Business

ยากกว่าหาเงินคือทำภาษี รัวคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ “ภาษี” ที่ผมไม่ตั้งใจหนี แต่ผมโคตรสับสน !?

By: anonymK February 22, 2018

ช่วงนี้พนักงานชายทั่วประเทศคงได้รับใบภาษี ภ.ง.ด. กันมาแล้ว แต่พูดตามตรงบางทีผู้ชายอย่างเราก็ไม่ค่อยถูกกับตัวเลขเท่าไหร่ เงินเข้าเงินออกเราไม่ค่อยสนใจ เสียภาษีไหมบางทีก็ให้บริษัทจัดการ กับบางคนที่ทำธุรกิจ online หรือ freelance ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเข้าใจผิดไปบ้างว่ายอดเท่านี้ไม่หักบ้าง หักไปแล้วไง 3 % หรือคิดว่ารับเงินสดจับไม่ได้ไล่ไม่ทันหรอก แต่เอาจริง ๆ เรารู้เรื่องนี้ดีแค่ไหน ตอนไหนต้องจ่ายก็ยังเป็นเรื่องที่กังขากันอยู่ เพื่อคลายความสงสัยกับเงินที่ผู้ชายแนวหน้าอย่างเราต้องรู้ให้ครบ มาดูกันว่าคุณเคยมีคำถามเหล่านี้ในใจกับเขาบ้างไหม? วันนี้เรารวบรวมบางส่วนที่ได้จากการติดตามพี่บักหนอม – กูรูด้านภาษีมาบอกต่อ

 

ควรเริ่มคิดเรื่องภาษีคิดตอนไหน?

ถ้าถามอย่างนี้ แสดงว่าอาจจะเป็น beginner ที่ยังไม่เคยจ่ายภาษี ความจริงไม่ว่าเราจะอายุเท่าไร มีรายได้เท่าไม้จิ้มฟันที่เข้าบัญชีแค่ไหน บาทแรกที่เข้ากระเป๋าก็ควรคิดเรื่องภาษีไว้แล้ว จำให้ขึ้นใจ เพราะถึงจะยังไม่ต้องจ่าย แต่ก็ต้องรู้จักกันไว้หน่อยเพราะมีประโยชน์นะ

ข้อดี: รู้จักมันตั้งแต่เงินน้อย จะทำให้ตั้งตัวถูก เราจะไม่สะเทือนหรือตกใจตอนเราเงินเยอะขึ้น แถมยังรู้วิธีหลบหลีกได้เป็นอย่างดี

 

รายได้ไม่ถึงไม่เสียภาษี แล้วไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. ได้ไหม?

ไม่ถึง 25k ไม่เสียภาษีสิวะ เขาบอกกันมา! ก็ใช่ที่ได้ยินมามันก็ถูก แต่ถ้าบอกว่ารายได้ไม่ถึง จะไม่ยื่นใบภาษี ภ.ง.ด. โอ้โห นายเข้าใจผิดแล้วล่ะ เพราะความจริงถ้ารายได้ต่อปีเกินหนึ่งแสนสองหมื่น หรือให้หารเฉลี่ยไม่เป๊ะ แค่ค่ากะประมาณว่าได้เงินเดือนละหมื่น นายต้องยื่นข้อมูลทางภาษีแล้วเพื่อบอกว่ามีรายได้ สำหรับ freelance ที่ต้องยื่นภาษี ยอดต่อปีคือหกหมื่น รู้ไว้จะได้คำนวณกันถูก

ข้อดี: ก่อนอื่นถ้าไม่ยื่นจะต้องเสียค่าแบบ 2,000 บาท (2,000 ตามโทษจริง แต่ในทางปฏิบัติเรายังได้ยินว่าเสียแค่ 200) ซึ่งถ้าเทียบกับข้อดีของมันแล้วถือว่าขี้ปะติ๋วมาก เพราะการยื่นภาษีมันคือนโยบายเศรษฐกิจที่คนตัวเล็กเป็นคนกำหนด

ถามว่าถ้าเราไม่ยื่นภาษีได้ไหม เออไม่ยื่นก็อาจจะไม่มีใครรู้ แต่ผลเสียคือค่าการคำนวณหรือการวิเคราะห์แผนมันจะเปลี่ยนไป เช่น พอเอาไปวิเคราะห์รายได้ต่อหัวแล้วรายได้อาจจะไม่ตรง นโยบายของรัฐมันจะเป๋ ๆ แล้วสุดท้ายเรื่องนี้ก็จะกลับมากระทบเราอยู่ดีแบบอิมแพ็คกว่าเดิม ตัวอย่างง่าย ๆ คือถ้าตัวเลขมันออกมาไม่ดี วิเคราะห์แล้วภาพรวมเศรษฐกิจประเทศแย่ มันก็ย่อมมีผลกับการลงทุนที่คนอื่นเขามองมา

 

ผมเป็น freelance รักประเทศที่จ่ายเงินจากการหัก VAT 3%

เงินผมไม่เคยเข้าเต็มกระเป๋าเลย ฝิ่นชิ้นไหน ๆ ลูกค้าก็หักผมตลอด 3 % ทุกจ็อบ ไม่กังวลหรอกครับเพราะเป็นคนถูกกฎหมาย เข้าใจผิดมหันต์กังวลด่วน! เพราะความจริงแล้ว 3 % นั้นมันอาจจะต้องจ่ายเพิ่ม

3% ไปไหน – ก่อนอื่นนายจ้างเขาหัก 3 % นี้เพื่อบอกกับรัฐ เหมือนการชี้เป้า GPS ว่านายน่ะมีรายได้เฉย ๆ ไม่ได้บอกว่าจ่ายครบตามจำนวนที่ต้องจ่าย แต่หักไปก่อนมันก็มีข้อดีคือครบสิ้นปี ถ้ารายได้รวมภาษีที่ต้องจ่ายมันน้อยกว่า หักลบกันแล้วเหลือเราก็ไปขอคืน แต่ถ้าภาษีมากกว่าก็ต้องไปจ่ายเพิ่มนะ

 

เงินธุรกิจ Online ไม่ต้องเสียภาษีใช่ไหมครับ?

ช่วงนี้ขายดีไหม? ถ้าสรรพากรมาถามคงจะหนาว ๆ แต่เราคิดในใจว่าเงินในอากาศยังไงก็ไม่โดนจับได้หรอกวะ ก็ให้เตรียมใจไว้เลย ตอนน้ีแนวโน้มเขาเริ่มผลักดันให้ใช้เงินสดน้อยลง หันไปจ่ายทาง online ให้เพิ่มขึ้น ใช้พร้อมเพย์ จะจ่ายผ่าน QR หรืออย่างอื่นเพื่อให้ตัวเลขเข้าระบบ ตรวจสอบได้ แต่อย่าไปตั้งแง่เลยเพราะว่าเงินที่จ่ายไปมันก็เข้ามาพัฒนาประเทศของเรา ส่วนใครที่มีข้อสงสัยว่าพอมีข้อยกเว้นไหม? จริง ๆ มันก็มีอยู่เหมือนกันในบางกรณีอย่างด้านล่างนี้

ไม่ขายในประเทศ ไม่จ่ายภาษี: ขายของออนไลน์ข้ามประเทศ เงินไม่ได้มาจากในประเทศ ไม่เสียภาษีสิครับ? ยิ้มหวานได้นะในกรณีที่เราอยู่ในประเทศรอบปีนั้นไม่เกิน 180 วัน หรือประมาณครึ่งปีแบบไม่ต่อเนื่อง และต้องไม่เอาเงินเข้าประเทศ (ถ้าเอาเข้ารอบปีภาษีถัดไปเขาไม่นับย้อน ก้อนนี้ก็ถือว่าฟรี Tax ไป แต่อนาคตกฎหมายนี้น่าจะแก้) ที่คุณรอดก็ไม่ใช่ว่าเขาใจดีนะ แต่กฎหมายเรื่องถิ่นที่อยู่นี่แหละที่เข้ามา support เรื่องนี้ไว้

 

ผิดไปแล้ว…อยากจ่ายครับ แต่กลัวโดนย้อนหลังทำไงดี?

อ่านไปแล้วเริ่มหน้าซีด อ้าวนี่เราต้องจ่ายนี่หว่า ชาว UNLOCKMEN ที่พลาดไปแล้วคิดว่า ผมไม่ได้จ่ายมาตั้งหลายปี ถ้าจ่ายตอนนี้โดนย้อนหลังแหง อย่าไปคิดอย่างนั้นเลย เพราะถ้าดื้อแพ่งจะไม่เสีย ต่อไปมันก็มีสิทธิจะโดนตรวจสอบแน่ ๆ อยู่แล้ว แต่ถ้ากลับใจมาจ่ายมันก็เหมือนการกางเกราะให้ตัวเองตั้งแต่ตอนนี้ เรากลับไปนับ 1 ใหม่ ถึงจะดวงดีไปหน่อยเกิดบังเอิญไปโดนสอบ เขาก็ยังเห็นใจ และมันจะได้ไม่บานปลายไปโดนโทษหนัก

ไม่เสียภาษีต้องโดนโทษเท่าไร ?: ไม่เสียจัดไปเลยเต็ม ๆ อายุความ 10 ปีนับตั้งแต่ปีภาษีนั้นเช่น ไม่เสียเงินปี 61 อายุความก็จะยาวไปถึงปี 71 แต่ถ้าเสียแต่เสียไม่ถูก อายุความมันจะอยู่ที่ 2-5 ปีแล้วแต่เคส (ถ้าโดน) คิดเสียว่า เปลี่ยนใจวันนี้หายใจคล่องกว่า เข้าระบบไปเหอะไม่ต้องกังวล

โทษเบาของคนกลับใจ : ง่าย ๆ ว่าปีที่จ่ายครบเราไม่โดนหรอก แต่ถ้าจ่ายย้อนหลัง (ซึ่งควรทำ) สำหรับบุคคลธรรมดาก็จะโดนหนักสุดคือเงินเพิ่ม 1.8 % ต่อเดือน คิดง่าย ๆ ก็ปีละ 18% มีเบี้ยปรับนิดหน่อย เรื่องการไม่ยื่นแบบอีก 200 บาท สมมติถ้าเรามีรายได้ปีนั้น 100 นึง จะจ่ายทั้งหมดก็ต้องเสียแบบหลวม ๆ ประมาณ 118 + 200 (ค่าแบบ)

 

รัฐโกงกิน ผมไม่พร้อมจะเพย์

ชาว UNLOCKMEN มันอย่าเพิ่ง lost logic หรือสร้างตรรกะป่วย ๆ แบบนี้ ผมไม่สนับสนุนคนโกงด้วยการโกงเสียเองไม่ใช่เรื่องดีหรอก หรือจะมีตรรกะป่วยจากการต่อล้อต่อเถียงก็ไม่ดี เข้าใจกันนะ เพราะฉะนั้นเราก็คิดว่าเราจ่ายตามหน้าที่พลเมืองที่ดีไว้พัฒนาประเทศดีกว่า ส่วนเรื่องที่ใครจะโกงกินยังไงให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องมาแก้ไขกันอีกทีจะดีกว่า หรือจะไปร่วมออกสิทธิเสียงตามกระบวนการที่ควร นั่นล่ะที่เราควรทำ จะได้กล้าบอกกับใคร ๆ ว่าผมนี่แหละครับคนจริง 2018 ! “คนดี ไม่หนี มีจ่าย”

 

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line