Life

สิ่งที่ได้จากเมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบานเอง ของ ‘อ๋อง’ บก.บห. A DAY BULLETIN ที่เกษียณตัวเองตอน 47

By: anonymK December 19, 2019

การอ่านหนังสือสักเล่ม อ่านบทความสักชิ้น คือการอ่านความคิดและทัศนคติที่เจ้าของเรื่องราวมีต่อสิ่งนั้น หลายครั้งหนังสือของคนประสบความสำเร็จและคนดังที่ตีพิมพ์ออกมาจึงขายดิบขายดี ตัวเราเองที่คลุกคลีกับวงการหนังสือก็พอรู้ว่าหนังสือบางเล่มอาจเป็นท่อน้ำเลี้ยงหลักของสำนักพิมพ์เพื่อเฉลี่ยกับเล่มอื่น ๆ ที่ยอดขายยังไม่ดีเท่ากันเพื่อพยุงรายได้ เพราะคงไม่ง่ายที่นักอ่านทั่วไปจะมีโอกาสสัมผัสความคิดของเจ้าตัวได้โดยตรง

การเกษียณอายุของ “อ๋อง – วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ” บรรณาธิการบริหาร a day BULLETIN อายุน้อย (แค่ 47 ปี) บอกเราว่าขณะที่เราไม่ได้ติดตามนิตยสารทุกเล่มที่อยู่ภายใต้การบริหารของเขา ทุกตัวหนังสือบนหน้าบทบรรณาธิการก็ยังทำหน้าที่ของมันอยู่ หลายหน้ากระดาษแทรกบริบทของสถานการณ์บ้านเมืองช่วงนั้นอย่างแยบยล แต่บางแผ่นก็พูดถึงอย่างตรงไปตรงมา

“เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบานเอง” ชื่อเรื่องอ่อนโยนบนปกสีนวล ทุกประโยคกรองความคิด เล่าเรื่องอย่างละเมียด ฉุดให้เรามองเห็นหลายมุมที่ผ่านเลย นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราหยิบหนังสือเรื่องนี้และจ่ายสตางค์ซื้อมันที่เคาน์เตอร์เมื่อหลายเดือนก่อน ก่อนได้รู้ว่าวันนี้เจ้าของตัวหนังสือเลือกลุกจากเก้าอี้ ลี้บทบาทที่ทำให้เขาต้องเขียนมันไปสู่บทบาทใหม่แทน

แม้จะรู้สึกใจหายแต่เรารับรู้ได้ว่าเขาได้มอบคุณค่าและประสบการณ์ที่น่าสนใจผ่านหนังสือเล่มนี้ไว้ หลายประเด็นน่ารู้ น่าบอกต่อ เราจึงเลือก 3 ใจความสำคัญที่ฝังแน่นในความรู้สึกของเราในฐานะนักอ่านมาแบ่งปัน

1. “แพสชัน” อาจไม่ใช่สิ่งที่กำหนดได้จากต้นทาง

ในวัยหนุ่มสาวเราต่างตั้งคำถามกับทุกอย่างทั้งการทำงานที่รัก ชีวิตที่ดี ความสุข ความสำเร็จ ถามหากันแต่คำว่าแพสชัน แต่สุดท้ายก็หามันไม่พบ โทษสิ่งรอบข้าง สารพัดสิ่งภายนอกเอามาสร้างเงื่อนไขและข้ออ้างสนับสนุนความทุกข์ที่เกิดขึ้น อ๋องในช่วงวัยนั้นกล่าวว่าเขาก็ไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ที่ตามหาเจ้า “แพสชัน” และ “สิ่งดี ๆ” เหล่านั้นไม่พบ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทำงานนานขึ้น สูงวัยขึ้น เขากลับพบว่าเราไม่สามารถตามหาแพสชันอะไรได้จากการตั้งเป้าที่ปลายทางตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นงานที่รัก ชีวิตที่ดี ความสุข ความสำเร็จ เพราะความสุขและแพสชันที่แท้จริงที่เขาพบจากประสบการณ์ส่วนตัวคือการทำงานที่ให้ความหมาย หลังจากเคี่ยวกรำทำมันไปเรื่อย ๆ โดยไม่ล้มเลิก สิ่งนี้พัฒนากลายเป็นความสุขและความสำเร็จในตัวของมันเอง

เสน่ห์และคำตอบนี้ยืนยันได้ตลอดช่วงเวลาปีกว่า ๆ ของการทำงานใน a day Bulletin หลายคนที่ทีมงานของเขาสัมภาษณ์วัยเกินเกษียณยังคงเล่าอุปสรรคที่พบและยืนยันจะทำงานที่เขาบ่นว่ายากลำบากครั้งแล้วครั้งเล่าต่อไป และเมื่อเปรียบเทียบกับบทความที่อ๋องให้สัมภาษณ์กับเบลล์-จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day คนที่ 5 เราก็เชื่อว่าเขาค้นพบมันแล้วอย่างที่เคยเขียนไว้ เพราะเขาในวันนี้ที่มองเห็นคุณค่าและรักในสิ่งที่ทำอย่างการเขียน รวมทั้งมีความสุขกับมันมากกว่าการทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร

 

2. บางสิ่งในโลกไม่มีคำตอบใดให้ได้นอกจาก “เวลา” และ “การตกผลึกการใช้ชีวิต”

บทบรรณาธิการของอ๋อง จากคอลัมน์ Editor’s Note ที่รวบรวมและเรียบเรียงเรื่องราวและมุมมองชีวิตที่อาจจะดูสันโดษและเศร้า ไม่โลดโผนหรือฮิปสไตล์ a day อย่างที่หลายคนคาดหวัง หลายเรื่องราวถ่ายทอดมุมมองการใช้ชีวิตของเขาในวัย 40 กว่าที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนค้นพบสัจธรรมบางอย่างที่เป็นแก่นของหนังสือเล่มนี้ อ้างอิงจากภาษิตโบราณที่แม่เขาเคยพูดไว้ว่า 时 到 花 就 开 – “สือ เต่า ฮัว จิ้ว ไค” ที่สอนว่าถ้าดอกไม้ยังตูม เราอย่าเพิ่งไปคลี่กลีบ สรรพสิ่งบนโลกนี้ล้วนขึ้นอยู่กับเวลา ไม่เร็วก็ช้า ทุกอย่างย่อมดำเนินไปตามวิถีทางของมัน

ประโยคที่ฟังแล้วชวนปลงตก แต่แท้จริงชี้ความหมายของชีวิตในวันที่เติบโตอย่างเหงาระคนอบอุ่น เทียบความเบ่งบานและโรยราของชีวิตคนรอบข้างกับชีวิตของอดีต บก.บห. อย่างเขาในวันที่มีครอบครัว ซึ่งเล่าผ่านมุมมองที่หันกลับไปเทียบกับป๊าและแม่ จนถึงวันที่ผู้คนรอบข้างทรุดโทรมลง ทว่าสุดท้ายแม้ว่าความโรยราจะเลี่ยงไม่ได้ แต่แสงสว่างและความทรงจำในวันที่ดอกไม้เบ่งบานยังคงเติบโตอย่างมีความหมายเสมอ

 

3. ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้นำ แต่อยู่ที่พลังใจของผู้ตาม

บทบรรณาธิการชิ้นนี้เขียนในช่วงที่บ้านเราเกิดปรากฏการณ์ “โอนิกิริ” กันทั่วบ้านทั่วเมือง เปรียบเทียบกับรูปแบบความเคลื่อนไหวทางสังคมที่ Derek Sivers เคยกล่าวไว้บนเวที Ted Talks ประโยคที่ว่า

“ผู้นำเป็นเพียงคนบ้าที่โดดเดี่ยว แท้ที่จริงแล้วคนที่สร้างความเคลื่อนไหวจริงคือผู้ตามคนแรก เพราะเขาช่วยเปลี่ยนความโดดเดี่ยวของคนบ้าให้กลายเป็นกระแส”

คนส่วนใหญ่มองว่าความสำเร็จวันนี้เกิดขึ้นจากผู้นำ แต่รูปแบบกระแสสังคมที่เกิดขึ้นทุกยุคกลับเกิดขึ้นจากผู้ตาม ไม่เว้นแม้แต่รูปแบบของไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปที่เกิดขึ้น วงดนตรีแนวสมาชิกหลายคนที่ออกแบบมาอย่างจงใจให้ทุกคนต้องร้องและเต้นไปพร้อมกัน มีคนนำ แต่ก็มีคนอีกเป็นสิบที่ทำตามเพื่อให้คนมองมารู้สึกว่านี่เป็นเรื่องง่ายที่พวกเขาจะทำตาม และการแสดงออกพร้อมกันแบบนี้คือพลังทางจิตวิทยา หนุนส่งให้กระแสขยายวงกว้างออกไปและดึงดูดผู้คนให้วิ่งเข้ามาศูนย์กลาง

แบบจำลองสังคมจากเกิร์ลกรุ๊ปที่ประสบความสำเร็จ ชี้ให้เห็นว่าเราอยู่ในสังคมที่เน้นให้ความสำคัญกับส่วนรวม สอดคล้อง กลมกลืน ระหว่างตัวเองกับคนอื่น ซึ่งถ้ามองจากการทดลองที่ Derek นำเสนอจะเห็นเลยว่า หลังจากมีคนที่สองลุกขึ้นมาทำตามคนแรก แนวโน้มที่คนที่สาม สี่ และฝูงชนจะทำตามมันจะกลายเป็นเรื่องง่ายมาก และเมื่อจำนวนคนเพิ่มขึ้นผูกมันกลายเป็นเทรนด์ กลายเป็นว่าถ้าคนอื่นไม่ทำตามสิแปลก ดังนั้น ความกล้าต่อสู้ต่อความวิตกกังวลและลุกขึ้นมาทำแบบนี้แหละคือปัจจัยหลักที่เปลี่ยนรูปแบบชีวิตของเรา (นี่แหละคือเหตุผลสมเหตุสมผลที่สนับสนุนคำว่า “ไม่ต้องคิดเยอะ ทำเลย” ให้มีน้ำหนักในสายตาเรา)

หนังสืออาจจะสิ้นสุดที่หน้า 264 แต่เรายังคงติดตามบทบรรณาธิการฉบับไม่นานนี้ของ a day Bulletin ฉบับ 621 ซึ่งไม่ได้ตีพิมพ์ใน “เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบานเอง” ที่อ๋องยังทิ้งเรื่องราวที่น่าสนใจไว้เช่นเคยต่อในนิตยสารที่เขาทุ่มแรงใจทำงาน เขาเล่าเรื่องความหิวโหยของอัตตาที่ไล่ล่าเราในโซเชียลผ่านการเล่นแฮชแท็ก มีม หรือเทรนด์ตามโลกโซเชียล

การละเล่นบนโลกออกไลน์ที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งกับพื้นที่สักแห่งในโลกเสมือน เราทำเหมือนคนอื่น พูดจาภาษาเดียวกัน เชื่อสิ่งเดียวกัน และวัดกันว่าใครโพสต์ดีกว่า ไลก์มากกว่า พิมพ์แรงกว่าจะได้รับคำชื่นชม ส่วนคนที่ช้าต้องพยายามวิ่งตามในช่วงเวลาจำกัดเพื่อสร้างตัวตน

สิ่งเหล่านี้วนเวียนเป็นวงจร เกิด-ดับ รุ่งเช้ามีมใหม่สิ่งใหม่จะเข้ามาแทนที่ และเรายังคงต้องทำเช่นนี้เรื่อยไปเพื่อให้ใครสักคนเห็นและรับรู้ตัวตนของตนเอง

“แล้วเราก็ต้องพยายามแข่งกันต่อไป เพื่อตะโกนออกไปในความว่างเปล่า บอกใครก็ไม่รู้ที่เขาอาจจะไม่ได้สนใจเราเลยสักนิด เพียงเพื่อบอกว่า ฉันอยู่ตรงนี้ จงมองดูฉัน เพราะตัวตนของฉันขึ้นอยู่กับสายตาของคุณ”

เราอยากมีตัว ในสายตาของใคร เพื่อใคร และเราจะไร้ตัวตน เพียงเพราะคนเหล่านั้นไม่หันมามองเราหรือไม่

หากเราปิดจอหันมามองเนื้อหนังของคนรอบข้าง มองตัวเอง เราคงได้รู้ว่าโลกที่เราคอยแข่งขันกับคนอื่นมาตลอดอาจไม่มีอยู่จริง เพียงแต่ใจเราเท่านั้นที่วิ่งตามไป

 

Illustrator: Kaewjai Jirawongaram

SOURCE:

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ.  เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบานเอง.  กรุงเทพฯ : a book, สนพ., 2561. 

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line