DESIGN

HASSELBLAD-INSTAX ความเก๋ากล้องฟิล์มยุค 50’s คืนชีพกลับมาแบบ INSTANT CAMERA

By: SPLESS October 10, 2018

ผู้ชายทุกคนมีรสนิยมเกี่ยวกับการถ่ายรูปแตกต่างกันออกไป บางคนชอบความรวดเร็ว ความยืดหยุ่นในด้านการใช้งานจากกล้องดิจิทัลสมัยใหม่ แต่ก็มีบางส่วนที่ยังคงหลงใหลในเสน่ห์ของรูปจากกล้องฟิล์มอย่างเหนียวแน่น แต่เพื่อตอบโจทย์คนที่ชอบความเจ๋งของทั้งสองอย่าง จึงมีคนออกแนวความคิดว่าอยากเอากล้องฟิล์มโมเดลคลาสสิกมา Custom รวมกับรูปแบบการล้างภาพในตัวที่รวดเร็วของ Instant Camera ทำให้เกิดเป็น Hasselblad-Instax เครื่องนี้ขึ้นมา

isaacblankensmith

Eddie Cohen เจ้าของไอเดียดังกล่าวเป็นนักออกแบบรวมถึงอดีตพนักงานของ Apple Inc. เขาคือชายผู้ชื่นชอบเดินทางถ่ายภาพผู้คนในสถานที่ต่าง ๆ แต่กลับไปเจอปัญหาเมื่อมีคนเข้ามาขอรูปถ่ายจากเขา ซึ่งคงต้องรอให้กระบวนการล้างฟิล์มเสร็จก่อน พูดง่าย ๆ ว่าให้ทันทีเลยไม่ได้ทำให้เขาเกิดไอเดียอยาก Custom กล้องถ่ายรูปที่ตอบโจทย์การใช้งานของตัวเองออกมา โดยวางแผนไว้ว่าจะจับคู่กล้องฟิล์มสัญชาติสวีเดนปี 1950 รุ่น Hasselblad 500C/M มาผสมเข้ากับ Instant Camera ที่ได้รับความนิยมในยุค 90’s อย่าง FujiFilm Instax 9 

Ken Rockwell/ Coolshop

ขั้นตอนแรกคือศึกษาการทำงานของกล้องทั้งสองตัว Eddie Cohen มองว่า Hasselblad 500C/M มาพร้อมระบบเซ็นเซอร์ตัวรับภาพแบบ Medium Format ที่อาจทำให้ภาพที่ถ่ายออกมามีขนาดไม่พอดีกับฟิล์มแบบ Instant ซึ่งมันต้องเป็นปัญหาเพราะฟิล์มแต่ละม้วนก็ไม่ได้ราคาถูก แถมรูปขนาดเล็กที่ได้มายังบอกเล่าความสวยงามของสิ่งที่ถ่ายได้ไม่เพียงพออีก จึงต้องทำการปรับแต่งตัวโหลดฟิล์มของ FujiFilm Instax 9 ให้มีขนาดการรับภาพเหมาะกับตัวรับภาพจากกล้อง แต่ก็ติดปัญหาความพอดีเพราะอุปกรณ์ทั้งสองชิ้นซึ่งไม่ได้ถูกสร้างเพื่อใช้งานร่วมกัน

isaacblankensmith

หลังลงมือวัดขนาดส่วนประกอบทั้งสองชิ้นให้รู้ความกว้าง-ยาวจนได้ตัวเลขที่เหมาะสมแล้ว Eddie Cohen ก็จัดการนำตัวโหลดฟิล์มของ FujiFilm Instax 9 มาผ่านเครื่องตัดเลเซอร์ที่มีความแม่นยำสูง แต่ต้องให้น้ำหนักกับเรื่องตำแหน่งของการวางตัวโหลดฟิล์มให้ตรงกับเซ็นเซอร์และช่องมองภาพของ Hasselblad 500C/M เพื่อให้ฟิล์มได้รับแสงตกกระทบอย่างครบถ้วนและแม่นยำ เพื่อรูปถ่ายที่ได้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด รวมถึงเปิดช่องมองภาพด้านบนเผื่อในกรณีที่ผู้ใช้สามารถเห็นแสงที่เหมาะสมก่อนถ่ายได้ด้วย

isaacblankensmith

เมื่อได้ส่วนประกอบที่เข้ากันได้พอดีแล้วขั้นตอนต่อไปคือการประกอบทั้ง 2 ส่วนให้เข้ากัน ซึ่งหลักการก็คือเก็บทุกขอบทุกส่วนโค้งที่คาดว่าจะมีแสงหลุดรอดเข้าไปทำให้ฟิล์มเสีย เก็บงานด้วยการไขน็อตเพิ่มความแข็งแรงให้เรียบร้อยและทดสอบถ่าย เมื่อ Eddie Cohen ลั่นชัตเตอร์เพื่อทดสอบรูปใบแรก เขาก็ได้สิ่งที่น่าพอใจ เพราะรูปที่ได้ออกมาเต็มแผ่นฟิล์มพอดี ยิ่งกว่านั้นคือคุณภาพของรูปที่ออกมายังคมชัดและได้เม็ดสีดีอีกด้วย

หวังว่าคงถูกใจไม่มากก็น้อยสำหรับหนุ่มนักถ่ายภาพหรือผู้ที่ชื่นชอบในการออกแบบสิ่งใหม่ ๆ เพราะ Hasselblad-Instax ต้นแบบเครื่องนี้ ถือว่าเป็นการ Mod ข้ามขีดจำกัดของกล้องทั้ง 2 ตัวที่ไม่มีใครคิดว่าจะทำงานร่วมกันได้ เป็นตัวอย่างการผสมผสานรูปแบบกล้องที่น่าจะสร้างไอเดียและแรงบันดาลใจให้หลายคนหันมา DIY กล้องเพื่อภาพที่มีเอกลักษณ์ส่วนตัวสำหรับตากล้องตัวจริงได้อย่างแน่นอน

isaacblankensmith

 

 

SOURCE1

SPLESS
WRITER: SPLESS
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line