Life

จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร หากในความสัมพันธ์มีคนเป็นไบโพลาร์

By: unlockmen November 22, 2021

ความสัมพันธ์มักเป็นสิ่งที่รักษาเอาไว้ได้ยาก หากเราหรือคนที่เรารักไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ และแสดงพฤติกรรมที่คาดเดาได้ยากอยู่ตลอดเวลา อาการนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่เป็นโรคไบโพลาร์ การอยู่ร่วมกับพวกเขาจึงต้องใช้ความรู้และความเข้าใจในอาการป่วยมากพอสมควร ถึงจะรับมือกับพฤติกรรมที่เกิดจากความแปรปวนทางอารมณ์ของพวกเขาได้อย่างอยู่หมัด UNLOCKMEN เลยอยากมาแนะนำวิธีการรักษาความสัมพันธ์ให้อยู่ได้ยาวนาน เมื่อเราหรือแฟนเป็นโรคไบโพลาร์

 

ความหมายของโรคไบโพลาร์

โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือ Manic Depression คือ อาการเจ็บป่วยทางจิตที่เกิดขึ้นได้จากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองอันมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของฮอร์โมนหรือกรรมพันธ์ุ ส่งผลให้คนมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ หรือที่เรียกกันว่ามี ‘อารมณ์สองขั้ว’ โดยช่วงหนึ่งผู้ป่วยจะมีความสุขมากและเปี่ยมไปด้วยความกระกระตือรือร้นในการทำสิ่งต่าง ๆ  แต่อีกช่วงหนึ่งพวกเขาจะรู้สึกแย่ เสียใจ สิ้นหวัง ท้อแท้ 

ช่วงที่ผู้ป่วยมีความสุขมักจะเรียกกันว่า แมเนีย (Mania) ผู้ป่วยจะรู้สึกตื่นเต้น มีความหวัง รู้สึกกระฉับกระเฉง และมีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก จนพวกเขาสามารถตัดสินใจทำเรื่องต่าง ๆ ได้โดยไม่ยั้งคิด นอกจากนี้พวกเขาอาจมองเห็นภาพหลอน หรือ ได้ยินเสียงที่ไม่มีจริงอีกด้วย 

ถ้าเป็นอาการเมเนียแบบไม่รุนแรงมาก เรามักเรียกกันว่าเป็น ไฮโปแมเนีย (Hypomania) โดยผู้ป่วยจะไม่มองเห็นภาพหลอนหรือได้หูแว่ว และอาการป่วยไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน 

ส่วนช่วงเวลาแห่งความทุกข์ เราจะเรียกว่า ซึมเศร้า (Depressive) โดยผู้ป่วยจะรู้สึกซึมเศร้าหรือโศกเศร้าอย่างหนัก หมดแรงในการใช้ชีวิต ขี้ลืม และไม่มีแรงจูงใจในการใช้ชีวิต คล้ายกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า นั่นหมายความว่าพวกเขาเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเหมือนคนที่เป็นโรคซึมเศร้า 

โรคไบโพลาร์สามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภทตามลักษณะของอาการ ไม่ว่าจะเป็น Bipolar I (แมเนียสลับซึมเศร้า) Bipolar II (อาการรุนแรงน้อยกว่า Bipolar I โดยผู้ป่วยจะเป็นไฮโปแมเนียสลับซึมเศร้า)  Cyclothymic disorder (โรคอารมณ์สองขั้วแบบอ่อน) และ Rapid cycling (ซึมเศร้าแบบเฉื่อยชาสลับไฮโปแมเนียหรือแมเนียเต็มรูปแบบ โดยผู้ป่วยอาจเจ็บป่วยแบบใดแบบหนึ่งไม่น้อยกว่า 4 ครั้งต่อปี )

 

รับมือกับไบโพลาร์: เมื่อแฟนของเราเป็นผู้ป่วย

หากเรากำลังกุ๊กกิ๊กกับสาวที่เป็นโรคไบโพลาร์ เราควรเตรียมกายและใจให้พร้อมระดับหนึ่ง เพราะถ้าเราไม่เตรียมตัว เราอาจรู้สึกรับไม่ได้ เมื่อแฟนสาวของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีต่อการรักาาความสัมพันธ์ในระยะยาว หากเราจริงจังกับการคบคนที่เป็นโรคไบโพลาร์ เราขอแนะนำให้คุณทำสิ่งเหล่านี้

  • หาความรู้ใส่ตัว – สิ่งแรกที่เราควรทำเวลาเริ่มต้นความสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคไบโพลาร์ คือ การศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้อย่างจริงจัง เพราะมันจะช่วยให้เราเข้าใจว่าคนที่เรารักกำลังเผชิญหน้ากับอะไรอยู่ แล้วเราจะเข้าอกเข้าใจในตัวของแฟนเรามากขึ้น
  • พยายามอดทน – เราอาจต้องเปลี่ยนแปลงแผนการออกเดทให้สอดคล้องกับอารมณ์ที่แปรปวนง่ายของแฟนสาวอยู่เสมอ ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจสร้างความหงุดหงิดให้กับเราได้ไม่น้อย ดังนั้น ความอดทนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ โดยวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เรารักษาความอดทนไว้ได้ คือ การเปลี่ยนจุดโฟกัส จากการโทษที่ตัวแฟน ไปโทษที่ตัวโรคแทน
  • กล้าถามเรื่องอาการของแฟน – ลองถามแฟนของคุณดูว่า ปกติจัดการกับตัวเองอย่างไรเวลาที่อารมณ์เปลี่ยน หรือ ถามว่าตัวเองจะช่วยอะไรพวกเขาได้บ้าง  แบบนี้จะทำให้แฟนสาวของเรารู้สึกว่าไม่ได้เผชิญหน้ากับโรคอย่างโดดเดี่ยว
  • กล้าที่จะพูดถึงความรู้สึกของตัวเอง – ความกล้านับเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่จะทำให้ความสัมพันธ์อยู่ได้นาน เพราะฉะนั้น อย่ารีรอที่จะพูดถึงความรู้สึกที่มีต่อเธอ แต่ควครระวังเรื่องการเผลอด่าเรื่องโรคที่เธอเป็นด้วย
  • ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง – หากรับมือกับอาการของแฟนไม่ได้ เราขอแนะนำให้ลองปรึกษา เพื่อน คนในครอบครัว ผู้เชี่ยวชาญ หรือ ใครก็ได้ที่สามารถให้คำแนะนำหรือการสนับสนุนในเวลาที่เราต้องการ การได้คุยกับพวกเขา อาจทำให้เรามองเห็นวิธีการรับมือกับคนที่เป็นไบโพลาร์มากขึ้นก็ได้
  • อยู่เคียงข้างคนที่เรารัก – เวลาเจอกับปัญหา ทุกคนต้องการกำลังใจจากคนรอบข้าง เพราะฉะนั้น เราควรให้กำลังใจแฟนของเรา และสนับสนุนให้เธอทำตามแผนการรักษาโรคตั้งแต่ต้นขจนจบ                                                                                                                                      

 

รับมือกับไบโพลาร์: เมื่อเราเป็นผู้ป่วย

คนที่เป็นไบโพลาร์มักไม่รู้ว่าพฤติกรรมของตัวเองส่งผลเสียต่อความรู้สึกของแฟนสาวมากแค่ไหน แถมบางคนอาจปิดบังอาการป่วยของตัวเองด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อความสัมพันธ์เลย หากคุณไม่รู้ว่าจะรักษาความสัมพันธ์ต่อไปอย่างไรดี เราขอแนะนำให้คุณลองทำวิธีนี้    

  • เล่าเรื่องอาการของคุณให้แฟนฟัง – ก่อนที่จะตัดสินใจคอมมิทกับใคร เราควรทำให้อีกฝ่ายรับรู้ก่อนว่าตัวเองเป็นไบโพลาร์ และเล่าถึงรายละเอียดอื่น เช่น สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเขามาอยู่กับเรา หรือ วิธีการที่คุณใช้ในการจัดการกับอารมณ์ตัวเอง วิธีนี้จะช่วยให้แฟนเข้าใจความรู้สึกของคุณมากขึ้น                                                                                                                      
  • ทำตามแผนการรักษาของคุณหมออย่างเคร่งครัด – หากต้องการลดความเครียดจากความสัมพันธ์ เราควรทำตามสิ่งที่หมอบอกตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น กินยาตามที่หมอกำหนด หรือ ไปหาหมอตามนัดทุกครั้ง เพราะมันเป็นวิธีที่จะทำให้อาการของโรครุนแรงน้อยลง เพราะฉะนั้น ควรบอกแผนการรักษาให้แฟนทราบ เพื่อให้เธอคอยเตือนเราเรื่องแผนการรักษาอยู่เสมอ     
  • เตือนแฟนเรื่องอาการเจ็บป่วย – เตือนแฟนของคุณ เมื่อคุณสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์  เพราะมันจะช่วยให้แฟนไม่รู้สึกตกใจกับพฤติกรรมของคุณ                                   
  • มีความจริงใจ – ถ้าเราป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ เราไม่ควรปิดบังอาการป่วยของตัวเอง  เพราะการโกหกมักจะทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงเสมอ หากต้องการรักษาความสัมพันธ์ อย่ารอช้าที่จะพูดถึงอาการของตัวเอง หรือ ร้องขอความช่วยเหลือจากแฟนสาวในเวลาที่ตัวเองต้องการ                                                                                                                                             

การรับมือกับคนที่เป็นโรคไบโพลาร์ต้องใช้ความระมัดระวังกว่าคนทั่วไป ซึ่งเทคนิคที่เราได้ให้ทุกคนไป จะเป็นไกด์ที่จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับอาการไบโพลาร์ และคนที่เป็นโรคไบโพลาร์ได้ดีขึ้น ลองนำไปปรับใช้กันดูเพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้อยู่ยาวนานกว่าเดิม  


Appendix: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line