Entertainment

CONVERSATION WITH ‘ณัฐชนน วะนา’ ผู้กำกับหนุ่มผู้มีสไตล์ชัดเจนและมุ่งมั่นที่จะออกจาก COMFORT ZONE ของตัวเอง

By: PERLE November 16, 2018

วันนี้ไม่รู้สึกประหม่าอย่างที่เคย เพราะถึงแม้เราจะสัมภาษณ์คนมาไม่น้อย แต่ทุกครั้งก็จะมีอาการประหม่าร่วมด้วย มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าเราสัมภาษณ์ใคร แต่ครั้งนี้ต่างออกไป อาจเป็นเพราะเรากับคนที่เราจะสัมภาษณ์รู้จักกันเป็นการส่วนตัว นั่งดื่มกันมาก็หลายครั้ง เขาคือผู้กำกับหนุ่มรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง งานทุกชิ้นมีเอกลักษณ์ชัดเจน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่เรากับเขาจะได้คุยกันเรื่องงานที่เขาทำอยู่บ้าง เนื่องจากที่ผ่านมาถึงแม้เราจะรู้ดีว่าเพื่อนคนนี้เป็นผู้กำกับ แต่ส่วนใหญ่ก็คุยกันเรื่องสัพเพเหระทั่วไปตามประสาผู้ชายเสียมากกว่า

สถานที่นัดหมายก็ไม่ใช่ที่ไหน เป็นร้านประจำที่เรากับเขาเคยนั่งดื่มด้วยกันบ่อย ๆ เรามาถึงในช่วงพลบค่ำตามเวลานัด พบว่า  ‘ณัฐชนน วะนา’ หรือที่เราเรียกเขาติดปากว่า ‘วะนา’ นั่งรออยู่ก่อนแล้ว และหลังจากพูดคุยเรื่องทั่วไปจบลง บทสนทนาลงลึกก็เริ่มต้นขึ้น

ณัฐชนน วะนา คือใคร ช่วยแนะนำตัวให้คนที่ยังไม่รู้จักเราหน่อยครับ?

“สวัสดีครับ ณัฐชนน วะนา เป็นผู้กำกับฟรีแลนซ์ กำกับทั้งโฆษณา MV รวมถึงหนังของตัวเองด้วยครับ แต่ก็พยายามคิดโปรเจ็กต์ใหม่ที่แตกต่างจากสิ่งที่ตัวเองเคยทำอยู่เรื่อย ๆ ครับ”

จากเด็กธรรมดาคนหนึ่ง อะไรคือจุดเริ่มต้นของการอยากเป็นผู้กำกับ Turning Point อยู่ตรงไหน?

“เริ่มจากเราอยากเรียนศิลปะ เรียนเพ้นท์ เลยลองคุยกับที่บ้าน ที่บ้านเค้าอยากให้เราเรียนสื่อ เราก็รู้สึกสนใจ ซึ่งถือว่าเรารู้ตัวเร็วเพราะตอนนั้นเพิ่งม.4 เอง อาชีพผู้กำกับก็เข้ามาตั้งแต่ตอนนั้น เราก็ไม่ได้มีไอเดียอะไรเกี่ยวกับอาชีพนี้หรอก แต่พอได้เริ่มทำโปรเจ็กต์ส่วนตัวตอนเข้าปี 1 เราก็รู้สึกชอบ รู้สึกว่างานนี้มัน Relate กับอะไรหลายอย่าง ทั้งภาพ เสียง ความสนใจ ผู้คน และก็ได้ทำงานร่วมกับคนอื่น เราชอบทำงานกับคนอื่น”

ตอนนี้ก็ได้มาทำอาชีพผู้กำกับแล้ว คิดว่าที่ตัวเองเป็นตอนนี้กับการประสบความสำเร็จที่ฝันเอาไว้ เส้นทางยังอีกไกลมั้ย?

“ไกลครับ ไกลมาก คิดว่าไกลเป็น 10 ปีเลย เราเรียนจบมาแล้ว 3 ปี ก็ถือว่าเริ่มทำงานมาระยะหนึ่งแล้ว ตอนนี้ก็มาถึงช่วงที่เราอยากเรียนต่อ เพราะรู้สึกว่าตัวเองเคยชินกับการอยู่ที่ไทย ซึ่งเรารู้สึกว่าการเคยชินเป็นเรื่องอันตรายมาก และต่อให้เราไม่ได้อยู่ที่ไทย เป็นประเทศไหนก็ตาม

เราคิดว่าการ Drive ตัวเองไปข้างหน้าโดยที่เรายังอยู่ที่เดิมมันยาก

ตั้งแต่เรารู้ตัวว่าเราอยากทำหนังจนถึงตอนนี้ก็เกือบ 10 ปีแล้ว เราเลยรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนที่เพื่อจะ Drive ตัวเอง ซึ่งถ้าเราไปเรียนต่อก็ต้องใช้เวลา และหลังจากนั้นกว่าเราจะพาตัวเองไปถึงจุดที่พร้อมประสบความสำเร็จได้อีก เลยคิดว่ามันยังอีกไกลมาก ๆ ”

ถ้าอย่างนั้นคิดว่าตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นแบบไหน ทำอะไรอยู่?

“ก็คงเป็นผู้กำกับอยู่ ถ้าเลือกได้เราอยากทำหนัง ไม่ต้องทำโฆษณาเลยก็ได้ เรารู้สึกว่า 2 อาชีพนี้มันแยกกัน คนภายนอกมักจะมองว่าก็เป็นผู้กำกับเหมือนกัน แต่สำหรับเรามันคือคนละอาชีพกันเลย (นิ่งคิดชั่วครู่) แล้วก็คงอยากอยู่ที่อื่นที่ไม่ใช่ไทย เพราะอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะอายุ 35 ซึ่งสำหรับเรายังไม่ใช่เวลาที่เราอยาก Settle เรายังไม่อยากกลับมาอยู่ที่บ้าน สำหรับเราการกลับไทยมัน…”

วะนายังตอบคำถามไม่จบ แต่ด้วยความสงสัยของเราจึงถามแทรกขึ้นมาว่า “แปลว่าการอยู่ไทยจะทำให้เราหยุดพัฒนา ?”

“จะพูดอย่างนั้นก็ได้ เพราะที่เราพูดไปตอนแรกว่าเราชอบเจอคน ทำงานร่วมกับคนอื่น เพราะรู้สึกว่ามัน Drive เรามาก โดยเฉพาะการได้เจอคนจากต่างวัฒนธรรมมัน Drive เรามากกว่า

ซึ่งอีก 10 ปีเรารู้สึกว่ายังไม่ใช่จุดที่เราใกล้กับการประสบความสำเร็จ เราเลยยังอยากจะเรียนรู้อยู่

แปลว่าตอนนี้จากงานทั้งหมดที่ทำ ไม่ว่าจะ กำกับหนัง กำกับโฆษณา กำกับ MV เขียนบท วะนาชอบงานกำกับหนังที่สุด?

“ใช่ครับ เพราะถึงแม้ว่าตอนแรกจะต้องคิดก่อนว่าหนังเรื่องนี้ทำมาให้ใครดู ผู้ชมคือกลุ่มไหน แต่สุดท้ายแล้วสำหรับเราหนังมันตามผู้กำกับ ขึ้นอยู่กับเราว่าอยากจะให้มันออกมาแบบไหน แตกต่างจากงานโฆษณาที่สุดท้ายแล้วคนที่ตัดสินใจคือลูกค้า ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะเค้าอยู่กับโปรดักส์มานานกว่าเรา เราเป็นแค่คนให้ไอเดีย เราเลยชอบการทำหนังมากกว่า เพราะเป็นงานที่เรามีอำนาจในการตัดสินใจให้ออกมาในสิ่งที่เราอยากให้เป็นจริง ๆ ”

หนังของวะนามีเอกลักษณ์ชัดเจน สำหรับผู้ชมอย่างเรารู้สึกว่ามันมีความปัจเจกสูง นิ่งเงียบ เนิบช้า อบอวลด้วยควันบุหรี่ เน้นการสื่ออารมณ์ของตัวละครและบทสนทนา เราจึงอยากรู้ว่าทำไมเขาถึงเลือกถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมา

“เรารู้สึกว่าหนังเราค่อนข้างจะเป็นห้วง ห้วงที่เล่าด้วยไดอะล็อก เพราะเรารู้สึกเสมอว่าเวลาคนเราเจอปัญหา จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาจะเริ่มที่บทสนทนา บทสนทนาสำหรับเรามันเป็นการแสดงออกถึงความเจ็บปวด

และด้วยความที่เราโตมาในสังคมเมืองชนชั้นกลาง มันเลยไม่มีอะไรที่หวือหวา ความหวือหวาส่วนใหญ่จะอยู่ในบทสนทนา เราเลยเลือกเล่าเรื่องด้วยวิธีนี้

แล้วเราจะมีโอกาสได้เห็นวะนากำกับหนังโทนเรื่องสดใสแบบหนังตลาดทั่วไปมั้ย?

“คิดว่าจะอยากทำครับ แต่คงเป็นในแง่อาชีพ ขอเกริ่นก่อนว่าเรามีความสุขกับการทำโฆษณา Beauty มากทั้ง ๆ ที่มันไกลตัวเรามาก  อาจเพราะมันพาเราออกมาจาก Comfort Zone เหมือนเป็นการ Challenge ตัวเอง เช่นเดียวกับการทำหนังตลาด ที่มันคงไม่ได้เกิดจากความอยากส่วนตัวของเรา แต่เป็นเพราะเส้นทางในอาชีพพาเรามาตรงนี้ เราอยากทำเพราะอยาก Challenge ตัวเอง”

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่านอกจากการเป็นผู้กำกับแล้ว อีกหนึ่งบทบาทที่วะนาเคยทำอยู่ช่วงหนึ่งในชีวิตคือการเป็นบาร์เทนเดอร์ เจ้าของร้าน Sofia’s Room (ซึ่งตอนนี้ปิดกิจการไปแล้ว จะเปิดอีกเมื่อไรขึ้นอยู่กับอารมณ์วะนา) เราเลยอยากให้วะนาลองเทียบสไตล์งานตัวเองเป็นค็อกเทลสักแก้ว

“ถ้าจะตอบให้ดูเท่ ๆ ก็อยากจะตอบว่ามาร์ตินี่ แต่จริง ๆ แม่งก็ไม่ค่อยเหมือน (หัวเราะ) เพราะงานเราไม่ค่อยมีความเป็นค็อกเทลเท่าไร ด้วยความที่มันไม่ค่อยถูกปรุงเยอะ เราเล่ามันอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นมันอาจจะเหมือนวิสกี้เพียว ๆ สักแก้ว เต็มที่ที่สุดก็ On the Rock ที่น้ำแข็งอาจจะเป็นเครื่องปรุงเดียวของมัน”

เปรียบเทียบงานกับค็อกเทลไปแล้ว คราวนี้เราเลยอยากให้วะนาลองเปรียบเทียบตัวเองกับหนังสักเรื่องบ้าง

“มันมีหนังเรื่องหนึ่งที่เราเคยดูตอนอยู่ม.5 เป็นหนังบราซิล ชื่อ The Famous and the Dead เล่าเรื่องของเด็กผู้ชายอายุ 16 คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในชนบทของบราซิล เป็นแฟนบอยของ Bob Dylan แอบชอบผู้หญิงในอินเตอร์เน็ต คือเรารู้สึกว่าเราเห็นความพยายามทำเท่ของเด็กคนนี้มันสูงมาก  แก่นเรื่องก็คือเด็กผู้ชายคนนี้อยากไปดูคอนเสิร์ต Bob Dylan แต่ก็มีปัญหามากมาย เช่นเขาอยู่ในเมืองที่ทุกคนฆ่าตัวตายตลอดเวลา พ่อเขาก็ตายไปด้วยเหมือนกัน ที่ชอบเพราะตอนดูเรารู้สึกว่าเรา Relate มาก เนื่องจากตอนนั้นเราอายุเท่าตัวเอก ที่คิดว่าตัวเองแม่งโตเหลือเกิน พร้อมจะออกไปจากตรงนี้แล้ว เหมือน Holden Caulfield จาก The Catcher in the Rye ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ มันเลยทัชเรามาก”

อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับวะนาในการกำกับหนังสักเรื่อง?

“การทำงานกับคนครับ ข้อดีของมันคือการทำงานกับคน ข้อเสียของมันก็คือการทำงานกับคนเหมือนกัน เพราะตลอด Process การทำงานเราต้องติดต่อสื่อสารกับคนตลอดเพื่อให้ภาพออกมาอย่างที่เราต้องการ ซึ่งมันก็มีทั้งคนที่ทำงานออกมาได้ดีกว่าที่เราคิด กับคนที่ทำไม่ได้ อาจจะเพราะความดื้อของเขา เขาเก่งไม่พอ หรือเขาไม่เชื่อในตัวเราก็ตาม ดังนั้นเราเลยรู้สึกว่าคนคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้งานกำกับออกมาดีหรือไม่ดีได้เลย ซึ่งนี่คืออีกหนึ่งสกิลสำคัญของการเป็นผู้กำกับ”

ถ้าอยู่ ๆ มีใครสักคนเดินเข้ามาถามวะนาว่าเค้าอยากเป็นผู้กำกับหนัง เขาต้องทำยังไงบ้าง จะตอบคน ๆ นั้นว่ายังไง?

“เราว่าพอมันอยู่ในยุคนี้มันค่อนข้างเปิดมาก มีเทศกาล มีแพลตฟอร์มต่าง ๆ รองรับ ตอนแรกคนอาจจะรู้สึกว่าข้อเสียของหนังคือมันเป็นงานที่ต้องทำกันหลายคน มันเลยดูเป็นเรื่องยากที่อยู่ ๆ คน ๆ หนึ่งจะลุกขึ้นมาทำหนัง แต่สำหรับเรา เรารู้สึกว่าคนรุ่นเราเคยชินกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว ทุกคนเคยถ่ายภาพ ทุกคนเคยดูหนัง ดังนั้นขอแค่มีประเด็นที่อยากเล่า เราคิดว่าใครก็ทำหนังได้ถ้าอยากจะทำ”

สุดท้ายนี้คิดว่าตัวเองต้อง UNLOCK อะไรบ้างเพื่อจะไปสู่ความสำเร็จอย่างที่หวัง?

“การ UNLOCK ของเราที่แพลนไว้เร็ว ๆ นี้คือออกไปจากประเทศไทยก่อน คือไม่ได้ออกด้วยความรู้สึกเกลียดประเทศนะ แต่หมายถึงการออกจาก Comfort Zone แต่ก็จะมีคนตั้งคำถามกับเราว่าจริง ๆ การไปเรียนต่อมันก็คือ Comfort Zone หรือเปล่า สำหรับเรามันเป็นการออกจาก Comfort Zone ที่ว่ากูไม่อยากทำงานแล้วว่ะ อยากกลับไปใช้ชีวิตนักเรียนแบบเดิม นี่คือแง่หนึ่ง

ส่วนอีกแง่หนึ่งการไปเรียนต่อหมายถึงการที่คุณต้องออกจากสังคมที่คุณอยู่หมดเลยนะ สมมุติว่าคุณมีเพื่อนที่ไทยเยอะมาก คุณสามารถเรียกเพื่อนออกมากินเหล้าด้วยได้ตลอดเวลา แต่ถ้าคุณไปเรียนต่อ ในด้านสังคมคือคุณนับหนึ่งใหม่นะ

เราเข้าใจเรื่องนี้เพราะตอนม.ปลายเราเคยไปแลกเปลี่ยนที่สเปน ซึ่งตอนเรายังอยู่ม.3 เราคิดว่าตัวเองคือเด็กม.3 ที่มีความสุขที่สุด แต่พอไปถึงสเปน ภาษาก็พูดไม่ได้ ดังนั้นการเริ่มนับหนึ่งใหม่สำหรับเรามันก็คือการออกจาก Comfort Zone ในแง่หนึ่ง ซึ่งเรารู้สึกว่ามันจำเป็น

การจะ UNLOCK ตัวเองได้ต้องรู้สึกตัวเมื่อตัวเองชิน และออกจาก Comfort Zone นั้น แต่ในขณะเดียวกันการที่คุณออกไปคุณก็ต้องพร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ รู้จักมันมากขึ้นเหมือนกัน

บทสัมภาษณ์จบลงเพียงเท่านี้ เราค่อนข้างประหลาดใจ เหมือนเราได้รู้จักเพื่อนคนนี้มากขึ้นทั้ง ๆ ที่คบหาสมาคมกันมานาน แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้พูดคุยกับเขาเกี่ยวกับความฝัน ทัศนคติ และตัวตนของเขาจริง ๆ

สุดท้ายนี้เราเชื่อว่าบทสัมภาษณ์นี้น่าจะช่วยให้หลายคนรู้สึกว่าการออกจาก Comfort Zone ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

 

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri

PERLE
WRITER: PERLE
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line