Life

ถ้ากัญชาถูกกฎหมาย เราจะจัดการได้อย่างเป็นระบบ: คุยกับ “ไกด์-รัฐพล”ผู้ก่อตั้งเพจกัญชาชน

By: PSYCAT September 5, 2018

ในวันที่ประเด็นเรื่องกัญชาถูกหยิบยกมาพูดคุยกันในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในแง่การใช้เพื่อรักษาโรค การใช้เพื่อสันทนาการ การทำให้ถูกกฎหมาย รวมถึงมูลค่ามหาศาลในระบบเศรษฐกิจ ฯลฯ แต่ก็ต้องยอมรับอย่างเศร้า ๆ ว่าในไทยนั้น เรายังพูดถึงกัญชากันได้ไม่เปิดกว้างและหลากหลายนัก นอกจากกฎหมายแล้วก็อาจเพราะหมวกศีลธรรมที่เราถูกครอบไว้แบบแนบสนิท ไปจนถึงการตีตราว่าคนที่สนใจจะพูดเรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากพวกหมกมุ่นเรื่องยาเสพติด

ย้อนกลับไป 5 ปีก่อน ตอนที่ประเด็นเรื่องกัญชายิ่งถูกพูดถึงอย่างเป็นเหตุเป็นผลน้อยกว่านี้และถูกมองว่าเลวร้ายกว่านี้อีกหลายเท่า “ไกด์-รัฐพล แสนรักษ์”กลับเป็นอีกคนที่สนใจเรื่องกัญชาอย่างจริงจัง และเขาไม่อยากปล่อยให้กัญชาถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายเพียงเพราะผู้คนได้รับข้อมูลจากสื่อ จากรัฐ หรือจากการยัดเยียดตีตราเพียงด้านเดียว เขาจึงทำเพจ “กัญชาชน”  ขึ้น เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเรื่องกัญชาในแบบที่เขาเชื่อว่าไม่มีใครพูดถึงในขณะนั้น

กัญชาไม่ใช่แค่ความบันเทิง: จุดเริ่มต้นการศึกษาอย่างจริงจัง

“กัญชา”สามารถนำไปใช้ได้หลายจุดประสงค์ แม้คนส่วนใหญ่ในไทยมักจะมองว่า เฮ้ย มึงก็ใช่แค่เคลิ้ม ๆ เยิ้ม ๆ เพลิน ๆ หรือเปล่า ? ไกด์เองก็ยอมรับว่าแรกสุดเขาก็รู้จักกัญชาในฐานะอะไรบางอย่างที่ใช้เพื่อการสันทนาการเท่านั้น แต่ทุกอย่างย่อมมีจุดพลิกผันเสมอ และจุดเปลี่ยนนั้นเริ่มตอนที่เขามีโอกาสไปเรียนต่างประเทศ ที่ที่กัญชาเพื่อการแพทย์เป็นสิ่งถูกกฎหมาย

“ก่อนที่จะทำเพจนี้ เล่าย้อนกลับไปก่อนว่าคือเบื้องต้น พื้นฐานของครอบครัวเราเป็นครอบครัวที่เป็นโรคมะเร็งหมดเลยทั้งบ้าน พ่อก็เสียจากโรคมะเร็ง ปู่-ย่า ก็เสียจากโรคมะเร็ง พอเรียนจบเราก็เหลือเรากับแม่แค่ 2 คน พอทำงานได้ซักพักนึงเราก็ไปเรียนต่อที่ America ไปเรียนอยู่ที่ California ซึ่งที่ California กัญชามันถูกกฎหมายในแง่ของการใช้เป็นยามาประมาณ 20 กว่าปีแล้ว

ก่อนหน้านี้เราก็รู้จักกัญชาของวัยรุ่น รู้จักในความสนุกสนาน ความคึกคะนองในวัยรุ่นปกติ แต่พอไปที่นั่นแล้วอยู่ ๆ เราก็เป็นไมเกรน เลยไปหาหมอ ตอนนั้นไม่ไหว ทำอะไรไม่ได้เลย พอปรึกษาหมอ เขาก็บอกว่ามันมีทางเลือกนะ มี Medical Marijuana ที่มันสามารถใช้ได้ ไม่รู้เขาดูหน้าเราแล้วคิดว่าน่าจะสนใจมั้ง (หัวเราะ)

เราก็เลยเริ่มสนใจ เขาก็บอกว่าถ้าคุณสนใจคุณลองดูก่อนได้นะ เขาก็เขียน Recommendation มาให้ว่าไปดูได้ที่ไหน

เราก็เดินไปที่ร้านขายกัญชาเนี่ยแหละง่าย ๆ เป็นร้านขายกัญชาทางการแพทย์โดยเฉพาะ เขาก็มีการให้เทสต์สายพันธุ์ ให้เทสต์ดูว่าตัวนี้มันเป็นยังไง เหมาะกับอาการเรามั้ย เราก็แปลกใจว่า เฮ้ย มันใช้ได้ แล้วใช้ดีด้วย

พอเป็นไมเกรน ใช้ปุ๊ปมันก็แทบจะหายเลย มันใช้เวลาแค่ 10 นาทีก็ดีขึ้น เราก็เลยถามหมอว่า ทำไมคุณถึงให้ใช้กัญชาได้ หมอก็บอกว่าจริง ๆ แล้วการกินยารักษาไมเกรนมันมีผลกระทบเยอะมาก ต่อกระเพาะอาหาร ตับ ไต ถ้ากินเกินปริมาณที่กำหนดก็จะทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงปลายประสาท แต่กัญชาถ้าใช้ให้เหมาะสม มันรักษาได้เหมือนกัน แต่ว่าผลข้างเคียงที่มันออกมามันน้อยกว่า เขาก็เลยให้มันเป็นทางเลือกอีกอย่างนึง

ทีนี้เราเริ่มรู้แล้วว่ามันมีอะไรนอกจากมุมมองที่เราเคยเจอ ที่เราเคยเชื่อมา เราก็เลยเริ่มศึกษามากขึ้น แล้วก็ไปพบว่ามันใช้กับโรคมะเร็งได้ด้วย ซึ่งมันตรงกับ Background ครอบครัวเรา

ผมเลยลองไปอ่าน Paper เรื่องมะเร็งมากขึ้น ได้ไปเจอกับกลุ่มคนที่เขาใช้จริง ๆ คนที่เขาเป็นมะเร็งแล้วใช้กัญชาในการรักษาโรค ใช้ในการรักษาผลข้างเคียง ใช้ในการรักษาเลยโดยตรง สิ่งที่ไปเจอก็คือคนที่ใช้มีคุณภาพชีวิตต่างจากครอบครัวเรา ต่างกับที่เราเจอมาก คือเขาไม่ได้ล้มหมอนนอนเสื่อ ไม่ได้โทรม ไม่ได้ผอมแห้งหรือน้ำหนักลดเฉียบพลัน คุณภาพชีวิตเขาเดินเหินได้ กินได้ พูดคุยได้ ทำงานได้ มีชีวิตปกติมากกว่าที่เราเคยเจอคนที่เป็นโรคมะเร็งคนอื่น

เรารู้สึกเปิดโลกว่าจริง ๆ แล้วกัญชามันมีประโยชน์ถ้ามันใช้ไปในทางที่ดี แล้วเราก็ไปเห็นคนที่เขาหาย ไปเจอคนที่ดีขึ้นมาก ๆ เจอคนที่สามารถควบคุมอาการได้ เราก็ยิ่งรู้สึกว่ามันน่าสนใจ”

กัญชาไม่ใช่ปีศาจ แต่การรับข้อมูลด้านเดียวทำให้กัญชาเป็นปีศาจ

ยิ่งเขาสนใจ ศึกษา ก็ยิ่งพบว่ากัญชามีประโยชน์อีกหลายด้านแบบที่เขาไม่เคยได้ยินจากที่ไทยมาก่อน เขาเริ่มรู้สึกว่าการถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องที่ไม่แฟร์กับประชาชนเอาเสียเลย แต่เขายิ่งรู้สึกว่ามันเลวร้ายไปกว่านั้นเมื่อต้องเผชิญเรื่องนี้กับตัวเอง

“พอกำลังเรียนอยู่ ยังเรียนไม่ทันจบ แม่ก็โทรมาบอกว่าแม่กำลังเป็นมะเร็งที่ปากมดลูกระยะสุดท้ายแล้ว แม่ไม่บอกเราก่อนหน้านี้เพราะเขาอยากให้เราเรียนให้จบ จนเขารู้สึกว่าเขาไม่ไหวแล้ว เขาถึงโทรมาบอกเราว่าเขาไม่ไหวนะ

เราเลยกลับจาก America มาดูอาการแม่ ตอนนั้นเราศึกษาเรื่องกัญชามาเยอะแล้ว เราคิดว่าอย่างน้อย ๆ มันก็น่าจะช่วยอะไรแม่ได้บ้าง เราพยายามคุยกับแม่ว่ากัญชามันช่วยได้นะ ที่ที่เราไปเรียนมันก็ถูกกฎหมาย เราพยายามอธิบายทุกวิถีทาง แต่ Feedback ที่เราได้กลับมามันเป็น No อย่างเดียว มัน Negative ทุกอย่าง

เขาเชื่อเต็มที่ว่ากัญชาอันตราย และไม่ใช่แค่แม่คนเดียว แต่คนรอบข้างด้วย ใคร ๆ ก็เชื่อว่ากัญชามันเป็นเรื่องอันตราย มันไม่ควรจะมารักษาโรค เราก็รู้สึกแย่มากว่าคุณโดนล้างสมองกันหมดแล้ว

สุดท้ายแม่ก็เสียชีวิต ก่อนเสียชีวิต แม่ก็ค่อนข้างเจ็บปวดทรมาน เรายิ่งรู้สึกว่ามันเป็นความเชื่อที่ผิดมาก ๆ เป็นความเชื่อแบบด้านเดียว ความเชื่อแบบ Negative ที่เชื่อกันมาหลายปีแล้ว

ตอนนั้นเราก็มีเครื่องมืออย่าง Facebook แล้วตัวเองก็อ่านเรื่องนี้อยู่ทุกวัน ศึกษาเพิ่มเติมอยู่ตลอด เลยเริ่มมาเขียน เริ่มเปิดเพจ อย่างน้อยเราก็ควรรู้ว่ากัญชามันมีอีกมุมนึงนะ มีอีกมุมนึงที่มันทำได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เราเปิดเพจ”

โดนเหมาว่าเป็นขี้ยา แต่กัญชาชนสู้ด้วยข้อเท็จจริง

ไม่ว่าอะไรก็ตามในจักรวาลนี้ย่อมมีด้านร้ายและด้านดี เป็นไปไม่ได้ที่ของสักสิ่งจะมีแต่ด้านเลวร้ายสุดกู่ ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องไม่ปกติ ถ้าในสังคมเราจะพูดถึงแต่ด้านเลวร้ายของกัญชาเพียงอย่างเดียว เจตนาการทำเพจกัญชาชนของไกด์จึงเริ่มต้นขึ้นมาแบบนั้น เริ่มต้นขึ้นมาเพื่อเสนอข้อมูลด้านอื่น ๆ เสนอประโยชน์ของกัญชาในแบบที่เมืองไทยไม่ค่อยมีคนพูดถึง แม้เจตนาจะเป็นเพียงการให้ข้อมูล ไม่ได้ต้องการบังคับให้ใครต้องเห็นด้วยแต่อย่างใด แต่แค่การเสนอข้อมูลอีกด้านก็มีราคาที่ต้องจ่าย เพราะเขาไม่วายถูกเหมารวมว่าก็เป็นพวกขี้ยา

“คนเขาก็ตีความเราเป็นคนขี้ยา อยากขายหรอ อยากสูบกัญชาหรอ มันกลายเป็น Stereotype ที่มีต่อคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว คนก็จะตีความเป็นแบบนั้นไปว่าเป็น Junky แต่ว่าคนที่เข้าใจเขาก็มี มันเป็นแค่ช่วงแรก ๆ แต่ว่าทำไปซัก 4-5 เดือนมันก็พิสูจน์อะไรหลาย ๆ อย่างพอสมควร”

“ช่วงแรก ๆ มันก็ดาร์กมากเหมือนกันนะ คนเขาก็ยังไม่เก็ตว่าเราทำอะไร เขาก็ค่อนข้างลังเล แต่ว่าก็มีคนสนใจ คนที่เขาศึกษามาเหมือนกัน เขาก็รู้เหมือนกัน เขาอ่านข่าวต่างประเทศมาเขาก็รู้ว่ามันมีการใช้กัญชามาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว เขาใช้กันมาตั้งนานแล้ว มันก็มีคนที่รู้ และมีคนที่ยังไม่รู้ ค่อนข้างหลากหลาย ด้วยความที่สื่อกระแสหลักทำให้กัญชามันดูดำมืดด้วย มันเลยเป็นเรื่องยากในช่วงที่เพิ่งเริ่ม แต่ทุกอย่างที่เราใส่เข้าไปมันเป็น Fact เป็นข้อเท็จจริงผมก็เลยไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา”

เราคิดว่าคนเข้าใจด้านอื่น ๆ ของกัญชามากขึ้นไหมหลังจากเราทำเพจกัญชาชน เราอดถามความเห็นเขาไม่ได้

“ผมว่ามันแตกต่างกันเยอะมากเลยนะ ก่อนทำเพจ พอเราเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาในประเทศไทยว่ามีอะไรบ้าง สิ่งที่เราเจอก็คือ ข่าวการจับกุม ข่าวคนสูบกัญชาแล้วไปเชื่อมโยงกับพฤติกรรมแย่ ๆ บางอย่าง พูดง่าย ๆ คือมันเป็นการเสนอด้านเดียว มันไม่ได้มีการเสนอมุมอื่นเลย”

แม้ในสายตาของหลายคนกัญชาก็ยังดูเป็นสิ่งเลวร้ายแบบหาดีไม่ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเพจกัญชาชนของไกด์มีส่วนสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องกัญชาให้กับผู้คนมากขึ้น รวมถึงเป็นการเสนอข้อมูลด้านอื่น ๆ ให้เข้าไปอยู่ในวงจรการรับข้อมูลของผู้คน แทนที่จะมีแต่ด้านแย่ ๆ จากสื่อกระแสหลักเพียงอย่างเดียว สำหรับไกด์แล้วเพจกัญชาชนจึงมีอยู่สมกับเจตนาแรกที่เขาสร้างมันขึ้นมา

ค่อย ๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะเราจะโตไปด้วยกัน

ถ้าเปรียบเป็นการเติบโตของเด็กสักคนหนึ่ง ตอนนี้เพจกัญชาชนก็อายุ 5 ปี ถือเป็นการเข้าสู่โรงเรียนประถม รู้จักเพื่อนใหม่ เจออะไรใหม่ ๆ ที่ท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม แต่กว่าจะมาถึงวันที่มีคนเข้าใจและยอมรับในระดับนี้ ไกด์และคนอื่น ๆ ในทีมก็ไม่ได้ทำมันมาแบบชุ่ย ๆ แต่ใส่ใจกับทุกก้าวเดินของเด็กคนนี้ เพื่อค่อย ๆ ตั้งไข่เสนอความเข้าใจสู่สังคม ก่อนจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเสนอข้อมูลให้ทุกคนในสังคมได้เติบโตไปด้วยกัน

“หลังจากทำเพจไปสักปีกว่า เราเริ่มเห็นแล้วว่าเริ่มมีคนที่เข้าใจมากขึ้น คนอ่านแล้วก็เก็ตว่ามันไม่มีแค่ด้านเดียว จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือปีแรกกับปีที่ 2 ก็ ตอนงาน Four-twenty วันกัญชาโลกที่เราจัด ตอนนั้นไปร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ปีนั้นเราจัดในรูปแบบงานวิชาการเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ เน้นให้ความรู้ พูดถึงหลาย ๆ ด้านในการแพทย์ รวมถึงเรื่องการลดโทษทางอาญาของต่างประเทศที่มีกรณีศึกษาหลาย ๆ อย่างให้เราศึกษา

หลังจากงานนั้นเรียกว่ามันเปลี่ยนโลกไประดับหนึ่งเหมือนกัน จากที่มันเคยเสนอแค่ด้านเดียว มันเริ่มมีมุมอื่น ๆ ขึ้นมาพูด เราเริ่มเห็นว่าสื่อเริ่มมีสกู๊ปสั้น ๆ มีข่าวว่านักวิชาการก็เสนอแบบนี้นะ มันมีข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้นในปีนั้น แล้วจากนั้นเป็นต้นมาเราก็จะเริ่มเห็นข่าวด้านอื่นขึ้นเรื่อย ๆ

ครั้งแรกงานเป็นวิชาการ 100 เปอร์เซ็นต์ พอครั้งที่ 2 เราเปลี่ยนเป็นจัดงานเอาต์ดอร์ เริ่มใส่ความบันเทิงเข้าไปด้วย เพราะเราต้องเข้าใจว่างาน Four-twenty มันเป็นงานที่มันเป็นระดับสากลไปแล้ว มันมีการจัดอย่างน้อย ๆ ก็ 70-80 ประเทศทั่วโลกละ เราก็เอา Pattern ที่มันโอเคไปออกเป็น Outdoor นิดนึง เป็นงานกึ่งบันเทิงนิดนึง และเราก็ไม่ได้ทิ้งเรื่องความรู้ เราแค่ทำให้มันเหมือนการ Entertainment มากขึ้น คือเป็นความบันเทิงที่มีสาระไปด้วย

ผลตอบรับงานครั้งที่ 2 เป็นยังไงบ้าง ?

ปีที่ 2 เพียบเลย ตำรวจนะ! (หัวเราะ) ตอนนั้นปีที่ 2 มีตำรวจกับทหารมาประมาณ 200 กว่านาย เขายังไม่เข้าใจว่าเราทำอะไร เราก็คุยกับพวกเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาก็บอกว่ากลัวคนมาตีกัน กลัววัยรุ่น พอผ่านไปถึง 2 ทุ่ม เจ้าหน้าที่ก็ อ๋อ มันคงไม่ตีกันหรอก (หัวเราะ)

แล้วงานครั้งล่าสุดเป็นยังไงบ้าง

“ครั้งล่าสุดที่ฟอร์จูน พอมันเป็นครั้งที่ 3-4 แล้ว ก็มีเจ้าหน้าที่ 3-4 นายเข้ามาดูแลนิดหน่อย เขาก็คงเข้าใจแล้วว่าเราทำอะไร เพราะว่าเราไม่ได้นอกเส้น เราก็ทำตามกฏิกาที่มันถูกต้อง คนให้ความสนใจเยอะมากขึ้น และหลากหลายขึ้น ทั้งคนอายุมาก หญิง-ชาย ครอบครัว เราก็เริ่มเห็นอะไรใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเห็น”

Medical, Hemp,Legalize สามสิ่งที่ต้องปลดล็อก

ทุกการเติบโตย่อมต้องมีเป้าหมายเสมอ ไม่ว่าจะตั้งไว้เพื่อตั้งใจพุ่งชนเต็มที่หรือตั้งไว้เพื่อเตือนตัวเองว่านี่คือความหอมหวานที่ต้องไปให้ถึง ไกด์และทีมงานคนอื่น ๆ ในกัญชาชนเองก็มีเป้าหมายที่ต้อง UNLOCK เช่นกัน และเขามองกัญชาว่ามันไปได้ไกลในระบบเศรษฐกิจและด้านอื่น ๆ มากกว่าที่คนพยายามเหมารวมว่ามันให้ได้แค่ความบันเทิงเท่านั้น

“จริง ๆ เรามี Goal อยู่ 3 อย่างคือ หนึ่งเรื่อง Medical เราอยากให้ใช้ทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย เราอยากเห็นมันเป็นสิ่งที่ไปขับเคลื่อนหลาย ๆ อย่างได้ เช่นการลดการนำเข้ายา ลดการใช้ยาเคมี มันสามารถกระจายประโยชน์หรือรายได้ออกไปสู่เกษตรกรที่เขาสามารถเพาะปลูกได้

จริง ๆ Medical มันก็เป็นเหมือนตลาดโลก คือมันเริ่มกลายเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่เขาแข่งกันในตลาดโลก Canada ก็กำลังจะพยายามเป็นอันดับ 1 ในการส่งออกยา Australia ก็จะเป็นที่ 1 ในภูมิภาคแถบนี้ German ก็กำลังเข้ามาในตลาด Israel เขาก็ทำมาสักพักนึง England ก็เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ไปแล้วคือมันมี Player หลาย ๆ อย่าง เราก็คิดว่าจริง ๆ เราก็มีข้อได้เปรียบ และมันก็เรียกว่าเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ดีกว่า คือมันไม่ได้ทำร้ายถ้าควบคุมดี ๆ

เรื่องที่ 2 คือ Hemp เรื่องของกัญชง กัญชงมันไม่ได้เกี่ยวกับความเมามันเป็นอุตสาหกรรมของพวกเส้นใย อุตสาหกรรมพวกลำต้น เมล็ด ของมัน พืชชนิดนี้มันผลิต Product ได้เป็นหมื่นชนิด มันสามารถผลิต Plastic ได้ Fiber เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย อาหาร Cosmetic น้ำมัน ผลผลิตมันเยอะมาก ๆ จากพืชชนิดเดียว เพราะฉะนั้นเราก็อยากสนับสนุนให้กัญชงเป็นอุตสาหกรรมที่เราสามารถเข้าไปแข่งขันได้ในตลาดโลก

Main Goal อีกอย่างหนึ่งก็คือ Legalize กัญชาในประเทศไทย เรียกว่าทำให้ถูกกฎหมาย อยากให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย โดยที่มีระบบการจัดการที่ดี ระบบการจัดการปัญหาที่ดี ก็เหมือนกับ Medical คือในอนาคตอันใกล้ละกัน ผมว่ามันไม่น่าจะใช้เวลานาน กัญชาน่าจะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของโลกที่ตลาดกำลังจะเปิดกว้างขึ้น”

เพราะบนดินจัดการได้ ใต้ดินกินกันไม่กี่คน

อีกเหตุผลสำคัญที่ไกด์ยกขึ้นมาเพื่อบอกว่ากัญชาควรถูกนำขึ้นมาจัดการในสายตาของรัฐและประชาชนอย่างเป็นระบบ เพราะเขาเชื่อว่าอะไรที่โปร่งใสย่อมตรวจได้ การหมกมันเอาไว้ใต้ดินไม่ได้แปลว่าปัญหาที่มีจะหายไป แต่หมายถึงการจัดการปัญหาอย่างไม่เป็นระบบและผลประโยชน์ตกอยู่ในมือคนไม่กี่คน

“เรามีบทเรียนกับเรื่องใต้ดินเยอะมากอยู่แล้วในบ้านเรา ทั้งการค้าประเวณี การพนัน ทำแท้ง มันเป็นเรื่องจัดการปัญหาแบบที่เราเรียกว่าเราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับมัน การจัดการปัญหาแบบใต้ดินแบบที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้คือผลประโยชน์ทุกอย่างมันก็ลงมาอยู่ใต้ดินหมด ไม่พอแค่นั้นแต่มันกลับกลายเป็นการสร้างระบบการจัดการปัญหาแบบใต้ดิน สร้างระบบเศรษฐกิจแบบใต้ดินตามไปด้วยทั้งระบบ”

พูดง่าย ๆ ว่าพอเรามีปัญหาเขาก็ไปฆ่ากัน ไปยิงกัน และคุณภาพสินค้า คุณภาพบริการ หรือว่าอะไรที่มันผลิตออกมา ประโยชน์มันไม่ได้ตกลงถึงผู้บริโภค คือเราต้องยอมรับว่ามันมี Demand มันมี Supply มันมีผู้บริโภค มันมีผู้ผลิตอยู่จริง

“ผมมองว่ามันเป็นปัญหาทั้งระบบ เพราะว่าระบบการจัดการปัญหาแบบใต้ดินมันทำให้ปัญหามันโยงมั่วไปหมด สุดท้ายผลกระทบมันลงมากับสังคม ลงมากับผู้บริโภค ลงมากับรัฐ ลงมากับงบประมาณที่รัฐต้องเสียไปทั้งหมด แต่ถ้าเราหยิบการจัดการขึ้นมาเป็นการจัดการบนดินหรือจัดการแบบถูกกฎหมาย อย่างน้อย ๆ มันก็ได้ภาษี มันรู้ว่าใครผลิต รู้ว่าใครทำอะไร มันมีการแก้ปัญหา มันมีการจัดการปัญหา มันมีการบังคับใช้กฎหมาย มันมีวิธีการหาทางออกอย่างเป็นระบบ เวลามีปัญหาอะไรเราสามารถเอาระบบเข้าไปจัดการได้หมดเลย ซึ่งมองโดยรวมแล้วมันคนละเรื่องกัน มันเป็นผลประโยชน์กับทุกฝ่าย”

เราเข้าใจทุกข้อเท็จจริงและเหตุผลที่เขาพูดมา แต่เราก็อดคิดไม่ได้ว่าในสังคมที่ศีลธรรมอาจสำคัญกว่าเหตุผล เขาคิดกับเรื่องนี้ยังไง ?

“ผมมองว่าเรื่องของศีลธรรมกับเรื่องกฎหมายมันเป็นคนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงเรื่องวิธีการแก้ปัญหาอะไรต่าง ๆ ถ้าเราเอาศีลธรรมมาจัดการกับปัญหาทั้งหมด ผมว่ามันไม่ใช่ การเอาศีลธรรมไปจับกับเรื่องแบบนี้ผมว่ามันใช้ไม่ได้ มาตราวัดมันคนละอย่างกัน เพราะว่าศีลธรรมของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน คือคุณจะบอกว่าทำแบบนี้มันผิด มันผิดยังไง มันผิดอะไร”

พรรคการเมืองกับกัญชาเสรีเลือกตั้งครั้งนี้มีหวังแค่ไหน ?

ยิ่งคณะรัฐประหารใกล้ประกาศวันเลือกตั้งมากขึ้นเท่าไหร่ หลาย ๆ พรรคการเมืองก็เริ่มหาแนวทางกำหนดนโยบายเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนมากขึ้นเท่านั้น นโนบายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาก็กลายเป็นอีกนโยบายที่หลาย ๆ พรรคการเมืองออกมาพูดถึงมากขึ้น เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งในครั้งก่อน ๆ ไกด์และทีมงานเพจกัญชาชนเองก็ไม่ได้ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านเลยไปโดยไม่ทำอะไรกับมันเช่นกัน

มีคนที่สนใจนโยบายนี้ มีคนที่พร้อมจะเลือกนโยบายนี้

“สิ่งที่เราจะทำกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือเราจะเสนอนโยบายไปให้กับพรรคการเมืองทุกพรรค เราเสนอกับทุกพรรค ถ้าใครสนใจที่จะหยิบเอาไปทำ ผมเชื่อว่าอย่างน้อย ๆ มันมีคนเลือกอยู่แล้วแหละ เพราะว่ามันเป็นการหาตัวแทนคนไปแก้ปัญหาให้กับเรา ตามหลักประชาธิปไตย ตามหลักตัวแทนของประชาชน

เราก็เป็นประชาชนกลุ่มนึงที่มีปัญหากับกฎหมายที่มันเก่า แล้วมันก็ไม่เป็นธรรม และมันส่งผลกระทบ เพราะฉะนั้นเราก็เลยมองว่าเราน่าจะเป็นคนเสนอนโยบายว่าเราต้องการอะไร เข้าไปสู่พรรคการเมือง และก็ใครที่อยากเสนอตัวมาเป็นตัวแทนเรา เราก็เหมือนเป็นกระบอกเสียงเพื่อส่งต่อไปว่า โอเคคนนี้มีนโยบายเกี่ยวกับการจัดการตรงนี้ แบบนี้นะ สุดท้ายแล้วใครอยากจะเลือกใครก็เอาไปตัดสินใจเอา

จริง ๆ เรื่องแบบนี้มันก็เกิดขึ้นที่ Canada ที่ America มาแล้ว เขาตั้งพรรคการเมืองที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่ตอนนั้นก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่อย่างเลือกตั้งอเมริกาล่าสุดที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองมีนโยบายเรื่องกัญชาหมดเลย เพราะว่าเขามองว่าคนกลุ่มนี้คือคนรุ่นใหม่ที่เขาอาจจะยังไม่เคยออกไปโหวตเลย คนกลุ่มนี้คือคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และได้รับผลกระทบเยอะมากกับวิธีการจัดการปัญหา เพราะฉะนั้นมันมีแรงขับเคลื่อนในการโหวตเยอะ

Canada ที่เขากำลังจะถูกกฎหมายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เขาก็ได้รับแรงสนับสนุนจากคนกลุ่มนี้เยอะ เพราะว่าเขาประกาศในตอนเลือกตั้งเลยว่าเขาจะ Legalize Cannabis และตอนนี้เขาก็ทำตามสัญญาแล้ว”

หลังบทสนทนาจบลง ภาพกัญชาในหัวเราเปิดกว้างมากขึ้น เราจะไม่สรุปให้ใครว่ามันดีหรือไม่ดีแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างไร เราเชื่ออย่างที่ไกด์-รัฐพล แสนรักษ์เชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่จะคิด เลือก และตัดสินใจเองได้ ขอแค่ในสังคมเต็มไปด้วยการนำเสนอข้อมูลที่หลากหลาย ไม่ยัดเยียดหรือตีตราอะไรเพียงผิวเผินจากข้อมูลด้านเดียวที่ได้รับมาและเรามั่นใจว่าบทสนทนากับเขาด้านนี้น่าจะทำให้ใครหลายคนเห็นด้านอื่น ๆ ของกัญชามากขึ้นกว่าที่เคย

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line