Business

LVCC LOOP บัตรผ่านสู่การเป็นมหาเศรษฐีใบต่อไปของ ELON MUSK

By: anonymK May 23, 2019

ไม่ว่าจะจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปเสียหมดสำหรับ Iron Man ในชีวิตจริง หรือหนุ่มอีลอน มัสก์ แม้หลายช่วงที่ผ่านมาจะเจอมรสุมจากการทวิตไม่หยุดหย่อน แต่แค่ระยะเวลาไม่ถึงครึ่งปี 2019 เขาก็กลับมาท็อปฟอร์มคืนบัลลังก์อีกครั้งจากการปิดจ็อบเซ็นสัญญาล่าสุดกับลาสเวกัสเพื่อทำอุโมงค์ความเร็วสูงที่ใช้ชื่อว่า “LVCC LOOP” ด้วยบริษัทที่เพิ่งเปิดมา 2 ปี อย่าง Boring Company ได้สำเร็จ โดยเซ็นด้วยมูลค่าสูงถึง 48.6 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1,554 ล้านบาท

พื้นที่สำหรับสร้างโปรเจกต์อุโมงค์อีลอนในลาสเวกัสครั้งนี้อยู่ที่ศูนย์ประชุมลาสเวกัส หลังจากที่โปรเจกต์ของอีลอนเข้ามาเสียบแก้ปัญหาได้ทันเวลาช่วงการบูรณะพอดิบพอดี เพราะบริษัทที่เคยรับผิดชอบดันล้มละลาย เขาจึงปรับหางเสือแก้รูปแบบการขนส่งจากระบบรถรางที่เคยคิดจะทำมาเป็นระบบ Hyperloop ของอีลอนแทน โดยใช้ชื่อว่า “LVCC LOOP” ซึ่งย่อมาจาก The Las Vegas Convention Center Loop

แม้ตอนนี้ยังไม่มีประกาศออกมาว่าทาง Boring Company จะใช้รถโมเดลไหนวิ่งในอุโมงค์ แต่ที่แน่ รถคันนั้นต้องเป็นรถที่ใช้ไฟฟ้าเพราะป้องกันเรื่องภาวะสันดาปของรถเพื่อป้องกันการสร้างมลพิษภายในอุโมงค์ พอบอกอย่างนี้ก็คงมองภาพออกว่าหนีไม่พ้นภาวะอัฐยายซื้อขนมยาย ดังนั้น เมื่อสร้างสำเร็จบางทีที่ศูนย์ประชุมแห่งนี้อาจจะเต็มไปด้วยรถของ Tesla 

48.6 ล้านดอลลาร์จะได้อะไรข้างในบ้าง

จ่ายเงินไปเยอะจะได้อะไรบ้าง ยังไงก็เป็นสิ่งที่หลายคนอยากรู้ เรื่องนี้แม้เราไม่ได้สืบลึกถึงรายละเอียด แต่จากข้อมูลที่เผยมาของเว็บไซต์ The Verge ระบุว่าระบบ LVCC LOOP ประกอบด้วย 2 อุโมงค์เดินรถ และ 3 สถานีตามฮอลล์ต่าง ของศูนย์ประชุมเพื่อเดินทาง รวมทั้งยังมีอุโมงค์สำหรับเดินเท้าเสริมด้วย ดังนั้น ถ้าให้จินตนาการภาพมันก็จะคล้ายกับรังมด อาจจะไม่พรุนขนาดนั้นแต่ก็มีเส้นทางเชื่อมถึงกันทุกช่องทาง ซึ่งถ้าสามารถเดินทางได้ด้วยความเร็วก็นับว่าคุ้มค่าอย่างยิ่ง

ทำไมลาสเวกัสถึงถูกใจสิ่งนี้

ขณะที่ Boring Company เดินหน้าขายโครงการ Hyperloop ไปให้กับรัฐบาลและเอกชนหลายเจ้า LVCC เป็นเจ้าแรกที่ยอมตกลง เซ็นสัญญาจ่ายมูลค่ามหาศาลด้วยระยะทางสั้น กับเงินราคาหลักพันล้าน เราวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะปัจจัยจาก 3 เหตุผลหลักต่อไปนี้

  1. Las Vegas เป็นเมืองที่ก้าวสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว หลายคนรู้กันดีว่าเวกัสเป็นเมืองแสวงโชค และมีฉายาว่า “Sin City” การมาถึงของนวัตกรรมชิ้นนี้จากมัสก์จะกลายเป็นซิกเนเจอร์ใหม่ที่ช่วยลบภาพลักษณ์มุมลบของ Las Vegas ออกไป และยังเหมาะสมกับการจัดงาน CES ซึ่งเป็นงานด้านนวัตกรรมด้วย
  2. ตอบโจทย์พื้นที่แออัด เพราะ Las Vegas คือเมืองแออัด ไม่สามารถเพิ่มพื้นที่สำหรับการสัญจรเพื่อรองรับคนปริมาณมากได้ ดังนั้น ระบบขนส่งใต้ดินจะกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการขนส่งสาธารณะรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น
  3. ตอบโจทย์เรื่องค่าใช้จ่ายเพราะตามสัญญาการสร้างจะจ่ายแค่เพียงหนึ่งในสามของราคาจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น อีกสองส่วนที่เหลือจะจ่ายตอนรับมอบงานเมื่อเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น ความเสี่ยงเสียเงินก้อนจึงค่อนข้างต่ำและน่าไว้วางใจ

หลังจากไฟเขียวงบประมาณแล้ว เฟสต่อไปคือดำเนินการสร้างที่จ่อคิวกำหนดไว้ที่ปลายปีหน้า (2020) ซึ่งสัญญาฉบับนี้ยังไม่ระบุวันรับมอบงานไว้ตายตัว แต่อย่างที่เรารู้ว่าถ้ายิ่งช้าก็ยิ่งจมทุน ดังนั้น ทางอีลอนคงต้องรีบทำให้เสร็จไว  เพื่อป้องกันงบบานปลายจากการเดินเครื่องเจาะ

ถึงเหมือนข้อเสียช่วงแรกจะเทมาที่หนุ่มอีลอนมากกว่า แต่ด้วยเงินระดับนี้ถือว่าเล็กน้อยมาก เนื่องจากงานนี้ถือเป็นงานพิสูจน์ความสามารถของ Boring Company เพราะหากผ่านฉลุยเราเชื่อว่ามันจะเป็นตั๋วทองที่ทำให้ได้รับโปรเจกต์อื่นตามมา

 

โอกาสดี แบบนี้เฮียมัสก์คงไม่ยอมปล่อยให้พลาดอย่างแน่นอน

 

SOURCE: 1 / 2

Cover Photo by: Tvsdesign/Design Las Vegas and The Boring Company

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line