Entertainment

“ยิ่งห้ามก็ยิ่งอยากอ่าน” รวม 6 หนังสือต้องห้ามที่ถูกแบนไม่ให้อ่าน

By: GEESUCH May 10, 2023

ในวรรณกรรมดิสโทเปียชื่อ Fahrenheit 451 โดยนักเขียนชาวอเมริกัน Ray Bradbury นั้น เล่าเรื่องของโลกที่รัฐบาลลงมติว่า ‘หนังสือ’ คือสิ่งผิดกฎหมาย ประชาชนห้ามอ่านเด็ดขาด ถึงขนาดว่ามีหน่วยชื่อ Firemen คอยเผาหนังสือทุกที่ที่มีอยู่ในสังคมให้หมดไป Guy Montag ตัวเอกของเรื่องก็คือหนึ่งในหน่วยสุมเพลิงนั้น ก่อนที่เขาจะค่อย ๆ ตั้งคำถามว่าสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าผิด  

ใครที่เป็นแฟนคลับตัวยงของมังงะโจรสลัด One Piece น่าจะรู้ถึงความโหดร้ายของรัฐบาลโลกในเรื่องดี ซึ่งหนึ่งในสิ่งชั่วร้ายที่รัฐบาลคอยทำมาตลอดตั้งแต่เล่มที่ 1 ของมังงะเรื่องนี้ คือการปิดบังข้อมูลกับประชาชน จากตัวอักษรโบราณที่ชื่อว่า ‘โพเนกรีฟ’ เพราะกลัวว่าประชาชนจะล่วงรู้ประวัติศาสตร์แห่งความว่างเปล่าหลายร้อยปีก่อนที่อาจจะมีศพซุกซ่อนอยู่ใต้พรหมที่ตัวเองซุกซ่อนเอาไว้ ถึงขนาดว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนที่อ่านตัวอักษรนี้ทิ้งไปเลย 

เรื่องแต่งว่าด้วยการห้ามอ่านของหนังสือ 2 เล่มที่กล่าวไปในข้างต้น มีจุดเชื่อมโยงน่ากลัวร่วมกันอยู่ตรงที่ ‘พลังของตัวอักษร’ มีพลังสามารถเปลี่ยนความคิด ความรู้สึกคนอ่านแบบฉับพลันโดยใช้เวลาเพียงจบหน้ากระดาษ 100-300 หน้าเท่านั้น และการห้ามอ่านมันเกิดขึ้นในชีวิตจริงของพวกเราด้วย !

ในปี 1982 จำนวนหนังสือที่ถูกแบนจากห้องสมุดโรงเรียน และจากรัฐบางรัฐในอเมริกามีปริมาณที่สูงขึ้นมาก ถึงขนาดทำให้องค์กร ​Free-Speech หลายแห่งรวมตัวกันตั้ง ‘งานสัปดาห์หนังสือที่ถูกแบน (Banned Books Week)’ ครั้งที่ 1 ขึ้น เพื่อฉลองเสรีภาพในการอ่านของทุกคน และยังคงจัดต่อเนื่อมาจนถึงปี 2023

พูดถึงช่วงเวลา 2 ปีก่อนหน้านี้ในประเทศไทย ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนที่จะถูกกล่าวถึงมากเท่ากับ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน อีกแล้ว เพราะยอดขายที่ถล่มทลายของหนังสือชื่อ ‘ขุนศึกศักดินาฯ’ จากเหตุการณ์ที่ถูกรัฐบาลห้ามอ่านถึงขนาดว่าส่งเจ้าหน้าที่มาริบหนังสือถึงสำนักพิมพ์กันเลยทีเดียว สิ่งที่น่าสนใจคือ คำว่า “ตาสว่าง” ถูกใช้อย่างติดปากในกระแสสังคมช่วงเวลานั้น การห้ามอ่านทำให้ทุกคนหามาอ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมเปลี่ยนความคิดของคนในสังครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย … 

“I can shake off everything as I write; my sorrows disappear, my courage is reborn.”

– Anne Frank

แน่นอนว่าหนังสือมีพลังมากมายถึงขนาดเปลี่ยนโลกได้ แต่การห้ามคนหนึ่งคนเพื่อจะรู้อะไรในหนังสือนั้นเป็นสิ่งที่ร้ายแรงยิ่งกว่ามาก UNLOCKMEN ขอรวบรวมหนังสือที่ถูกแบนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แนะนำโดยสำนักพิมพ์ Penguin Random House (บางเล่มมีแปลลิขสิทธิ์ไทยด้วย) แต่ถึงจะขึ้นชื่อว่าถูกแบน คุณก็ไม่ควรปิดกั้นตัวเองจากสิ่งมากมายที่จะได้รับจากตัวอักษรเหล่านั้นอยู่ดี


The Handmaid’s Tale (1985) Margaret Atwood 

 หลายคนน่าจะคุ้นชื่อซีรีส์เรื่องนี้ดีจาก Hulu แต่อาจจะไม่รู้กันว่าต้นฉบับมาจากนิยายดิสโทเปียของ Magaret Atwood ที่เล่าเรื่องของโลกอนาคตปี 2195 ในประเทศสมมติที่มีชื่อว่า Gilead ซึ่งมีระบอบปกครองแบบแบ่งแยกหน้าที่และชนชั้น มอบคุณค่าและบทบาทของคนจากความสามารถในการอุทิศร่างกายให้แก่การผลิตทรัพยากรเพื่อผดุงการดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติ เราจะฟังเรื่องเล่าของโลกที่อิสรภาพไม่ได้เป็นของทุกคนผ่านตัวเอกชื่อ offred หญิงรับใช้คนหนึ่ง    

ต้องบอกว่า The Handmaid’s Tale เป็นนิยายที่ถูกใช้คำว่าอื้อฉาวได้อย่างสิ้นเปลืองมาก ทั้งถูกวิพากษ์ว่าเป็นหนังสือที่ต่อต้านคริสเตียน อิสลาม ต่อต้านศาสนา ผ่านการแสดงออกทางเพศแบบรุนแรง ถูกจัดให้เป็นหนังสือที่ถูกเซนเซอร์โดย ‘สมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association)’ และล่าสุดในปี 2023 ห้องสมุดของโรงเรียนมัธยมปลายใน Madison County ก็เพิ่งถอดหนังสือเล่มนี้ออกจากห้องสมุดไปเอง ซึ่งผู้เขียนอย่าง Magaret Atwood ก็ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ และบอกว่าไม่สมเหตุสมผลเลย ทั้ง ๆ ที่แรงบันดาลใจจากนิยายของเธอได้มาจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ลด้วยซ้ำไป


Thirteen Reasons Why (2007) Jay Asher 

จากนิยาย YA เล่มดังของโลกสู่ซีรีส์ออริจินอลที่สร้างชื่อให้กับ Netflix ในปี 2017 หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องของ Hannah Baker เด็กสาววัยมัธยมคนใหม่ของเมือง ที่ชีวิตของเธอเต็มไปด้วยการถูกบูลลี่จากโรงเรียน การที่ครอบครัวไม่เข้าใจ นำไปสู่การเลือกจบชีวิตของตัวเองในท้ายที่สุด .. แต่ทว่า Hannah เลือกที่จะแก้แค้นผู้คนที่ทำให้ชีวิตของเธอเป็นแบบนี้ ผ่านการบันทึกเทป 13 ม้วน ที่บันทึกเสียงของเธอเอาไว้ว่าพวกเขาทำอะไรกับเธอเอาไว้บ้าง 

ทั้งฉบับซีรีส์และหนังสือ Thirteen Reasons Why ถูกยกย่องว่าพูดถึงปัญหาการ ‘ฆ่าตัวตายในวัยรุ่น’ แบบที่ตรงไปตรงมา และชี้ปัญหาได้ถูกจุดเอามาก ๆ แต่เพราะเหมือนว่าจะมีภาพของความรุนแรงมากเกินไป ทำให้ห้องสมุดในหลาย ๆ โรงเรียนของอเมริกาเลือกที่จะถอดหนังสือเล่มนี้ออกไป ส่วนหนึ่งมาจากความเห็นของผู้ปกครองที่ไม่เห็นด้วยว่าลูก ๆ ของพวกเขาจะสามารถอ่านรับความรุนแรงของเนื้อเรื่องได้


Kafka On The Shore (2002) Haruki Murakami

วันหนึ่ง Amy Arata สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ หยิบหนังสืออ่านฆ่าเวลาจากห้องสมุดในโรงเรียนของลูกชายวัย 17 ปี ของเธอเข้าห้องประชุมของพรรคด้วย สายตาของเหล่าสมาชิกที่มองเธอในวันนั้นทำให้ Amy รู้สึกไม่ดีเลย มันแสดงว่าเธอต้องออกตัวทำอะไรสักอย่างกับหนังสือฆ่าเวลาเล่มนี้แล้ว 

ในปี 2019 ตัว Amy ให้สัมภาษณ์กับรายการข่าวท้องถิ่นในรัฐแมสซาชูเซตส์ถึงนิยายเล่มนี้ โดยใช้คำว่าลามกอนาจาร และใช้คำที่พูดถึงเรื่องเพศแบบชัดเจนเอามาก ๆ ซึ่งมันทำให้เธอไม่สบายใจเลย และเธอตัดสินใจว่าจะร่ากฎหมายเพื่อแบนหนังสือเล่มนี้ในรัฐบ้านเกิดของเธอและลูกชาย แต่ทว่า ร่างกฎหมายก็ถูกปัดตกไป

Kafka On The Shore เล่าเรื่องของเด็กชายอายุ 15 ปีคนหนึ่งที่หนีออกจากบ้าน แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในเรื่องราวเล็ก ๆ เท่านั้น เพราะถ้าคุณเคยกับการอ่านนิยายแฟนตาซีของมูราคามิดี จะรู้ว่าความไม่ปกติคือความปกติของงานเขียนของเขา


The Adventures of Huckleberry Finn (1885) Mark Twain

วรรณกรรมเล่มสำคัญของโลก โดย Mark Twain นักเขียนทาสแมว ตั้งแต่ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1885 นิยายเรื่อง The Adventures of Huckleberry Finn ซึ่งเล่าเรื่องของคนสองคนที่หลบหนีอะไรบางอย่างในชีวิตของตัวเอง (คนแรก-หลีกหนีจากพ่อผู้ทำร้ายร่างกาย / คนที่สอง-หลบหนีจากการเป็นทาส) ก็ถูกโจมตีอย่างหนักว่าเป็นหนังสือที่เหยียดเชื้อชาติ และบ้างก็บอกว่าขัดต่อค่านิยมอันดีงามของผู้คน

ต่อมาในปี 2019 Verlina Reynolds-Jackson และ Jamel Holley สส.จากรัฐนิวเจอร์ซีย์ได้เสนอให้เขตการศึกษาถอด The Adventures of Huckleberry Finn หนึ่งในวรรณกรรมอเมริกาที่ยิ่งใหญ่ออกจากหลักสูตรการสอน พร้อมให้เหตุผลประกอบว่า “นิยายเรื่องนี้ใช้ถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติ และแสดงทัศนคติแบบเหยียดสีผิว ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนรู้สึกไม่สบายใจพร้อมสร้างบรรยากาศชวนอดอัดในห้องเรียนได้”

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นเอง ทำใหเขตการศึกษาของรัฐ Pennsylvania, Virginia, Minnesota และ Mississippi ได้ถอดหนังสือเล่มนี้ออกจากหลักสูตรการสอน และเป็นที่ถกเถียงต่อไปอีกว่า ในการจัดพิมพ์หนังสือในฉบับใหม่ สำนักพิมพ์ควรเลือกใช้คำอื่นเข้ามาแทนคำว่า ‘ทาส’ อย่างตรงไปตรงมาแทน


Maus (1991) Art Spiegelman

“Graphic Novel เพียงเล่มเดียวในลิสต์นี้ และเป็นเล่มที่ได้ชื่อว่าถูกแบนมากที่สุดในโลกด้วย !”

Maus เป็นผลงานของ Art Spiegelman ซึ่งได้แรงบันดาลใจโดยตรงมาจากเหตุการณ์จริงของ Vladek Spiegelman พ่อของเขาเอง หนึ่งในมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในค่ายกักกันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซี ซึ่งนี่คือมาสเตอร์พีซระดับที่ว่าเป็น Graphic Novel ของโลกที่ได้รับรางวัล Pulitzer Prize ในปี 1992 อีกด้วย

แต่ทว่า ในเดือนมกราคมของปี 2022 ที่ผ่านมา คณะกรรมการของโรงเรียนหนึ่งจากรัฐ Tennessee ตัดสินใจถอดหนังสือเล่มนี้ออกจากหลักสูตรของโรงเรียน ด้วยเหตุผลที่ว่ามีการใช้ภาษาที่หยาบคาย พร้อมกับมีภาพวาดของผู้หญิงเปลือย ทั้ง ๆ ที่ Maus เป็นหนังสือที่ถูกใช้สอนในโรงเรียนถึงภาพความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ความอันตรายของการเหยียดเชื้อชาติ และการต่อต้านชาวยิวมาอย่างยาวนาน 

“พวกเขาสนใจแต่คำหยาบที่อยู่ในหนังสือแบบที่ไม่ลืมหูลืมตา ผมไม่อยากจะเชื่อเลยว่าแค่คำว่า ‘Damn’ จะทำให้หนังสือเล่มนี้ถูกโยนออกจากรั้วโรงเรียนไปทั้งอย่างนั้น”  

– Art Spiegelman


Harry Potter (1997) J. K. Rowling 

ไม่น่าเชื่อว่าวรรณกรรมเยาวชนพ่อมด-แม่มดที่มีชื่อที่สุดในโลกอย่าง Harry Potter จะถูกแบนจากสังคมด้วย ! และเป็นระดับที่ว่าต้องโดนผู้เสกความตายใช้คำสาปพิฆาตอย่างเด็ดขาดอีกต่างหากล่ะ   

ไม่แน่ใจว่า J. K. Rowling กังวลถึงเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหนตอนจรดปากกาเป็นคำในแต่ละบทของนิยาย ว่าหนังสือของเธอจะถูกเพ่งเล็งโดยเหล่าผู้คนที่เชื่อในมนตร์ดำ (black-magic believers) ทั่วโลก ว่าจะทำให้ลูก ๆ หลาน ๆ ของพวกเขาเสียคน … และสำหรับชาวคริสเตียนกลุ่มหนึ่ง หนังสือชุดนี้เปรียบได้กับ ‘ยาเบื่อหนูที่ผสมกับน้ำส้มโซดา’ และเป็นประตูที่จะนำเด็กนับล้านไปตกนรก จนทำให้ Harry Potter ตกเป็นเป้าของการถูกเผาทิ้งอย่างน้อย 6 ครั้งในอเมริกา

จากนั้นในปี 2019 โรงเรียนคาทอลิกชื่อ St Edward Catholic ใน Nashville ได้เอาหนังสือชุดนี้ออกจากห้องสมุดของโรงเรียน พร้อมกับส่งอีเมลล์หาพ่อแม่ของเด็ก ๆ ว่าเป็นหนังสือหลอกลวงอันชาญฉลาด เพราะว่าเหล่าคาถาและคำสาปในหนังสือมันคือของจริง เมื่อมนุษย์ธรรมดาอ่านก็เสี่ยงที่จะเสกวิญญาณชั่วร้ายให้ปรากฎออกมาได้ “อะวาดา เคดาฟรา !”


SOURCE : 1 / 2 / 3 / 4

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line