MUSIC

GARAGE: ย้อนความทรงจำจากวันแรกของ LOMOSONIC สู่การตกผลึกในอัลบั้ม SWEET BROS.

By: NTman June 27, 2020

GARAGE สัปดาห์นี้ขอพาชาว UNLOCKMEN ทุกท่านไปพบกับ Lomosonic กลุ่มคนดนตรีตัวจริง ที่ผ่านการเดินทางมายาวนานกว่า 15 ปีตั้งแต่ก่อตั้งวง หรือ 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้ออกอัลบั้มชุดแรก กับเรื่องราวที่มีทั้งเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม หยาดเหงื่อ และความผิดหวัง

ซึ่งบทสนทนาในวันนี้คือการพูดคุยย้อนไปตั้งแต่วันแรกของทุกคนก่อนจะได้มารวมกลุ่ม ฟอร์มทีม ร่วมฝ่าฟันความฝันบนเส้นทางดนตรีไปด้วยกัน ถือเป็นการคุ้ยกล่องความทรงจำตลอดหลายปีในนาม Lomosonic ของ ‘บอย-อริย์ธัช พลตาล’, ‘ป้อม-ฉัตรชัย งามสิริมงคลชัย’, ‘ ปิติ-ปิติ เอสตราลาโด สหพงศ์ เดน โดมินิค’ และ ‘ออตโต้-ชาญเดช จันทร์จำเริญ’ ที่เรื่องราวทั้งหลายของพวกเขาได้ตกผลึกจนกลายมาเป็นประสบการณ์และผลงานดนตรีที่บ่งบอกตัวตนของพวกเขา ณ ปัจจุบัน

จุดเริ่มต้น

บอย: สิ่งที่ทำให้เริ่มมาเล่นดนตรีได้ รู้สึกว่าร้องเพลงมาตั้งแต่จำความได้ เราถูกปลูกฝังมาว่าการร้องเพลงมันเป็นการสร้างความบันเทิงให้คนอื่น แต่ว่ามันก็จะมีความขี้อาย หรือว่าเวลาผู้ใหญ่เขาถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร

ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าคำตอบที่มันทำให้ผู้ใหญ่พึงพอใจ คือ การเป็นหมอ การเป็นทหาร การเป็นอะไรที่เขาให้คำนิยามเกี่ยวข้องกับความมั่นคง แต่จริง ๆ แล้ว ผมอยากเป็นนักร้องมาตลอด เพราะดู ไมเคิล แจ็กสัน ตอนเด็ก ๆ แล้วอยากลูบเป้า (หัวเราะ) ไปโรงเรียนไปเต้นลูบเป้าก็โดนครูด่า ผมว่ายุคผมน่ะเป็นหมด ยุคนั้นก็น่าจะลูบเป้ากันหมด มีใครไม่ลูบบ้างเอางี้ดีกว่า (หัวเราะ) ก็อยากเป็นนักร้องมาตั้งแต่เกิดครับ

ป้อม: ความสัมพันธ์ของผมกับดนตรีเริ่มจาก ฟังเพลงตามพ่อ เหมือนคนอื่น ๆ เขา แล้วก็เล่นดนตรีตามพี่ชาย ของผมมันจะแปลก ๆ หน่อย ผมไม่ค่อยสนใจดนตรีในฐานะผู้เล่นสักเท่าไหร่ จะชอบฟังมากกว่า แต่ทีนี้มีอยู่ปีนึง ผมอายุประมาณ 13 – 14 พี่ชายมันเอาเงินแต๊ะเอียของผมไปรวมกัน แอบเอาเงินของผมไปยำ เอาเงินนั้นไปซื้อกีตาร์ ไม่ได้บอกผม

ผลสุดท้ายกีตาร์มาถึงบ้านแล้ว ทำยังไงได้เงินมันอยู่ในนั้นแล้ว พี่ชายเห่อเล่นอยู่ 2 เดือนแล้วก็วางไว้ จากนั้นเป็นงานของผมละ ที่จะต้องไปถอนทุนด้วยการเล่นมันคือ เพราะถ้าไม่เล่นมันจะไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย เอาไปขายก็ไม่ได้ มีทางเดียวคือเล่นให้คุ้ม ที่นี้มันว่างด้วย ก็เล่นไปเรื่ิอย ๆ พอเปิดเทอมปุ๊บ เพื่อนเอากีตาร์ไปโรงเรียน แล้วผมก็ เฮ้ย กูเล่นได้ อะ เพื่อนก็เอามึงลองดู เอ้า เชี่ย เล่นได้จริงว่ะ พอโชว์แล้วคนก็แบบว่าสาว ๆ เขาชอบอะครับ (หัวเราะ) เราก็ไม่รู้ว่ามันมีพลังขนาดนั้นเลยหรอวะ แต่พอได้สัมผัสมันก็ นี่ดิวะ ทางของกู มันก็เป็นที่มาว่าเออคนก็รับรู้ว่าเราเล่นกีตาร์ หลังจากนั้นก็จะยิ่งมีคนมาชวนไปเล่น มีวงมาชวนไปเล่น ก็ลากกันมาเรื่อย ๆ เลยครับ

ออตโต้: ของผมอายุประมาณ 5 ขวบ พ่ออยากให้เล่นดนตรี ก็เลยจับไปเล่นกีตาร์ แต่ก่อนผมตัวเล็กนิ้วไม่ถึง ก็เล่นอยู่ประมาณไม่ถึงเดือนก็เลิกเล่น เปลี่ยนไปเล่นอิเล็กโทน สมัยนี้ไม่มีแล้วมั้งอิเล็กโทน (หัวเราะ)

ป้อม: โคตรแก่ (หัวเราะ)

ออตโต้: เล่นอยู่ประมาณ 10 กว่าปี เกือบจบละ เกือบจะได้ใบ Certificate แล้ว แต่ว่าตอนที่อยู่ ม.1 ม.2 ก็เริ่มมีวง ไปซ้อมดนตรีกัน ไปถึงห้องซ้อมเพื่อนก็ เอ้า เล่นอะไรได้ อิเล็กโทนก็ไม่มี ก็เลยถูกจับไปเล่นเบส เราก็เอาลองดูมันน่าจะง่ายมีโน้ตเดียว เล่นอยู่สักพักประมาณ 4 – 5 เดือน วันนั้นไปซ้อมแล้วมือกลองไม่มา เพื่อนเลยบอกว่าลองไปตีกลองดิ ก็ตีพอได้ หลังจากนั้นก็เลยตีกลองในวงมาตลอด

ปิติ: จุดเริ่มต้นคือแม่ส่งไปเรียนดนตรีแถว ๆ บ้าน เรียนกีต้าร์โปร่ง แต่วัน ๆ ก็เหมือนไปเล่นมากกว่า คุณครูเขาใจดี ไม่ได้สอนจริงจังอะไรมาก อยากเล่นเพลงอะไรก็ให้เขาสอน เลยเล่นเป็นแต่เพลง แต่ทฤษฎีโดยรวมไม่ค่อยได้ ก็เลยเล่นกีต้าร์คนเดียวฝึกเองมาเรื่อย ๆ จนถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัย จนบอยซึ่งเป็นเพื่อนที่เรียนด้วยมาเจอที่ห้อง มาชวนเข้า Lomo

บอย: ที่ไปห้องปิติไม่ได้ไปเพราะมันเล่นกีตาร์นะ ไปห้องมันเพราะห้องมันมีแอร์ (หัวเราะ)

ป้อม: กับปิตินี่ไม่ได้บังเอิญเจอกันตามห้องซ้อมนะ คือบุกไปลากมาจากห้อง

บอย: คือแบบว่ารับน้องช่วงนั้นเราเพิ่งจบมัธยมมาก็หาเพื่อนใหม่ พยายามจะสุงสิง ตั้งกรุ๊ป ตั้งแก๊ง แล้วอยู่หอใกล้ ๆ กัน ติดกันอะไรแบบนี้ ก็เห็นมีกีตาร์วางอยู่ในห้องก็เลยถาม เฮ้ย มึงเล่นกีตาร์ด้วยหรอ ก็นั่งคุยกัน ฟังเพลงแนวใกล้ ๆ กัน

 

รวมตัว

ป้อม: ผมกับออตโต้ เราเป็นรุ่นเดียวกัน คือทั้งหมดเนี่ย เรียนมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่ผมกับออตโต้อยู่รุ่นรหัส 46 เป็นรุ่นพี่โตกว่าบอย กว่าปิติปีนึง

ออตโต้: มึงไม่ต้องบอกก็ได้เดี๋ยวเค้ารู้ว่าเราแก่ (หัวเราะกันทั้งวง)

ป้อม: นั่นแหละ แล้วออตโต้รู้ว่าผมทำเพลง พอดีได้คอมมา ผมก็ทำเพลงทุกวัน ทำเพลงบ้า ๆ บอ ๆ แบบที่เค้าปล่อยในอินเตอร์เน็ตอะไรแบบนี้ ออตโต้ก็มาชวนผมทำวง ตอนนั้นเราจะทำวงอิเล็กทรอนิกส์ 2 คน เป็นดูโออะไรแบบนี้ แต่ตอนนั้นจะมีรุ่นน้องปีหนึ่งเข้ามาละ 2 คนนี้เข้ามา เจอบอยไปประกวดโฟล์กซอง ผมยาวมาเลย

ออตโต้: มันมีเพื่อนเป่าฟลุตอยู่ข้าง ๆ ด้วยนะ เล่นเพลงเบเกอรี่ น่าจะเล่นเพลงเจ้าหญิง หรือเพลงของวงพรูนี่แหละ แต่ร้องอย่างงี้ ร้องอย่างที่เราได้ยินกันอยู่ทุกวันนี้อะ พอพวกเราไปเห็นก็เออเอาไอ้นี่แหละ

ป้อม: คือเรายังไม่ได้เอาเว้ย แต่เราติดใจ จำมันได้เลยว่ามีรุ่นน้องหน้าตาแบบนี้ แล้วแม่งไอ้ผมยาวนี่ที่มันกรี๊ดตอนเพลงรัก เพลงหวาน ๆ เลย

บอย: (หัวเราะ) ที่ผมไปเล่นเพราะว่ารุ่นผมมันฟอร์มวงไม่ได้ ก็เลยต้องไปประกวดอะคูสติก ตอนประกวดก็รู้สึกว่าเราก็แตกต่างจริง ๆ นั่นแหละ คนมองเห็นเป็นของแปลก แต่ผมก็เล็งไว้แล้วว่ามันมีวงในมหาวิทยาลัย เราก็อยากมีวงนั่นแหละ สมัยมัธยมก็มีวงมาตลอด จนวันนั้นมีงาน แต่นักร้องวงพี่ป้อมไม่มา

ป้อม: ผมมีนักร้องอยู่ก่อนเค้า เป็นเพื่อนกัน แต่นักร้องวงผมอกหัก ก็เลยชิ่งงาน ไม่มาเลย

บอย: ผมจำได้ว่าผมก็สดมากเดินเข้าไปถาม แจมมั้ยพี่ ?

ออตโต้: คือเราไม่ได้รับมันมานะ มันมาอยู่เอง

ป้อม: วันนั้นเราอยู่หน้างานกำลังจะต้องขึ้นเล่นแล้ว มีผม มีออตโต้ มี ทองเอกมือเบส แต่ขึ้นไม่ได้ ไม่มีนักร้อง มันไม่ได้แล้วจริง ๆ แล้วบอยก็โผล่มา ถามว่าเล่นเพลงอะไร เอาดิ ผมร้องได้ ออตโต้กับผมก็จำได้ว่าเนี่ย คือไอ้ผมยาวคนนั้น ที่มันกรี๊ด ก็คุยกัน มันร้องเพลงได้นะเว้ย ร้องดีด้วย ก็เลยเอามา

บอย: หลังจากนั้นก็เริ่มทำวงกัน ทำเพลงส่งค่ายกัน แล้วเรารู้สึกว่ามันขาดสีสันบางอย่าง นี่แหละ เราก็รู้ว่าปิติเล่นกีตาร์ แล้วเป็นคนที่เล่นกีตาร์แบบไม่เหมือนใคร ไม่ค่อยเหมือนคนทั่วไป นั่งกินเบียร์ห้องมันดูมันเล่นกีตาร์แปลก ๆ (หัวเราะ) จากนั้นก็เลยชวนไปห้องพี่ป้อม ลองไปฟังเพลงที่พวกเราทำเอาไว้ ขากลับนั่งรถมาคุยกันกับปิติ เออเพลงที่ทำกันแม่งก็แปลกนะ ไปหลายแนวมากตอนนั้น

 

ฝันที่ไม่ง่าย

บอย: ย้อนไปช่วงที่เริ่มตัดสินใจส่งเพลงที่ทำกัน ต้องตัดภาพไปที่งาน Fat น่าจะครั้งที่ 5 มั้ง ที่แดนเนรมิตร พวกเราก็ต่างคนต่างไปนะ ไม่ได้นัดกันว่าจะไปงาน Fat พอไปเจอกันที่งานคุยกันก็มีไอเดียนึงขึ้นมาว่า เอองานนี้มันมีค่ายเพลงมาขายเพลงกันเยอะแยะไปหมดเลย พวกเราไม่ต้องเสียตังค์ เสียเวลาเดินทางเอาเพลงไปส่งค่ายต่าง ๆ กว่าจะครบ ก็เอามาส่งในงาน Fat นี่เลย

แล้วงานมันมี 2 วัน เหลือเวลาอีกวันค่อยเอาแผ่นมาส่งพรุ่งนี้ ตอนนั้นมันยังไม่ได้มีชื่อวง เท่าที่จำได้มีชื่อ Dead Link , แมลงสาบ 500 กิ๊ก อะไรแบบนี้ จนพี่ป้อมตั้งชื่อมาว่า Lomo ตอนที่หันไปเห็นเด็กเล่นกล้อง Lomo อยู่

ออตโต้: ชื่อมันจำง่าย เหมือน Loso อะ ป้อมมันบอกงี้

ป้อม: (หัวเราะ) ใช่ ๆ เราอยากได้ชื่อที่จำง่าย ๆ ขอจำง่าย ๆ คือเราจะไปส่งค่าย ในวันที่วุ่นวายงาน Fat อะ เราเลยแค่คิดว่าอยากได้ชื่อที่จำง่าย ก็ใช้ชื่อ Lomo ไปก่อน ตกลงกันเรียบร้อยก็เอาเลย ซื้อแผ่น Princo ซื้อเคส CD ใส ไรท์แผ่น ทำปกนั่งปริ้นท์กัน ใช้ห้องผมเป็นโรงงาน คือแม่งข้ามคืน อีกวันนึงผมไปส่งแผ่นด้วยไม่ไหวอะ

บอย: วันถัดไปที่จะเอาแผ่นไปส่งค่ายมีผม มีพี่ออตโต้ มีเพื่อนเด็กแนวของผมอีกคนไปงาน Fat ด้วยกัน

ปิติ: ตอนที่เริ่มส่งเพลงกัน ตอนนั้นผมยังไม่เข้าวงเลย แต่ก็อยู่ในงานนะ (หัวเราะ)

บอย: ระหว่างที่เค้าเล่นคอนเสิร์ตกัน พวกผมกำลังเดินส่งเพลง ค่ายก็แบบน้องครับ อะไรนะครับ น้องเอาแผ่นมาให้พี่ทำไม อ๋อ ผมมาส่งเพลงให้พี่ครับ คือเค้าแบบมาขายแผ่นกัน ผมมาส่งเพลง คือมึงทะลึ่งแหละ (หัวเราะ) แต่ว่าการที่เราเดินเข้าไปแบบนี้เนี่ย มันอาจจะมีอะไรที่ทำให้เค้าสปาร์กอะไรบางอย่างว่าทำไมเด็กพวกนี้ถึงมาส่งเพลงแบบนี้ คือในงานมี 20 ค่ายเลยมั้งยุคนั้น เราก็เดินส่งหมด

จบจากงาน Fat วันอาทิตย์ ประมาณวันอังคารนิตยสาร DDT โทรมาบอกจะขอเอาเพลงไปลง เล่นนั้นหน้าปก Girly Berry จำได้เลย แล้วอยากได้ภาพวงน้องยังไม่มีภาพรวมนะ ก็ไปยืนถ่ายรูปหน้าห้องคอม ยืนโง่ ๆ แบ็คกราวด์สีขาวอะไรแบบนี้

แล้วตอนที่เค้าโทรมาเราก็วิ่งไปตะโกนเลย ตึกคณะผมมันจะมีคอร์ทยาร์ดตรงกลาง เห็นพี่ออตโต้ พี่ป้อมอยู่ข้างล่างมั้ง ก็ไปยืนตะโกนเลย พี่ DDT โทรมา จะเอาเพลงพวกเราไปลง ตอนนั้นทุกคนดูดีใจกันมากคือใจฟูขึ้นไปอีกสเต็ป

ป้อม: ตอนนั้นผมได้ยิน ผมก็เชี่ยแม่ง เสียงดังจริง ๆ ว่ะคนนี้ (หัวเราะ)

บอย: วันอังคาร DDT โทรมา วันพฤหัส Smallroom โทรมา ผมจำได้ในงาน Fat ผมไปยื่นให้กับมือพี่รุ่งเลย แล้วพี่รุ่งบอกว่าเดี๋ยวจะฟัง พอ Smallroom โทรมาผมก็ช็อตเดิมเลย วิ่งออกไปตะโกน พี่!! Smallroom โทรมา

ป้อม: โคตรเอิดอะอาทิตย์นั้น วันนั้นพอวงรู้ ตกเย็นทั้งคณะแม่งรู้กันหมดแล้วอะ ก็เพราะบอยมันตะโกนนี่แหละ

บอย: ตอนนั้นมันเหมือนพยามสร้างสิ่งที่วัยรุ่นทั่วต้องการแหละ อยากมีตัวตน ชั้นนี่เป็นนักดนตรี มีวงที่สร้างผลงานของตัวเอง แต่หลังจากนั้นก็คือใช้อีกเวลาประมาณ 4 ปีหลังจากที่ Smallroom โทรมากว่าจะได้ออกอัลบั้มแรก

ออตโต้: ใช่ ตอนนั้นถามว่าได้เป็นศิลปินในค่าย Smallroom เลยมั้ย ยังนะ เค้าแค่โทรมาบอกว่าสนใจงานเรา

ป้อม: เค้าบอกว่าน้องมาส่งเพลงเรื่อย ๆ ได้ เหมือนกูเปิดประตูให้

ออตโต้: พี่รุ่งบอกว่าเค้าสนใจในศักยภาพเราประมาณนึง แต่ว่าพวกมึงยังไม่มีรูปร่างเลย เราก็พยายามส่งเพลงต่อไปเรื่อย ๆ จนตันอะ

ป้อม: เค้าถึงขั้นถามว่าแนวที่แท้จริงของ Lomo คืออะไร นั่นคือจุดอ่อนหลักของเราเลย คือพวกเราสนุกกับการเล่นดนตรีมาก เราชอบทุกแนว เราเล่นทุกแนว จนเราไม่รู้ว่าจุดเด่นเราคืออะไร

ออตโต้: เราเริ่มมาจากกูแค่อยากเล่นดนตรี คือหลาย ๆ วงอาจจะเริ่มจากอยากเป็นวงนี้ของประเทศไทย แต่ของพวกเราแค่กูอยากเล่นดนตรีหน้าคนดูแค่นั้น ก็เลยไม่มี Core จริง ๆ ว่าแนวดนตรีของเราคืออะไร แค่เล่นสิ่งที่เราอยากเล่น

ตอนแรกเราส่ง Smallroom ไปจนแบบ แม่งทางตันมาก ๆ ส่งไปก็ไม่ผ่าน จนไปเบิกตัวปิติมาทำเพลงด้วยกัน ช่วงที่บอยมันเล่าว่าไปลากปิติมาจากห้องนั่นแหละ พวกเราก็เชี่ย อะไรวะเนี่ยกีตาร์โคตรดุ โคตรมันส์ พี่รุ่งฟังถึงกับผงะ เฮ้ย มึงเอาแบบนี้เลยหรอวะ (หัวเราะ)

ป้อม: เพลงแรกที่ทำกับปิติก็คือเป็นเพลงร็อกเลยไง ตู้มเลยไง คืออยู่ ๆ วงนี้ก็มีธาตุแท้อีโมอยู่สองคนคือบอยกับปิติ ผมกับออตโต้ก็บริทป็อป บริทร็อก มีร็อกปน ๆ นิดนึง

บอย: ทีนี้ระหว่างทาง 4 ปีก่อนจะออกชุดแรกเนี่ยไอ้ความฟูจากที่ DDT โทรมา Smallroom สนใจมันเริ่มฝ่อแล้ว ตอนแรกเลยที่ไปส่งงาน Fat ในแผ่นนั้นมี 5 เพลง พี่รุ่งบอกว่าชอบเพลงนึงมากเลย ชื่อเพลง ‘ในโลกของเธอ’ แล้วพี่รุ่งบอกว่าที่เหลือน่ะมึงทำอะไรมา (หัวเราะ)

เราก็เริ่มแล้ว เริ่มค้นหาทางที่ชัดเจนขึ้น เริ่มรู้สึกว่าเราควรจะไปทางนี้มั้ย? ตอนแรกเราก็ทำแบบอิเล็กทรอนิกส์ลอย ๆ หน่อยแต่ก็ยังไม่ผ่าน จนเริ่มรู้สึกตัว แล้วว่าไอ้สิ่งที่มันใหญ่จนคับฟู อีโก้ ความภาคภูมิใจมันยังไม่ใช่ เราต้องกลับมาสร้างงานกันจริงจังอีกครั้ง กลับมาทบทวนว่าเราชอบอะไรกันแน่ ตอนนั้นปิติก็เข้ามาแล้ว เพลงเริ่มถูกส่งมาในอีกรูปแบบนึง เริ่มมีความร็อก เริ่มมีอะไรเข้ามา

เพราะจริง ๆ ผมก็กลับมานั่งถามตัวเองว่า จริง ๆ แล้วผมชอบอะไรกันแน่ ณ ตอนนั้นยังไม่ได้คิดถึงการไปสู่มหาชน คิดแค่การผ่านสเต็ปแรก คือการออกอัลบั้มแรกตอนอายุ 23 สำหรับผม เราก็เลยกลับมาถามกัน เราชอบการเล่นสดเหมือนกัน เราชอบที่จะออกไปเล่นสดแล้วพลุ่งพล่าน แตกซ่าน เต็มไปด้วยเลือด ไฟ (หัวเราะ) ต้องการเห็นคนบ้า ๆ ไปกับเรายิ่งดีเลย เราเห็นภาพตรงนั้นตรงกันแล้ว พอมันชัดเจนเพลงเริ่มเข้าที่เข้าทาง เราก็เริ่มมีอัลบั้มแรก Fireworks

 

ความจริง

บอย: ตอนออกอัลบั้มแรกเป็น Fireworks ปี 2009 เป็นช่วงเวลาที่เริ่มละ ไอ้เรื่องตลกทั้งหลายมันประดังประเดเข้ามา การถูกมองข้าม การไม่ถูกมองเห็น การที่จะต้องล้มลุกคลุกคลานตามสูตรของภาพยนตร์ หรือการ์ตูนที่เกี่ยวกับดนตรี มันเริ่มมาละ มาเต็ม มาครบ ถ้าเมื่อก่อนแค่โดนต่อย ช่วงนี้คือช่วงโดนรุมยำตีน (หัวเราะ)

คือช่วงแรก ๆ มันยังรู้สึกว่า อาจด้วยเพราะค่านิยมเก่า ๆ นะ เรายังรู้สึกว่าเฮ้ย ออกเทปว่ะ ได้เล่น 7 สีคอนเสิร์ตว่ะ เฮ้ยมันฟูเว้ย เราทำได้แล้วที่เคยคุยไว้กับเพื่อนเราสมัยเรียน ตัดมาภาพความเป็นจริง มันไม่ดัง เราต้องพูดตรง ๆ ว่ามันไม่ดัง หลังจากผ่านโมเม้นต์ที่อัลบั้มวางตรงหน้าเราคือประสบความสำเร็จแล้ว ณ ยุคนั้นเราต้องหาคำตอบที่สุดในการที่จะตอบ พวกผมทำงานเสร็จก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ทั้งที่ในใจเราหวังไว้มากกว่านั้น เวลาเราไปไหนเราหวังว่าคนจะให้การตอบรับเพลงเราล้นหลาม คนมันต้องร้องตามนู่นนี่นั่น อะไรแบบนี้อะครับ

มองย้อนกลับไปคือชุดดอกไม้ไฟมันไม่ได้ประสบความสำเร็จเป็นวงกว้าง คุณไม่ได้ไปที่กิ่งอำเภอนี้แล้วจะเจอคนที่รักเพลงของคุณ ไปอำเภอนั้นคนจะรักเพลงของคุณ เอาจริง ๆ มันแทบจะไม่มีคนตอบสนองเพลงของเราเลย

ป้อม: ณ ตอนนั้น ถ้าในภาพกว้างเอาเป็นว่า 99% เลยที่ไม่ตอบสนอง แต่มันจะมีกลุ่มคนอยู่กลุ่มนึงที่ต้องขอบคุณจนถึงทุกวันนี้ คือกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ที่ทำให้วงได้ประสบการณ์ในการพัฒนาบางอย่าง

บอย: ใช่ ๆ คอนเสิร์ตตามมหาวิทยาลัยยังมีกลุ่มคนที่ตอบรับพวกเรา อย่างที่ลาดกระบังที่เราไปเล่นแล้วรู้สึกว่านี่แหละ คอนเสิร์ตที่เราต้องการ คนมันต้องเฮประมาณนี้ แล้วตอนนั้นเราก็จำเป็นต้องมีเพลง Cover มาใน Setlist แล้วพอเราเล่น Cover มันก็ โห… ทำไมผลตอบรับมันสุดยอด แล้วพอเราเล่นเพลงตัวเอง ฟุ่บบบ ก็ช็อกหน่อย แต่เค้าก็พยายามจะเต้นนั่นแหละ ณ ตอนนั้น มันจึงเป็นที่มาอีกเหมือนกัน ว่าทำไมผมต้องพูดมาก

ป้อม: ก่อนจะพูดมากอะ มึงเต้นแบบชิบหายวายป่วงมาก่อน

บอย: คือมันเป็นช่วงเวลาเอาตัวรอดของจริง ช่วงเวลา Survival คิดแค่ว่าทำยังไงก็ได้ให้เค้าจำมึงมากที่สุด

ป้อม: ไม่พูด เต้นอย่างเดียวมา 3 ปีมั้ง

บอย: เต้น เต้นบาบอ ปีนนู่นนี่

ออตโต้: แต่งตัวด้วย มีชุดงิ้ว มีตัดผมปิติบนเวทีด้วย (หัวเราะ)

“คือต้องทำยังไงก็ได้ให้คนเค้าจดจำมึงมากที่สุด ไม่งั้นมึงไม่ได้ไปต่อนะเว้ย ไม่ได้มีทางไปต่อแน่ ๆ”

บอย: คือต้องทำยังไงก็ได้ให้คนเค้าจดจำมึงมากที่สุด ไม่งั้นมึงไม่ได้ไปต่อนะเว้ย ไม่ได้มีทางไปต่อแน่ ๆ กับวงดนตรีที่มึงเริ่มรู้แล้วว่าพอมึงเอาเพลงของมึงเองไปเล่น แล้วคนดูเค้าแบบเหมือนปลาน้ำเค็มที่เอามาหย่อนในตู้ปลาน้ำจืด ก็จะงง ๆ เหมือนช็อคน้ำ ทำตัวไม่ถูก จะเต้นหรือจะยังไงกับเพลงพวกมึงดีวะ (หัวเราะ)

แล้วในช่วงเวลาของการเอาตัวรอดเนี่ย ผมเริ่มมองเห็นแล้วว่าคนหน้าเวทีเป็นยังไง พอเราเริ่มไปเล่นที่ตาก ไปเล่นที่เชียงใหม่ ไปพบโลกจริง ก็เริ่มจะรู้กลาย ๆ แล้วว่าจะต้องทำไงต่อ ในหัวสมองคิดต่อว่าทำยังไงให้รอด ขึ้นเวทีแต่ละครั้งเราต้องทำให้เค้าจำมากที่สุด เริ่มมีพฤติกรรมการทาหน้า การปีนป่าย การบอดี้เซิร์ฟ

ป้อม: คือพยายามทำมาหมดแล้ว จนเราถูกลากไปขึ้นเวทีใหญ่ คืองานอาชาเนี่ยน เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่พาเราไปอีกเรื่องเลย

บอย: เป็นความโชคดีที่เราถูกผลักดันโดยผู้ใหญ่หลาย ๆ คนตอนนั้นที่ใจดีกับเรา ก็ได้ถูกแพ็กไปเป็น 3 วงจาก Smallroom มี Lomosonic, The Richman Toy แล้วก็ Slur ยุคนั้นนี่ก็กำลังมาเลยเพลงเซโรงัง Richman ก็มีอ๊อดอ๊อด มีกระเป๋าแบนแฟนทิ้ง แล้วหันกลับมาที่ Lomosonic

ป้อม: เรามีเพลงอะไรนะ เพลงชื่ออะไรนะ เพลงดอกไม้ไฟ แทบไม่มีใครรู้จัก (หัวเราะ)

บอย: ก็เลยกลับมาคุยในวงว่าจะทำยังไง ใ้นเมื่อมันต้องขึ้นเวทีต้องปรากฎตัวต่อหน้าสาธารณะชนแล้ว มันไม่มีทางเลือก เราต้องแลกทุกอย่าง เลยเลือกการเสนอสิ่งที่ง่าย เหมือนเราแต่งเพลงขึ้นมาใหม่ ร้องแค่ 4 คำ แต่ก่อนหน้านั้นเราเต้นจนแบบให้คนดูยอมรับ ใช้ความจริงใจเข้าไป สุดท้ายคนดูเค้าก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะร้องกับมึง ณ เวลานั้น

ป้อม: มันเหมือนเป็นจุดแรกที่ Lomosonic เชื่อมต่อกับคนดูได้แล้วจริง ๆ เหมือนแตะมือได้แล้วจริง ๆ ก่อนหน้านี้ที่เราพยายามมันเหมือนเป็นโชว์ เหมือนมาดูกายกรรมเลย

ออตโต้: เมื่อก่อนเหมือนอยู่บนเวที แล้วมันมีตรงกลางกั้นไว้ เพลงเราไปไม่ถึงคนดู คนดูก็มาไม่ถึงเรา

บอย: ตอนนั้นก็ต้องคิดแก้เกมกันเหมือนฟุตบอล ครึ่งแรกโดนมา 4 เม็ดจะทำยังไง เติมกองกลาง นู่นนี่นั่น ชุดแรกเพลงของเราเองที่พอจะเป็นที่รู้จักก็ดอกไม้ไฟ, ใครจะหยุดความเหงา เวลาเล่นนี่เหงาเลย ก็พยายามเติมเรื่องราวให้กับเพลง เริ่มทดลอง เริ่มพูดมากสร้างสตอรี่ให้กับมัน เริ่มนวดให้คนเริ่มรู้สึกถึงเพลงนี้ เหมือนเราเริ่มจับทางการโชว์ของเราได้ในเรื่องการเชื่อมกับคนดู

 

ถึงเวลา?

แม้สกิลในการเอาตัวรอด ทักษะในการแก้เป็นหา ที่ถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยเรียนสถาปัตย์ จะนำพาให้พวกเขาเจอแนวทางบางอย่างในการเชื่อมต่อกับคนดู จนได้ชื่อว่าเป็นวงที่เล่นสดได้โคตรมันส์

แต่ยอดขาย และกระแสตอบรับที่ไม่ได้มากมายเป็นวงกว้าง ทำให้รายรับจากดนตรีไม่ได้มีมากพอที่จะทำให้สมาชิกทั้งหมดสามารถฝากชีวิตไว้กับอาชีพนี้ได้จริงจังขนาดนั้น ทำให้ช่วงเวลาระหว่างจบอัลบั้มแรก มันถึงเวลาที่ทั้ง 4 คนมานั่งพูดคุยกันว่าจะเอายังไงกันต่อ

ปิติ: ช่วงทำอัลบั้มสองเหมือนวงกำลังทำด้วยความหวังกับสิ่งในอนาคตว่าทำเพลงนี่แหละวันนึงมันจะรอด แต่เราไม่ได้หลับหูหลับตาทำ เราวางแผนเพื่อที่จะให้การเล่นดนตรีมันเป็นอาชีพของเราให้ได้

ป้อม: มีการวาง Branding มีการคิดว่าเนื้อเพลงควรจะเขียนเกี่ยวกับอะไร มีการวางโมเดล แต่พูดตรง ๆ ว่าไม่มีใครรู้หรอกว่าการวางแผน วางโมเดล สุดท้ายมันจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า แต่ตอนนั้นเรามีทางเลือกไม่มากเราก็ต้องทำ

คือที่มันต้องคาดหวัง ต้องวางแผนกันขนาดนี้ มันเริ่มจากตอนจบชุดหนึ่งก่อนจะทำชุดสองเรามานั่งประชุมกัน นัดประชุมกันแล้วถามบอยว่า ตอนนี้งานดนตรีมันเริ่มกินเวลาอาชีพประจำแล้ว เราเหลือทางเลือกแค่ว่าจะผลักดันให้ดนตรีเป็นอาชีพหลักไปเลย หรือจะเลิก หรือลดความสำคัญคัญให้มันเป็นแค่งานอดิเรก

ไม่มีตรงกลางแบบที่ผ่านมา คือตรงกลางแบบมีทัวร์ต้องลางานไปทัวร์ มีตรงกลางแบบนี้มันจะเตี้ยอุ้มค่อมไปเรื่อย ๆ งานหลักก็ไม่โต งานรองก็ไม่ไป ผมเลยบอกว่าเราต้องมาคุยกันว่าจะเอายังไง

แต่ทุกคนเห็นตรงกันว่ามาถึงขั้นนี้แล้วพี่ ไปให้เป็นอาชีพ เราก็ได้ดิวะ ลองสักตั้ง ก็เลยผลิตเพลงกันบ้าคลั่ง 40 เพลง

บอย: ถามผม ผมก็ตอบอย่างไม่คิดอะครับ ผมมีทางเดียวอยู่แล้ว (หัวเราะลั่น) ตอนนั้นหลัง Fireworks ผมกลับไปอยู่คลองสามวาแถวซาฟารีเวิลด์อะ แล้วปั่นจักรยานไป Smallroom ที่เอกมัย โคตรไกล แต่อยากประหยัด มันไม่มีตังค์จริง ๆ เพราะเป็นคนเดียวที่ไม่ได้ทำงานประจำเลย

ผมคิดว่าผมไม่อยากเป็นอย่างอื่น ผมอยากเล่นดนตรีอย่างเดียว โดยไม่สนใจว่าเราจบสถาปัตย์มาเราจะมีอาวุธสำหรับทำมาหากินอย่างอื่นอยู่ในมือ แต่ผมไม่ใช้ กูจะใช้ท่านี้อะ กูอยากเล่นดนตรีอะจะทำไม พ่อแม่โทรมาบอกให้เลิกทุกวัน แต่เราดื้อ ดันทุรังทำมัน

 

ความสำเร็จ?

ด้วยความดื้อรั้น ที่ผ่านการวางแผน และแนวทางการเชื่อมต่อกับคนดูคนฟัง ที่พวกเริ่มจับทางได้จากชุดแรก ทำให้เพลงจากอัลบั้มที่สองอย่าง Echo & Silence ไม่ว่าจะเป็นซิงเกิ้ลแรกอย่าง ’ถึงเวลา’ ตามมาด้วย ‘ความรู้สึกของวันนี้’, ‘อยากจะรักแค่ไหน’ และ ‘เก็บไว้’ เริ่มมีการตอบรับที่ดี เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีงานโชว์มากขึ้น แต่ ณ ตอนนั้นแทบไม่มีใครรู้ว่าซิงเกิ้ลสุดท้ายที่ถูกปล่อยออกมา จะสร้างความนิยมระดับปรากฎการณ์เปลี่ยนชีวิตให้กับ Lomosonic

ปิติ: เพลง ‘ขอ’ เป็นเพลงที่ปล่อยมาหลัง ๆ ของชุดสองเลย กลายเป็นว่าดังเฉย คือไม่ได้มอนิเตอร์กัน ทุกคนบอกว่าก็ปล่อยแหละ ก็เพลงออกมาแล้วแค่นั้น

บอย: ผมนี่หนักเลยไปเตะบอล (หัวเราะ)

ป้อม: คือไม่รู้จะมอนิเตอร์ทำไม ในเมื่อปล่อยปุ๊บหมื่นวิว สี่หมื่นวิว แรงหน่อยก็ล้านวิวใน 3 เดือน แต่อันนี้วันเดียวจะล้านวิวแล้ว

ปิติ: งานแรกที่ไปเล่นหลังจากเพลง ‘ขอ’ ปล่อยออกไป น่าจะเป็นที่บางแสน เรารู้สึกได้ว่ามันมีคลื่นเสียงที่คนแรกตามกระแทกขึ้นมา

ออตโต้: ปกตินี่กริบ (หัวเราะ)

ป้อม: มันเป็นความรู้สึกที่ว่าถึงแล้วอะ มันรู้สึกได้

บอย: มันเป็นความรู้สึกที่พิสูจน์สมการ สิ่งที่เราต้องการว่า เออกูต้องการอันนี้แหละ เพิ่งมาถึงตอนที่มันผ่านมา 4-5 ปีแล้ว แต่ถ้าถามในแง่ความสำเร็จ สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในชุดสอง ขอให้คำนิยามแบบนี้ดีกว่า ว่ามันสัมฤทธิ์ผลตามเป้าประสงค์ วัดด้วย Physical เราเริ่มมีรายได้ที่จะทำให้ทุกคนลาออกจากงานมายึดการเล่นดนตรีเป็นอาชีพหลัก

ป้อม: ปีนั้นเป็นปีโชคดี เหมือนวงได้ขึ้นลิฟต์ อัลบั้มตอนแรกปล่อยไปครึ่งปียังขายไม่หมด พอเพลง ‘ขอ’ มาเนี่ยอัลบั้มก็ขายหมดภายในสัปดาห์นั้นเลย แล้วก็เรามีคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกบัตรก็ขายหมด เราเลยกลายเป็นวงที่ Sold Out ทั้งบัตรคอนเสิร์ต และ CD ในช่วงเวลาที่ไม่มีใครขายออก มันเลยกลายเป็นปีที่โชคดีมาก ๆ ของพวกเรา

บอย: นั่นแหละครับ พอเริ่มวางแผน แล้วมันเป็นไปตามแผนก็รู้สึกว่าอีกก้าวนึงแล้วนะ แต่ถามว่าสำเร็จมั้ยนี่ไม่แน่ใจ ไว้อีกสัก 5 ปีมาสัมภาษณ์ใหม่ ตอนนั้นอาจจะยอมพูดแล้วก็ได้ ถ้าทำให้ผมพูดคำนี้ได้ ผมว่ามันน่าจะใช่จริง ๆ แล้วล่ะ

ป้อม: แต่ถามว่ามันเกินคาดมั้ย มันเกินคาดไปเยอะมาก ถ้าย้อนเวลาไปปิดตาพวกเราสมาชิกวงที่เล่นต่อหน้าคน 4 – 5 คนที่งาน Fat แล้วเปิดตามาอีกทีเจอคนแสนกว่าคนตอนคอนเสิร์ตที่ขอนแก่น ผมว่ามีฉี่ราดเลยนะ

ออตโต้: ผมว่างานที่ขอนแก่นมันช็อกจริง ๆ นะ ที่เค้าให้คนดูทำเวฟไปนะ คลื่นมนุษย์อะ แม่งเป็นนาทีกว่าจะวนกลับมา เราก็คิดว่าเชี่ย คนเยอะจังวะ

 

ประสบการณ์ที่ตกผลึก

แน่นอนว่าช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองย่อมมีไม่นานนัก หลังจากหมดสัญญากับทาง Smallroom พวกเขาได้เริ่มเดินทางอีกครั้งกับ Anti-Gravity อัลบั้มชุดที่ 3 ภายใต้ชายคา GMM Grammy ในสังกัดสนามหลวง ซึ่งถือว่าเป็นอัลบั้มแนวทดลองเพื่อค้นหาขอบเขตข้อจำกัดบางอย่างของ Lomosonic ก่อนที่จะตกผลึกประสบการณ์สู่ผลงานล่าสุดอย่าง Sweet Bros. ซึ่งเป็น EP อัลบั้มที่ย้ายมาทำกับค่าย Genie Records

ป้อม: สำหรับงานในอัลบั้มที่สาม ต้องขอเล่าย้อนไปถึงคอนเซ็ปต์การทำอัลบั้มแต่ละชุดก่อน อย่างอัลบั้มที่หนึ่งเราพยายามคิดกันว่า Lomosonic คืออะไร ซาวด์ของเราคืออะไร วิธีแสดงสดของเราคืออะไร ตัวตนของเราเป็นแบบไหน อธิบายให้โลกรู้ ชุดหนึ่งโลกรู้นะ แต่ขายไม่ออก

ชุดสอง ทำยังไงให้ขายได้ เป็นที่รู้จักมากขึ้น ปรากฎว่าทำสำเร็จ มาถึงชุดที่สามจะไปตั้งโจทย์เหมือนชุดสองก็ไม่ได้ จะทำยังไงให้ขายได้มากขึ้นงี้หรอ? เราก็แบบเรายังไม่รู้เลยนะ เพราะเอาตรง ๆ เพลงขอก็ค่อนข้างฟลุก

เราก็เลยแบบทำไงดีวะ ยังไม่รู้ เลยทำ Random ไปก่อน ผลสรุปที่ได้คืออัลบั้มเชิงทดลอง สำหรับอัลบั้มที่สาม Anti-Gravity คำถามคือนอกจากชุดหนึ่ง ชุดสองแล้ว Lomosonic มันสามารถเป็นอะไรได้อีก ไปทดลองขอบเขตของวงเพื่อที่จะรู้ว่าตรงไหนไปแล้วไม่ต้องไปแตะอีก

และหลังจาก Lomosonic ผ่านช่วงเวลาทั้งหมดนั้นมาแล้ว สิ่งที่ตกผลึกออกมา มันได้อะไรมา อะไรคือแก่นของ 10 กว่าปีที่ผ่านมา จนกลายมาเป็นอัลบั้ม Sweet Bros. ชุดที่ 4

บอย: ส่วนเหตุผลที่ชุดนี้เรามาอยู่กับ Genie คือกำลังจะหมดสัญญากับ Grammy เป็นสัญญาใหญ่ ก็เลยคุยกันว่าจะเอายังไงกันต่อดี ก็ต้องการความท้าทายใหม่ครับ การย้ายค่ายเป็นหนึ่งในตัวเลือกนั้นแล้วก็คิดว่าวงน่าจะต้อง move อะไรบางอย่างแล้วก็ทำงานโดยมี executive producer แล้วก็คิดถึงหลาย ๆ คนเลยครับ แล้วหนึ่งในคนที่เราได้ปรึกษาก็คือพี่อ๊อฟ บิ๊กแอส ก็ตกลงปลงใจแล้วก็นี่แหละครับ ย้ายต่อมา Genie

ช่วงแรกที่ย้ายมาก็เหมือนนักฟุตบอลต้องการความท้าทายใหม่ เปลี่ยนสโมสรอาจจะต้องเปลี่ยนระบบการฝึกซ้อม การเล่น แต่ว่าทุกคนก็ทำงานหนักเพื่อพวกเราแล้วก็ ยังได้ทำงานเหมือนเดิม ในขอบเขตของวงที่ทำเพลง แต่ก็มีคนมาช่วยคิดช่วยขยายความช่วยตัดส่วนเกินออก ก็คือพี่อ๊อฟครับ แล้วก็ได้พี่โป โปษยะนุกูล มาดูแลในส่วนของเนื้อเพลง เป็นพี่เลี้ยงให้

ป้อม: โปรดักชันก็เต็มเหนี่ยว เดี๋ยวให้ปิติเล่า

ปิติ: เรื่องโปรดักชันของ Sweet Bros. ก็ได้ไปอัดที่ กานดี สตูดิโอ ของพี่อ๊อฟ ก็เป็นห้องที่สมบูรณ์ ครบมาก ทั้งเรื่อง อะคูสติก เรื่องรูม อุปกรณ์เอาท์บอร์ดนี่พี่อ๊อฟ เค้าจัดเต็มมาก กีตาร์นี่เยอะมาก คือได้เรียนรู้อะไรเยอะมากเลยครับในกระบวนการการอัด

อย่างเรื่องโทนที่พี่อ๊อฟสามารถฟันได้ว่าท่อนนี้ใช้กีตาร์แบบโทนนี้ดีกว่า ซึ่งแบบที่เคยทำมาเราไม่เคยคิดจะใช้ซาวด์นี้เพราะรู้สึกว่ามันไม่มันส์ แต่พอลองตามพี่อ๊อฟรวม ๆ แล้วมันฟังรู้เรื่องกว่าโดยที่ความหนักความแน่นของมันก็ยังอยู่

ป้อม: พี่อ๊อฟช่วยตัดขอบ ช่วยแนะนำให้งานมันโอเคขึ้นอะไรแบบนี้ และพี่อ๊อฟเค้าจะให้เกียรติวงในเชิงครีเอทีพมาก ๆ แต่พี่เค้าจะช่วยยกระดับเรื่องคุณภาพ ไปจนถึงขั้นตอนตั้งแต่การ Mixed จนถึง Mastering ซึ่ง Mastering เราได้ Ted Jensen ซึ่งเป็น Mastering ระดับโลกมา เรื่องคุณภาพคือดีขึ้นมาก ๆ เลย เป็นสิ่งที่วงสัมผัสได้อย่างชัดเจน

 

SWEET BROS.

ออตโต้: ถ้าใจให้นิยามความเป็น Sweet Bros. เทียบกับความเป็น Lomosonic เมื่อก่อน คือสมัยก่อนเราเป็น Aggressive Bros. ครับ (หัวเราะ)

บอย: เป็น Emo Guys ครับ บวกหมดเลย มีเรื่องอะไรกูใส่หมด (หัวเราะ) มันก็เป็น EP ชุดใหม่ที่คิดมาจากประสบการณ์ มาจากสิ่งที่เจอ แล้วเราก็ได้ทำต่อกันมา แล้วเรารู้ว่าถ้าเราทำดนตรีกันแบบที่เราชอบกันเอง เหมือนตอนชุดแรก เราก็ต้องนั่งฟังกันในห้องเอง อาจจะมีคนมาชอบด้วยบ้าง

แต่เราได้คำตอบแล้วในการเล่นดนตรีเราต้องการเล่นต่อหน้าคนเยอะ ๆ แต่เป็นดนตรีที่ทำกันเอง ดนตรีที่มาจากพวกเราเอง แต่ให้คนชอบเยอะ ๆ มีแขน มีขา เอื้อมไปแตะคนเยอะ ๆ เพราะว่าเราเคยเห็น ดนตรีที่ไม่เอื้อมมือไปแตะใคร เราเคยเจอมา

ป้อม: เราเป็นแบบนั้น เราเคยเล่นแบบนั้นมาแล้ว

บอย: เพราะฉะนั้นไม่ผิด ถ้าจะบอกว่าชุดนี้สังเคราะห์มาจากแฟนเพลง เพราะว่าด้วยวัยวุฒิที่คุณวุฒิอาจจะไม่มาก ยังไม่โตตามอายุ (หัวเราะ) เพราะบางเรื่องก็ยังมีเรื่องที่ยังไม่แก่ ก็ไม่ได้แก่ขนาดนั้น แต่ถ้ายังไม่โตก็คิดไม่ได้ ถ้ารีบโตเกินไปก็คิดไม่ได้ ถ้าโตมาตั้งแต่แรก ถ้าประสบความสำเร็จมาตั้งแต่แรกก็คิดอย่างนี้ไม่ได้

แล้วเพลงบางเพลงในอัลบั้มนี้ถ้าออกไปเพลงเดียวแม่งโดนแน่ โดนด่าแน่ ล่อตีน ล่อเป้าแน่ แต่พอออกไปหมดทั้งชุดแบบนี้แล้วจะรู้ว่ามันมีความหมาย มันถูกร้อยเรียงยังไงมีเรื่องราวยังไง มีความเป็นพี่ยังไง Sweet มาจากอะไร Bros. มากจากอะไร

Sweet แปลว่าหวานใช่มั้ยถ้าเป็นศัพท์ปกติ แต่จริง ๆ แล้วแสลงของ Sweet แปลว่า เจ๋ง มันแจ๋วนี่หว่า มันเจี๊ยบมากอะไรแบบนี้ แล้วก็ Bros. คือ Brother พี่ชาย ของเราใช้ว่า Bros. เป็นคำย่อ ไอ้ Sweet Bros. /Sweet Brother เนี่ยมันมีนัยยะซ่อนอยู่ คือถ้าจะเสพแค่พื้นผิวก็ได้ความบันเทิงไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้าฟังลึก ๆ จะรู้ว่ามันมีเหตุผลของมันที่มันเป็นแบบนี้ มันมีเหตุผลของมันที่เราต้องการจะทำเพลงให้คนหมู่มาก จะบอกว่าแมสมั้ย ถ้ามันไปได้เยอะแมสก็ได้ (หัวเราะ) แต่ว่ามันก็ไม่ได้แบบว่า ทำมาเพื่อจุดประสงค์โดยไร้จรรยาบรรณ

ออตโต้: แต่พี่อ๊อฟพูดว่าอัลบั้มนี้จะเป็นอัลบั้มที่ Lomosonic มีเพลงเพราะที่สุด แบบที่พี่อ๊อฟเคยพูดไว้ ก็จะรวมเพลงเพราะที่สุดเอาไว้ ต้องลองฟัง

ป้อม: ความคราฟต์ด้วย ผมฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นอัลบั้มที่คราฟต์ตัวเองมาค่อนข้างดี แล้วก็ฟังสบายหู มีทั้งการมิกซ์ ที่ช่วยให้เกิดเฮดรูมในการฟัง การเรียบเรียงเพลงด้วยนะโทนต่าง ๆ นา ๆ วิธีการร้องเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน แล้วตัวดนตรีเองก็มีการปรับโทน ไม่ได้เปลี่ยนโหดร้าย แต่ก็มีการปรับ แล้วก็มีปรัชญาวิธีการคิดในอีกรูปแบบอื่น ๆ หลายอย่างมากเหมือนกัน อย่างที่บอกคือชุดนี้ได้ดึงศักยภาพสมาชิกวงขึ้นมาอีกแล้ว

บอย: แม้แต่การให้สัมภาษณ์มัน Sweet Bros. เลยนะจะบอกให้

ออตโต้: ไม่ดุแล้วนะ (หัวเราะ)

 

บอย: พูดให้เข้าใจง่าย ๆ มากกว่านี้ก็คือ เราไม่ได้เป็นนักดนตรีที่เก่งนะครับ แต่ ณ ชุดนี้ ชุดที่4 ก็เก่งกว่าชุดที่ 3 แน่ ชุดที่ 3 ก็เก่งกว่าชุดที่ 2 ไม่มีนะชุด 4 มันจะห่วยไปกว่าชุด 1 อะ บรรลัยนะแบบนั้น (หัวเราะ)

แล้วพวกเราก็มีสีที่มากขึ้นครับ เหมือนเวลาเปิดเทอม เทอมที่แล้วมี 12 สี เทอมนี้พ่อให้อีก 24 สี ชุดนี้อาจจะเป็น 36 สี อะไรแบบนี้ มีเขียว เขียวอ่อน สีไม้น้ำ คือการเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ

ป้อม: แล้วหวยมันออกได้หลายหน้ามาก กับอัลบั้มนี้นะ ผมยังคิดว่าปล่อยไปเนี่ยถ้าคนฟังทั้งหมดแล้วมาด่า ผมก็จะทำใจรับนะ เพราะว่าเราชอบไปแล้ว

บอย: ที่สุดแล้วพูดตอนนี้ก็เหมือนโม้เนอะ เหมือนเลียไข่ตัวเอง เหมือนพยายามบอกว่าไอเหี้ยเราแม่ง Work Hard ว่ะ แต่การ Work Hard มันไม่ได้การันตีว่าชุดนี้มันจะดี ไม่ได้การันตีว่ามันจะ Good Work อะ ทั้ง Work Hard / Work Smart สุดท้ายคือต้องรอให้ทุกคนได้ฟังแล้วรู้สึกกับมัน

ป้อม: มีสิ่งนึงที่ผมคิดว่าวันนี้เพลงร็อกมันตอบโจทย์ได้นะ คือเราก็รู้ว่าเพลงร็อกมันค่อนข้างหายไปจากตลาดมาสักพักนึงแล้ว แต่ว่าฟังก์ชันเพลงร็อกในอัลบั้ม Sweet Bros. มันจะมีบางเพลงที่ผมเชื่อว่ามีฟังก์ชันที่แนวเพลงอื่น ๆ ให้ไม่ได้ ซึ่งเป็นแนวที่ Lomosonic ถนัดด้วย เราเรียกว่าแนวปลอบประโลมจิตวิญญาณ เราก็หวังว่าบางเพลงในอัลบั้มนี้มันจะปลอบโยนความรู้สึกความบอบช้ำหรือจิตวิญญาณของคนฟังได้ มันมีเนื้อแท้ของความเป็นจิตใจ ความเป็นกวีจิตใจอะไรแบบนั้นอยู่ ก็อยากให้ลองฟังกันดูครับกับ EP อัลบั้ม Sweet Bros. ของพวกเรา

PHOTOGRAPHER: Krittapas Suttikittibut

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line