World

FAKE SMILE: เมื่อนักประสาทวิทยาวิจารณ์ว่า “รอยยิ้มโมนาลิซาหลอกลวง”

By: unlockmen June 7, 2019

รอยยิ้มคือตัวแทนความรู้สึกที่ครอบคลุมอารมณ์หลากหลาย อย่างที่รู้กันดีว่าแต่ละรอยยิ้มล้วนมีนิยามต่างกัน แต่มีอยู่รอยยิ้มหนึ่งที่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครกล้านิยามความหมาย รอยยิ้มของสุภาพสตรีที่แฝงไปด้วยปริศนา รอยยิ้มอันโด่งดังที่ทำให้คนงุนงงและครุ่นคิดมากว่า 5 ศตวรรษ เป็นรอยยิ้มที่ถูกจารึกไว้บนหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลปะ

ภาพวาดที่ทิ้งความสงสัยเอาไว้หลายชั่วอายุคน

เจ้าของรอยยิ้มที่ว่าคือโมนาลิซา สตรีแห่งเมืองฟลอเรนซ์ที่ปรากฏกายอยู่บนภาพเขียนของ เลโอนาร์โด ดา วินชี ภาพเขียนสีน้ำมันบนพื้นไม้ภาพนี้มีความสูง 77 เซนติเมตร กว้าง 53 เซนติเมตร และถูกขนานนามว่าเป็นภาพที่ล้ำค่าที่สุดในโลก

ด้วยความเย้ายวนชวนหลงใหลจากทักษะการสร้างสรรค์เฉดสีให้ออกมาคลับคล้ายคลับคลามนุษย์ตัวเป็น ๆ บวกกับอัตราส่วนทองคำที่สร้างความสมดุลและสมบูรณ์ให้กับภาพ พร้อมฝีมือการสะบัดฝีแปรงอย่างประณีตบรรจงของจิตรกรเอกแห่งยุค ทำให้โมนาลิซากลายเป็นภาพวาดที่ทรงอิทธิพลที่สุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 และเป็นตัวแทนของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (The Renaissance Period)

จากรอยยิ้มปริศนาที่ฝากเอาไว้บนภาพนี้ แม้จะถูกวาดมาแล้วกว่า 500 ปี แต่ก็ทำให้ภาพเต็มไปด้วยคำถามและน่าค้นหาอยู่เสมอ ในขณะที่รอยยิ้มของโมนาลิซาถูกวิเคราะห์และตีความไปต่าง ๆ นานา เหล่านักประสาทวิทยากลับมองว่ารอยยิ้มของเธอเป็นรอยยิ้มจอมปลอม

mirror.co.uk

เมื่อโมนาลิซาไม่ได้มีรอยยิ้มจริงใจ

Dr. Luca Marsili, Dr. Lucia Ricciardi และ Matteo Bologna สามนักประสาทวิทยาที่ศึกษาโครงสร้าง การเจริญเติบโต และระบบประสาทของมนุษย์ ร่วมกันทำวิจัยเพื่อตรวจสอบความสมมาตรของริมฝีปากและกล้ามเนื้อบนใบหน้าของโมนาลิซา หวังจะเพิ่มความเข้าใจเชิงลึกให้คนรุ่นหลังได้รู้ซึ้งถึงแก่นแท้ของงานศิลปะคลาสสิก

มีการทดลองให้อาสาสมัคร 42 คน ใช้จินตนาการมองไปที่กระจกซึ่งปรากฏภาพรอยยิ้มของโมนาลิซาทั้ง 2 ด้าน พร้อมใช้ความรู้สึกเป็นตัวสัมผัส ผลที่ได้คือ 39 คน หรือ 92.8% คิดว่ารอยยิ้มครึ่งซ้ายของเธอโค้งไปด้านบนเล็กน้อยและนั่นแสดงออกถึงความสุข

ในทางตรงกันข้ามรอยยิ้มด้านขวาของเธอกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น มี 35 คนคิดว่ารอยยิ้มด้านขวาของเธอดูไม่ยินดียินร้าย 5 คนคิดว่ามันดูน่ารังเกียจ ส่วนอีก 2 คนมองว่ามันบ่งบอกถึงความเศร้า

festival.co.nz

ทีมนักวิจัยยังใช้ทฤษฎีจิตวิทยาอารมณ์ในการตีความรอยยิ้มของเธอ มีการค้นคว้าความสัมพันธ์ระหว่างระบบประสาทและกระบวนการทางจิตที่มีผลต่อรอยยิ้ม ซึ่งพวกเขาคิดว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ หากใครบางคนได้รับคำสั่งให้นั่งนิ่ง ๆ หลายชั่วโมงและยังคงรักษารอยยิ้มที่จริงใจและมีความสุขเอาไว้ได้ตลอด

แถมกล้ามเนื้อใบหน้าส่วนบนของโมนาลิซาก็ไม่ได้แสดงออกว่าเธอกำลังยิ้มอย่างมีความสุข เพราะถ้าคนเรายิ้มแก้มจะยกตัวขึ้นและกล้ามเนื้อรอบดวงตาจะหดตัวลง แต่ที่เห็นในภาพมันไม่ได้เป็นแบบนั้น จากงานวิจัยของพวกเขาทั้งสามที่ปรากฏในวารสาร Cortex ฉบับล่าสุด เผยว่าผู้หญิงบนภาพวาดสีน้ำมันชื่อดังคนนี้อาจไม่ได้ยิ้มอย่างมีความสุขแบบที่หลายคนคิด

Guillaume Duchenne นักประสาทวิทยาชาวฝรั่งเศสในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็เคยกล่าวไว้ว่า “รอยยิ้มที่ไม่สมมาตรสะท้อนความรู้สึกที่ไม่ใช่ของแท้ และรอยยิ้มดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้นั้นกำลังโกหก”

britannica

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่วงการวิทยาศาสตร์เปิดใจมามองภาพโมนาลิซา ก่อนหน้านี้ก็เคยมีทฤษฎี Mona Lisa Effect ที่เชื่อว่าดวงตาของเธอตามติดการเคลื่อนไหวของผู้ชมในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

แต่ท้ายที่สุดไม่ว่ารอยยิ้มของเธอจะจริงใจหรือโกหก ผลงานศิลปะแห่งยุคชิ้นนี้ยังคงซ่อนความลับที่น่าค้นหาและสอดแทรกเจตจํานงในการสร้างศิลปะของศิลปินเอาไว้ในนั้น และเรายังเชื่ออีกว่าศิลปินระดับตำนานอย่าง เลโอนาร์โด ดา วินชี ย่อมรู้ความหมายของรอยยิ้มที่สมมาตรเป็นอย่างดี แต่นี่อาจเป็นรอยยิ้มที่เขาจงใจสร้างมันเพื่อแสดงออกถึงอะไรบางอย่าง ซึ่ง ณ วันนี้เราก็ยังไม่รู้อยู่ดี

 

SOURCE

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line