Films

Documentary Club ลบภาพหนังสารคดีเดิม เปิดมุมมองสารคดีในอีกรูปแบบกับ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

By: UNLOCKMEN Team October 30, 2016

คุณเคยดูหนังสารคดีกันบ้างไหม?  ถ้าพูดถึงหนังสารคดีหลายคนก็คงมีภาพขึ้นมาในหัวเลยว่า ต้องเป็นหนังสารคดีสัตว์โลก  สารคดีที่มีพิธีกรดำเนินเรื่อง  หรือต้องเป็นเรื่องสาระความรู้เชยๆ น่าเบื่อแน่ๆ   แต่มันอาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะไม่นานมานี้  UNLOCKMEN  ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ที่เปิดโลกของหนังสารคดีในอีกรูปแบบหนึ่ง เราจึงอยากให้ผู้อ่านได้รับมุมมองแบบเดียวกับเรา วันนี้เราพามาคุยกับพี่ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ที่ปรึกษานิตยสาร Bioscope และผู้ก่อตั้ง Documentery club ที่นำเอาหนังสารคดีโด่งดังระดับโลกจากต่างประเทศมาฉายในบ้านเรามากมาย อย่างที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

ตอนนี้หลักๆแล้ว พี่ธิดา กำลังทำอะไรอยู่

ตอนนี้ทำ Documentary Club เป็นหลัก หน้าที่คือ distributor เอาหนังสารคดีเข้ามาฉายในบ้านเรา อีกส่วนหนึ่งที่ทำคือเป็นที่ปรึกษาให้กับนิตยสาร  Bioscope

16-10-27-interview-documentery-club-10

ความแตกต่างระหว่าง Documentary club กับ Bioscope

แตกต่างกันเพราะงานของ Bioscope เป็นงานเกี่ยวกับ Content ใน Magazine ถึงแม้ Doc club กับ Bioscope จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหนังเหมือนกัน แต่บทบาทหน้าที่ต่างกัน Doc club คืองานอีกด้านหนึ่งของวงการหนัง เหมือนเป็นตัวกลางระหว่างคนทำหนัง กับ คนดูหนังบทบาทต่างกันพอสมควร

ที่มาที่ไป กว่าจะมาเป็น Documentary club

Doc club นี่ทำมาทั้งหมด 2 ปี จริงๆ เริ่มจากตอนทำอยู่นิตยสาร Bioscope คอนเซ็ปคือทำให้คนรู้จักหนังที่หลากหลายมากกว่าหนังตลาดทั่วๆไป ที่เราเห็นตามโรงภาพยนตร์ ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คือหนังสารคดีที่ไม่เคยมีตลาดหรือพื้นที่ฉายอย่างชัดเจน ซึ่งตัวพี่เองก็เป็นคนชอบดูหนังสารคดีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีโอกาสได้จัดกิจกรรมนำหนังสารคดีเข้ามาฉายโดยที่เราก็รู้สึกว่าหนังสารคดีหลายๆเรื่องก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นหนังดูยาก หรือดูแล้วน่าเบื่อ ถ้าเป็นประเด็นที่คนสนใจ พอเราจัดกิจกรรมก็จะมีคนเข้ามาดูเยอะ เลยเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อเปิดพื้นที่ให้หนังสารคดีสามารถเข้ามาฉายในโรงภาพยนตร์ปกติได้เหมือนหนังทั่วๆไป จากนั้นเริ่มคุยกับเพื่อนๆ ลองใช้วิธีระดมทุนแบบ “Crowdfunding” ได้ทุนก้อนแรกมา เลยเข้ามาสู่งาน distributor แบบเต็มตัวโดยการที่ซื้อหนังมา คุยกับโรงหนังที่จัดฉายแล้วก็ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้คนได้รู้จักว่ามีหนังสารคดีเหล่านี้เข้ามาฉาย

16-10-27-interview-documentery-club-1

Documentary club นี่ทำงานกันกี่คน มีหน้าที่อะไรบ้าง

จริงๆก็ทำกันกลุ่มเล็กๆไม่กี่คน มีน้องคนหนึ่ง เขาเข้ามาช่วยเรื่องประสานงานกับโรงหนัง Lab โรงพิมพ์ในส่วนของแง่ Production ต่างๆ แต่ตัวพี่ก็ทำหน้าที่เลือกหนัง ดูคุณภาพหนัง สื่อสารกับคนดู โปรโมท ประชาสัมพันธ์ เนื้องานจริงของเราทำกันอยู่แค่นี้ แต่ก็มีคนอื่นที่คอยช่วยเหลืออยู่อีกหลายคน  เช่น คนที่คอยเป็นที่ปรึกษา คนที่คอยแนะนำเราเรื่องการตลาด คนที่ให้ Contact  Connection ของค่ายหนัง ก็จะมีคนพวกนี้คอยช่วยเหลืออยู่รอบๆ

ถ้าจะเอาหนังสารคดีสักเรื่องหนึ่งเข้ามาฉาย พี่ธิดา มีขั้นตอน คัดกรอง ยังไงบ้าง?

เบื้องต้นเราก็ต้องติดตามข่าวสารจากเมืองนอกก่อนว่า จะมีหนังอะไรเข้าไปฉายตามเทศกาลต่างๆ หรือเปิดตัวที่ประเทศนั้นประเทศนี้ พอเราทำมันไปสักพัก เราก็จะได้  Connection  ของค่ายหนังต่างประเทศ ได้เป็นข้อมูลตั้งแต่ต้นเช่น ค่ายหนังเขาได้สิทธิ์ในการจัดจำหน่ายเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งหลายเรื่องอาจจะยังทำไม่เสร็จ ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง Oasis Supersonic เราได้รับข่าวสารว่าจะมีการทำหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ก่อนที่หนังจะลงมือถ่ายทำเสียอีก

พอเราได้ข้อมูลพวกนี้แล้ว เราจะมาคัดเลือกเอง ถ้าเป็นหนังที่เสร็จแล้ว จะมีขั้นตอนที่เรียกว่า การขอ Screener คือการขอดูหนังที่เสร็จแล้ว เพื่อที่เราจะมาประกอบการตัดสินใจคิดว่าเหมาะกับตลาดบ้านเราไหม หลังจากที่เราเลือกได้แล้วว่าเราชอบเรื่องไหน ก็ถึงขั้นตอนทางด้านธุรกิจจะซื้อสิทธิ์แบบไหน ราคาเท่าไหร่ ตรงนี้เป็นโมเดลทางด้านธุรกิจ พอเสร็จขั้นตอนนี้ เราจะส่งหนังไปแปล Subtitle ทำให้หนังพร้อมสำหรับฉายในโรง

16-10-27-interview-documentery-club-20

พี่ธิดามองว่าอุตสาหกรรมหนังสารคดีเมืองนอกกับบ้านเราแตกต่างกันยังไง

ต่างกันโคตรมาก แต่มันมีหลายเหตุผลเพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีในการผลิตหนังมันง่าย ขั้นตอนการทำหนังออกมาเป็นไฟล์หนึ่ง ความซับซ้อนมันน้อยลง มันก็ทำให้คนผลิตหนังสารคดีกันเยอะขึ้น มีหนังสารคดีที่เกาะติดกับประเด็นร้อนของโลก ผลิตได้เร็วขึ้น ยกตัวอย่างมีสงครามในซีเรียปีที่แล้ว ปีนี้มีหนังออกมาแล้ว มันก็จะเกิดหนังแบบนี้

หนังที่คนสนใจความเป็นไปของโลกในมุมต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องใหญ่ๆ แบบสงคราม หรือเรื่องชีวประวัติคน  เรื่องราวของคนข้างๆบ้านที่น่าสนใจอะไรก็แล้วแต่ มันมีการถูกผลิตออกมาเยอะ แต่ประเทศเหล่านี้ที่เราพูดถึงมันเป็นประเทศที่โมเดลทางธุรกิจของหนังสารคดีครบ ยกตัวอย่างเช่นอเมริกามี HBO, CNN, Netflix อังกฤษก็มี BBC ซึ่งทุกคนลงทุนทำหนังสารคดีเอง ผลิตเอง ดังนั้นมันก็ทำให้คนทำหนังสารคดีมีโอกาสทำงานเยอะขึ้น ทำออกมาแล้วมีพื้นที่ฉาย หนังเรื่องไหนดูมีฟอร์มก็เอาเข้าโรงหนังก่อน แบบนี้มันมีวงจรครบ ต่างจากบ้านเรามาก

16-10-27-interview-documentery-club-16

ทำไมช่องรายการทีวี หรือโรงหนังส่วนใหญ่ ในบ้านเราถึงไม่มีสารคดีในรูปแบบนี้บ้าง?

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งเราก็ว่าไม่ได้เพราะ สารคดีทีวีในบ้านเรา เราก็จะนึกถึงสารคดีที่มีพิธีกร รายการ สารคดีสัตว์โลกหรือสารคดียิงจรวดอะไรแบบนี้ เราจะมีภาพคุ้นจำมาตลอดว่าสารคดีต้องมีความรู้ ข้อมูล วิชาการ มันไม่มีภาพความบันเทิงอยู่เลย พี่ว่าอันนี้มันเป็นภาพจำ ภาพหนึ่งที่แก้ยาก  แต่อีกสิ่งหนึ่งคือในขณะที่เวทีโลกมีตลาดหนังหลากหลายแบบ คนดูบริโภคหนังได้หลากหลาย แต่บ้านเรามันสวนทางกัน

ในขณะที่โลกมันมีหนังจำนวนมากให้เลือก แต่ในบ้านเราตลาดมันค่อยๆ แย่ลง ทุกวันนี้เราแทบไม่รู้จักหนังอะไรแล้ว นอกจากหนังฮอลลีวู้ด คือหนังญี่ปุ่นบางเรื่องที่เข้ามาฉายเรายังดูว่าเป็นหนังอาร์ต จริงๆแล้วเนื้อเรื่องก็ไม่ต่างจากละครไทยเลยด้วยซ้ำ เรายังมองว่าเป็นหนังอาร์ตหนังอินดี้ ซึ่งเมื่อย้อนไปเมื่อ 5 – 10ปีที่แล้วมันไม่ใช่แบบนี้ แต่ในระบบโรงหนังปัจจุบันก็มีหนังอยู่แค่นี้ ตลาดหนังมีอยู่เท่านี้ คนดูก็ได้ดูอยู่แค่นี้ เราเลยรู้สึกว่าหนังอย่างอื่นมันเป็นของแปลกไปหมด

16-10-27-interview-documentery-club-5

จากที่เริ่มทำ Documentary club จนถึงทุกวันนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง

จากที่ทำมา2ปี ช่วงทำแรกๆ ตามโรงหนัง ก็อาจจะยังไม่เข้าใจว่าหนังสารคดีคืออะไร ใครจะเข้ามาดู แต่พอผ่านมา 2 ปีภาพพวกนี้ไม่จำเป็นต้องอธิบายแล้วในแง่ของคนดู  พี่ก็รู้สึกว่าเวลาพี่เอาหนังสารคดีเข้ามา มีคนดูจำนวนหนึ่งรู้สึกโอเคกับมันที่จะไปเสียเงินในโรงหนัง  เพื่อจ่ายค่าบัตรในราคาที่เท่ากับหนังอื่นๆ พอเราทำแล้วมีคนเห็นในสิ่งที่เราทำแบบนี้ เราก็มีโอกาสที่จะขยาย ไปในส่วนอื่นๆที่เราอยากทำ

ตอนนี้เรามีกิจกรรมหนึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนาน จัดอยู่ที่หอศิลป์ อันนี้ก็จะเป็นหนังที่วิชาการขึ้นมานิดนึง คือหนังที่มีประเด็นทางสังคมแบบจริงจังหน่อย ฉายเสร็จมี Talk ต่อ อีกด้านหนึ่ง ก็มีคนนึกถึงเราในมุมก่อนหน้านี้ที่เราไม่เคยคิดมาก่อน คือการจัดกิจกรรมเอาหนังสารคดีของเราไปฉายในร้านเหล้า กินคราฟเบียร์ดูหนังสารคดีซึ่งถ้าย้อนไปเมื่อก่อน ใครจะนึกว่าการดูหนังสารคดีมันมีความสุข ความบันเทิงอย่างไร แต่ตอนนี้มันเกิดขึ้นแล้ว ร้านที่ว่านี้ก็จัดกิจกรรมทุกเดือน คนเต็มทุกครั้ง แล้วในอนาคตเราจะมี space สำหรับฉายหนังของเราเพิ่มขึ้นเป็นโกดังตรงข้าม Jam Factory ซึ่งเป็นโปรเจคของพี่ด้วง ดวงฤทธิ์ บุนนาค คือพี่รู้สึกว่ามันขยายไปในทางที่ตอนเริ่มต้นเราเองก็ไม่รู้สึกว่ามันจะมาได้ขนาดนี้

16-10-27-interview-documentery-club-17
ทำไมถึงเลือกหนังสารคดีเรื่อง Finding vivian Maier เข้ามาฉายเป็นเรื่องแรก

จริงๆก็เลือกอยู่หลายเรื่องน่ะ แต่ก็รู้สึกว่าเรื่อง Finding vivian maier มันคือตัวอย่างของหนังสารคดีที่มันป็อป ไม่ใช่หนังดูยากแบบว่าต้องใช้ความรู้สูงอะไรมากมาย อีกอย่างหนึ่งคือเรื่อง Finding vivian maier มันมีเรื่อง Magic เรื่องของตัวบุคคล แล้วภาพถ่ายก็โคตรสวย คือพี่รู้สึกว่าถ้าเราอยากจะทำโปรเจคเปิดตัว ว่าหนังสารคดีมันไม่ได้น่าเบื่อ ไม่ใช่หนังดูยาก ไม่ใช่หนังไกลตัว ยิ่งถ้าหนังมันมี Subject ดีๆ มันมีบางอย่างที่สัมผัสเราในเชิงของความรู้สึกด้วย ซึ่งพี่รู้สึกว่าหลายๆคนไม่เคยนึกภาพของสารคดีแบบนี้ เช่นดูหนังจบแล้วอยากจะลุกขึ้นมาถ่ายรูป คือหนังมันทำงานในเรื่องแบบนี้ได้ เราเลยรู้สึกว่าเรื่อง Finding vivian maier มันทำหน้าที่ตรงนี้ได้ จึงเลือกมา

ปกติดูหนังสารคดีไทยไหม มีสารคดีไทยที่พี่ธิดาชอบ?

คือจริงๆไม่ได้มีเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ชอบแบบชัดๆ แต่ว่าพี่ชอบกลุ่มก้อนของหนังประมาณหนึ่งมากกว่า คืออย่างตอนนี้ถ้าพูดถึงหนังสารคดีไทยก็จะมีอยู่ไม่กี่เรื่องหลายคนอาจจะรู้จักอย่างเรื่อง สายน้ำติดเชื้อ,ฟ้าต่ำแผ่นดินสูงของ เบิ้ล นนทวัฒน์  หรือ The Master ของเต๋อ นวพล แต่จริงๆ แล้วพี่ชอบวงการหนังสารคดีไทย ในช่วงก่อนรัฐประหาร คือมันเป็นช่วงที่ความคิดทางการเมืองเข้มข้น แล้วก็มีคนที่ลุกขึ้นมาทำหนังสารคดี ตอนนั้นมีสารคดีใต้ดินคือทำมาก็ไม่ได้ฉายเยอะ หลายเรื่องจะพูดเรื่องการเมืองทั้งแบบจะแจ้ง หรือ มีนัยเปรียบเทียบ คือทุกเรื่องมันไม่บันยะบันยัง อยากพูดอะไรก็พูด มีวิธีการทางภาพยนตร์แบบพิศดาลพันธุ์ลึก ซึ่งน่าเสียดายปัจจุบันหนังพวกนี้ได้หายไปหมดแล้ว

16-10-27-interview-documentery-club-12

ในระยะเวลา  2  ปีที่ทำ  Doc club  มีเรื่องไหนที่พี่ธิดาประทับใจที่สุด?

เรื่องที่พี่ประทับใจที่สุดในเชิงเรื่องราวของมันหรือวิธีการทางภาพยนตร์คือเรื่อง “CITIZENFOUR” เรื่องราวของ Edward Snowden ที่เปิดเผยนโยบายสอดแนมของอเมริกา อย่างเรื่อง Snowden ที่ฉายในโรงนี่เค้าเอากลับมาทำย้อนหลัง แต่เรื่องนี้คือ Edward Snowden ที่ตัดสินใจจะออกมาเปิดโปงรัฐบาลได้หนีไปอยู่ฮ่องกงเพราะไม่งั้นโดนจับแน่ๆ ก็รวบรวมหลักฐานทั้งหมดเขียนอีเมลไปหาผู้กำกับหญิงชื่อ Laura Poitras

สุดท้ายก็นัดกันไปถ่ายทำหนังสารคดีกันที่ประเทศฮ่องกง แล้วภาพข่าว Edward Snowden ที่ออกข่าวทั่วโลก Laura Poitrasก็เป็นคนถ่าย หนังเรื่องนี้มันคือการบันทึกเหตุการณ์สดๆ ณ วินาทีที่ Edward Snowden เปิดตัว มันแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าและผลที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากที่เค้าเปิดตัว คือเป็นหนังที่แปลกมาก การถ่ายทำแทบไม่มีอะไรเลยนอกจากตั้งกล้องถ่ายในห้องนอนโรงแรมของ Edward Snowden แต่หนังมันโคตรระทึกสุดๆ ผู้กำกับหญิงคนนี้เก่งมาก

16-10-27-interview-documentery-club-18
ช่วยแนะนำหนังสารคดีของ Doc club ที่เหมาะกับผู้ชาย

ก็ต้องเรื่อง “Oasis Supersonic” เลย แต่จริงๆมีอีกเรื่องหนึ่งชื่อเรื่องว่า “Man on wire” เป็นเรื่องของชายที่ชื่อ Philippe Petit ที่ไต่ลวดข้ามตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เรื่อง“Man on wire”มันเป็นหนังสารคดีออสการ์ทำตั้งแต่ปี 2008 คือหนังมันก็พูดถึงผู้ชายที่ดูบ้าๆ เป็นผู้ชายที่มี Passion มีความฝันในตัวเองอยู่ตลอดเวลาซึ่งหนังมันจะพูดถึงเรื่องความเป็นผู้ชายของเขาค่อนข้างชัดเจน คือเกิดมาชีวิตเดียวก็ต้องไปให้สุดเพราะคุณไม่รู้ว่าจะตายตอนไหน คุณไม่รู้หรอกว่าวินาทีที่คุณพลัดตกลงมาคุณอาจจะตายไปตอนนั้นแต่ว่าเมื่อย้อนกลับมาเราต้องไม่เสียใจกับสิ่งที่เลือกแล้วว่ากูจะต้องไปให้ถึงฝัน ซึ่งหนังสารคดีเรื่อง ”Oasis Supersonic” ก็พูดถึงเรื่องนี้เหมือนกัน

16-10-27-interview-documentery-club-19

ถ้าอยากติดตามสารคดีDocumentary clubสามารถติดตามได้ช่องทางไหนบ้าง?

หลักๆก็ทาง facebook เลยในเพจ Documentary club ตอนนี้ก็มีทยอยทำ DVD ออกมาทีละเรื่องสองเรื่อง แล้วก็มี VOD (on-demand)   คือสามารถดูได้ทางอินเตอร์เน็ต มันก็จะอยู่ใน Platform ของ MONOMAXXX ต้องไปดูในเว็ปไซต์ของ MONOMAXXX ซึ่งมีประมาณ 10 เรื่อง ทยอยๆขึ้น จะมีเรื่องใหม่ๆเข้ามาเพิ่มด้วยนิดหน่อย ตอนนี้มีเซ็นทรัลเวิลด์เป็นพื้นที่หลักที่อยากจะให้เป็นพื้นที่สำหรับหนังประเภทนี้ ตอนนี้ทาง  Documentary club  เอง ได้เอาหนังเข้ามาฉายในโรงภาพยนตร์เฉลี่ยเดือนละ 1 เรื่อง

16-10-27-interview-documentery-club-14

ทั้งหมดนี้หลังจากที่เราได้พูดคุยกับพี่ธิดา สารคดีก็คือการตีแผ่เรื่องราวความจริงที่มีสาระ ความรู้ ความบันเทิง ผ่านศิลปะการเล่าเรื่องด้วยวิธีการต่างๆนาๆ ซึ่ง UNLOCKMEN ไม่อยากให้เข้าใจว่ามันน่าเบื่อ หรือดูเพื่อกล่อมให้หลับอีกต่อไป ยังมีหนังหรือภาพยนตร์สารคดีเจ๋งๆที่น่าสนใจอีกเยอะไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวงดนตรี นักดนตรี , อาหาร , แฟชั่นหรือผู้ที่พร้อมจะตีแผ่ความจริงในทุกๆเรื่องที่เราอาจจะยังไม่รู้ ยังไงถ้าสนใจเรื่องราวของหนังสารคดีก็เข้าไปติดตามได้ที่

facebook : Documentary club

หรือสามารถเข้าไปดูออนไลน์ได้ทางเว็ปไซต์ของ monomaxxx

16-10-27-interview-documentery-club-21

Content writer : Barnabuzz Collins
UNLOCKMEN Team
WRITER: UNLOCKMEN Team
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line