Life

รัฐบาลทำอะไรอยู่ครับ? ชวนดูวิธีแก้ปัญหาของรัฐบาลประเทศอื่นเมื่อฝุ่นพิษกำลังฆ่าประชาชน

By: PSYCAT January 14, 2019

สายแล้ว ลืมตาตื่น เอื้อมมือกดปิดเสียงนาฬิกาปลุกที่แผดเสียงมาจากสมาร์ตโฟนที่วางอยู่บนหัวนอน เปิดม่าน … แวบแรกหลงคิดว่าหมอกเช้าแห่งเดือนมกราช่างน่าตื่นตาตื่นใจ ก่อนจะขยี้ตาซ้ำ ๆ อีกทีแล้วตระหนักได้ว่า “ฝุ่นเหี้ยอะไรเยอะแยะขาวโพลนขนาดนี้วะ!?”

2-3 วันนี้เราล้วนตื่นมาพร้อมความตื่นตระหนก เพราะแค่มองด้วยตาเปล่ายังสัมผัสได้ว่าปริมาณฝุ่นหนาแน่นมากกว่าปกติ แล้วไหนจะปริมาณที่ตามองไม่เห็นอีก นี่จึงเป็นอีกช่วงหนึ่งที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเรากำลังผจญวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตามวิกฤตเรื่องฝุ่นไม่ได้มีแค่ไทยที่เผชิญมันอยู่เพียงลำพัง หลายประเทศก็กำลังเผชิญปัญหานี้ หลายประเทศผ่านมันมาได้แล้ว โดยรัฐบาลแต่ละประเทศต่างก็มีมาตรการ แนวทาง หรือนโยบายเด็ดขาดในแบบของตัวเองเพื่อแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศกันทั้งนั้น

ในวันที่เราเองก็กำลังสูดฝุ่นเข้าปอดปริมาณมาก ๆ อยู่ UNLOCKMEN ชวนดูวิธีที่รัฐบาลประเทศอื่น ๆ แก้ปัญหากับวิกฤตฝุ่นในประเทศตัวเองในวันที่ฝุ่นพิษกำลังบุกฆ่าประชาชน

เมื่อฝุ่นบุกเกาหลี: โรงไฟฟ้าฯ ลดการผลิต ประชาชนลดเวลาทำงานและเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง

แดนกิมจิเองก็เป็นอีกประเทศที่ประสบวิกฤตฝุ่นพิษในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับเรา แต่ไม่ต้องอ้อยอิ่งรีรอทางการก็ออกมาตรการเร่งด่วนทั้งบู๊ ทั้งบุ๋น โดยทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมกลางแจ้งอย่างลานไอซ์สเก็ต หลายแห่งก็งดให้บริการ และออกตัวว่าจะคืนเงินให้ลูกค้าด้วย

ส่วนกระทรวงสิ่งแวดล้อมก็ไม่นิ่งเฉยออกมาตรการเด็ดขาดกับภาคอุตสาหกรรมโดยสั่งให้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานลดกำลังการผลิตลงมากว่า 80% เมื่อเทียบกับเวลาปกติ

ไม่ใช่แค่นั้นภาครัฐยังสั่งการให้โรงงานและสถานที่ต่าง ๆ ของรัฐที่ปล่อยมลภาวะสู่อากาศลดเวลาทำงานลง โดยยึดมาตรการที่องค์กรของแต่ละท้องถิ่นแนะนำอย่างเคร่งครัด

เมื่อฝุ่นบุกจีน: ตั้งตำรวจสิ่งแวดล้อม คอยบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

จีนเป็นอีกประเทศที่มีปัญหามลภาวะหนักหน่วงเข้าขั้นวิกฤต นายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่งจึงผลักดัน “ตำรวจสิ่งแวดล้อม”ขึ้นมาเป็นหน่วยที่ดูแลบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมและการสร้างมลภาวะโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจตราบังคับเรื่องการเผาขยะและมวลชีวภาพและกวดขันให้ผู้คนงดกิจกรรมที่ใช้ถ่านหินและการเผาไหม้ที่ทำให้เกิดควันอย่างจริงจัง

นอกจากนั้นทางกรุงปักกิ่งยังประกาศว่าจะปิดโรงงานไฟฟ้าถ่านหินในเมือง เลิกการใช้ยานพาหนะเก่าราว ๆ 300,000 คัน สั่งปิดโรงงานที่ปล่อยมลภาวะ รวมถึงปรับปรุงโรงงานราว ๆ 2,000 แห่งเพื่อให้ได้มาตรฐานการบำบัดมลพิษ

รัฐเองก็ให้ความสำคัญประชาชนด้วยการประกาศห้ามผู้คนออกทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงการติดเครื่องฟอกอากาศให้โรงเรียนอีกด้วย

เมื่อฝุ่นบุกอินเดีย: จำกัดการใช้รถส่วนตัว สนับสนุนให้คนใช้รถสาธารณะ

อินเดียเองก็ถือเป็นประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ เรื่องฝุ่นควันและมลภาวะในอากาศมาโดยตลอด รัฐจึงต้องพยายามเป็นอย่างยิ่งในการออกมาตรการสารพัดอย่างออกมาเพื่อดูแลประชาชนในประเทศก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

มาตรการหนึ่งคือการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เช่น การขึ้นราคาค่าที่จอดรถให้แพงขึ้น 4 เท่า เพื่อให้คนหันมาใช้บริการขนส่งมวลชนมากขึ้น รวมถึงมาตรการห้ามใช้รถยนต์ขนาดใหญ่ที่มีเครื่องยนต์แรงม้ามากกว่า 2,000 ซีซี

ไม่เพียงเท่านั้นอินเดียยังประเทศที่เต็มไปด้วยความเชื่ออันหลากหลาย พลุจึงเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมในศาสนาและลัทธิจำนวนมาก ทางการอินเดียก็มีมาตรการห้ามการจุดพลุด้วยเช่นกัน

เมื่อฝุ่นบุกสหรัฐอเมริกา: ก็จับฝุ่นกลายเป็นสินค้าควบคุมซะเลย

ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริการก็มีพัฒนาการการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นมายาวนาน ผ่านการขับเคลื่อนของภาคประชาชนเอง จนในปี 1970 ประธานาธิบดีในขณะนั้นผลักดัน US-EPA ที่เป็นองค์กรกลางผู้มีอำนาจการตัดสินใจเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ

ในหลายเมืองของสหรัฐฯ จึงมีข้อกำหนดของตัวเองว่าแต่ละวันทั้งเมืองต้องปล่อยมลพิษออกมาไม่เกินเท่าไหร่ (รวมทุกอุตสาหกรรม) และกำหนดโควตาที่ชัดเจนให้แต่ละโรงงานว่าปล่อยออกมาได้ไม่เกินเท่าไหร่ ในวันที่โรงงานเราปล่อยมลพิษเกิน เราต้องเจรจาต่อรองคล้าย ๆ การแลกเปลี่ยนซื้อขายกับโรงงานที่ปล่อยมลพิษออกมาไม่เกินอัตราที่กำหนด

กระบวนการทั้งหมดจะมีองค์กรท้องถิ่นและองค์กรกลางที่ดูแลเรื่องค่ามลพิษที่ปล่อยออกมาโดยเฉพาะเพื่อให้มาตรการนี้ยังคุมมลพิษได้ผล แต่ก็ไม่หย่อนยานจนเอื้อประโยชน์ให้แค่โรงงานใหญ๋ ๆ ที่มีทุนและพร้อมจะควักเงินจ้าย รวมถึงมีองค์กรที่ได้มาตรฐานที่คอยตรวจสอบร่องรอยทางเคมีที่โรงงานแต่ละแห่งปล่อยออกมาด้วย

เมื่อปัญหามลพิษทางอากาศคลืบคลานเข้ามารัฐบาลแต่ละประเทศล้วนพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงมาตรการระยะยาวที่กำหนดทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการคมนาคม ภาคเอกชนให้ลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศอย่างเป็นรูปธรรม

ในฐานะประชนผู้อาศัยอยู่ในประเทศที่ฝุ่นกำลังคุกคามชีวิตและสุขภาพเราอยู่ นอกจากดูแลตัวเองสุดกำลังความสามารถแล้ว ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะเห็นค่าของชีวิตประชาชนและลงมือทำอะไรอย่างจริงจังกับเขาบ้างสักที

SOURCE, SOURCE2SOURCE3

 

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line