World

ชาวประมงอินเดียแก้ปัญหาพลาสติกแบบเท่ ๆ จับอวนลากพลาสติกในทะเลมาทำถนน

By: anonymK September 18, 2018

ขณะที่คนหันมารณรงค์เรื่องงดใช้พลาสติกกันเต็มสูบ ลุกมาเปลี่ยนภาชนะหรือหิ้วปิ่นโตตอนไปซื้อของกันให้ควั่ก แต่ส่ิงที่ถูกกลบฝังอย่างไร้มาตรการแก้ไขที่ชัดเจนกลับเป็นการจัดการขยะพลาสติกที่เราใช้ไปแล้ว ว่าเราควรทำอย่างไรกับมันกันแน่

แน่นอนว่า “ทะเล” คือสถานที่ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเวลาพูดถึงพลาสติก เพราะสิ่งมีชีวิตในทะเลได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างไร้ทางสู้ เช่นเดียวกับดินแดนภารตะที่พบปัญหาเดียวกันในสถานที่นี้และลุกขึ้นมาจัดการกับมันอย่างเป็นระบบ

กลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาในครั้งนี้ อาจไม่ใช่ผู้ทิ้งแต่เป็นคนที่ใช้ชีวิตผูกพันกับท้องน้ำอย่างชาวประมง เบื้องหลังการจัดการลากพลาสติกขึ้นบกที่สวนทางกับคนที่ตั้งใจจะทิ้งขยะเหล่านี้ลงน้ำมีที่มาน่าสนใจอย่างไร ลองมาดูไปพร้อมกัน

พลาสติกในมือ 11 กิโลต่อคนต่อปี

จากการสำรวจสถิติการผลิตขยะพลาสติกของประชากรอินเดียปัจจุบันพบว่าหากเฉลี่ยประชากรกับขยะที่มีแล้ว พลเมืองหนึ่งคนผลิตขยะพลาสติกสูงถึง 11 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (จำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศคือ 1.3 พันล้านคน) และปลายทางของขยะที่ทิ้งส่วนใหญ่จบลงที่ทะเลอาหรับกับมหาสมุทรอินเดีย

Image: The Economic Times

ไม่เพียงแค่จำนวนคนกับจำนวนขยะที่อุ้มกันมาเท่านั้น งานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมของ Helmholtz Center ยังเผยข้อมูลที่หลายคนไม่รู้อีกว่า ทุกวันนี้แหล่งของขยะที่ปกคลุมมหาสมุทรและทะเลทั่วโลกแท้จริงมาจากแม่น้ำหลักเพียง 10 สายในโลก ซึ่ง 2 ใน 10 สายนั้นอยู่ที่แม่น้ำ Indus และ Ganges ของประเทศอินเดีย

ชาวประมงอินเดียตอนใต้เมือง Kerala ที่ต้องเผชิญกับภาวะพลาสติกเต็มทะเล โยนอวนไปกี่ทีก็ได้ทั้งปลาทั้งพลาสติกจึงลุกขึ้นมาลดปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรอย่างจริงจัง จากเดิมที่แค่แยกแล้วโยนกลับลงทะเลก็เลือกหันมาเปลี่ยนวิธี เก็บกวาดทะเลด้วยการลากพลาสติกขึ้นบกแทน โดยสร้างแคมเปญที่ชื่อ Suchitwa Sagaram หรือที่แปลเป็นไทยว่า “ทำความสะอาดทะเล” ขึ้น

Suchitwa Sagaram ยกขยะขึ้นบกไปถมถนน

Image: REUTERS/Danish Ismail

J. Mercykutty Amma รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการประมงเห็นความสำคัญของปัญหาพลาสติกซึ่งอยู่ใกล้มือชาวประมงที่สุดจึงริเริ่มแคมเปญดังกล่าวขึ้น ผลลัพธ์ของโครงการครั้งนี้เกินความคาดหมาย เพราะเพียง 10 เดือนแรกของการจัดโครงการก็สามารถกำจัดขยะพลาสติกทั้งขวดน้ำและถุงพลาสติกในทะเลอินเดียมากถึง 25 ตัน

Image: REUTERS/Stringer

สิ่งที่ชาวประมงอินเดียจัดการต่อหลังจากการนำพลาสติกเหล่านี้ขึ้นฝั่งไม่ใช่การฝังกลบเพิ่มสารพิษลงดิน แต่เป็นการป้อนขยะเหล่านี้ลงในเครื่องย่อยพลาสติก บดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยสำหรับเป็นวัสดุผสมทำถนน ทันทีที่ทดลองเทถนนสายต่าง ๆ ในชนบทซึ่งมีระยะทางยาวถึง 34,000 กิโลเมตร พวกเขาก็พบความมหัศจรรย์บางอย่างเข้าเนื่องจากถนนพลาสติกเหล่านี้มีประโยชน์สูงถึง 4 ด้าน ดังนี้

  1. ทนต่อความร้อน เนื่องจากถนนพลาสติกสามารถรับความร้อนได้สูงถึง 66 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับถนนธรรมดาที่รับได้เพียง 50 องศาเซลเซียสเท่านั้น
  2. ถุงพลาสติกนับล้านถุงสามารถใช้ทดแทนจำนวนยางมะตอยหนึ่งตัน
  3. การสร้างถนนพลาสติกค่าใช้จ่ายถูกกว่าถนนทั่วไปราว 8 % ต่อกิโลเมตร
  4. ถนนพลาสติกสร้างรายได้ให้คนในชาติ ทั้งคนเก็บพลาสติกและธุรกิจย่อยพลาสติกขนาดเล็กทั่วประเทศ
อินี่นายจ๋า ฉันขอแบนพลาสติกอย่างเป็นทางการ

พฤติกรรมคนเป็นเรื่องยากจะแก้ไข ถ้าวันนี้มัวรอจิตสำนึกอาจจะสายเกิน เมื่อวิกฤตขยะในสายตาชาวโลกเกิดขึ้นที่ประเทศของตัวเอง ผู้ปกครองคนสำคัญอย่างประธานาธิบดี Narendra Modi จึงลั่นวาจาให้ชาวอินเดียหย่าขาดจากการใช้พลาสติกให้ได้ โดยปี 2565 เมืองใหญ่อย่างเดลลีจะบังคับให้ยุติการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งเพียงครั้งเดียวทั้งหมด และต่อเนื่องไปถึงรัฐทางตะวันตกของประเทศอย่าง รัฐมหาราษฏระ ด้วยที่ได้รับการส่งเสริมให้เลิกใช้ถุงและภาชนะพลาสติกไปพร้อมกัน

ส่วนบทลงโทษที่หลายคนถามหาว่า แค่ใช้พลาสติกจะโดนสักเท่าไหร่กันเชียว บอกได้เลยว่าก็ไม่ได้จิ๊บจ๊อยอย่างที่คิด เพราะเริ่มต้นด้วยค่าปรับเบาะ ๆ สำหรับคนที่ทำผิดครั้งแรกในราคา 5,000 รูปี คิดเป็นเงินไทยราว 2,239 บาท แต่ถ้ายังไม่หยุดโทษปรับจะสูงถึง 25,000 รูปี หรือ 11,196 บาทพร้อมโทษจำคุกด้วย กรณีที่ทำดี อยากจะกำจัดพลาสติก รัฐก็รับซื้อขวดพลาสติกและกล่องนมกลับคืน เอาเป็นว่าใครตาดีเก็บมาให้ก็ได้เงินไปกินขนมเล่น ๆ แล้วกัน

เห็นไอเดียดีที่ได้มากกว่าเสียแบบนี้ ผู้ใหญ่บ้านเราสนใจลองหยิบยืมวิธีการมาใช้บ้างเขาก็ไม่ได้หวง อันนี้จริงก็น่าลุ้นเหมือนกันเพราะถนนบ้านเราเองก็ทรุดตัวบ่อย ไม่แน่ว่าขยะพลาสติกอาจจะเข้ามามีบทบาทกับการพัฒนาประเทศเราบ้าง

ย่อยสลายไม่ได้ ก็นำความคงทนไปใช้งานแบบอื่นแทน บางทีโจทย์มลพิษที่คิดไม่ตกอาจเป็นแค่ปัญหาเส้นผมบังภูเขาเท่านั้น

 

SOURCE: 1 / 2 / 3

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line