Life

หนังสือเต็มบ้านแต่อ่านไม่หมด อย่ารู้สึกผิด! ‘ผลวิจัยชี้ว่าหนังสือกองดองมีประโยชน์กว่าที่คิด’

By: PSYCAT August 19, 2020

“จะซื้อหนังสือมาทำไมถ้าไม่อ่าน?”
“อ่านที่มีอยู่ให้หมดก่อนแล้วค่อยซื้อเพิ่มสิ”
“โธ่ ก็แค่อยากเท่ใช่ไหม ถึงมีหนังสือไว้แค่ประดับบ้าน”

เราเชื่อว่าถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีกองดอง หรือกองหนังสือที่ซื้อมาแล้วแต่ยังไม่ได้อ่านวางดองรอวันที่เหมาะสมอยู่ที่บ้าน คุณต้องเคยเผชิญกับประโยคเหล่านี้จากคนรอบตัวอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตแน่นอน แม้เราอยากจะตอบคำพูดเหล่านั้นกลับไปง่าย ๆ ว่า “หนังสือผม เงินผม ผมจะทำอะไรก็ได้” แต่ก็ไม่ได้ทำ…

รวมถึงหลายครั้งที่เราเห็นภาพถ่ายบ้านคนเก่ง ๆ ระดับโลก Elon Musk เอย Bill Gates เอย แล้วเขามีหนังสือจำนวนมากเรียงราย หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า อ่านหมดเหรอ? วันนี้ UNLOCKMEN ชวนมาไขข้อข้องใจว่าทำไมหนังสือต่อให้ซื้อมาแล้วไม่ได้อ่านก็มีประโยชน์อยู่ดี

รับรองว่าจะรู้สึกสบายใจกับหนังสือ (ที่ยังไม่ได้อ่าน) ของตัวเองและคนอื่น รวมถึงเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมคนเก่ง ๆ หลายคนเขาถึงมีหนังสือจำนวนมากกันขนาดนั้น แม้จะอ่านได้ไม่หมดในชีวิตนี้ก็ตาม

antilibrary: หนังสือที่ยังไม่ได้อ่าน เตือนเราว่า “ยังมีเรื่องราวอีกมากที่ยังไม่รู้”

เรามักได้ยินคำพูดทำนองว่าคนอ่านหนังสือเป็นคนอวดรู้ หรือคิดว่าตัวเองรู้ดี รู้เยอะกว่าคนอื่น แต่ความเชื่อแบบนั้นอาจต้องเปลี่ยนไปแบบพลิกโลก เพราะสำหรับคนที่มีหนังสือเรียงราย แต่อ่านไม่หมด เขากลับถ่อมตัว (ในสิ่งที่เขารู้) และตระหนักว่าพวกเขายังต้องเรียนรู้อะไรอีกมาก

หนึ่งในคนที่เสนอเรื่องยิ่งมีหนังสือไม่ได้อ่าน ยิ่งกระหายการเรียนรู้คือ Nassim Nicholas Taleb เขาคือนักสถิติ และผู้บริหารกองทุน Hedge Fund  ชื่อดัง คนไทยอาจไม่ค่อยคุ้นชื่อเขามากนัก แต่เขาขึ้นชื่อเรื่องการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส หลายครั้งที่วิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ถาโถม แต่เขามักจะเป็นไม่กี่คนที่ทำกำไรมหาโหดจากวิกฤตครั้งนั้นได้ เพราะมุมมอง วิธีคิด และการนำความรู้มาใช้ในแบบที่ไม่เหมือนใคร

Nassim Nicholas Taleb ให้ความเห็นว่าการมีหนังสือจำนวนมากที่ยังอ่านไม่หมดไม่ใช่สัญลักษณ์ที่ใช้ป่าวประกาศบอกใคร ๆ ว่าคนคนนั้นเก่ง ฉลาด หรือเหนือกว่าคนอื่น ในทางกลับกันหนังสือเหล่านั้นต่างหากที่คอยย้ำเตือนเจ้าของมันว่ายังมีสิ่งที่เขาไม่รู้อีกจำนวนมาก โดนเขานิยามหนังสือกองที่ยังไม่ได้อ่านนี้ว่า ‘antilibrary’

Dunning-Kruger effect: เมื่อรู้น้อยก็มั่นใจเยอะ เมื่อรู้เยอะยิ่งมั่นใจน้อย

อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่เพียงการตั้งข้อสังเกตเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงทางจิตวิทยาพิสูจน์แล้วว่ายิ่งมนุษย์คนหนึ่งรู้น้อยเท่าไร เขาก็จะยิ่งมั่นใจในความรู้ของเขา ในขณะที่คนที่ตระหนักว่าโลกใบนี้ยังมีสารพัดสิ่งที่เขาไม่รู้อีกมาก และเข้าใจว่าตัวเองรู้น้อยเพียงไร เขาจะยิ่งอยากเรียนรู้เพิ่ม เพราะรู้ว่าตัวเองช่างรู้น้อยเหลือเกิน (จริง ๆ สิ่งนี้มีชื่อเรียกว่า Dunning-Kruger effect )

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ๆ ในแต่ละปี จำนวนเล่มของหนังสือที่ซื้อมาดองไว้ก็เพิ่มขึ้นตาม เจ้าของหนังสือจะยิ่งตระหนักว่าต่อให้อายุเพิ่มขึ้น แต่โลกใบนี้ก็ยังมีความรู้ใหม่ ๆ มีหนังสือใหม่ ๆ งอกตามมาอยู่ดี การอ่านเยอะ หรืออายุเยอะจึงไม่ได้การันตีว่าเราจะรู้เยอะตามไปด้วย หนังสือที่ยังไม่ได้อ่านจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เจ้าของหนังสือตระหนักในเรื่องนี้ และหมายความว่าพวกเขาต้องอ่านเพิ่ม เรียนรู้เพิ่ม เข้าใจว่าตัวเองเป็นมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ในโลกแห่งข้อมูลความรู้

การใช้ชีวิตทุกวันอยู่ท่ามกลางกองหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านถือเป็นส่วนสร้าง ‘ความอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญา’ ที่นำไปสู่การตัดสินใจที่จะเรียนรู้ไม่รู้จบ

Nassim Nicholas Taleb ระบุเพิ่มว่ามนุษย์เราไม่ได้เดินไปเดินมา หรือหางานทำพร้อมเรซูเม่ที่เขียนว่า “ผมไม่รู้อะไรบ้าง” แต่เรามีปฏิสัมพันธ์และต่อรองกันด้วยการบอกคนอื่นว่า “ผมรู้อะไรบ้าง” ดังนั้นในโลกที่เราบอกตัวเองและคนอื่นตลอดเวลาว่าเรารู้อะไรบ้าง จึงสุ่มเสี่ยงที่เราจะคิดว่าสิ่งที่เรารู้นั้นดีแล้ว พอแล้ว ไปจนถึงดีกว่าคนอื่น การมีเครื่องเตือนใจว่าเรายังไม่รู้อะไรนั่นเองที่จะทำใหเราตระหนักว่าเราต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต

ไม่เพียงเท่านั้นการทดลอง  Smarter Every Day (SED) ซึ่งพยายามทำความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ของมนุษย์ ยังพบว่ายิ่งเรายอมรับว่าเราไม่รู้ได้เร็วเท่าไหน เราก็จะยิ่งเริ่มต้นเรียนรู้ได้เร็วมากเท่านั้น

เติบโตในบ้านที่มีหนังสือ มีแนวโน้มรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลได้ดีกว่า

นอกจากเหตุผลเรื่องจิตวิทยาและการเรียนรู้แล้ว งานวิจัย Scholarly culture: How books in adolescence enhance adult literacy, numeracy and technology skills in 31 societies ที่ศึกษาผู้ใหญ่ 160,000 จาก 31 ประเทศพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ตอนเด็กอาศัยอยู่ในบ้านที่มีหนังสือมากเท่าไหร่ เขาก็เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เชี่ยวชาญ 3 ประเด็นสำคัญมากเท่านั้น โดยความเชี่ยวชาญ 3 อย่างนั้น ได้แก่ อัตราการรู้หนังสือ (Literacy) คณิตศาสตร์ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อสื่อสารและรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

มีหนังสือเท่าไหนถึงจะเรียกว่าโตมาในบ้านที่มีหนังสือมาก? จากงานวิจัยผู้ที่โตมาในบ้านที่มีหนังสือราว ๆ 80 เล่ม จะส่งผลต่อความเชี่ยวชาญในระดับ “ค่าเฉลี่ย” และประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นตามจำนวนหนังสือ ไปจนถึงคนที่วัยเด็กอยู่ในบ้านที่มีหนังสือ 350 เล่ม เมื่อจำนวนหนังสือมากกว่านั้นก็ไม่ได้ส่งผลอะไรเพิ่มเติม

ดังนั้นคงพอเข้าใจได้ว่าการที่เด็กแต่ละคนโตมาในบ้านที่มีหนังสือเรียงราย ไม่ได้แปลว่าพวกเขาอ่านมันจนหมด แต่อาจหมายถึงการที่หนังสือที่กองอยู่มีส่วนทำให้เขาตระหนักว่าโลกใบนี้มีความรู้ มีข้อมูลอยู่อีกสารพัดสารพัน เกินกว่าจะรีบด่วนสรุปว่าเรารู้อะไรมากพอแล้ว หรือรู้ดีอยู่แล้ว

UNLOCKMEN เชื่อว่าเป็นสิทธิทุกประการของมนุษย์ที่จะซื้อหนังสือมาอ่านให้หมดทุกเล่ม หรือซื้อมาแล้วอ่านได้บ้าง ยังไม่อ่านบ้าง เพราะจริง ๆ หนังสือเองก็มีหลากหลายฟังก์ชันในตัวเอง ทั้งการอ่านเพื่อความรู้ ความบันเทิง การมีหนังสือไว้เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลเมื่อต้องการใช้ การมีหนังสือไว้เพื่อเปิดดูภาพ ดูดีไซน์ แม้กระทั่งสัมผัสวัสดุพื้นผิวเพื่อสุนทรียภาพ ฯลฯ การอ่านหรือการครอบครองหนังสือในแบบไหนย่อมทำได้ตราบที่ไม่ละเมิดใคร

โดยเฉพาะเมื่อสายดองหนังสือมักถูกตำหนิหรือต่อว่า เราอยากบอกว่าเลิกโบยตีตัวเองเถอะ หนังสือนอกจากมีไว้เพื่ออ่านแล้ว หนังสือยังมีประโยชน์อื่น ๆ แม้จะตั้งอยู่เฉย ๆ ก็ตาม อย่างน้อยกองหนังสือที่เพิ่มขึ้นทุกวันก็ทำให้เราตระหนักในความไม่รู้ของตัวเอง และผลักดันตัวเองให้ยังหาความรู้ต่อไป

SOURCE  1, 2 , 3, 4

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line