Entertainment

เป็นผู้ใหญ่ย่อมเจ็บปวด ‘5 หนัง COMING OF AGE’เพราะการเติบโตมีบาดแผลและรอยยิ้ม

By: PSYCAT June 11, 2020

ถ้าจะมีสักช่วงวัยที่ทิ้งคราบน้ำตาและความทรงจำปวดเจ็บยากลืมเลือนไว้ในชีวิตเราได้มากพอ ๆ กับที่ฝากเสียงหัวเราะและเรื่องราวชวนอุ่นในใจเอาไว้ วันวัยที่ว่านั้นก็คงเป็น “วัยรุ่น” ช่วงวัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน

ณ ขณะที่ชีวิตคาบเกี่ยวระหว่างการเป็นเด็กและการเป็นผู้ใหญ่ ณ ขณะที่เราเชื่อว่ามีแต่ความเป็นไปได้รอเราอยู่ วัยที่เต็มไปด้วยความหวังเจิดจ้า แต่ขณะเดียวกันการเติบโตก็นำบาดแผลใหม่ ๆ มาสอนให้เราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นทุกที ๆ แม้บางคนจะผ่านวัยนั้นมาแล้ว แต่เมื่อหวนนึกถึงทีไรก็ชวนให้รู้สึกอะไรบางอย่างในใจทุกที เพราะนั่นคือชั่วขณะสำคัญที่ประกอบร่างสร้างให้เราเป็นผู้ใหญ่อย่างที่เราเป็นในตอนนี้

เพื่อให้ทบทวนตัวเองได้ดื่มด่ำกว่าเดิม เพื่อให้ระลึกถึงทุกเสียงหัวเราะและหยาดน้ำตาของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ เราเลยอยากเอา ‘5 หนัง COMING OF AGE’ตีแผ่รอยยิ้มและบาดแผลของการเติบโตมาปลอบประโลมความทรงจำ และความเจ็บปวดจากการเติบโต

 

The Perks of being a wallflower

วินาทีที่เราตระหนักได้ว่าชีวิตตอนมัธยมก็ไม่เห็นจะหนักหนาอะไรนี่หว่า นั่นอาจเป็นวินาทีที่เราข้ามผ่านช่วงวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์แล้ว แต่ถ้าหมุนเข็มนาฬิกากลับไปช่วงวัยก่อนจะ 20 ปี ความพยายามไขว่คว้าคะแนนดี ๆ มาครอบครอง การวิ่งสุดฝีเท้าเพื่อเป็นที่รักในแก๊งเพื่อน การเอื้อมสุดแขนเพื่อให้สาวสักคนหันมามอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเป็นเรื่องง่ายของเราในวัยรุ่น

The Perks of being a wallflower พาเราย้อนกลับไปในช่วงมัธยมปลาย ตอนที่ตัวละครหลักเพิ่งเข้าไฮสคูลเป็นครั้งแรก ที่ที่เราต้องปรับตัว ที่ที่เราต้องเป็นคนแปลกหน้า กับสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย มีหนุ่มฮอต มีสาวสวยจนใครก็เหลียวหลัง มีคนเรียนเก่ง มีคนเรียนห่วย และเราอาจไม่ได้เป็นอะไรเลยในสังคมมัธยมปลายที่ดูราวกับว่าทุกคนกำลังสนุกสุดเหวี่ยง

เราล้วนกำลังตามหาที่ทางของเรา ที่ที่เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับมัน ตอนโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว เราอาจเจ็บปวดน้อยกว่าเมื่อหาสถานที่นั้นไม่เจอ แต่ชั่วขณะของการเติบโตและการค้นหาตัวเองเมื่อตอนเรายังเป็นวัยรุ่นนั้นการกำลังค้นหาตัวเองนั้นไม่ง่ายเลย The Perks of being a wallflower จะปลอบโยนเรา โบยตีเรา ด้วยเรื่องราวของช่วงเวลานั้น ช่วงเวลาที่เราอาจเคยไม่เป็นส่วนหนึ่งกับอะไรหรือใคร จนถึงวินาทีที่เราก้าวผ่านมันมาได้

 

Dead Poets Society

เราเรียนจบมากี่ปีแล้วนะ? 3 ปี 5 ปี 10 ปี หรือนานเกินกว่าจะนับตัวเลขได้ แต่จะมีคนบางคนที่ไม่ว่าเราเรียนจบมานานแค่ไหน เขาคนนั้นก็ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำทุกครั้งที่เราหวนนึกกลับไป โดยเฉพาะเมื่อคนคนนั้นเป็นคนที่สอนให้เรามองโลกแบบใหม่ ๆ เรียนรู้ชีวิตในมิติที่ไม่เคยมีใครสอนเรา คุณล่ะ มี “ครู” แบบนั้นไหม? ครูที่เราจะไม่มีวันลืมลงได้ เพราะเขาไม่ใช่แค่สอนหนังสือ ตอนสอนวิธีที่จะมีชีวิตให้เรา

Dead Poets Society พาเราไปย้อนนึกถึงครูประเภทนั้น ครูที่ไม่เหมือนครูคนอื่น ชวนอ่านบทกวี ปีนขึ้นโต๊ะนักเรียน สอนให้กล้าที่จะขบถและไม่เหมือนใคร ที่สำคัญ “จงฉกฉวยวันเวลาเอาไว้” วินาทีของการเป็นวัยรุ่น (หรือวัยไหน ๆ) สั้นแสนสั้นแค่ชั่วพริบตา เราคิดว่าเราควบคุมเวลาได้ แต่กว่าจะรู้ตัว หากไม่ลงมือทำอะไรอย่างใจต้องการ วันเวลาก็ล่วงเลยไปไกลจนไม่อาจคว้าอะไรได้ทัน

Dead Poets Society เหมาะแก่วันที่อยากนึกถึงความทรงจำกับครูแหกคอก แก๊งเพื่อนที่ร่วมหัวจมท้ายชวนกันไปทำอะไรพิเรนทร์ ๆ เป็นครั้งแรก ความตื่นเต้นในวัยเยาว์ (ที่หลายกิจกรรมมาทำตอนนี้ก็อาจไม่รู้สึกอะไร) แต่ในอีกทางการดู Dead Poets Society ในช่วงที่เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็อาจบอกให้เรารีบคว้าอะไรบางอย่างไว้ด้วยเช่นกัน

 

An Education

เคยสงสัยไหมว่าอะไรทำให้เราเป็นเราในวันนี้? ทางแยกไหนของชีวิตที่เปลี่ยนเราจากคนก่อนหน้านี้ มาเป็นคนนี้ ตอนเลือกว่าจะเรียนสายอาชีพหรือสายสามัญ? ตอนตัดสินใจว่าจะเรียนสายวิทย์ดีกว่าสายศิลป์? ตอนที่ไม่เอาแล้วต้องหยุดเรียนแล้วมาทำงานหาเงินก่อน?

An Education พาเราย้อนกลับไปครุ่นคิดเรื่อง “การศึกษา” ในแบบจิกกัดแสบคัน เรื่องราวของสาวน้อยที่กำลังจะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่เมื่อมีหนุ่มสูงวัยกว่าที่พรั่งพร้อมทั้งรสนิยม ความรู้ หน้าตาและการเงิน เธอจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่าในเมื่อมีสามีในอนาคตที่รออยู่ขนาดนี้แล้ว เราจะเรียนต่อไปทำไม?

ค่านิยมการศึกษา มาตรฐานบางอย่างของสังคม การเติบโตและเปลี่ยนผ่านจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ที่เราก็ยังไม่ได้มีความคิด วิจารณญาณของตัวเองที่หนักแน่นมากพอ การได้ดู An Education จึงชวนให้เราย้อนคิดได้ไม่น้อยว่าที่ผ่านมาเราเลือกอะไร เพราะอะไร เราเลือกโดยตั้งใจ หรือเพราะเชื่อพ่อแม่ เพื่อน ครู ตัวเอง? แล้วทางที่เราเลือกในช่วงวัยที่เต็มไปด้วยความสั่นคลอนของหลายสิ่งหลายอย่างนั้นนำพาเราไปสู่จุดไหนแล้วบ้าง?

 

20th Century Women

การเป็นเด็กมันดีตรงที่เรารู้สึกราวกับว่าเราพิเศษและสำคัญอยู่เสมอ ในสายตาพ่อแม่ ในสายตาครู ในสายตาของผู้ใหญ่ที่เดินผ่านไปผ่านมาแล้วทักทายเราเพราะเราน่ารัก น่าเอ็นดู แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะตระหนักขึ้นทุกที ๆ ว่าแท้จริงเราไม่ได้พิเศษอย่างที่เราถูกทำให้เข้าใจมาทั้งชีวิต เราก็แค่มนุษย์สามัญธรรมดาและต้องเผชิญความเจ็บปวดของการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ธรรมดา ๆ คนหนึ่ง

20th Century Women พาเราย้อนไปยังปลายยุค 70 ในสถานที่ที่มีผู้คนธรรมดา ๆ ดำเนินเรื่อง การเติบโตของเด็กชายคนหนึ่งกับแม่ (ไม่มีพ่อ) จนวันหนึ่งเขาไม่ได้เป็นเด็กชายอีกต่อไป ชีวิตก้าวสู่การเป็นวัยรุ่น แม่เริ่มไม่เข้าใจเขา จนต้องไหว้วานให้หญิงสาวต่างวัยอีกสองคน ช่วยกันประคับประครองเด็กชายคนนี้ผ่านช่วงการเปลี่ยนผ่าน

หนังธรรมดา ช่วงชีวิตการเปลี่ยนผ่านที่มีปมและความขัดแย้งธรรมดา ๆ แต่ 20th Century Women กลับชวนให้รู้สึกอะไรไปได้มากมาย เพราะไม่ใช่แค่เด็กชายเท่านั้นที่ดูเหมือนกำลังตะเกียกตะกายเรียนรู้ชีวิต แต่ไม่ว่าจะเป็นเด็กสาวที่วัยรุ่นกว่านั้นที่พยายามตามหาตัวเอง หญิงสาวที่ฝันอยากมีลูกแต่ต้องมาเป็นมะเร็งที่มดลูกและหาทางที่จะอยู่กับมัน หรือผู้เป็นแม่ที่ก็ผ่านอะไรมาทั้งชีวิต แต่กลับต้องเรียนรู้ลูกชายวันรุ่นใหม่

คล้ายหนังกำลังกระซิบบอกเราว่าการเปลี่ยนผ่านและเติบโตครั้งใหญ่ครั้งแรกอาจเริ่มต้นเมื่อเราเปลี่ยนจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ แต่ชีวิตล้วนคือการเติบโต ไม่ว่าในช่วงวัยไหน เราล้วนแต่ต้องดิ้นรนที่จะมีชีวิตในแบบของเรากันทั้งนั้น

 

Lady Bird

ชีวิตไหลไปตามกลไกของมันเมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ตื่นเวลานี้ เพราะต้องไปทำงานเวลานี้ กินอาหารแบบนี้ ใช้ของแบบนี้ เพราะเรารู้ว่ารายรับรายง่ายของตัวเองมีเท่าใด เรียกคนนั้นคนนี้ด้วยสรรพนามแบบไหน เพราะตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือสถานะทางสังคมที่เขามี ชีวิตที่ดูมั่นคงปลอดภัย แต่ในอีกทางก็คล้ายอยู่ในกรอบใสที่เรามองไม่เห็น แต่ก็ไม่อาจละเมิดหรือทลายเส้นออกไปได้

Lady Bird พาเราย้อนกลับไปในวัยที่เราพร้อมแหกคอก พร้อมขบถ พร้อมที่จะลุกขึ้นมาบอกว่า เฮ้ย แม่ตั้งชื่อฉันว่าอะไรก็ได้ แต่จากนี้ไปเรียกฉันด้วยชื่อนี้เท่านั้น เพราะฉันจะชื่อนี้! หรือตอนที่เถียงกับแม่คอเป็นเอ็น แล้วนึกจะเปิดประตูรถพรวดออกไปเพื่อประท้วง ก็ทำมันเสียดื้อ ๆ โดยไม่สนว่าจะบาดเจ็บไหม จะขาดงานหรือเปล่า ช่วงชีวิตที่ไม่มีกรอบอะไรสำคัญไปกว่าการทำตามใจปรารถนา และตามหาตัวตนของเรา

Lady Bird พาเราดำดิ่งไปในชีวิตมัธยมปีสุดท้ายของเด็กสาวที่อยากให้ทุกคนเรียกตัวเองว่า Lady Bird มากว่าชื่อจริง ๆ ของเธอ แม้จะเป็นช่วงเวลาที่เธอหลงทางบ่อยครั้ง ตามหาตัวเองไม่เจอเพราะมัววิ่งต้อยตามคนอื่น หรือช่วงเวลาที่เธอแข็งแกร่ง และยืนกรานสิ่งที่ตัวเองเชื่อแบบหัวชนฝา ครบรสทั้งเสียงหัวเราะและหยาดน้ำตา

แม้หนังจะฉายให้เห็นชีวิตช่วงเปลี่ยนผ่านที่ทั้งผุพัง วายวอด (แต่ก็สนุก) ถึงเพียงนั้น เราก็อดถามตัวเราเองเวอร์ชันผู้ใหญ่ที่มั่นคงปลอดภัยตอนนี้ไม่ได้จริง ๆ ว่าความอิสระเสรี ความกล้าที่แหกคอกแบบวัยรุ่นนั้นหายไปไหนหมดแล้วนะ?

 

ชีวิตเติบโตและเปลี่ยนผ่านอยู่ตลอด แม้จะไม่ได้ยิ่งใหญ่สวิงสวายเหมือนตอนเปลี่ยนจากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ แต่ทุกบาดแผลและรอยยิ้มก็สอนอะไรเราได้เสมอ ขอให้ทุกคนมีความสุขกับหนัง 5 เรื่องนี้และทุกการเปลี่ยนผ่านในชีวิตของคุณ

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line