World

จากโศกนาฏกรรมหญิงสาวสู่การลุกฮือของฝูงชน สรุปวิกฤตประท้วงวันนี้ที่ฮ่องกงลุกเป็นไฟ

By: anonymK August 13, 2019

สงคราม กระสุนยาง ลูกตา เลือด ชุมนุม บอยคอตสินค้า และการปิดสนามบิน ข่าวที่วนเวียนตลอดหลายเดือนของฮ่องกงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วง 2 วันนี้ที่ทั่วโลกกำลังจับตามองความรุนแรงที่เกิดขึ้น ลุกลามไร้การยับยั้งถึงขนาดมีคนกล่าวว่า “ฮ่องกง” อาจเป็นเวทีของสงครามโลกครั้งที่ 3 ของมหาอำนาจ

ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ข้อยุติจบลงที่ตรงไหน ใครบ้างที่ถูกพาดพิงว่าเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ก่อนเหตุการณ์จะคลี่คลาย UNLOCKMEN ขอสรุปสถานการณ์โลกสั้น ๆ มาให้ทำความเข้าใจกัน

 

ชนวนปิดสนามบิน เริ่มจากความตายของหญิงสาว

กว่าการลุกฮือของประชากรชาวฮ่องกงจะดำเนินมาถึงตรงนี้ ไม้ขีดก้านแรกที่จุดขึ้นมา เริ่มต้นจากคดีคู่รักชาวฮ่องกงที่เดินทางไปประเทศไต้หวัน ตามข่าวกล่าวว่าฝ่ายชายวัย 19 ปีฆาตกรรมแฟนสาวที่กำลังท้องในแผ่นดินไต้หวันแล้วตัวเองบินกลับฮ่องกง ด้วยความที่ไต้หวันและฮ่องกงรวมทั้งจีนไม่มีการร่างกฎหมายการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน คดีสะเทือนใจนี้จึงไม่สามารถดำเนินคดีได้

ไม่มีกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน จึงไม่มีคนผิดต้องรับโทษ หญิงสาวผู้น่าสงสารจบชีวิตลงแสนเศร้า

ทว่าเรื่องสะเทือนขวัญนี้กลายเป็นต้นทางของความขัดแย้งทันทีที่ Carrie Lam ผู้บริหารสูงสุดเกาะฮ่องกงลุกมาผลักดัน “ออกร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเมื่อมีข้อต้องสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางอาญา ไปรับการพิจารณาคดีที่จีนแผ่นดินใหญ่ได้ (Fugitive Offenders and Mutual Legal Assistance in Criminal Matters Legislation (Amendment) Bill 2019)” เพื่อให้คดีได้รับความเป็นธรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา

Carrie Lam (คนกลาง)

แม้จรรยาจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ถ้าศีลธรรมเพื่อคนตายกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ต้องสังเวย “คนเป็น” บนเกาะระยะยาว พวกเขาจะไม่ยอม นี่คือพื้นฐานความคิดที่เกิดขึ้นและเป็นบ่อเกิดแห่งการประท้วงทันที เนื่องจากพวกเขาไม่ยอมรับ Carrie Lam เป็นทุนเดิม เพราะเธอเป็นผู้บริหารที่ได้รับเลือกจากสภาชิกสภานิติบัญญัติ 1,200 คนที่ชาวฮ่องกงคิดว่าเป็นพวกเอียงไปเข้าข้างฝั่งจีน โดยการประท้วงเริ่มต้นขึ้นในเดือนมีนาคมและยืดเยื้อมากระทั่งถึงปัจจุบัน

ขั้วการเมืองในสภาระหว่างนี้เองก็แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ด้านที่สนับสนุนร่างและด้านที่ไม่สนับสนุน เพราะไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของจีนว่าจะให้ความเป็นธรรมได้ การวิวาทในสภาเริ่มร้อนระอุและทุ่มเถียง ผู้คนในฮ่องกงก็ออกมาประท้วงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นที่ผู้ประท้วงบุกเข้าสภาแล้วพบกับการสลายฝูงชนด้วยการใช้แก๊สน้ำตาในวันที่ 1 กรกฎาคม หรือวันครบรอบ 22 ปีที่อังกฤษส่งคืนฮ่องกงให้กับจีน

ทำไมฮ่องกงถึงขาดสำนึกของความเป็นจีน? ทำไมฮ่องกงถึงขยาดจีนแผ่นดินใหญ่นักหนา? เรื่องนี้ถ้าอธิบายอาจจะยาว แต่สรุปสั้น ๆ คือก่อนหน้านี้ (1840-1997) ฮ่องกงเคยตกอยู่ในสัญญาเช่าจากอังกฤษ ดังนั้น ฮ่องกงจึงไม่คิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของจีน พยายามแยกตัวและสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ตามแบบฉบับของตัวเอง ในช่วงเวลาแห่งการแยกจากนี้ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่เติบโตและมั่งคั่งที่สุดในภูมิภาค แต่เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงในปี 1997 ถึงคราวที่ฮ่องกงถูกส่งกลับคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่ ผู้คนบนเกาะจึงเกิดความคลางแคลงใจกับสิ่งที่ตัวเองก่อร่างมายาวนานตลอดหลายปีว่าจะต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมเช่นไร

“1 ประเทศ 2 ระบบ” คือคำมั่นที่เติ้ง เสี่ยวผิง ให้เพื่อต้อนรับลูกหลานแดนมังกรจากฮ่องกงที่เคยซุกใต้ปีกอเมริกากลับบ้านในปี 1997 มองจากคำสัญญานี้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ 2 ฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างแฮปปี้ หากความจริงไม่ได้ง่ายอย่างนั้นเพราะทางการเมืองที่ไร้การควบคุมของฮ่องกงกลายเป็นหอกข้างแคร่ของผู้นำจีน เพื่อเคลียร์ภาวะเสี้ยนตำใจให้สิ้น จีนจึงเริ่มการปฏิรูปการเมืองด้วยการเตรียมตัวเลือกผู้บริหารที่หัวไม่เอียงซ้ายเข้าไปให้เลือกได้ ดังนั้นแม้จะมีสิทธิ์ในการบริหารแค่ไหน แต่ถ้าข้างบนเป็นหวยล็อก ก็ยากที่คนฮ่องกงจะยอมรับ

 

ลมหายใจแรกที่ดับไปจากผู้ประท้วง

จากความคิดที่ว่าถ้าก้าวแรกของร่างกฎหมายนี้สำเร็จ ฮ่องกงต้องแตกเป็นเสี่ยง ๆ และจะไม่มีทางเป็นดินแดนเสรีเดิมที่มีอำนาจการแสดงความคิดเห็นและอธิปไตยได้อย่างปลอดภัยอีก ทำให้การงัดข้อระหว่างภาครัฐกับประชาชนเกิดขึ้นทันทีโดยไม่มีใครยอมใคร แม้จะมีการเลื่อนวาระการประชุมร่างส่งตัวผู้ร้ายฯ ไปแต่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติร่างนี้ลงสักที กระทั่งในที่สุด…ศพที่ 2 ก็เกิดขึ้น ศพของ “คนเป็น” ที่ไม่เห็นด้วยจากการกระทำและความคิดทางการเมือง

15 มิถุนายน สามเดือนหลังความยืดเยื้อของร่างกฎหมายที่ไม่มีใครยอมถอย ในที่สุดหนึ่งในผู้ประท้วงก็เสียชีวิตจากการพลัดตกจากนั่งร้านบนดาดฟ้าหลังพยายามปีนขึ้นไปเพื่อแขวนป้ายประท้วงบนหลังคาอาคารแปซิฟิก เพลซ แม้เรื่องนี้จะไม่ได้เกิดจากปะทะ แต่อุดมการณ์ที่ดับลมหายก็เกิดขึ้นแล้ว

จากกระแสต่อต้านที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ ในที่สุด Carrie Lam ก็ยกเลิกร่างกฎหมายนี้ไปจากประกาศที่ออกมาแถลงในวันที่ 9 กรกฎาคม พร้อมทั้งแสดงความจริงใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นว่าไม่ได้มีแผนเคลือบแฝง รวมถึงขอโอกาส เวลา และพื้นที่ในการปรับปรุงแก้ไขทุกอย่าง เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงจุดนี้ แม้ร่างจะโดนปัดตก ทว่าผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงต่างเดินหน้าต่อและเปลี่ยนเป้าหมายมากดดันให้ Carrie Lam ลาออกแทน ซึ่งแน่นอนว่าเธอยังคงยืนกรานว่าเธอและคณะจะไม่ลงจากเก้าอี้และจะอยู่ต่อไปจากประกาศวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

มหกรรมการแบนฝั่งธุรกิจ ถ้าเข้าข้างเขาไม่ใช่พวกเรา

ความคิดเห็นส่วนตัวเป็นสิ่งอิสระไม่มีถูกผิด แต่ถ้าคนทำธุรกิจเลือกข้างทางความคิดเมื่อไหร่ก็ถึงเวลาบอยคอตได้ และนี่คือสินค้าที่โดนลากเข้าสู่สนามแห่งความขัดแย้งเมื่อทำการเลือกข้าง

Photo : Weibo

  • Yifang Fruit Tea ร้านชานมไต้หวันที่มีสาขาในฮ่องกง และอยู่ใกล้ผู้ประท้วง ขึ้นป้ายสนับสนุนผู้ประท้วงจึงเจอบอยคอตทั่วโลกโซเชียลในสื่อสังคมออนไลน์จีน (Weibo) และกลายเป็นจุดเริ่มต้นความซวยที่บรรดาร้านชานมไข่มุกเจ้าอื่นจากไต้หวันเจอหางเลขจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ไปด้วย
  • Cathay Pacific สายการบินที่โดนตรวจลูกเรือแบบเข้มข้นจากจีนแผ่นดินใหญ่ หากพบว่าเกี่ยวข้องกับการประท้วงจะไม่สามารถให้บริการเที่ยวบินที่บินเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ได้
  • แบรนด์ Versace และ Coach ต้องออกมาขอโทษและเรียกเก็บสินค้าคืน หลังกรณีออกแบบลายเสื้อตำแหน่งสาขาแบรนด์ทั่วโลก แต่ดันสื่อนัยว่าฮ่องกงและมาเก๊าไม่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ทว่าเป็นประเทศอิสระถึงขั้นที่ซูเปอร์สตาร์สาวชาวจีนอย่างหยาง มี่ ที่เพิ่งเซ็นสัญญากับ Versace ออกมาประกาศยกเลิกสัญญา

 

ตัวเลขทางธุรกิจที่ถูกสั่นคลอน จากเกาะมังกรถึงด้ามขวาน

นอกจากแบรนด์ที่เริ่มร่วง เริ่มออกมาขอโทษขอโพยจากการเลือกฝั่ง ความยืดเยื้อนี้ยังส่งผลกับเศรษฐกิจโดยรวมของเกาะฮ่องกงด้วย จากที่เคยรุ่ง นักท่องเที่ยวคิดถึงแหล่งพักผ่อนต้องเดินทางไป พอเจอภาวะประท้วง ปิดสนามบิน ความปลอดภัยเรื่องการเดินทางกลายเป็นสิ่งยากจะควบคุม ทำให้ยอดจองส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถูกยกเลิกเป็นโดมิโน จนส่งผลกระทบในภาพรวมไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โรงแรม หรือทัวร์ ซึ่งบานปลายขนาดกลุ่มธุรกิจทัวร์เริ่มทบทวนให้พนักงานหยุดงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย

สำหรับใครที่คิดว่า เรากำลังอ่านเรื่องของฮ่องกง ตราบใดที่ไม่มีความจำเป็นต้องบินไปเราจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรทั้งนั้น ขอให้คิดใหม่อีกทีเพราะวันนี้ (13 สิงหา) ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่เจอทั้งปัญหาสงครามจีน – สหรัฐ จนถึงเรื่องการประท้วงฮ่องกงดิ่งรูดลงมาถึง 30 จุด ปิดตลาดที่ 1,620.23 จุด ก็เรียกว่าเห็นแท่งเทียนแดงยาว ๆ ไปทั้งวัน แถมยังมีรายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยอีกด้วยว่ากระทบรายได้การท่องเที่ยวบ้านเรา เพราะนักท่องเที่ยวฮ่องกงมาเที่ยวไทยไม่ได้จากการปิดสนามบิน สูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,400 ล้านบาท (ไปบ้านเขาไม่ได้ เขาก็มาบ้านเราไม่ได้เหมือนกัน)

หวังว่าเกร็ดเล็ก ๆ จากสรุปจะทำให้พวกเราเข้าใจสถานการณ์โลกวันนี้มากขึ้น ไม่ว่าตอนจบของสถานการณ์ในฮ่องกงจะดำเนินต่อไปอย่างไร UNLOCKMEN ขอส่งกำลังใจไปให้ความรุนแรงเบาบางลงและไม่มีการเสียเลือดเนื้อจนกว่าจะคลี่คลาย

 

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6 / 7 / 8 / 9 / 10

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line