FASHION

“เพราะเสื้อผ้าบอกว่าเราเป็นใคร สไตล์จึงยั่งยืนกว่าการไล่ตามแฟชั่น”อุ้ง-กมลนาถ FASHION REVOLUTION

By: PSYCAT March 5, 2020

พูดถึงแฟชั่นคุณนึกถึงอะไร? รันเวย์ นายแบบหน้าคม แบรนด์หรู หรือบางสิ่งบางอย่างที่ดูไกลตัวเราออกไป? แต่ถ้าเราบอกว่าแฟชั่นเกี่ยวกับโลกใบนี้ทั้งใบ ตั้งแต่ปัญหาขยะล้นโลกที่เรากำลังตื่นตัว เพราะขยะเสื้อผ้านั้นมีปริมาณมหาศาลมากกว่าที่เราคิด ไปจนถึงปัญหาสิทธิแรงงาน เพราะเบื้องหลังเสื้อผ้าที่เราใส่อยู่ทุกตัวมีใครบางคนในโรงงานที่ผลิตมันอยู่ หรือปัญหาการบริโภคแบบสุดขีดคลั่ง ที่เราอาจไม่รู้ตัวว่าการซื้อเสื้อผ้าราคาถูกมาก เพื่อเปลี่ยนบ่อยเท่าไรก็ได้ที่เราทำอยู่ก็เป็นปัญหา

อุตสาหกรรมแฟชั่นสำหรับใครหลายคนจึงอาจมีภาพแบบหนึ่ง แต่กับเธอ “อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี” ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution Thailand พ่วงการเป็นนักออกแบบอิสระและอาจารย์พิเศษที่ภาคศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แฟชั่นไม่ใช่แค่เสื้อผ้าสวย ๆ บนรันเวย์ แต่หมายถึงเสื้อผ้า สไตล์ หมายถึงสิ่งที่เธอรัก และหมายถึงการที่เธออยากเห็นอุตสาหกรรมแฟชั่นดีขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

แล้วแฟชั่นจะไปกันได้กับสิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงาน การบริโภคที่ช้าลงได้จริงไหม? ถ้าได้จริง มันลงมือทำได้ง่าย ๆ หรือเปล่า? เราอยากสปอยล์คำตอบตรงนี้ว่า “ทำได้จริง และง่าย ง่ายจนเริ่มลงมือทำทันทีที่อ่านจบก็ยังได้” แต่ทำอย่างไร? เราก็อยากชวนมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน


‘Fashion Revolution’ กลุ่มคนรักแฟชั่นที่อยากเห็นแฟชั่นดีขึ้น

การอยากเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ไม่ได้หมายความแค่ว่าเราไม่ชอบสิ่งนั้น แต่อาจหมายความว่าเรารักสิ่งนั้นมาก ๆ จนอยากเห็นสิ่งนั้นดีขึ้น ไม่ต่างจาก Fashion Revolution เครือข่ายของคนรักแฟชั่น แต่ไม่ได้รักทุกส่วนของมัน และเห็นว่าส่วนที่ไม่น่ารัก ไม่สวยงามนั้นสามารถปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มคนที่อยากลุกขึ้นมาปฏิวัติวงการแฟชั่นในรูปแบบที่ใส่ใจสังคมมากขึ้น ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ควบคู่ไปกับการรักแฟชั่นอย่างที่รักเสมอมา

“Fashion Revolution เป็นเครือข่ายของคนที่ชอบแฟชั่น แต่ไม่ได้ชอบมันทั้งหมด เราคือกลุ่มคนที่รักแฟชั่นและอยากเห็นแฟชั่นดีขึ้น เรารักแฟชั่นด้วย แต่ก็รักษ์โลกด้วย”

“จริง ๆ กลุ่ม Fashion Revolution Thailand เป็นคนรักแฟชั่นที่พูดถึงผลกระทบของแฟชั่นทั้งทางบวกและทางลบ แต่กิจกรรมหลัก ๆ ของเรา คือการรวมตัวกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และผลักดันให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเติบโตไปในทิศทางที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ คนส่วนใหญ่ในเครือข่ายมีทั้งดีไซเนอร์ ผู้บริโภค หรือแม้แต่คนชอบแฟชั่นทั่วไป คนที่เขาชอบชอบแฟชั่นและไม่อยากเห็นมันแย่ลง”

“เรารักแฟชั่นด้วย แต่ก็รักษ์โลกด้วย”

“สิ่งที่ Fashion Revolution ทำก็เลยเป็นการทำกิจกรรมต่าง ๆ  จัดอีเวนต์ ชวนคนมาคุยกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้ เราชวนคนจาก Stakeholder ทั้งผู้บริโภคและแบรนด์ บางทีเราก็ดึงภาคธุรกิจ หรือคนจากภาคการศึกษามารวมกันเพื่อดูว่าเราเป็นสะพานในการเชื่อมให้กับหลาย ๆ จุดมาเจอกัน มาเชื่อมต่อกัน เพื่อถกเถียงกันเรื่องนี้”

“จริง ๆ ตอนนี้ก็มีคนทำเรื่องแบบนี้ยิบย่อย เราจึงเป็นสะพานเชื่อม เน้นสร้างกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ๆ ที่ทันสมัย ชอบแฟชั่น แต่ใส่ใจเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมที่แฟชั่นส่งผลกระทบด้วย”

ขยะเสื้อผ้า ขยะที่ไม่แมสเท่าขยะอื่น ๆ

“เรารักษ์แฟชั่นด้วย แต่ก็รักษ์โลกด้วย” ประโยคนี้ของอุ้งอาจทำให้หลายคนขมวดคิ้ว แฟชั่นเกี่ยวกับการรักษ์โลกก็พอเข้าใจ แต่แฟชั่นทำร้ายโลกขนาดนั้นเลยเหรอ? หรือแฟชั่นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในแง่ไหน? อย่างไร? หลายคนอาจยังไม่เคยรู้ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ Fashion Revolution เลือกขับเคลื่อนประเด็นหลัก ๆ เหล่านี้ โดยประเด็นแรกคือการบริโภคที่นำไปสู่ “ขยะเสื้อผ้า” ขยะที่เราไม่คิดว่ามันเป็นขยะ

“สิ่งหลัก ๆ ที่ Fashion Revolution ทำมีอยู่ 3 ประเด็น แรกสุดคือเรื่องการบริโภค เราเสนอการบริโภคทางเลือก จะเห็นว่าการบริโภคทางเลือก เริ่มจากประเด็นปัญหาขยะเสื้อผ้าที่มีมหาศาล โดยเฉพาะประเทศเราที่เสื้อผ้าราคาถูกมาก จนเป็นของที่ซื้อได้บ่อยมาก ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็มีของในตู้เยอะมาก ใส่ไม่หมด บางทีก็กองทิ้งไว้

เราก็อยากจะสร้างความตระหนักรู้ประเด็นเรื่องขยะเสื้อผ้า โดยเสนอผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เราชวนคนมาแลกเสื้อผ้ากัน หรือการชวนให้เขาได้กลับมาดูตู้เสื้อผ้าตัวเองอย่างจริงจังมากขึ้น”

“จริง ๆ ขยะมันไม่ใช่แค่ของนอกตัว ไอ้เสื้อผ้าที่เราไม่ได้ใส่ก็เยอะ อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่ง ขยะเสื้อผ้าทั่วโลก สถิติน่ากลัวมาก ใน 1 วินาที เราทิ้งเสื้อผ้า 1 คันรถบรรทุก ซึ่งเยอะมาก ๆ เสื้อผ้าถือเป็นขยะที่คนไม่สนใจ”

“ปัจจุบันในไทยเรื่องขยะก็กำลังมามาก ๆ ทั้งเรื่องถุงพลาสติก เรื่องหลอด แต่เสื้อผ้าคือสิ่งที่หลายคนไม่รู้ว่าก็เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งเหมือนกัน” 

“ประมาณ 60% ของเสื้อผ้าที่อยู่บนโลกนี้ทำจากโพลีเอสเตอร์ ซึ่งคืออย่างเดียวกันกับ PET ที่ทำขวดน้ำพลาสติก เพียงแต่เมื่อมันอยู่ในรูปแบบของเสื้อผ้า คนจะไม่ได้เข้าใจว่าเสื้อผ้าก็คือพลาสติกเหมือนกัน แล้วพอเราใช้หรือเราทิ้ง สมมติเสื้อผ้าเราเยินมาก เราอยากจะทิ้งแต่เราไม่รู้จะไปทิ้งที่ไหน บางคนก็ทิ้งลงถังขยะเลย ซึ่งก็ทำให้เกิดเป็นขยะจำนวนมหาศาล”

Who Made My Clothes? เพราะเบื้องหลังเสื้อผ้าทุกตัวคือชีวิตและทรัพยากร

ถ้าเราท้าให้คุณก้มมองเสื้อผ้าที่คุณกำลังสวมอยู่ตอนนี้ ถามตัวเองว่าเสื้อตัวนี้มาจากไหน? กางเกงตัวนี้มีที่มาอย่างไร? มากสุดเราอาจย้อนความทรงจำกลับไปได้ว่าซื้อมาจากร้านนั้น ได้มาจากห้างฯ นี้ หรืออย่างร้ายก็อาจจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าซื้อมาจากที่ไหน

ประสาอะไรกับการรู้ไปถึงแหล่งที่มา ใครคือแรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าให้เรา? ชีวิตความเป็นอยู่เขาเป็นอย่างไร? มีแม่น้ำกี่สายที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าให้เราใส่? เหล่านี้คือคำถามที่เราไม่เคยคิดจะถาม

Fashion Revolution จึงไม่ปล่อยให้คำถามและคำตอบเหล่านี้ต้องหายไปกับชีวิตของแรงงานผู้ผลิตเสื้อผ้า หรือไหลล่องออกทะเลไปกับสายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมแฟชั่นอีกต่อไป

“ประเด็นเกี่ยวกับแรงงานที่อยู่เบื้องหลังเสื้อผ้า เราพยายามสร้างความเข้าใจว่าเบื้องหลังเสื้อผ้าทุกตัวมีชีวิต เสื้อผ้าไม่ใช่แค่สิ่งที่ทำจากเครื่องจักร เสื้อผ้าทุกชิ้นนั้นมีคนที่ปลูกฝ้ายให้คุณ มีคนที่เย็บ มีคนที่ต้องอยู่ในโรงงานนรกเพื่อทำเสื้อผ้าราคาถูกเหล่านี้”

“Fashion Revolution ถึงชวนอินฟลูเอนเซอร์มาช่วยกันตั้งคำถามว่า  Who Made My Clothes?  ให้เราตระหนักว่าจริง ๆ แล้วใครเป็นคนผลิตเสื้อผ้าที่เราใส่อยู่?

สิ่งนี้เริ่มมาจากประเด็นใหญ่ของโลกเมื่อปี 2013 ตอนที่อาคาร Rana Plaza โรงงานผลิตอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เป็นฟาสต์แฟชั่นมาก ๆ ถล่มที่บังกลาเทศ  เหตุการณ์ครั้งนี้มีคนตาย เพราะว่าการผลิตไม่ได้มาตรฐาน และคนทำงานหนักมาก มีคนเห็นรอยร้าวในโรงงาน เกิดไฟไหม้ เขารู้อยู่แล้วว่ามันอันตราย มีคนไปบอกล่วงหน้า แต่เจ้าของก็ไม่ให้แรงงานอพยพออก บอกว่าไม่เป็นอะไรหรอก เดี๋ยวออเดอร์ไม่ทัน ต้องทำให้ทันก่อน”

“วันเดียวกันนั้นอาคารก็ถล่มลงมาทั้งอาคาร คนตายพันกว่าคน แต่พอเหตุการณ์เกิดที่ประเทศบังกลาเทศ ประเทศโลกที่สามมัน เรื่องก็เลยเงียบ ประเทศเล็ก ๆ ที่คนไม่ค่อยสนใจ

แต่ในปีนั้นเรื่องก็ดังในหมู่แฟชั่นดีไซเนอร์ โดยเฉพาะที่อังกฤษ ยุโรป เขาตื่นตัวกันมาก เพราะเขาเองก็เป็นคนทำแบรนด์เหล่านี้ เขาก็เพิ่งมาตระหนักว่า จริง ๆ แล้วฉันนี่แหละอยู่ในห่วงโซ่หนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ด้วย”

“ดีไซเนอร์ในอังกฤษเลยเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่รวมตัวกันแล้วตั้งกลุ่ม Fashion Revolution ที่อังกฤษขึ้น พอตั้งที่อังกฤษหลังจากเหตุการณ์นี้ ก็เริ่มจับประเด็นสิทธิแรงงานมาก ๆ ว่าแบรนด์แฟชั่นควรจะตรวจสอบและดูแลใส่ใจคนใน Supply Chain ทั้งหมด ไม่ใช่แค่เอาเงินไปทุ่ม แล้วก็บอกว่าแกต้องเอามาให้เร็วที่สุด แบรนด์ควรจะสนใจว่าเงื่อนไขการทำงานเป็นยังไง เขาจ่ายแฟร์ไหม”

เบื้องหลังเสื้อผ้าทุกตัวมีชีวิต เสื้อผ้าไม่ใช่แค่สิ่งที่ทำจากเครื่องจักร เสื้อผ้าทุกชิ้นนั้นมีคนที่ปลูกฝ้ายให้คุณ มีคนที่เย็บ มีคนที่ต้องอยู่ในโรงงานนรกเพื่อทำเสื้อผ้าราคาถูกเหล่านี้

“อีกประเด็นคือเรื่องสิ่งแวดล้อม อาจจะคล้าย ๆ ประเด็นผู้บริโภคเนอะ แต่จะเป็นในมุมของวัสดุ เส้นใย ว่ากว่าจะมาเป็นเสื้อผ้าเรามีที่มายังไง? เราอยากจะชวนคนหันมาสนับสนุนเสื้อผ้าที่มาจากเส้นใยหรือวิธีการที่มันเป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยบธรรมชาติมากขึ้น ไม่มีสารเคมี หรือถ้าเป็นโพลีเอสเตอร์ ก็สนับสนุนให้คนมาใช้แบบรีไซเคิล โพลีเอสเตอร์”

“มุมนี้ก็จะเน้นในมุมการให้ความรู้ ไปพูดกับสมาคมเครื่องนุ่งห่ม หรือผู้ประกอบการเพื่อให้ความรู้ เรื่องของการเลือกวัตถุดิบที่เป็นทางเลือกหรือวัตถุที่ดีขึ้น บางทีเราก็จัดฉายหนังกับ Documentary Club เป็นสารคดีเกี่ยวกับแม่น้ำของโลก ตามนักอนุรักษ์แม่น้ำชื่อดังไปดู เมื่อย้อนรอยกลับไปที่ต้นทาง มันคือโรงงานอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่เทน้ำเสีย เราก็จะเป็นมุมว่าทุก ๆ ชิ้นที่เราใส่มันมีที่มา เพราะมันคือทรัพยากรหมดเลย นั่นคือคำถามว่าแล้วเราจะดูแลมันยังไงให้ดีขึ้น?”

Fashion 101: Fast Vs. Sustainable fashion

เสื้อผ้าที่เราใส่อยู่ทุกวัน หรือในฐานะแฟชั่นที่เรากำลังวิ่งไล่ตามให้ทันเทรนด์อยู่เสมอ จึงไม่ได้เป็นแค่เครื่องนุ่มห่มที่แยกตัวขาดจากโลกใบนี้ เพราะมันเกี่ยวโยงทั้งคุณภาพชีวิตแรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าออกมาให้เรา เกี่ยวพันไปถึงทรัพยากรจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ กระทั่งขยะเสื้อผ้าปริมาณมหาศาลที่เพิ่มขึ้นทุกที ๆ

ต่อให้เราปฏิเสธว่าเราไม่ใช่สายแฟชั่นจ๋า แต่เราก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ในอุตสาหกรรมมากกว่าที่เราเคยเข้าใจ

“ฟาสต์แฟชั่นเป็นรูปแบบธุรกิจไม่ใช่แรงบันดาลใจ เป็นรูปแบบธุรกิจที่เน้นการผลิตจำนวนมาก ๆ และขายให้เร็วที่สุด รูปแบบธุรกิจนี้เหมือนฟาสต์ฟู้ดเลย ฟาสต์ฟู้ดกับอาหารอินทรีย์ ทุกคนก็รู้ว่าไม่ดี แต่ฟาสต์ฟู้ดอร่อยและราคาถูก ฟาสต์แฟชั่นก็เหมือนกัน”

“ฟาสต์แฟชั่นเป็นแนวคิดที่เกิดมาเมื่อปลายศตวรรษที่แล้ว เมื่อก่อนแฟชั่นเป็นสิ่งที่เข้าถึงเฉพาะได้รันเวย์ ฟู่ฟ่า อลังการ แต่พอฟาสต์แฟชั่นออกมา คำหนึ่งที่เขาใช้ขายคือ Democratic Fashion เสื้อผ้าสวยที่ราคาถูก ทุกคนเข้าถึงได้”

“ตอนนั้นเราก็ชอบมาก ตอนเด็ก ๆ เราก็ซื้อ เราก็ไม่รู้เพราะยังไม่มีคำว่าฟาสต์แฟชั่นอยู่ในหัวเลย จนมาถึงจุดหนึ่งที่เกิดเหตุการณ์ที่บังกลาเทศที่เราได้ยินข่าวด้วย ประกอบกับเราทำงานอยู่ในอุตสหกรรมนี้ เรามีประสบการณ์ตรง เห็นเบื้องหลังแบรนด์ที่เราไปทำ แม้จะไม่ได้ฟาสต์แฟชั่นขนาดนั้น แต่ปริมาณขยะที่มีอยู่ในแบรนด์ปกติก็เยอะมากแล้ว พอศึกษามากขึ้น ก็เห็นว่าในระดับโลกน่ากลัวขนาดไหน”

“การผลิตแบบฟาส์แฟชั่นตั้งใจใช้ของคุณภาพห่วยอยู่แล้ว ตัดเย็บเอาเร็ว ๆ ราคาถูก เพื่อขายให้ได้เร็วที่สุด”

“ฟาสต์แฟชั่นคือรูปแบบธุรกิจที่เน้นการผลิตให้เร็วที่สุด จากเดิมแฟชั่นแบรนด์หนึ่ง จะทำ 2-4 คอลเลกชันต่อปี แล้วก็จบ แต่ฟาสต์แฟชั่นอาจจะผลิตมาถึง 52 คอลเลกชันต่อปี สัปดาห์ละหนึ่งคอลเลกชัน หมายความว่าเสื้อตัวหนึ่งที่เราซื้อมาในสัปดาห์นี้ อีก 2 สัปดาห์ เดินไปห้างใหม่ก็อาจจะเอาต์แล้ว เพราะเทรนด์มันเปลี่ยนเร็วมาก”

“ในเชิงการตลาดก็จะแพลนมาแล้วว่าให้เสื้อผ้าชิ้นนี้มีอายุการใช้งานแค่นี้ก็พอ เช่น เราซื้อเสื้อสายเดี่ยวตัวหนึ่ง อาจจะตัดเย็บ ไถ ๆ มา จบ เราใส่ประมาณ 4 ครั้ง ซัก ก็เริ่มเยินแล้ว การผลิตแบบฟาส์แฟชั่นตั้งใจใช้ของคุณภาพห่วยอยู่แล้ว ตัดเย็บเอาเร็ว ๆ ราคาถูก เพื่อขายให้ได้เร็วที่สุด”

“อีกแบบหนึ่งคือการทำให้เก่าเร็ว คนจะได้เปลี่ยนเทรนด์ตลอด ทั้ง ๆ ที่เสื้อผ้าหนึ่งชิ้นใช้ได้นานมาก ก็ตัดสินยากว่าแบรนด์นี้ฟาสต์ แบรนด์นี้ไม่ฟาสต์ เพียงแต่ว่าเราสังเกตตัวเองได้ มันมีรูปแบบการบริโภคที่เรียกว่า Fast Consumption เราจะเห็นว่าเราบริโภคสิ่งเหล่านี้เร็วแค่ไหน?

“ส่วนตัวเรารู้สึกว่ามันคือปัญหาของรูปแบบที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพมาตั้งแต่แรก ถ้าใช้คีย์เวิร์ดก็คือ การทำกำไรของเขาคือการทำกำไรสูงสุดจากการขาย ไม่ได้พูดเรื่องคุณภาพ หรือคุณภาพชีวิตแรงงาน หรืออย่างอื่นเลย”

“ฟาสต์แฟชั่นเป็นรูปแบบธุรกิจไม่ใช่แรงบันดาลใจ”

“ส่วนแฟชั่นยั่งยืน (Sustainable fashion) เป็นแนวคิดใหม่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ตอบโจทย์เรื่องตั้งแต่การผลิต ตั้งแต่แนวคิดของแบรนด์ ดีไซเนอร์ ถึงวัสดุที่เลือกใช้  ทุกขั้นตอนจะคิดในมุมที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและสังคม ตรงข้ามกับฟาสต์แฟชั่น”

“เขาก็จะคิดอะไรที่เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สมมติเป็นคอตตอน เขาก็จะเลือกใช้ที่ออแกนิคกว่า หรือว่าเลือกใช้เส้นไยรีไซเคิล ถ้าไม่ใช่รีไซเคิลก็จะใช้เส้นใยคุณภาพดี ๆ อยู่ได้นานมาก ๆ รูปแบบจะมีความคลาสสิกกว่า อยู่ได้นาน ไม่ได้ตามกระแส ไม่ได้แปลว่าต้องมินิมัล แต่จะมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง ซึ่งจะอยู่ได้นาน”

“อยู่ได้นาน ไม่ได้ตามกระแส ไม่ได้แปลว่าต้องมินิมัล แต่จะมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง”

“คือแฟชั่นที่คิดถึงเรื่องความเท่าเทียมและสังคมไปด้วยกัน เป็นคำที่มีมานานแล้ว แต่เพิ่งจะเข้ามาอยู่ใน Global Media กระแสหลัก เมื่อปีที่ผ่านมา ปี 2019 เขาบอกว่าปีที่แล้วเป็นปีแห่งการ Raise Awareness แต่ปีนี้ จะเป็นปีของ Action”

“เสื้อผ้าเต็มตู้ แต่ใส่อยู่ไม่กี่ตัว” เราคือผู้บริโภคฟาสต์แฟชั่นหรือไม่?

มาถึงตรงนี้เราก็เริ่มเลิ่กลั่กกับตัวเองอยู่ในใจ “นี่เสื้อผ้าที่เราใส่ใครผลิต?” “เราคือส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมแฟชั่นที่ทำร้ายคนอื่นอยู่หรือเปล่า?” เมื่อเริ่มตระหนัก ก็ยิ่งสนใจ และอยากรู้ว่าถ้าเราอยากเริ่มสำรวจตัวเอง ควรเริ่มที่ตรงไหนดี?

แล้วเราคือหนึ่งในผู้บริโภคที่เสพติดฟาสต์แฟชั่นด้วยไหม? เราก็สงสัยอย่างที่หลายคนสงสัย คุณอุ้งบอกว่าไม่ยาก ลองมาเริ่มสำรวจตัวเองไปพร้อมกัน

“ลองกลับไปดูเสื้อผ้าตัวเอง แล้วลองทำการทดลองง่าย ๆ เราลองใส่เสื้อผ้าในระยะเวลาหนึ่ง อาจจะอาทิตย์หนึ่ง หรือเดือนหนึ่ง ทุกครั้งที่เราซัก ก็เอาเสื้อผ้าพวกนั้นแยกเอาไว้ฝั่งหนึ่งของตู้ ทำยังไงก็ได้ให้เราสำรวจตู้เสื้อผ้าตัวเองว่าจริง ๆ  แล้วเสื้อผ้าที่เราใส่บ่อย ๆ มีกี่ตัวกันแน่? “

“มีคนเคยทำการทดลองนี้ แล้วพบว่าจริง ๆ เรา ใส่เสื้อแค่หนึ่งใน 4 ของเสื้อผ้าที่เรามีในตู้ทั้งหมด ใส่ซ้ำไปมา แค่นับก็ได้ว่าทั้งหมดเรามีเสื้อผ้ากี่ชิ้น ตัวที่ไม่เคยใส่มาแล้วเกินปี มีกี่ตัว เอาจริง ๆ ถ้าเราไม่ใส่เกิน 3 เดือนมันก็แทบเหมือนว่าเราไม่ใส่แล้ว แล้วเราจัดการยังไง? หรือเราทิ้งไว้เหมือนเดิม?”

“จริง ๆ เรา ใส่เสื้อแค่หนึ่งใน 4 ของเสื้อผ้าที่เรามีในตู้ทั้งหมด”

“ตู้เสื้อผ้าจะค่อย ๆ มีคนสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะตอนนี้ที่อยู่อาศัยเล็กลงเรื่อย ๆ เมื่อก่อนบ้านเราอาจจะใหญ่ แต่ตอนนี้คนมาอยู่ในเมืองมากขึ้น แล้วก็มาพร้อมเทรนด์แบบมารีคอนโดะ คนเราต้องกลับมาสู่สิ่งที่เหมาะกับตัวเองจริง ๆ คนไม่มีที่ที่จะเก็บของได้เยอะขนาดนั้น”

“ดังนั้นสำรวจตู้เสื้อผ้าตัวเอง ลองกลับไปนับดู กลับมาแบ่งว่าจริง ๆ เราใส่เท่าไหร่ อาจจะลองเริ่มจากทำความเข้าใจจากเสื้อผ้าตัวที่เราไม่ใส่แล้ว ต้องเอามาดูว่าทำไม? ทำไมเราไม่ใส่?

เพราะมีบางคนที่รื้อออกมาเจอตัวที่ยังไม่ได้ถอดป้ายราคาเลย วางอยู่ในตู้ หรือบางทีก็มีตัวที่เราจะไม่ใส่แล้ว ตั้งแต่ซื้อมายังใส่ไปไม่เกิน 5 ครั้ง การตั้งคำถามกับตัวเองกับเสื้อผ้าแต่ละตัวที่ไม่ใส่ เพราะมันจะเป็นบทเรียนว่าต่อไป ถ้าเจอเสื้อผ้าแนวนี้เราจะไม่ซื้อแล้ว เพราะเรารู้แล้วว่ามันไม่เหมาะกับเรา”

เพราะเสื้อผ้าบอกว่าเราเป็นใคร “สไตล์จึงมั่นคงกว่าการวิ่งตาม”

การสำรวจเสื้อผ้าในตู้ของเรา นอกจากจะทำให้เรารู้มากขึ้นว่าเราใส่เสื้อผ้าจริง ๆ กี่ตัว และมีส่วนที่เหลือใช้จำนวนมากแค่ไหน การเรียนรู้จากเสื้อผ้าตัวที่เราไม่ใส่เพื่อบอกตัวเองว่า “เราจะไม่ซื้อเสื้อผ้าสไตล์นี้อีก” ก็สำคัญ ในขณะที่ฟากฝั่งของตู้ซึ่งบรรจุเสื้อผ้าที่เราใส่บ่อย ใส่เสมอ ใส่ประจำ ก็อาจหมายถึงสไตล์ที่เหมาะกับเราและสื่อสารความเป็นตัวเราได้อย่างชัดเจน

“ตัวที่เราใส่บ่อย ๆ คือคำตอบของสไตล์ที่เหมาะกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเชิงรูปร่าง เช่น กางเกง เราก็จะใส่อยู่ไม่กี่ทรง เพราะบางคนขาสั้น บางคนเอวใหญ่ เลือกใส่ทรงนี้เพื่อพรางส่วนนั้น เป็นเรื่องของการตามหาว่าจริง ๆ แล้วฉันเหมาะกับเสื้อผ้าแบบไหน ถ้าเราหาเจอ จริง ๆ มีเสื้อผ้าแค่ไม่กี่ทรงหรอกที่เราใส่แล้วมั่นใจ”

“เราทดลองได้ แต่เราแค่ต้องรู้ว่าอะไรเหมาะ หรือไม่เหมาะกับตัวเอง เราไม่ได้ว่าเด็กที่ซื้อเยอะ เพราะในวัยนั้นคือวัยที่ต้องค้นหามาก ๆ ว่าเราเหมาะกับแบบไหน แต่ลองกลับมาสำรวจมากขึ้น แค่กลับมาทำการบ้านกับตัวเองมากขึ้น ว่าฉันหาสไตล์ตัวเองเจอหรือยังตอนนี้? เป็นยังไง? อยากลองแบบไหน?”

“การจะกลับมาบริโภคแฟชั่นให้ช้าลง ฟาสต์น้อยลง มันมีสิ่งที่สำคัญคือ แฟชั่น กับ สไตล์ แฟชั่นมันมาเร็วไปเร็วอยู่แล้ว เพราะมันคือเทรนด์ มันคือซีซันนี้สีเขียวมา กระโปรงต้องสั้นเท่านี้นะ ลายนี้ต้องมา แล้วซีซันหน้ามันก็หมดไป

ในขณะที่สไตล์เป็นเรื่องของบุคลิกส่วนตัว เป็นเรื่องว่าคุณหาคาแรกเตอร์คุณเจอหรือยัง ฉันเป็นคนแบบนี้ ฉันอยากสื่อสารตัวเองออกไปกับโลกว่าเราเป็นคนแบบนี้ เพราะเสื้อผ้าคืออย่างแรกที่คนจะตัดสินกัน”

เสื้อผ้าคือการสื่อสารเรื่องราวของตัวเองว่าเรารู้จักตัวเองมากแค่ไหน? เราได้สื่อสารความเป็นตัวเราออกไปหรือยัง?

“ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ แต่มีคนตัดสินกันด้วยเสื้อผ้าอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว เวลาเราเจอใครเราก็มองคาแรกเตอร์ของเขาก่อน ไม่ว่าเราจะเดินสวนกัน หรือเจอใครเป็นครั้งแรก เสื้อผ้าคือการสื่อสารเรื่องราวของตัวเองว่าเรารู้จักตัวเองมากแค่ไหน? เราได้สื่อสารความเป็นตัวเราออกไปหรือยัง? การที่เราวิ่งตามแฟชั่น หรือ Fast Consumption มันก็เหมือนคนที่ไม่รู้จักตัวเอง แล้วก็วิ่งตามไปเรื่อย ๆ”

“ในขณะที่คนที่มีสไตล์ที่มั่นคง ชัด คนจะจำคุณได้ ว่าคุณมีคาแรกเตอร์แบบนี้ เป็นเพียงการใช้ชีวิตที่ตั้งคำถามกับตัวเองให้ละเอียดมากขึ้น จากเดิมที่เราอาจไม่เคยคิดมาก่อนเลยเราก็อาจลองมาคิดให้ละเอียดขึ้น ว่าเราอยากเป็นใคร อันไหนเหมาะ หรือไม่เหมาะกับเรา”

อยากรักษ์โลกไม่จำเป็นต้องหยุดอยากได้ แต่ต้องรู้จักตัวเอง

แม้มีหลายคนที่ไม่เข้าใจว่าเสื้อผ้าเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมหรือการพยายามทำให้โลกนี้ดีขึ้นอย่างไร แต่อีกทางก็มีอีกหลายคนที่เข้าใจว่าถ้าอยากจะรักษ์โลกต้องไม่ซื้ออะไรใหม่เลย หรือต้องซื้อแต่ผ้าสีเรียบสุดออแกนิกเท่านั้นถึงจะเป็นการรักษ์โลกใบนี้

แต่สำหรับคุณอุ้งแล้วการรักษ์โลกมันต้องยั่งยืนกว่านั้น เพราะถ้าเราทำอะไรที่ฝืนตัวเอง เราจะไม่มีทางทำได้นาน ดังนั้นการรู้จักสไตล์ของตัวเอง จึงเป็ยการรักษ์โลกด้วย รักแฟชั่นด้วย แถมสนุกอย่างไม่น่าเชื่อ

“เราอย่าเพิ่งพูดถึงคำว่าการรักษ์โลกแล้วกัน เอาที่การซื้อก่อน เรารู้สึกว่าง่ายที่สุดเลยคือเราต้องรู้จักตัวเอง ถ้ารู้จักตัวเอง เราก็จะไม่ถูกเทคนิคทางการตลาดจูงเราให้ไปซื้อนั่นซื้อนี่ เพราะว่าการตลาดคือการที่คอยบอกเราว่า คุณต้องมีสิ่งนี้สิ ของมันต้องมีนะ คุณมีอันนั้นอันนี้แล้วชีวิตคุณจะดีขึ้นนะ จะมีคนเข้ามาจีบคุณนะ แต่มันจริงหรือเปล่า?”

“ถ้าคำว่าแฟชั่น มันอาจดูจะไปด้วยกันไม่ได้เนอะ แต่ถ้าเราลองบิดจากคำว่าแฟชั่น as a Trend เป็นสไตล์ เป็นไลฟ์สไตล์ เป็นการใช้ชีวิตที่รู้จักตัวเอง เราว่าอันนั้นโคตร Fashioable เลย มากกว่าแฟชั่นที่คุณต้องไปตามทุกอย่างที่อยู่บนรันเวย์ ที่คนอื่นมาบอกอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี ซึ่งก็เตี๊ยมกันมาหมดแล้ว”

“ถ้ารู้จักตัวเอง เราก็จะไม่ถูกเทคนิคทางการตลาดจูงเราให้ไปซื้อนั่นซื้อนี่”

“ข้างบนเขาเตี๊ยมกันมาหมดแล้วว่าปีนี้ สีอะไรจะมา มันเป็นสิ่งที่เซตมาหมดแล้ว เซตล่วงหน้าด้วย เราก็เคยทำงานเกี่ยวกับ Trend Forecasting กรรมการมานั่งประชุมกันว่าสีนี้ต้องมา แล้วแมกกาซีนก็เอาไปปั่นต่อว่า สีนี้จะมา แล้วรันเวย์ก็ออกสีนี้ มันก็คือการออกของใหม่ไปเรื่อย ๆ เราเองก็ไม่ได้ปฏิเสธเทรนด์ แต่เราจะเลือกเฉพาะเทรนด์ที่มันเหมาะกับตัวเรา”

“เราติดฟิลเตอร์ความเป็นตัวเองเข้าไป ฟิลเตอร์ว่าสิ่งนี้เหมาะกับเราหรือไม่เหมาะกับเรา เราก็ลดการบริโภคได้เยอะมากแล้ว เพราะเราไม่จำเป็นต้องกินทุกอย่างที่เปิดใหม่ตอนนี้ หรือเราไม่ต้องซื้อทุกอย่างที่กำลังอิน แล้วเราก็ยังมีความสุขได้ เราว่าอันนี้คือความหมายของการที่รักษ์โลกไปด้วยและรักตัวเองไปด้วยได้ 

ไม่จำเป็นว่ารักษ์โลกแล้วคุณต้องตัดทุกอย่างที่เป็นความสุขของตัวเอง อะไรพวกนั้นมันโคตรไม่ยั่งยืน แต่มันคือการตัดทิ้ง การเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาวมันต้องมีอะไรที่คุณสนุก มันต้องมีอะไรที่คุณชอบด้วย”

“เราติดฟิลเตอร์ความเป็นตัวเองเข้าไป ฟิลเตอร์ว่าสิ่งนี้เหมาะกับเราหรือไม่เหมาะกับเรา เราก็ลดการบริโภคได้เยอะมากแล้ว”

อย่าตีกรอบให้การรักษ์โลก

เราเชื่อว่าหลายคนไม่ได้มีเจตนาร้ายกับโลกใบที่เราอาศัยอยู่ แต่กลับรู้สึกเหนื่อยเหลือเกินกับการถูกตัดสินหรือตีกรอบว่าถ้ารักษ์โลกต้องทำแบบนี้ ถ้าทำแบบนั้นแสดงว่าไม่รักษ์โลก ในขณะที่อุ้งกลับบอกว่าการรักษ์โลกมันนอกกรอบและหลากหลายเกินกว่าที่ใครจะมีสิทธิไปตัดสินใครว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ใช่หรือไม่ใช่เสียทีเดียว

“เรารู้สึกว่าการรักษ์โลกปัจจุบัน บางทีไปตัดสินคนว่าอันนี้ไม่ดี นู่นนี่ มันยิ่งไปแยกไปตัดสินว่าคนนี้รักษ์โลก คนนี้ไม่รักษ์โลก ซึ่งความเป็นจริงจะรู้ได้ยังไง สมมติว่าคนทั่วไปคนเดินถนนเขาใช้ถุงใช้หลอด ไปด่าเขาไม่รักษ์โลก แต่คนเหล่านี้เขาอาจไม่กินบุฟเฟต์ในห้าง เขาอาจจะกินน้อยกว่าเราสิบเท่าก็ได้

เรารู้สึกว่ามันอยู่ที่ไลฟ์สไตล์โดยรวมมากกว่า เลือกอะไรที่เหมาะกับตัวเอง บางคนก็จะมองว่าการรักษ์โลกเบอร์สุดมันก็คือออแกนิกนั่นแหละ ถ้าคุณสามารถใช้ไลฟ์สไตล์แบบนั้นได้มันก็ดี มันคือการที่คุณสามารถซัพพอร์ตกิจกรรมเพื่อสังคม หรือกลุ่มชุมชน อะไรที่เขาทำสิ่งธรรมชาติซึ่งมันดีอยู่แล้ว”

“เพียงแต่ว่ามันก็ต้องเลือกรักษ์โลกให้ตอบโจทย์ไง เพราะกาลเทศะและโอกาส ว่ามันจะนำสิ่งนั้นไปใช้ที่ไหนได้ เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขาหรือเปล่า ถ้าเขาหาที่ลงให้มันได้ก็ดี 

สมมติเราไม่สามารถจ่ายราคาเสื้อผ้าที่มันคราฟต์จ๋า การซื้อเสื้อผ้ามือสองคือสิ่งที่โคตรทำให้เราสนุก แถมได้ของแตกต่างไม่เหมือนใคร คุณแค่มี Sense of Style

เราเลยคิดว่าการคิดว่ารักษ์โลกจะต้องเป็นแบบนี้ แบบนั้น มันเป็นการไปตีกรอบให้การรักษ์โลกมาก ๆ การรักษ์โลก ของคุณสามารถสนุกได้ถ้าคุณรู้แหล่ง รู้สไตล์ตัวเอง”

การรักษ์โลก ของคุณสามารถสนุกได้ถ้าคุณรู้แหล่ง รู้สไตล์ตัวเอง

“จริง ๆ การรักษ์โลกจริง ๆ คือการใช้ซ้ำในสิ่งที่มีอยู่ ถ้ารักษ์โลกแล้วต้องไปซื้อใหม่ทั้งหมด ไปกว้านซื้อเสื้อผ้ารักษ์โลก เทียบกับการใช้ของที่มีอยู่ให้ยาวที่สุด การใช้ของที่มีอยู่ลดคาร์บอนมากกว่าการไปซื้อคอลเลกชันเสื้อผ้ายั่งยืนใหม่ทั้งตู้ ดังนั้นในความประหยัดมัธยัสถ์ แต่ครีเอทีฟ ยิ่งคุณอยู่แบบนี้ได้ สิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัดมันยิ่งทำให้คุณเกิดความคิดสร้างสรรค์”

“ในมุมของภูมิปัญญาคนไทยหรือวิธีซ่อมของ เราว่าสิ่งนี้โคตรรักษ์โลกเลย ไม่จำเป็นจะต้องรักษ์โลกแบบชนชั้นกลาง จริง ๆ ก็เคยโดนด่าเหมือนกันว่ามึงรักษ์โลกได้ เพราะว่ามีเงิน แต่เราคิดว่าเราไม่เคยบอกว่าเรารักษ์โลกกว่าคนอื่น”

ฮาวทูทิ้ง? ฮาวทูใช้? ลองใส่ใจเพิ่มอีกนิด ชีวิตก็เปลี่ยน

การที่ยังสนุกกับการแต่งตัวและเป็นตัวเอง ไปพร้อม ๆ กับการใส่ใจสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตแรงงานจึงไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่เราเคยเข้าใจ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าจะยึดหลักแบบไหน หรือสำรวจตู้เสื้อผ้าตัวเองแล้วขั้นต่อไปมันต้องยังไงต่อนะ? แล้วถ้าอยากได้เสื้อผ้าใหม่ ๆ มีวิธีไหนได้บ้างถ้าไม่อยากซื้อ?

“Buyerarchy of Needs” คือสิ่งที่อุ้งให้เราดู แล้วบอกว่าเริ่มง่าย ๆ ที่สามเหลี่ยมนี้ โดยเริ่มจากฐานคือ ใช้สิ่งที่มีอยู่ ไล่ขึ้นไปที่การยืมหรือเช่า จากนั้นการแลกเปลี่ยนเสื้อผ้ากันและกัน แต่แน่นอนว่าการซื้ออยู่บนยอดสูงซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย แถมการซื้อยังหมายถึงการซื้อเสื้อผ้ามือสองได้อีกด้วย

“อันดับแรกก็สำรวจตู้ เอาที่เราไม่ใส่ เราก็อาจจะเลือกวิธีการ เอามาแลกเปลี่ยน เอามาบริจาค ก็อาจจะเลือก วัดสวนแก้ว กระจกเงา อยู่ที่เลือกยังไงก็แล้วแต่เรา”

“สิ่งที่ทำได้มากที่สุดคือใช้สิ่งของที่คุณมีอยู่ เรามาให้ชีวิตใหม่กับสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว ตัวนี้เราคงคิดว่าเราไม่ใส่แล้ว แต่จริง ๆ เราเอามา Styling ใหม่ แมทช์กับท่อนล่างที่เราไม่เคยคิดว่าจะเข้า แล้วก็เติมแอคเซสเซอรี่ไป เรากลับมาสนุกกับสิ่งที่ตัวเองมีมากขึ้น อย่างล่าสุดเราก็เอาเสื้อที่ไม่ใส่มา 4 ปี กลับมาใส่ เคยคิดว่ามันไม่เข้ากับเราแล้ว ก็พบว่าแค่เราเลือกแมทช์ผิดตอนนั้นมันเลยไม่เข้า แต่จริง ๆ มันก็สามารถเข้าได้”

สิ่งที่ทำได้มากที่สุดคือใช้สิ่งของที่คุณมีอยู่ เรามาให้ชีวิตใหม่กับสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว

“ส่วนถ้าหลังจากนี้เราไม่อยากให้มันเต็มล้นแบบเดิม เราก็ต้องเลือกการบริโภค เช่น การเอามาแลก คุณก็จะได้เสื้อผ้ากลับไปโดยที่คุณไม่ต้องซื้อ สองคือถ้าคุณจะไปงาน หรืออะไรที่ใช้ครั้งเดียว เมื่อก่อน ถ้ามีเงิน เราก็อาจจะซื้อใหม่หมดเลย หรือไปงานแต่ง เราก็อาจดูทางเลือกอย่างการเช่า ทุกวันนี้ก็มีร้านเยอะมากที่เปิดให้เช่าในราคาที่โอเค

ทุกคนอาจจะมองว่าซื้อใหม่ถูกกว่า แต่คุณอาจจะซื้อแล้วใส่ครั้งเดียวอยู่ดี การเช่าอาจทำให้เราได้ลอง ได้ค้นหาอะไรใหม่ ๆ”

“คนมักมองข้าม การซักผ้าให้ถูกวิธี”

“อีกอันหนึ่งก็คือที่คนมักมองข้าม คือการซักผ้าให้ถูกวิธี ทุกวันนี้คนเราก่อนจะกินอะไรเราอ่านฉลาก ก็จะรู้ว่าน้ำตาลเยอะไหม แคลอรี่เท่าไหร่ เสื้อผ้าล่ะ? มีกี่คนที่อ่านฉลาก อ่านก่อนซัก ซักยังไงถึงจะอยู่ได้นาน ไม่พัง มันใกล้ตัวมาก การซักที่ถูกต้องยืดอายุได้นานมาก แล้วก็ประหยัดน้ำ ประหยัดทุกอย่าง เสื้อผ้าทุกชนิด จริง ๆ จะมีฉลากติดอยู่ เราแค่อ่านว่ามันทำจากเส้นใยอะไร ซักอย่างไร”

“บางคนไม่รู้ เอะอะโยนเข้าหมด มันก็เสีย แล้วก็ทิ้ง มันคือการที่ใส่ใจอีกนิดเดียวว่าจะดูแลเสื้อผ้าที่มียังไง พอเสื้อผ้าราคาถูก คนก็ไม่คิดว่าต้องดูแล แต่พอเรากลับมาใส่ใจมากขึ้น เราก็จะเลือกของที่มีคุณภาพมากขึ้น เราก็จะอ่านป้าย แล้วก็ซักได้ถูกมากขึ้น”

ง่าย ๆ เลย ทุกตัวมันสามารถซักได้ด้วยรอบปั่นไม่เกิน 800 มันก็สะอาดแล้ว เพื่อถนอมเสื้อ เป็นโหมดที่ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ เพราะถ้าเราไม่ได้ไปคลุกดิน เราก็ไม่จำเป็นต้องปั่นรอบเยอะขนาดนั้น”

“Your Money is your Vote”

“ถ้าจะซื้อใหม่ ให้ซื้อเสื้อผ้ามือสอง หรือเลือกจากแบรนด์ ที่ยั่งยืน โดยไม่แค่ดูเอาจากการโฆษณาหรือการตลาดของเขาเท่านั้น เราต้องถามตัวเองว่า เราอยากเอาเงินเราไปให้องค์กรแบบไหน? องค์กรที่ไม่สนับสนุนเรื่องพวกนี้ หรือเลือกสนับสนุนเป็นคอลเลกชัน แต่ทั้งองค์กรก็ยังเป็นฟาสต์แฟชั่น หรือเราจะลองเลือกมาสนับสนุนดีไซเนอร์ใหม่ ๆ  ที่เขาใส่ใจเรื่องนี้จริง ๆ”

“ในเมื่อเราเปลี่ยนจากข้างบนไม่ได้ Your Money is your Vote อำนาจอยู่ในกระเป๋าเงินของคุณ ถ้าคุณเลือกเอาเงินไปให้กับกลุ่มธุรกิจแบบไหน ธุรกิจแบบนั้นก็จะอยู่ได้ แต่ถ้าเราไม่สนับสนุน เลิกซื้อ เอาเงินไปซื้อคนหรือองค์กรที่เขาตั้งใจ”

“การรักษ์โลกไม่ใช่การเลิกซื้อ เลิกแล้วใครจะอยู่ได้ โลกขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ แต่เราควรจะเอาเงินไปสนับสนุนคนที่เขาตั้งใจ กลุ่มนี้อาจจะราคาสูงกว่า เพราะเขาทำจำนวนน้อย แต่ถ้ามีคนต้องการเขาเยอะ ๆ มันก็จะถูกลง เพราะเขาสั่งได้มากขึ้น”

หลังอ่านจบใครหลายคนอาจลุกขึ้นไปเปิดตู้เสื้อผ้า ใครบางคนอาจก้มลงมองเสื้อตัวที่ตัวเองใส่พลางครุ่นคิดว่ามันมาจากไหนกันนะ? และใครเป็นคนผลิตมันขึ้นมา? สิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้น อย่างที่อุ้งบอกการรักษ์โลกไม่มีกรอบ เราเริ่มในแบบของเรา เราเริ่มแบบที่ไม่ฝืนตัวเอง สนุก และทำได้จริง ซึ่งก็อาจเริ่มง่าย ๆ จากตู้เสื้อผ้าในห้องเรานี่เอง

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line