่ไม่มีใครคาดคิด เขามาที่งานแต่งงานของ Elaine และชิงตัวเธอไปจากงานแต่งและ Elaine ก็เต็มใจจะตามเขาไป

ทั้งคู่หนีขึ้นมาบนรถประจำทาง นั่งลงที่เบาะหลังสุด ทุกอย่างอยู่ในความเงียบ ไม่มีใครพูดอะไร จนกระทั่งเพลง The Sound of Silence ดังขึ้น

“Fools”, said I, “You do not know
Silence like a cancer grows
Hear my words that I might teach you
Take my arms that I might reach you”
But my words, like silent raindrops fell
And echoed in the wells of silence

เป็นความเงียบงันที่ดูเหมือนจะโรแมนติก แต่อีกแง่หนึ่งมันกลับเต็มไปด้วยความอึดอัด เพราะทั้งคู่รู้ตัวว่าตัดสินใจทำอะไรลงไป หลังจากนี้ชีวิตของเขาและเธอจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหนไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ ๆ คือมันดูเป็นเรื่องยากที่เกินกว่าประสบการณ์ชีวิตอันน้อยนิดของทั้งคู่จะรับไหว ทั้งคู่รู้ดี เพียงแต่ไม่พูดมันออกมา

 

นี่คือทั้ง 7 เพลงที่เราชื่นชอบ และคิดว่ามันช่างเข้ากับฉากจบของภาพยนตร์แต่ละเรื่องเหลือเกิน แล้วสำหรับคุณล่ะ เพลงตอนจบภาพยนตร์เรื่องไหนที่ตราตรึงใจคุณที่สุด?

PERLE
WRITER: PERLE
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line