Life

Conversation Killers: 10 พฤติกรรมทำลายบทสนทนาที่เราทุกคนควรหลีกเลี่ยง

By: unlockmen December 2, 2020

เคยรู้สึกไหมว่าคนอื่นไม่ค่อยอยากจะคุยกับเราเท่าไหร่ ? หรือว่า เจอกับความเจื่อนในการสนทนากับคนอื่นบ่อย ๆ รึเปล่า ? ไม่แน่ว่า ปัญหาอาจเกิดขึ้นมาจากตัวเรามี พฤติกรรมนักฆ่าบทสนทนา (Conversation Killers) และไม่มีใครกล้าบอกเรา ส่งผลให้เรามักเป็นผู้ทำลายบทสนทนาโดยที่เราไม่รู้ตัวอยู่เสมอ ในบทความนี้ UNLOCKMEN อยากช่วยให้ทุกคนพูดคุยกับคนอื่นได้อย่างราบรื่น โดยจะมาลิสต์พฤติกรรมแย่ ๆ ที่มักจะสร้างความไม่สบายใจให้กับคู่สนทนาของเรา และเมื่อเราหยุดทำพฤติกรรมเหล่านั้น จะช่วยให้ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นได้ด้วย

แต่ก่อนอื่นเราอยากจะมาพูดถึงความหมายของคำว่า Conversation Killers กันก่อน คำ ๆ นี้หมายถึง พฤติกรรมการสนทนาแย่ ๆ ที่จะทำให้คนอื่นอยากหยุดคุยกับเราให้เร็วที่สุด ซึ่ง Conversation Killers สามารถส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อความสัมพันธ์ได้ และอาจทำให้ความสัมพันธ์จบลงได้ในที่สุด

บางคนอาจมี Creative Killers แต่ไม่รู้ตัวตัวเอง และไม่ได้ตั้งใจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ ดังนั้น การรับรู้และกำจัด Conversation Killers อาจช่วยให้เรามีความมั่นใจในการสนทนามากขึ้น และยังส่งผลดีต่อการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วย สำหรับประเภทของ Conversation Killers จะมีหลากหลาย โดยแต่ละประเภทจะส่งผลเสียต่อการสนทนาต่างกัน ซึ่ง ชิวานิ มิสรี สาดู (Shivani Misri Sadhoo) นักจิตวิทยา และที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์ ได้จัดให้ 3 พฤติกรรมนี้เป็น Conversation Killers ได้แก่

ล้อเล่น (Teasing) : การพูดล้อเล่นมักถูกมองว่าเป็นการล้อเลียนเพื่อนเสมอ แต่บางครั้งคนทำก็คิดว่ามันไม่มีพิษมีภัยอะไร แค่แซวกันเล่นเฉย ๆ แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรับกับการล้อเล่นของเราได้ เพราะต่างคนต่างมองเรื่องตลกไม่เหมือนกัน บางครั้งมันจึงทำร้ายคนอื่นได้เหมือนกัน ดังนั้น เวลาจะแซวใคร ต้องระมัดระวังพอสมควร

เหน็บแนม (Nagging) : การวิพากษ์วิจารณ์ หรือ การบ่น มักทำลายการพูดคุยอย่างสนุกสนานอยู่เสมอ และการวิจารณคนอื่นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ก็อาจส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อการรักษาความสัมพันธ์ได้เหมือนกัน เมื่ออีกฝ่ายรู้สึกเหนื่อยล้าและทนไม่ไหวกับพฤติกรรมนี้ของเรา ก็อาจตัดสินใจหยุดความสัมพันธ์ลงได้ ดังนั้น จึงอาจดีกว่าถ้าเราไม่วิจารณ์คนอื่นบ่อยเกินไป

คร่ำครวญ (Whining) : เวลาเราคร่ำครวญ คนอื่นอาจจะรู้สึกรำคาญได้ และเมื่อเราคร่ำครวญบ่อย ๆ ก็อาจทำให้คนอื่นมองว่าการคุยกับเราเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายได้ แม้ว่าสิ่งที่คุณพูดจะมีประเด็นและสำคัญแค่ไหนก็ตาม มันก็จะไม่ได้รับการรับฟังเท่าที่ควร ดังนั้น แทนที่จะคร่ำครวญ เราควรใช้วิธีการสื่อสารที่ถูกต้อง และมีชั้นเชิงมากกว่าการพูดเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา

นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมอื่น ๆ อีกที่ถูกจัดว่าเป็น Creative Killers ไม่ว่าจะเป็น

เสแสร้ง (Pretending) : การทำตัวเหมือนจะเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นพูด แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่คนอื่นพูดเลย ซึ่งหากเรามีพฤติกรรมนี้ แล้วโดนจับได้ ก็อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเสียความมั่นใจ และส่งผลเสียต่อความส้มพันธ์ได้เหมือนกัน ดังนั้น จึงอาจดีกว่า ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องไหนแล้วถามเลย ซึ่งจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราสนใจในสิ่งที่เขาพูดด้วย

พูดเรื่อยเปื่อยมากเกินไป (Small Talk All The Time) : ตอนแรก ๆ การพูดเรื่อยเปื่อยอาจทำให้บทสนทนามันไปต่อเรื่อย ๆ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง มันอาจไม่ตอบโจทย์แล้ว เพราะคนต้องการบทสนาที่มีความหมายและสาระมากขึ้นกว่าเดิม คนที่พูดเรื่อยเปื่อยตลอดเวลา จึงสามารถกลายเป็นคนน่าเบื่อได้ ดังนั้น อาจดีกว่า ถ้าเราพูดเรื่อยเปื่อยแต่พอควร และเปิดพื้นที่ให้กับบทสนทนาที่มีสาระบ้าง ฟังคนอื่นมากขึ้น และไปตามโฟลว์ของการสนทนา

แชร์เรื่องของตัวเองมากเกินไป (Over-Sharing) : การพูดถึงเรื่องส่วนตัวมากเกินไป อาจทำให้คนฟังรู้สึกทำตัวไม่ถูกได้ เมื่อคน ๆ นั้นไม่ใช่คนที่สนิทกับเรามากพอที่จะเปิดใจรับฟังได้ ฉะนั้น เวลาที่เราอยากพูดเรื่องของตัวเองกับคนที่เราไม่ได้สนิท เราอาจต้องพูดแต่เรื่องทั่ว ๆ ไป หรือ อาจเปลี่ยนไปโฟกัสคนที่กำลังพูดอยู่แทน  โดยการตั้งใจฟัง และถามคำถามเขาให้มากขึ้น

พูดอยู่ฝ่ายเดียว (One-Sided Conversation) : ในตอนแรกคนอาจตั้งใจฟังเราอยู่ แต่พอเวลาผ่านไปสักพัก เราอาจรู้สึกว่าคนอื่นไม่ได้สนใจเราพูดแล้ว ปัญหานี้เกิดขึ้นได้จากการที่เราพูดฝ่ายเดียวมากเกินไป จนคนอื่นรู้สึกไม่มีส่วนร่วมกับเรา ดังนั้น เราควรเปิดโอกาสให้คนอื่นได้พูดบ้าง ลองถามคำถามพวกเขา เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

เปลี่ยนหัวข้อสนทนาอย่างรวดเร็ว (Huge Leaps) : การเปลี่ยนหัวข้อในการสนทนาอย่างรวดเร็ว เช่น พูดแทรกเรื่องของตัวเองขึ้นมาในขณะที่คนอื่นพูดอยู่ อาจเป็นเรื่องเสียมารยาท และทำให้คนอื่นรู้สึกแย้ได้ ดังนั้น  เราควรมีวิธีการที่ลื่นไหลมากขึ้น เพื่อเปลี่ยนจากบทสนทนาหนึ่งไปยังอีกบทสนทนาหนึ่ง เช่น อาจรอให้บทสนทนาหนึ่งจบลงก่อน แล้วค่อยพูดเรื่องใหม่ขึ้นมาก็ได้

โชว์เหนือ (One-Upping) : เวลาคนอื่นกำลังแชร์เรื่องราวดี ๆ หรือ ความสำเร็จของตัวเอง แล้วเราแทรกเขาด้วยเรื่องราวความสำเร็จที่เหนือกว่าของตัวเอง พฤติกรรมนี้อาจถูกมองว่าเป็นการหักหน้า และทำให้บทสนทนามาคุได้ ดังนั้น แทนที่จะพูดเรื่องของตัวเอง ลองแสดงความยินดีและให้กำลังใจคนอื่นจะดีกว่า

ตัดสินคนอื่น (Judging) : เมื่อเราตัดสินคนอื่น โดยการบอกเขาตรง ๆ ว่าทำถูกทำผิดเรื่องใดบ้าง และให้คำแนะนำโดยที่เขาไม่ได้ร้องขอ สิ่งที่ตามมา คือ คนอื่นอาจจะรู้สึกเฟลได้ เพราะคนส่วนใหญ่มักไม่ชอบถูกตัดสิน การชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดของคนอื่นจึงไม่ใช่เรื่องที่ทำกันอย่างโจ่งแจ้งได้ ดังนั้น แทนที่จะไปตัดสินเขา ลองไกด์เขาให้เห็นถึงปัญหาของตัวเอง และคิดวิธีแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง จะเหมาะสมมากกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้ Conversation Killers แต่ละประเภทจะส่งผลเสียต่อการสนทนามากน้อยแตกต่างกัน แต่ถ้ามันเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็อาจทำให้คนอื่นไม่สบายใจอย่างหนักได้เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าเรารู้ว่าพฤติกรรมไหนเป็น Conversation Killers ก็ควรแก้ไขมัน เพื่อให้ความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นไม่ดิ่งลงเหวไปซะก่อน


Appendixs: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line