DESIGN

เมื่อสีชมพูสื่อถึงความอันตราย และตุ๊กตาหมีไม่ได้น่ารักอีกต่อไป พบกับ Kazuhiro Hori ศิลปินผู้เล่าเรื่องของเด็กสาวในสังคมปิตาธิปไตย

By: GEESUCH July 31, 2022

Kazuhiro Hori เริ่มวาดรูปเด็กสาวมัธยมในชุดนักเรียนแบบกะลาสีเรือตั้งแต่ปี 2009 และมันมีความหมายแฝงที่ห่างไกลจากการสร้างความลุ่มหลงทางอารมณ์ให้คนดูยิ่งนัก

ตุ๊กตาหมีขนปุย เด็กผู้หญิงในเครื่องแบบชุดนักเรียน ขนมหวาน และสีชมพู เป็นของ 4 สิ่งที่ไม่ว่าจะอยู่ในองค์ประกอบเดียวกัน หรือแยกออกมาเป็นปัจเจกก็ให้ความรู้สึกของความน่ารักที่เปี่ยมด้วยความสดใสน่าดูเลยใช่มั้ยครับ แต่ถ้าคุณได้ดูภาพวาดจากงานของ Kazuhiro Hori ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งเหล่านี้คงไม่มีวันเหมือนเดิมได้อีกเลย 

UNLOCKMEN จะพาทุกคนไปรู้จักกับศิลปินญี่ปุ่นผู้วาดภาพที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบทั้งหมดที่เราเกริ่นมา ซึ่งตั้งใจแสดงออกถึงความลุ่มหลงทางเพศให้คนดู แต่แฝงนัยยะให้เกิดผลกระทบสร้างความแขยงต่อความคิดของการล่วงละเมิดทางเพศโดยตรง 


Kazuhiro Hori เกิดปี 1969 ในประเทศญี่ปุ่น จบจากโรงเรียนศิลปะ Kanazawa College of Art ด้วยเอกวิชาภาพวาดสีน้ำมัน (Oil Painting) ปัจจุบันโฮริมีงานหลักเป็นอาจาย์สอนวิชา Fashion Design ในมหาวิทยาลัยพร้อมกับรับงานรองสอนศิลปะกับวาดรูปไปด้วย โดยรูปแบบงานของโฮริจัดอยู่ในหมวดของศิลปินจิตกรรมสายเหนือจริง (Surrealism)  

ขอเกริ่นรูปแบบงานพร้อมชมกิตติมศักดิ์ของคุณโฮรินิดนึง โดยงานของเขาจะเล่าเรื่องของวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบเรียกว่า 100% เลยก็ว่าได้ และโฮริไม่เคยมั่นใจเลยว่างานของตัวเองจะสามารถไปในระดับ Global ได้ “งานของฉันจะถูกเข้าใจในความคิดของชาติอื่นได้มั้ย?” แต่แล้วด้วยความชัดเจนของลายเส้นและความหนักแน่นต่อสิ่งที่ต้องการจะพูด งานของโฮริมันก็ไวรัลในสายตาของคนทั่วโลกไปแล้ว ทั้งจัดแสดงในลอสแอนเจลิส, นิวยอร์ก, มิวนิค และเพิ่งมาจัดแสดงที่ประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมานี้เอง


อ่านมังงะ เสพอนิเมะ เป็นโอตาคุ

เด็กชายโฮริเริ่มวาดรูปตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ที่ยังทำเป็นแค่กำสีเทียนป้ายมั่วบนกระดาษ 1 แผ่น แต่เด็กชายคนนี้เขามีความฝันแรงกล้าว่าสักวันฉันจะต้องเป็น ‘นักวาดการ์ตูนมังงะ’ ให้จงได้ เพราะแรงบันดาลใจให้รักในศิลปะของเขาเกิดจากการเสพหนังหนังสือการ์ตูนมังงะกับการนั่งดูดูอนิเมะ พร้อมกับเริ่มวาดรูปเลียนแบบตามเหล่าตัวละครที่ตัวเองรักทั้งหลาย 

แต่พอเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัยจนได้มาเรียนเรียนศิลปะ กระทั่งจบมาทำงานเกี่ยวกับศิลปะโดยตรง การแสดงออกในงานของโฮริได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งใหม่ โดยเป็นสิ่งที่น่าจะเรียกได้ว่าเชื่อมโยงโดยตรงกับงานของเขาในยุคปัจจุบันอย่างเห็นภาพได้ชัดที่สุดแล้ว นั่นก็คือความบูชาที่เขามีให้กับผู้กำกับชื่อ Sion Sono แบบสุดหัวใจ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีสำหรับคนที่เคยดูหนังของคุณโซโนะ งานของเขาโดดเด่นในเรื่องการพูดถึงวัฒนธรรมของเด็กสาวญี่ปุ่นวัยมัธยมในรูปแบบประเด็นสุดซีเรียสอย่างการฆ่าตัวตาย, ความเชื่อในศาสนา, การถวายชีวิตให้แก่ความรัก ที่มาด้วยภาพของชุดนักเรียนแบบกะลาสีเรือเสมอ เช่น Anti Porno (2016), Suicide Club (2011), Love Exposure (2008), Tag (2015) ซึ่งก็เป็นจุดเด่นในงานของโฮริที่เราจะพูดถึงในหัวข้อต่อไป

Tag (2015)

Suicide Club (2011)

Love Exposure (2008)


เหล่าเด็กสาวในเครื่องแบบกะลาสีเรือของ Kazuhiro Hori

จุดเด่นในภาพวาดของโฮริที่ต้องมีอยู่ทุกรูป และถูกวางอยู่ในจุดที่เป็นองค์ประกอบสำคัญคือ ‘เด็กนักเรียนหญิงในชุดนักเรียนแบบกะลาสีเรือ’ การที่เขาให้พวกเธอเข้ามาวิ่งเล่น นอน เลือดออกบนภาพมีที่มาที่ไปจากการพยายามเปลี่ยนสไตล์งานของตัวเองในปี 2009 ในยุคก่อน Instagram เข้ามามีบทบาท ซึ่งตัวโฮริในตอนนั้นทำงานเป็นอาจารย์สอนศิลปะทั้งให้กับเด็กมัธยมและระดับมหาวิทยาลัย คงด้วยความที่ชีวิตรายล้อมไปด้วยเด็กผู้หญิง สายตาของเขาจึงซึมซับสิ่งนี้เข้ามาเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการวาดรูปไปโดยไม่รู้ตัว 

งานของโฮริไม่ได้แสดงถึงความสดใส เบิกบานใจ ยิ้มแย้มของกลุ่มนักเรียนหญิงในภาพยนตร์ romantic-comedy ญี่ปุ่นอย่างที่ควรจะเป็น แต่ ‘ความมืดหม่น’ คือสิ่งโทนที่เขาแสดงออกและน่าจะเป็นอีกความรู้สึกหนึ่งที่ใช้นิยามงานของโฮริด้วยเช่นกัน ซึ่งโฮริได้อธิบายความรู้สึกที่ขัดแย้งกับตัววัตถุหลักในภาพเอาไว้ว่า ตัวเขาเองมักจะมีทัศนคติเชิงลบต่อคนอื่นและสังคมอยู่เสมอ แถมยังห่วยในการเข้าสังคมมาก ๆ และพูดตามตรงจากใจเลยว่าเพราะ ‘บุคลิกภาพ’ ตรงนี้เอง ที่มีผลต่อความมืดหม่นหรือสิ่งที่น่ากลัวในงานของเขา จนเกิดเป็นการฉายภาพความเปราะบาง ความสับสน ความไร้เดียงสาของเหล่าเด็กนักเรียนในแบบของตัวเองขึ้นมา 


จินตนาการแสนหวานผสมบนกลิ่นคาวของเลือด

นอกจากเหล่าเด็กนักเรียนหญิงแล้ว งานของโฮริยังพยายามสร้างความขัดแย้งให้กับองค์ประกอบอื่น ๆ อย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ใส่เข้ามาอีก อย่างแรกเลยคือการเลือก ‘คู่สี’ ที่มีความพาสเทล ละเมียดลงสีจนได้ความหวานฉ่ำไม่เว้นแม้แต่ว่าจะเป็นสิ่งที่แสดงความน่ากลัวอย่าง ‘เลือด’ 

แต่การใส่ ‘เลือด’ เป็นความตั้งใจโดยตรงของโฮริ และที่ทำให้เลือดมีลักษณะคล้ายกับแยมสตรอว์เบอร์รีนั้น เป็นเพราะเด็กหญิงในภาพจำแบบสังคมญี่ปุ่นมักมาด้วยภาพของการกัดสตรอว์เบอร์รีเสมอทั้งในสื่อและชีวิตจริง และเลือดยังแสดงถึงความหมายว่าพวกเธอยังมีชีวิตอยู่ผ่านการนองเลือดของตัวเอง แต่ส่วนสำคัญเลยคือการพูดถึงการที่ผู้หญิงต้องใช้ชีวิตทั้งชีวิตในการคิดถึงเลือดมากกว่าผู้ชายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นเป็นตัวอย่างชัด ๆ ได้จากการเป็นประจำเดือนที่กว่าจะหายไปก็ตอนอายุ 50 ปี ไหนจะการแบกภาระการคลอดลูกที่ต้องเสียเลือดมากแทนผู้ชายอีก

อีกองค์ประกอบสำคัญของการสร้างความขัดแย้งในภาพคือ ‘ตุ๊กตา’ ถ้าสังเกตดูดี ๆ จะเห็นว่ากองทัพตุ๊กตาน้อยใหญ่ในงานของโฮริจะมีความคิวท์ขั้นสุดประดุจเป็นหมี Care Bear แต่กลับแสดงกิริยาน่ากลัวอย่างการจะกินเด็กผู้หญิงในภาพเสียอย่างนั้น ความขัดแย้งนี้สื่อถึงความหมายของความเป็น ‘มนุษย์’ ในตัวตุ๊กตา ที่แสดงออกว่าจะกินเด็กสาว จะปล่อยให้นอนเล่น หรือจะจัดการให้ตายก็แล้วแต่ความพอใจของพวกมันเอง ซึ่งเขายังสำรวจถึงความดีความชั่วหรือสิ่งที่เรียกว่า ‘ปีศาจ’ ในเวลาเดียวกันอีกด้วย


เพศสภาพที่ถูกทำให้กลายเป็นวัตถุ

สิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ และจริง ๆ เราอยากชวนทุกคนคิดถึงสิ่งนี้ตั้งแต่เริ่มเขียนคอลัมน์ของ Kazuhiro Hori คือการแสดงออกที่ชัดเจนในเรื่อง ‘เพศ’ ของเขา ซึ่งในการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้โฮริถูกถามว่า “คุณวาดงานที่แสดงออกถึงความลุ่มหลงทางเพศออกมาเพราะหลงใหลในตัวผู้หญิงรึเปล่า?” โฮริไม่ได้ตอบคำถามนี้อย่างตรง ๆ แต่เขาพูดเอาไว้ประมาณนี้

โฮริบอกว่าเขาต้องการสำรวจความเป็นผู้หญิง โดยมุมมองของเขาที่มีต่อผู้หญิงคือพวกเธอเป็นสิ่งลึกลับที่สุดในโลกของผู้ชาย ความพยายามวาดภาพของพวกเธอในรูปแบบที่ต่างกันออกไปก็เพื่อให้เข้าใจอะไรบางอย่างมากขึ้นตามไปด้วย แต่โดยนัยยะสำคัญของการทำสิ่งนี้ของโฮริคือต้องการวาดภาพให้ผู้ที่มองรู้สึกอึดอัดและไม่ปลอดภัย กับสิ่งที่โดยปกติสร้างความลุ่มหลงให้กับผู้คนโดยเฉพาะผู้ชาย และโดยเฉพาะสังคมที่มีความปิตาธิปไตยสูงของญี่ปุ่น จะพยายามโรแมนติกไซส์ให้ผู้หญิงใส่เสื้อผ้าเปิดเผยเรือนร่าง มาพร้อมเครื่องแบบต่าง ๆ เพื่อเติมเต็มแฟนตาซีทางเพศของผู้ชายจนผู้หญิงกลายเป็นวัตถุมากกว่ามนุษย์ เขาวาดเพื่อเป็นการทำงานต่อต้านกับความมืดมิดของสังคมในสายตาของตัวเอง

และโฮริไม่ได้ทำตามจุดมุ่งหมายแบบหลับตาทึกทักไปเองแล้วลุยวาดนะ เขามีการสืบค้นข้อมูลทุกครั้งที่จะลงมือทำ ทั้งถามเพื่อนร่วมงานหรือนักเรียนที่เป็นผู้หญิง แล้วนำแรงบันดาลใจที่มากับชุดข้อมูลของจริงวาดเป็นผลงานออกมา  


บทวิเคราะห์งานของ Kazuhiro Hori โดย Oliver Monaghan 

คิดว่าผู้ที่อ่านถึงตรงนี้คงได้รู้จักตัวตนผ่านผลงานของศิลปินชื่อคาซุฮิโระ โฮริเพิ่มขึ้นมากแล้ว แต่เราอยากขอยกการวิเคราะห์งานของโฮริที่เขียนโดย Oliver Monaghan ที่เป็นคอลัมน์ใน Blanc Magazine ซึ่งน่าสนใจมาก ๆ มาให้อินกันเพิ่มเติมครับ

การที่ศิลปะของ Kazuhiro Hori เล่าประเด็นเรื่องของการคุกคามผู้หญิงซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าของสังคมอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ใหม่ และในอดีตจนถึงปัจจุบันก็มีการพูดถึงเรื่องนี้ในวัฒนธรรมทั่วโลก ที่ว่าสายตาของผู้ชายเป็นตัวกำหนดให้เพศหญิงกลายเป็นวัตถุ เช่นแนวคิดอย่างการเชิดชูว่าความบริสุทธิ์ (Virgin) คือรางวัลสูงสุด ยกตัวอย่างได้จากวรรณกรรมคลาสสิกของโลกอย่าง Lolita จากปลายปากกาของ Vladimir Nabokov ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อ Sub Culture ของญี่ปุ่นในฐานะต้นกำเนิดของวัฒนธรรม Lolicon ในรูปแบบของสื่อทุกประเภท

ในงานของ Kazuhiro Hori เขาพบวิธีเล่าประเด็นในแบบของตัวเองโดยใช้นักเรียนหญิงในชุดเครื่องแบบกะลาสีเรือเป็นตัวประกอบหลัก และให้เหล่าผู้ชายถูกแทนด้วยตัวตุ๊กตาหมี ที่จะเห็นได้ว่าในบางรูปจะมีการเข้าโจมตีผู้หญิงในแบบที่ส่อโดยตรงไปในเชิงพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) 

Kazuhiro Hori ยังสามารถเล่าประเด็นของเหล่าเด็กหญิงในประเด็นสำคัญอื่น ๆ ผ่านสไตล์งานที่เรียกอย่างเฉพาะเจาะจงได้ว่า Contemporary Pop Surrealism เพื่อทำให้ประเด็นอย่างการฆ่าตัวตาย, สุขภาพจิต และวัฒนธรรมการข่มขืน (Rape Culture) ให้ดูเบาบางลงแต่เข้าถึงคนได้ง่ายกว่า ซึ่งเป็นวิธีการเล่าเรื่องที่มีชั้นเชิงระดับสากลมาก ๆ ทั้งยังสื่อได้ตรงเป้าอีกด้วยว่าประเด็นที่เขายกขึ้นมาพูดเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนได้สักที


Source :

https://www.cerclemagazine.com/en/magazine/articles-magazine/the-disturbing-paintings-of-kazuhiro-hori/https://metalmagazine.eu/en/post/interview/kazuhiro-hori-teenage-nightmareshttps://blancmagazine.com/art-culture/art/kazuhiro-hori/

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line