Life

รอมั่นใจก่อนเพื่อไล่ตามเป้าหมาย ข้อผิดพลาดที่นักจิตวิทยาบอกว่าคนส่วนใหญ่กำลังทำผิดวิธี

By: anonymK March 14, 2019

“เออ…ก็อยากทำนะ แต่ว่ายังไม่กล้าขนาดนั้น”

เวลาเราเผชิญหน้ากับอะไรสักอย่างที่มันไม่มีอะไรมาการันตีความสำเร็จ 100 % เรามักจะหลุดประโยคนี้มาเสมอ ว่าสนใจแต่ไม่อยากเสี่ยงเพราะถ้าเผลอทำอะไร ๆ ตามที่คิดไว้แล้วออกมาผิดพลาด ความซวยต้องมาเยือนแน่นอน ดังนั้น ปัญหาใหญ่วันนี้ที่เจอกันแทบทุกคนคือ การรออะไรสักอย่างมา spark joy พอที่จะทำให้ลุกไปทำตามฝัน หรือทำตามสิ่งที่คิด

Amy Morin นักจิตวิทยาเผยว่าเธอมักจะถามคนที่เปิดประตูเข้ามาปรึกษาเพื่อหาหนทางพิชิตเป้าหมายว่า “คุณคิดว่าควรจะทำยังไงให้มันสำเร็จตามเป้า” คำตอบเดิมซ้ำ ๆ ที่ได้ยินจากปากแทบจะทุกคนเลยคือ “พัฒนาความมั่นใจ”

“ผมอยากมั่นใจขึ้นเพื่อออกไปทำธุรกิจของตัวเอง”

“ฉันอยากรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นจะได้กลับไปโรงเรียน”

จุดประกายที่อยากเปลี่ยนแปลงนั้นน่าชื่นชม แต่ Amy Morin บอกว่าปัญหาอยู่ที่คำตอบต่างหากที่ผิดสเตปไปหน่อย ความจริงคนเราจะคว้าเป้าหมายได้ไม่ควรรอให้มั่นใจก่อนแล้วค่อยทำ แต่ความมั่นใจมันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรา take action หรือลงมือทำต่างหาก ซึ่งพูดน่ะมันง่ายแต่พอจะทำมันยากมา ถ้าทุนเดิมเราไม่ได้รู้สึกดีกับตัวเองสักเท่าไหร่

ชาว UNLOCKMEN คนไหนที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วกำลังรู้สึกว่า เราเลยนี่หว่า ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะเรารวบรวมวิธีที่นักจิตวิทยาแนะนำมาไว้ด้านล่างเพื่อ follow ตามแล้ว

ลงมือเลย

มีใครเคยพยายามคิดบวกเยอะ ๆ แล้ว แต่ยังย่ำอยู่กับที่ไหม? ไอ้ที่เราเคยใช้วิธีพูดกับตัวเองว่า “เราเก่ง” “เรามั่นใจ” “เราแม่งทำดีแล้ว” กรณีที่เราขาดความมั่นใจมาก ๆ มันฮีลไม่ขึ้นเลย เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่าชีวิตตอนนี้ต่างจากคำที่เราพูดแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลย ซึ่งในความเป็นจริงเรื่องนี้มันไม่มีใครมั่นใจได้จากการนั่งเฉย ๆ ไปทั้งวันหรอก ตามหลักของจิตวิทยากับสมองแล้ว การเรียกความมั่นใจมันอยู่ที่การลงมือต่างหาก สมองมันฉลาดกว่าที่เราคิด มันไม่พิสูจน์ความสามารถเราด้วยจินตนาการ แต่เชื่อเราจากลงมือทำมากกว่า

ความมั่นใจเกิดจากการลงมือทำอะไรบางอย่าง

สมองของเราฝังความรู้สึกมั่นใจจากความสำเร็จที่ได้จากการลงมือทำ ไม่ใช่การมโน นั่นแปลว่าถ้าเราไม่ทำลงไปเพื่อพิสูจน์ให้มันเชื่อว่าเราทำได้ มันก็จะขาดความมั่นใจไปเรื่อย ๆ ถ้าอยากรู้ว่าจริงอย่างที่เขาว่าไหม ลองคิดถึงความรู้สึกก่อนที่เราจะขึ้นไปพูดหน้าที่ประชุมถ้าเราคิดแล้วไม่ลงมือทำ เราคงไม่มีวันมั่นใจก่อนขึ้นพูดในที่สาธารณะ แต่ถ้าเราได้ลองพูดสักครั้งแล้ว ความไม่สบายใจจะหายไป ความมั่นใจจะเพิ่มมากขึ้น

ตั้งคำถามกับตัวเอง

เมื่อความมั่นใจมันเกิดจากการลงมือทำ สิ่งที่เราต้องทำคือการหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำอะไรแล้วมันจะเพิ่มความมั่นใจให้เรามากขึ้นบ้าง” จากนั้นก็ลงมือทำมันอย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเรา แต่จำไว้ว่า “สิ่งที่ต้องทำ” ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ขนาดพลิกชีวิตได้ ลองเก็บออมแต้มความสำเร็จจากก้าวเล็ก ๆ สะสมไว้ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมกับความคิดของตัวเอง แล้วคุณจะพบผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง รู้ตัวอีกทีความมั่นใจก็เต็มร้อยเสียแล้ว

ปรับความมั่นใจด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด

หลังจากที่ทำตามที่บอกไปข้อแรก ๆ เพื่อทำให้สมองเห็นว่าเรามีดีกว่าที่คิดเพื่อสร้างความมั่นใจแล้ว เราควรปรับแต่งให้มั่นใจขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพด้วย โดยวิธีง่าย ๆ ของการปรับแต่งคือการปรับวิธีคิด เวลาที่เราพยายามเรียกความมั่นใจให้ตัวเองหลังจากลงมือทำแล้วแต่เสียงในหัวยังบอกว่า “ไม่ว่ะ กูไม่มั่นใจ กูคงทำไม่ได้” ให้กลับไปเถียงกับมันแล้วหาอีกทีว่า ไหนบอกดิ๊ อะไรที่ยังดีไม่พอ จากนั้นให้ลิสต์มันออกมาเป็นข้อ ๆ เพื่อเติมมันให้เต็ม พิชิตมันให้ได้

อย่าไปคิดว่าการถามทวนซ้ำคือการเพิ่มบาดแผลเรื่องความมั่นใจ เพราะการเตือนความจำเรื่องนี้กับตัวเองบ่อย ๆ มันเป็นการเพิ่มโอกาสพัฒนาตัวเองเพื่อเรียนรู้ ไม่ใช่การบอกว่าเราคือ LOSER

สร้างกล้ามเนื้อให้จิตใจเพื่อเพิ่มความแข็งแรง

หัวใจไม่ต่างจากร่างกาย ถ้าเราอยากให้มันแข็งแรงมันก็ต้องออกกำลังมันสักนิดเพื่อฝึกฝน มนุษย์มักรู้สึกความสงสัย และความรู้สึกไม่มั่นใจเมื่อต้องทำสิ่งที่ไม่เคยรู้จักหรือไม่คุ้นเคยเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา แต่การตอบสนองกับเรื่องนั้น ๆ ต่างหากคือสิ่งที่จะบอกได้ว่าจิตใจเราจะแกร่งขึ้นได้ไหม ว่าง่าย ๆ ก็คือถ้าเราไม่เผชิญหน้าสิ่งที่เรากลัวเลยสักครั้ง เอาแต่หลบเลี่ยง ความมั่นใจ ความแข็งแกร่งของจิตใจยังไงก็คงไม่เกิด แต่ถ้าเราลองตอบสนองมันเชิงรุกบ้าง คว่ำเหตุการณ์หรือพุ่งชนมัน (อย่างมีสติ) บ้าง เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จหรือต่อให้เป็นความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจะสร้างภูมิต้านทานให้เรารู้สึกดีขึ้นและเพิ่มความมั่นใจให้เราได้

ปัญหาเรื่องความมั่นใจนี้มองเผิน ๆ เหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน แต่ในแง่จิตวิทยามันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะการเพิ่มคะแนนความมั่นใจเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ ถ้าสมองกำหนดความรู้สึกและขีดจำกัดที่เรามีจากสิ่งที่เราทำให้มันเชื่อตามหลักการเหตุและผล การท้าทายด้วยวิธีเริ่มต้นจากต้นทางที่ดีจะไม่มีวันหลงทาง

อยากได้ลูกเสือก็ต้องเข้าถ้ำเสือ จะมัวแต่รอเสือออกมาเองอย่างเดียวคงจะช้าเกินไป

SOURCE

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line