World

สิ้นตำนานแห่งผู้สร้างคาสเซทท์เทปผู้ยิ่งใหญ่!! ย้อนรอยจุดเริ่มต้นและบทบาทของตลับเทปขนาดพกพาในปัจจุบัน

By: unlockmen March 12, 2021

ในยุคปัจจุบัน ฟอร์แมทในการฟังเพลงนั้นมีรูปแบบมากมาย แต่หนึ่งในฟอร์แมทที่สำคัญที่คนยุค 80s-90s ต่างพากันรู้จักกันดีนั่นก็คือการฟังเพลงผ่านคาสเซ็ทท์เทปนั่นเอง หลายท่านที่ผ่านยุคนั้นต่างนึกถึงอดีตอันงดงามไม่ว่าจะเป็นการใช้ปากกาในการกรอเทป / อัดเพลงที่ชอบให้คนที่แอบรักฟัง หรือจับมันโยนใส่ตู้เย็นเมื่อฟังจนเทปยาน

แต่ผู้อยู่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของวงการเพลงนี้หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าเป็นใคร อีกทั้งเราเพิ่งทราบข่าวร้ายถึงการจากไปในวัย 94 ของปู่ Lou Ottens บุคคลผู้เปรียบได้ดั่งบิดาของคาสเซ็ทท์เทป จึงอยากจะขอใช้พื้นที่นี้ทำการอำลาอาลัย และถ่ายทอดเรื่องราวต้นกำเนิดของตลับเทปจากอดีต รวมถึงบทบาทของมันในโลกยุคดิจิทัล ณ ปัจจุบันนี้ให้ได้อ่านกัน

 

จากการฟังเพลงอันเทอะทะ ปฏิวัติสู่การฟังเพลงแบบพกพา

ในยุคแรกเริ่มของการฟังเพลงในยุค 50s-60s หลายคนน่าจะคุ้นเคยการฟังเพลงจากแผ่นเสียง Lou Ottens วิศวะกรชาวดัตช์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เองก็เช่นกัน ที่เขารู้สึกว่าการฟังเพลงในยุคนั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบาก กว่าจะได้ฟัง หากคุณไม่นั่งฟังนอนฟังอยู่ที่บ้านจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงหรือวิทยุเครื่องใหญ่โตมโหฬาร คุณก็แทบไม่มีโอกาสได้สัมผัสอรรถรสแห่งเสียงดนตรีนี้

กระทั่งเขาได้ทำงานที่บริษัท Philips ในปี 1952 เขาเห็นเครื่องบันทึกเสียงที่ชื่อ “Magnetophon” ของประเทศเยอรมัน ที่เป็นเครื่องอัดเสียงแบบ Reel-to-Reel แต่ก็มีขนาดที่ใหญ่และราคาค่อนข้างสูงเช่นกัน

โดยแรกเริ่มนั้นมาจากความบังเอิญที่เครื่องอัดเสียงนั้นพังจนไส้เทปรีลนั้นพันกันยุ่งเหยิงเขาจึงค้นคว้าหาทางจัดระเบียบเจ้าเครื่องเทอะทะนี้ให้สะดวกและเล็กที่สุดให้จงได้ เขาจึงใช้เวลานานถึง 8 ปี เพื่อคิดค้นเครื่องบันทึกเสียงแบบพกพาจนเทปคาสเซ็ทท์ม้วนแรกได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลกในงานแสดงสินค้าที่กรุงเบอร์ลินในปี 1963 ด้วยสโลแกนที่ว่า “เล็กกว่าซองบุหรี่” ซึ่งแน่นอนมันได้สร้างความตื่นตะลึงอย่างมาก ในฐานะอุปกรณ์บันทึกเสียงที่จิ๋วแต่แจ๋ว แถมยังคุณภาพเสียงดีเกินคาดจนสามารถเอาเพลงจากแผ่นเสียงมาใส่ในม้วนเทปนี้ได้คุณภาพเสียงไม่ต่างกัน มันจึงเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคต เพราะแต่นี้ต่อไปคุณจะสามารถพกพาบทเพลงที่คุณโปรดปรานใส่ในกระเป๋า และสามารถฟังมันได้ทุกที่ยามที่คุณต้องการ

Pic Source: History

แทนที่จะเก็บสิ่ง ๆ นี้ไว้เป็นลิขสิทธิ์ส่วนตัว Lou Ottens กลับเรียกร้องให้ Philips ให้สิทธิ์ในการคิดค้นของเขาให้เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมและเข้าถึงผู้คนในวงกว้าง Philips จึงจับมือกับ Sony เพื่อพัฒนาอุปกรณ์แห่งการบันทึกเสียงนี้ไปด้วยกัน จนมันสามารถสร้างยอดขายให้กับอุตสาหกรรมนี้ถึง 1 แสนล้านชิ้นทั่วโลก

ซึ่งคาสเซ็ทท์เทปในตอนแรกก็คุณภาพเสียงไม่ได้ดีมากนัก แต่ก็ค่อย ๆ พัฒนาจนกลายร่างเป็น 1 ในนวัตกรรมแห่งเสียงเพลงที่สร้างทั้งมูลค่าและคุณค่าต่อนักฟังเพลงในเวลาต่อมา รวมไปถึงเครื่องเล่นเทปที่ค่อยย่อส่วนจนกลายร่างเป็นเครื่องเล่นซาวด์อะเบาท์ Walkman เครื่องเล่นพกพาแบบพกพาในปี 1979 ที่เป็นหนึ่งใน item ยอดฮิตของนักฟังเพลงในยุค 80s ที่ใครมีถือว่าโก้ไม่ใช่น้อย

 

บทบาทของเทปคาสเซทท์ในปัจจุบัน

มีเกิดย่อมมีดับ เมื่อคาสเซ็ทท์เทปค่อย ๆ เสื่อมความนิยม โดยมีนวัตกรรมใหม่เข้ามาแทนที่ นั่นก็คือ Compact Disc หรือ CD นั่นเอง โดย CD แผ่นแรกได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1979 ซึ่งผู้ที่ร่วมประดิษฐ์คิดค้นก็ไม่ใช่ใครคุณปู่ Lou Ottens อีกนั่นแหละ ที่ช่วยปรับแต่งเสียงให้ใสชัดกิ๊ง และ CD ก็ปฏิวัติวงการดนตรีอีกรอบจนสามารถทำยอดขายได้ถึง 2 แสนล้านแผ่น และยังเป็น 1 ในนวัตกรรมที่ยังนิยมอยู่ในปัจจุบัน

แต่คาสเซ็ทท์ก็ไม่ต่างกับแฟชั่นเมื่อมันค่อยๆดับแสงในยุค 2000s แต่สุดท้ายก็เหมือนไวนิลที่วกกลับมาเป็นให้เหล่านักสะสมได้จับจองกัน โดยเฉพาะ Generation Z ที่ตอบรับกับฟอร์แมทนี้ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ในยุคที่บทเพลงกลายร่างเป็นสัญญาณทางอากาศที่ฟังผ่าน มันน่าตื่นเต้นสำหรับคนยุคใหม่เมื่อพบว่ามันทำได้ทั้งเครื่องเล่นเพลง และเครื่องอัดในเวลาเดียวกัน ซึ่งแผ่นเสียงหรือซีดีไม่อาจทำได้ โดย Keith Richards มือกีตาร์แห่ง The Rolling Stones เคยกล่าวถึงนวตกรรมของคาสเซทท์นี้ว่า “มันสะดวกมาก ๆ ข้าเคยกดอัดเสียงตัวเองนอนกรนเป็นเวลา 40 นาทีด้วยนะ”

ซึ่งยอดขายของคาสเซ็ทท์ก็ค่อยๆโตวันโตคืนจากช่วงปี 2017 ที่ยอดขายกลับมาปังในอเมริกาถึง 174.000 ตลับและสูงขึ้นอีก 23% ในปีต่อมา แถมยังมีการจัดเทศกาลอย่าง Cassette Store Day ที่เหล่าศิลปินมากมายต่างจัดคาสเซ็ทท์อัลบั้มเวอร์ชั่นพิเศษให้เลือกสรร และศิลปินอย่าง Bjork / Taylor Swift / Jay-Z / The Weeknd /  AC/DC และ Billie Eilish ต่างก็ขานรับปรากฏการณ์นี้ด้วยการออกฟอร์แมทคาสเซทท์เคียงคู่ไวนิล และ ซีดี กันอย่างเอิกเกริก รวมไปถึงศิลปินไทยหลายรายต่างก็เริ่มทยอยออกอัลบั้มในฟอร์แมทนี้เช่นกัน

Pic Source: The Vinyl Factory

ถึงแม้ว่าปู่ Lou Ottens ผู้คิดค้นคาสเซ็ทท์จะเคยเอ่ยปากยอมศิโรราบให้กับ CD ด้วยเสียงที่ดีกว่า แต่สำหรับนักสะสมแล้ว คาสเซ็ทท์เทปยังถือเป็นสิ่งยึดเหนียวจิตใจของนักฟังเพลง โดยเฉพาะนักฟังเพลงรุ่นเยาว์ที่ต้องการสนับสนุนศิลปิน ด้วยเพราะราคาที่ย่อมเยาว์กว่าและส่วนใหญ่พวกเขาซื้อเก้บไว้เฉย ๆ น้อยรายนักที่จะเอามาฟัง มันจึงกลายร่างเป็นของที่ระลึกมากกว่าจะเป็นเครื่องเล่นเพลงเหมือนในอดีต

ดังนั้นการจากไปของปู่ Lou Ottens ในวัย 94 ปี เมื่อวันที่ จึงไม่ใช่การจากไปอย่างสูญเปล่า แต่ยังสร้างคุณูปการสำคัญให้ทั้งนักฟังเพลง นักดนตรี และอุตสาหกรรมเพลงให้เติบโตอย่างยิ่งใหญ่ตราบจนปัจจุบัน UNLOCKMEN ต้องขอขอบคุณ และขอไว้อาลัยให้กับการจากไปของคุณปู่ผู้สร้างความทรงจำอันงดงามของดนตรีไว้ ณ โอกาสนี้

 

Source: 1 / 2 / 3 / 4

Cover Pic Source:  belgaimage

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line