Play

LIGHT UP YOUR LIFE : เพิ่มความสนุกปลุกสีสันให้ชีวิต ด้วยเทคนิคการวาดเส้นแสงไฟในยามค่ำคืน

By: NTman July 6, 2017

หลายคนคงเคยเห็นภาพการวาดเส้นแสงไฟ หรือ Light Painting ที่สร้างความแปลกใหม่ และความน่าตื่นตาตื่นใจ ให้กับภาพถ่ายกลางคืนได้เป็นอย่างดี ด้วยสีสัน และความพลิ้วไหวของแสงไฟ ที่เราสามารถลากเส้นสร้างสรรค์ลวดลายได้ตามจินตนาการ ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีถ่ายภาพที่สนุก และน่าสนใจ ที่สำคัญคือสามารถถ่ายเล่นเองได้ไม่ยากอย่างที่คิด เหมาะที่จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำหรับใครที่อยากลองเริ่มต้นทำอะไรสนุก ๆ ปลุกไฟให้กับชีวิตที่ไม่ต้องการหยุดนิ่งอยู่กับอะไรเดิม ๆ

สำหรับวิธีการถ่าย Light Painting อย่างที่เราบอกไว้ข้างต้นว่ามันไม่ได้ยากเย็นขนาดนั้น สามารถเริ่มต้นจนจบกระบวนการได้ด้วยการโซโลเดี่ยวคนเดียวด้วยซ้ำ แค่เข้าใจหลักการถ่าย เตรียมอุปกรณ์ และความสนุกในหัวใจให้พร้อมก็พอ ซึ่งวันนี้ทีมงาน UNLOCKMEN จะมาแนะนำหลักการถ่าย Light Painting ให้ไปลองทำตามกันดู เมื่อรู้หลักแล้วหลังจากนี้คงไม่ใช่เรื่องยากในการนำไปต่อยอดจนเกิดเป็นภาพถ่ายที่สวยงามแปลกใหม่ตามสไตล์ที่ชอบได้เลย

เตรียมอุปกรณ์

กล้อง: สำหรับกล้องในที่นี้ จะใช้กล้อง DSLR ระดับโปร, กล้อง Compact ขนาดกะทัดรัด หรือแม้กระทั่งกล้องจากโทรศัพท์มือถือก็จัดมาได้ตามสะดวก ขอเพียงแค่กล้องเหล่านี้รองรับการตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ (ในโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นที่มีโหมด Pro) เพราะการลากเส้นแสงไฟให้มีความสวยงาม จำเป็นต้องเปิดชัตเตอร์ค้างไว้นานกว่าปกติ

ขาตั้งกล้อง: อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญไม่แพ้กล้องถ่ายภาพ เพราะเมื่อเราเปิดชัตเตอร์ค้างไว้นาน ๆ จำเป็นต้องหาที่วางกล้องให้มีความมั่นคง เพื่อให้ภาพไม่สั่นไหว หากใช้มือจับกล้องเอาไว้ตามปกติ แม้จะมั่นใจว่ามือนิ่งแค่ไหน แต่ถ้าต้องเปิดหน้ากล้องค้างในระดับ 1 หรือ 2 วินาทีขึ้นไป เชื่อเราเถอะ ยังไงมือเปล่าก็นิ่งไม่เท่าการใช้ขาตั้งกล้องแน่นอน

อุปกรณ์กำเนิดแสง: จะเป็นไฟฉาย แท่งไฟที่ใช้ในงานคอนเสิร์ต กระบองไฟโบกรถของพี่ยาม ไฟแฟลชมือถือ คบเพลิง หรืออะไรก็ตามที่ให้แสงสว่างเพียงพอ สามารถเอามาใช้ในการถ่าย Light Painting ได้แทบทั้งสิ้น ในเรื่องของสีสันความสวยงาม หากเรามีแค่แท่งไฟสีขาวธรรมดา ก็สามารถหากระดาษแก้วมาห่อเพื่อย้อมให้เป็นสีที่ต้องการ

สถานที่: หัวใจสำคัญของการถ่าย Light Painting คือจำเป็นต้องถ่ายในที่ที่มีแสงน้อย ไปจนถึงมืดสนิท เพื่อให้เส้นจากแสงไฟที่เราลากขึ้นมามีความชัดเจน ไม่กลืนหายไปกับแสงไฟจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายในห้อง หรือออกไปถ่ายตามสถานที่ต่าง ๆ ในตอนกลางคืน ต้องคำนึงถึงเรื่องความมืดที่พอเหมาะด้วย นอกจากนี้พื้นที่ในการถ่ายไม่ควรจะแคบเกินไป เพื่อให้เราลากเส้น วาดไฟกันได้เต็มที่

ลงมือ

หลังจากเตรียมอุปกรณ์เรียบร้อย ก็ถึงเวลาออกไปลงมือถ่ายจริงกันสักที หามุมเหมาะ ๆ ตั้งกล้องบนขาตั้งให้มั่นคง เลือกปรับสปีดชัตเตอร์ในระยะเวลาที่ต้องการ พอตั้งค่าเรียบร้อยแล้วก็วิ่งไปวาดเส้นแสงไฟที่หน้ากล้องในระยะที่กะเอาไว้ได้ทันที

ส่วนระยะเวลาของการตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ จะตั้งเป็นระดับวินาที หรือสิบกว่าวิ สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสม ยิ่งใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำ ระยะเวลาการเปิดหน้ากล้องเพื่อเก็บแสงก็จะนานขึ้น ทำให้เรามีเวลาวาดไฟให้เป็นเส้นได้ตามต้องการ สำหรับวิธีการถ่าย ระยะเวลาการเปิดหน้ากล้องต้องตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ให้ค้างไว้นานแค่ไหน เราคงสรุปเป็นสูตรสำเร็จไม่ได้ เพราะระยะเวลามันขึ้นอยู่กับว่าอยากวาดอะไร สำหรับมือใหม่แนะนำให้ลองถ่ายไปสัก 3 – 4 รูปแล้วจะเริ่มเข้าใจได้เอง ว่าการตั้งค่าแบบไหนถึงจะเหมาะกับเรื่องราวที่เราอยากถ่ายทอดผ่านเส้นของแสงไฟมากที่สุด

ในขั้นเริ่มต้นอาจจะเริ่มถ่ายแบบเบสิค ตั้งสปีดชัตเตอร์ไว้สัก 5 – 10 วินาที แล้ววิ่งไปวาดตัวอักษร (ถ้าเป็นคำสั้น ๆ ก็ปรับลดระยะเวลาลง) ซึ่งถือเป็นขั้นพื้นฐานของการถ่าย Light Painting ที่พบเห็นกันได้บ่อย ๆ แต่ถ้าอยากเพิ่มความแปลกใหม่ อาจหาเชือกมามัดกับแท่งไฟ หรือแหล่งกำเนิดแสงอื่น ๆ แล้วแกว่ง หมุน วน ตามต้องการ ก็จะได้ภาพแนว Abstract ที่ดูหล่อกว่าวาดตัวอักษร หรือวาดหัวใจขึ้นมาอีกสเต็ป

TIPs: ในกรณีที่วาดตัวอักษรอย่าลืมว่าเราต้องเขียนแบบกลับด้านเหมือนยืนวาดอยู่หน้ากระจก เพื่อให้ภาพถ่ายที่ได้เป็นตัวอักษรปกติ ดังนั้นก่อนเริ่มลงมืออาจต้องวางแผนกันนิดนึง แต่ถ้าขี้เกียจจริง ๆ ก็ยกให้เป็นหน้าที่ของซอฟแวร์กลับภาพในคอม หรือบนแอพฯ มือถือก็ได้ ไม่ว่ากัน

เมื่อเริ่มเข้าใจหลักการถ่าย Light Painting เบื้องต้นแล้ว ใครที่มีจินตนาการกว้างไกล เริ่มคันไม้คันมืออยากถ่ายอะไรแบบ Advance ขึ้นมาหน่อย เราขอแนะนำอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่จะมาขยายขอบเขตความสร้างสรรค์ของภาพถ่าย Light Painting นั่นก็คือไฟแฟลช จะเป็นแฟลชแยกของกล้องถ่ายภาพ หรือแฟลชจากกล้องมือถือ ก็ได้ทั้งนั้น เพราะเราแค่ต้องการแสงกะพริบจากแฟลชเท่านั่นเอง

สำหรับการถ่าย Light Painting แบบ Advance อาจจะต้องชวนเพื่อนอีกสัก 2 – 3 คนมาร่วมสนุกกัน วิธีการถ่ายก็ใช้หลักการดั้งเดิม เพิ่มเติมด้วยการใส่บุคคล หรือ วัตถุเข้าไป ร่วมอยู่ในเฟรมเดียวกับเส้นแสงไฟที่เราวาด เมื่อวาดเส้นตามจินตนาการจนพอใจ คนวาดต้องรีบหลบไปจากกล้อง และให้เพื่อนอีกคนยิงแฟลชให้กระพริบใส่วัตถุ ซึ่งสาเหตุที่ต้องใช้ไฟแฟลชยิงในช่วงท้าย ก็เพื่อให้กล้องสามารถเก็บภาพเส้นแสงไฟ และ บุคคล หรือวัตถุที่เราต้องการจะเน้นในภาพ โดยที่ภาพไม่สว่างจนโอเวอร์ หรือมีแสงจากแฟลชไปกวนเส้นแสงไฟที่เราวาดเอาไว้ก่อนหน้านี้นั่นเอง

TIPs: ภาพนี้นอกจากจะวาดเส้นไฟให้เป็นคลื่นพลัง เรายังใช้การยิงแฟลชไปที่ตัวแบบด้านซ้าย 1 ครั้ง ก่อนจะให้ตัวแบบวิ่งย้ายไปฝั่งขวา แล้วค่อยยิงแฟลชใส่อีกรอบ ซึ่งเทคนิคนี้สามารถนำไปใช้กับการถ่ายภาพฝาแฝด แยกร่างแบบอื่นได้เช่นกัน

 

ได้เรียนรู้เทคนิคเคล็ดวิธีถ่ายภาพ Light Painting กันไปแล้ว เราเชื่อว่าหลายคนคงกำลังวางแผนนัดเพื่อนออกไปถ่ายภาพสนุก ๆ ปลุกความคิดสร้างสรรค์ เติมสีสันให้กับชีวิต เพราะชีวิตที่หยุดนิ่งเกินไป มันเป็นอะไรที่น่าเบื่อ อย่าลืมว่า Life Is Motion – ชีวิตคือการเคลื่อนไหว คงจะดีไม่น้อยหากชีวิตได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ดูบ้าง เพราะนอกเหนือจากความสนุก ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ได้รับนั้นสามารถเอามาพัฒนาตัวเองได้อีกมากมายจนคาดไม่ถึง ขอแค่เราเปิดใจเรียนรู้ และ Enjoy ไปกับมันในทุกจังหวะชีวิต

 

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line