Life

LONELY IN LOCKDOWN? เอาชนะความเหงาอย่างไรเมื่อต้องปิดเมือง ห่างไกลผู้คน และจมปลักกับตัวเอง

By: unlockmen April 10, 2020

บอกเลยว่าการเว้นระยะห่างจากสังคม (Social Distancing) นั้นดูเด็กไปเลยถ้าเทียบกับการห้ามเดินทางเข้า-ออกและปิดเมือง (Lockdown) แม้มาตรการนี้จะสร้างขึ้นเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ช่วยชีวิตผู้ป่วยมหาศาล และลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่อีกด้านหนึ่งมาตรการดังกล่าวก็ทำให้หนุ่ม ๆ หลายคนต้องจมปลักอยู่ที่บ้าน ไม่ได้พบปะสังสรรค์กับผู้คน และขาดการปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพอย่างชัดเจน ซ้ำร้ายเมื่อผู้นำประเทศประกาศปิดเมืองอย่างจริงจัง ยิ่งทำให้มวลความเหงาแทรกซึมไปทั่วทุกพื้นที่แบบไร้อาณาเขต จนผู้ชายบางคนถูกความเหงากัดกินและรันโรมโจมตีจิตใจเข้าอย่างจัง

ความเหงาเป็นเหมือนช่องว่างตรงกลางระหว่างสิ่งที่เราต้องการจากคนอื่นกับสิ่งที่เราได้รับจากคนอื่น เมื่อเราต้องการบางสิ่งบางอย่างจากเพื่อน ครอบครัว หรือคนรัก แต่กลับไม่ได้รับสิ่งนั้นมักจะทำให้เรารู้สึกเหงาขึ้นมาดื้อ ๆ แต่ระหว่าง ‘ความเหงา’ กับ ‘สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม’ มีเส้นบาง ๆ กั้นอยู่

ขณะที่ความเหงานิยามถึงความรู้สึกฟุ้งซ่านอันเนื่องมาจากการอยู่คนเดียวและไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้อื่น สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมกลับเกิดขึ้นต่อเมื่อเราขาดการติดต่อจากผู้อื่นเป็นระยะเวลานาน ซึ่งนั่นไม่ได้แปลว่าเราต้องรู้สึกเหงาเสมอไป แต่น่าแปลกที่มาตรการเว้นระยะห่างจากสังคม (Social Distancing) รวมทั้งมาตรการปิดเมือง (Lockdown) เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 กลับทำให้ใครหลายคนรู้สึกเหงาได้เหมือนกัน

เพราะ ‘ความเหงา’ ไม่ใช่เรื่องเล็ก  

เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่รวมกัน เมื่อต้องแยกห่างจากกันเป็นระยะเวลานานแล้วทำให้รู้สึกเหงาก็คงไม่แปลกอะไร แต่มวลความเหงาที่ก่อตัวขึ้นในช่วงนี้นั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก ถึงขั้นที่รัฐบาลอังกฤษต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความเหงา (Minister for Loneliness) อย่างเป็นทางการ เพื่อจัดทำกลยุทธ์บรรเทาความเหงาของประชาชนและสนับสนุนโครงการที่สร้างการเชื่อมต่อระหว่างประชาชนในช่วงที่ไวรัส COVID-19 ระบาดหนักเช่นนี้

งานวิจัยหลายร้อยชิ้นในช่วง 50 ปีให้หลังยังยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ความรู้สึกเหงาเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ด้านลบของสุขภาพ รวมทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ และโรคซึมเศร้า นักวิจัยพบว่าความเหงารบกวนการนอนหลับ รบกวนการตอบสนองของร่างกาย ทำให้สมองรู้สึกอยากคล้ายกับความหิว และเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเทียบได้กับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีแนวโน้มที่ความเหงาของคนจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตอีกด้วย

4 วิธีเอาชนะความเหงาด้วยตัวเอง

แบ่งปันความเหงา: เชื่อว่ามีหลายคนรู้สึกอายเมื่อต้องป่าวประกาศให้ใครรู้ว่าตัวเอง “เหงา” แต่การแบ่งปันความเหงากับเพื่อนหรือคนรอบข้าง อาจช่วยให้คุณเจอเพื่อนเหงาและช่วยทุเลาความรู้สึกเหงาของกันและกันได้ วิธีนี้เป็นการสร้างช่วงเวลาสั้น ๆ ของการเชื่อมต่อกับคนอื่นที่จะทำให้คุณเอาชนะความเหงา แถมหลังจากที่มาตรการ Lockdown จบลง ความสัมพันธ์ทางสังคมของคุณก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ด้วย

เปลี่ยนนิสัยใหม่: ถ้ารู้สึกเหงาปานจะขาดใจ แต่ให้ตายอย่างไรก็ไม่ยอมทักไปหาใครอยู่ดี เราแนะนำให้คุณลองเปลี่ยนแปลงนิสัยตรงนี้สักนิด เผื่อจะช่วยคลายความเหงาเปล่าเปลี่ยวในใจได้ ลองสละเวลาชีวิตเพียงไม่กี่นาทีเพื่อพูดคุยกับเพื่อน คนรัก หรือคนในครอบครัวผ่าน Skype, Facebook Messenger, Zoom และ FaceTime เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยสร้างการเชื่อมต่อที่ดีและจัดการความเหงาได้ดีในเวลาเดียวกัน

หากิจกรรมคลายเหงา: หากการเล่นเกม ดูซีรีส์ และอ่านหนังสือช่วยคลายเหงาไม่ได้สักนิด ลองหากิจกรรมใหม่ ๆ ทำดูบ้าง อาจเป็นการปลูกต้นไม้, ฟังเพลง lo-fi, สวดมนต์, ออกกำลังกาย, ทำอาหาร หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่คุณไม่เคยทำมาก่อน ไม่เพียงช่วยลดความเหงา แต่มันยังช่วยให้คุณค้นหาตัวเองเจอว่าคุณสามารถทำอะไรได้อีกบ้าง และอาจเจองานอดิเรกใหม่ ๆ ที่คุณหลงรักที่สุดในชีวิตเลยก็ได้

หยุดความคิดเชิงลบ: ใครที่กำลังตอกย้ำตัวเองทุกวี่วันว่า เหงา ๆ ๆ ๆ ๆ เราอยากให้คุณดึงตัวเองออกมาจากตรงนั้นและเลิกจมกับความคิดเชิงลบที่บั่นทอนความรู้สึกตัวเอง จงจัดการและแทนที่ความคิดเชิงลบด้วยความคิดเชิงบวก โปรดยอมรับว่าความเหงาเป็นเรื่องปกติในชีวิต ไม่ใช่แค่คุณ แต่คนทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับความรู้สึกเหงาแบบเดียวกันนี้ทั้งนั้น

ความเหงาโดยสังเกต

งานวิจัยของ Joanna Witowska จาก University of Warsaw ระบุว่าความสามารถในการควบคุมตนเองจะช่วยรับมือกับผลกระทบของความเหงาและความเบื่อหน่ายขณะที่ต้องอยู่ในห้องคนเดียวได้ งานวิจัยชิ้นนี้ทดสอบโดยให้อาสาสมัคร 99 คน เข้าไปอยู่ในห้องเพียงลำพังร่วม 8 นาที ก่อนถามความรู้สึกและปฏิกิริยาทางอารมณ์ต่อสถานการณ์นี้ของพวกเขา

ผลปรากฏว่ากลุ่มคนที่สามารถควบคุมอารมณ์ในชีวิตประจำวันของตัวเองได้ดีเป็นทุนเดิม แทบไม่รู้สึกว่าเวลา 8 นาทีนี้ยาวนานอะไรแถมไม่รู้สึกเหงาหรือเบื่อหน่ายอีกด้วย ในทางตรงกันข้ามกลุ่มคนที่มีอารมณ์ขึ้น-ลงง่ายในแต่ละวัน กลับรู้สึกเหงา เบื่อหน่าย และหวาดกลัวต่างจากกลุ่มแรกอย่างสิ้นเชิง

งานวิจัยนี้จึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่พิสูจน์ว่าเราสามารถจัดการกับความรู้สึกไม่พึงประสงค์หรือความเหงาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง แต่การจะควบคุมตัวเองให้ประสบความสำเร็จได้นั้นเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง ทั้งอารมณ์ ความคิด สภาพแวดล้อม หรือแม้แต่การปรับโครงสร้างทางสมองที่เป็นปัจเจกบุคคล

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกเหงาเมื่อต้องเว้นระยะห่างจากสังคม หรือเหงายิ่งขึ้นเมื่อรู้ข่าวว่าเร็ว ๆ นี้อาจต้องใช้มาตรการ Lockdown อย่างจริงจัง โปรดรู้เอาไว้ว่าคุณไม่ได้เผชิญหน้ากับความเปล่าเปลี่ยวเดียวเดียวดายแต่เพียงผู้เดียว เพราะผู้คนนับล้านทั่วโลกก็รู้สึกไม่ต่างจากคุณ แต่มวลความเหงาที่มากเกินพอดีอาจนำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพและอารมณ์ได้

จากที่เคยบ่นว่าชีวิตวุ่นวายไม่มีเวลาว่าง ช่วงที่อยู่คนเดียวแบบนี้อาจมีเวลามากพอให้คุณได้คิดหรือทำอะไรหลาย ๆ อย่างก็ได้ UNLOCKMEN อยากชวนหนุ่ม ๆ มาสำรวจตัวเองว่าคุณสามารถจัดการกับความเหงาของตนได้ในระดับใด แล้วถ้าใครมีวิธีจัดการกับความเหงาแบบเจ๋ง ๆ ก็อย่าลืมคอมเมนต์มาบอกกันด้วยล่ะครับ

 

COVER SOURCE , SOURCES: 12

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line