Entertainment

NIHON STORIES: ‘AGE OF SAMURAI’ การต่อสู้นับร้อยปีที่เปี่ยมด้วยศักดิ์ศรีของนักรบญี่ปุ่น

By: TOIISAN April 2, 2021

หากคุณเกิดมาในช่วงที่เมืองกำลังอยู่ในยุคสงคราม ทุกอย่างกระจัดกระจายมั่วซั่ว แต่หากคุณฉลาดมากพอ เก่งมากพอ และมั่นใจในฝีมือกับมันสมองของตัวเองมากพอ คุณจะอยากทำให้เมืองกลับมาสงบสุขด้วยการรวบความแตกแยกให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกันไหม

ถึงอย่างนั้น การจะรวบรวมชาวญี่ปุ่นตั้งแต่เหนือจรดใต้ รวมหมู่บ้านน้อยใหญ่ที่อยู่กันแบบนี้มานานหลายร้อยปี ให้ขึ้นตรงต่ออำนาจหนึ่งเดียวที่จะแผ่ขยายอำนาจปกครองทั่วญี่ปุ่น ให้อยู่ภายใต้ธงผืนเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครคิดจะทำก็ทำได้ โดยเฉพาะการพยายามในช่วง ค.ศ. 1500 ที่ญี่ปุ่นกลายเป็นก๊กเป็นเหล่า จมดิ่งอยู่กับการต่อสู้แบบไม่รู้จบมานานนับร้อยปี ทว่าการพลิกโฉมประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ที่แสนยากก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

NIHON STORIES ใคร่แนะนำให้ใครก็ตามที่เริ่มให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น โดยเฉพาะยุคที่ซามูไรต่างวิ่งเข้าใส่กันแล้วห้ำหั่นแบบไม่กลัวตายอย่างยุค ‘เซ็นโกคุ’ ได้ลองเปิดสารคดีเรื่อง Age of Samurai: Battle for Japan แล้วใช้เวลากับสิ่งนี้ให้เต็มที่ เพื่อทำความเข้าใจถึงอำนาจ ศักดิ์ศรี เล่ห์เหลี่ยม และมุมมองความคิดของชาวญี่ปุ่น ผ่านการต่อสู้ของสามนักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุค ว่าพวกเขาเกิดมาเพื่อเป็นนักรบอย่างแท้จริง


องก์ 1: โอดะ โนบุนากะ

ชายที่ไม่มีใครยอมรับแสดงให้เห็นว่าบุคลิกห่าม ๆ ออกไปทางไม่น่าคบ กลับเต็มไปด้วยความเฉลียวฉลาด กล้าได้กล้าเสีย เขาสามารถชนะศึกในตระกูลและขึ้นเป็นผู้นำของจังหวัดอย่างแท้จริง ซ้ำยังต้านกองทัพของไดเมียวเมืองอื่นที่มีคนมากกว่าถึงสามเท่าได้ การก้าวสู่อำนาจอย่างเป็นทางการครั้งแรก ทำให้บุรุษผู้บ้าคลั่งในสนามรบ คิดว่าตนก็อาจจะสามารถรวมญี่ปุ่นที่กำลังแตกกระจายให้เป็นหนึ่งเดียว ภายใต้การปกครองของเขาได้เช่นกัน

หากมองแค่ในสารคดีเรื่องนี้ หลายคนอาจรู้สึกไม่ชอบใจการกระทำหลายอย่างของ โอดะ โนบุนากะ เขาเป็นคนเก่งที่ไม่แคร์โลก คิดว่าความรุนแรงและการทำให้หลาบจำทำให้ทุกคนยอมสยบอยู่ใต้เท้า เขาบาดหมางกับพุทธศาสนา ไล่เข่นฆ่านักบวชที่หันมาจับดาบต่อต้านเขา บุกตะลุยหมู่บ้านซึ่งแยกตัวออกจากสังคมมากว่า 120 ปี ที่ใคร ๆ ต่างก็เรียกว่าเป็นชุมชนนินจา แผ่ขยายอำนาจครอบครองภาคกลางของญี่ปุ่นไปพร้อมกับความหวาดกลัว

นิยามที่มีต่อโนบุนากะหากมองผ่านสารคดีเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้น ‘เป็นคนเก่งแต่ไม่ใช่คนดี’ หากใครดู Age of Samurai: Battle for Japan จบแล้ว และยังพอมีเวลาว่าง เราอยากให้ไปดูเรื่องราวของโนบุนากะในมุมมองอื่นบ้าง เพราะความเหี้ยมโหดของเขาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความบ้าคลั่งและมั่นใจในตัวเองอย่างเดียวเท่านั้น แต่เพราะเขาเชื่อมั่นจริง ๆ ว่าตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นได้


องก์ 2: โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ

ส่วนที่สองของ Age of Samurai: Battle for Japan คือยุคของ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ลูกชายจากครอบครัวชาวนา คนชนชั้นกลางธรรมดาในยุคที่ถือเรื่องศักดินาและชาติกำเนิดเป็นสำคัญ ฮิเดโยชิคือซามูไรที่ไต่เต้าจากคำว่า ‘ตัวเปล่า’ อย่างแท้จริง

ฮิเดโยชิเป็นหนึ่งในสหายร่วมศึกภายใต้คำสั่งของโนบุนากะ เป็นชายที่จงรักภักดีกับนายตัวเอง ฉลาด สุขุม และเยือกเย็น ซึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาเกิดขึ้นหลังจากโนบุนากะถูกฆ่าลาจากโลกนี้ไปเพราะถูกหักหลังจากนายพลที่เลี้ยงไว้ใกล้ตัว

หลังฮิเดโยชิทราบข่าวการจากไปของโนบุนากะ เขาไม่รอช้าที่จะตามล่าเพื่อล้างแค้นให้กับนายตัวเอง แม้จะบรรลุเป้าหมาย แต่การตายของโนบุนากะทำให้เกิดช่องว่างทางอำนาจไปเสียแล้ว เมื่อลูกชายของโนบุนากะก็ไม่มีความสามารถมากพอจะขึ้นสานต่อ ไดเมียวหลายแคว้นต่างรอจังหวะมานั่งแทนที่ ซามูไรที่ล้างแค้นให้นายได้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็วอย่างฮิเดโยชิ จึงเริ่มเกิดความคิดว่าตนก็อาจจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินได้เช่นกัน

ความทะเยอทะยานของฮิเดโยชิเป็นเรื่องที่เราคิดว่าน่านับถือ เขาเป็นลูกชาวนา ไม่มีใครอยากให้การยอมรับซามูไรที่มาจากครอบครัวชาวนา เขาต้องต่อสู้กับค่านิยมที่พยายามกดให้จมดินแต่ก็ไม่เคยคิดยอมแพ้ สิ่งที่ฮิเดโยชิมีอยู่ในมือไม่ใช่แค่ความฉลาดของเขา แต่ยังเป็นคู่ครองที่เป็นเพื่อนคู่คิด ความแตกต่างสำคัญที่ทำให้เขาต่างจากโนบุนากะหรืออิเอยาสึ เขามีภรรยาที่ให้คำปรึกษาได้ในทุกเรื่อง มีความคิดทางการรบผสมการทูต ต่างจากโนบุนากะที่ไม่สนการประนีประนอม

ขณะเดียวกัน ฮิเดโยชิพยายามพิสูจน์ตัวเองทุกอย่างให้ราชวงศ์ของจักรพรรดิเห็นว่า เขาที่เป็นลูกชาวนาก็มีอำนาจมากพอปกครองประเทศ ยื่นข้อเสนอต่าง ๆ จนทำให้ราชวงศ์ยอมทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเรื่องชาติกำเนิด ถึงจะไม่สามารถเรียกเต็มปากได้ว่าเป็น ‘โชกุน’ แต่ฮิเดโยชิก็ได้เป็น ‘คัมปะกุ’ ผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิ เขาเป็นหนึ่งในคนแสนสำคัญที่ปูทางให้ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งเดียว ออกกฎหมายใหม่หลายฉบับ และเริ่มระบบการปกครองแบบรวมศูนย์อย่างจริงจัง

สงครามที่ชาวญี่ปุ่นเข่นฆ่ากันเองจบลงในยุคของฮิเดโยชิ เขาสามารถรวมญี่ปุ่นเป็นหนึ่งเดียวได้ แต่เกิดคำถามน่าห่วงตามมาอีกครั้ง เมื่อชาวญี่ปุ่นเคยชินกับสงครามมานานกว่าร้อยปี วันหนึ่งแผ่นดินสงบลงแล้วซามูไรจะไปอยู่ตรงไหน จะมีบทบาทอะไร การตั้งคำถามนี้ส่งให้เกิดฝันที่ใหญ่ขึ้น ฮิเดโยชิผู้ปกครองญี่ปุ่นในยุคที่ศึกในเพิ่งสงบ ต้องการก้าวไปสู่โลกภายนอก และมองว่า ‘เกาหลี’ กับ ‘จีน’ ในยุคราชวงศ์หมิง คือดินแดนที่เขาจะต้องพิชิตให้ได้


องก์ 3: โทกุงาวะ อิเอยาสึ

อิเอยาสึ ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ร่วมรบกับทัพของโนบุนากะ ก่อนจะเข้ากับโนบุนากะ อิเอยาสึอยู่ในกองทัพฝ่ายตรงข้าม แต่เขาไม่ได้ซีเรียสเรื่องการเข้ากับใครหรืออยู่ภายใต้ใครมากนัก หากจะถามว่าในสามคนนี้ ทั้ง โนบุนากะ ฮิเดโยชิ และ อิเอยาสึ ใครเป็นชายที่อดทนเก่งที่สุด คำตอบนั้นคงหนีไม่พ้น โทกุงาวะ อิเอยาสึ ชายที่จะไม่ผลีผลามและรอให้จังหวะเวลาที่เหมาะสมมาถึงจริง ๆ แล้วค่อยทำบางสิ่งอย่างเต็มที่ แม้จะต้องรอโอกาสเป็นสิบปีก็ตามที

หลังการตายของโนบุนากะ ทำให้ฮิเดโยชิก้าวขึ้นมาแทนที่ ลูกชายคนหนึ่งของโนบุนากะ นามว่า โอดะ โนบุคัตสึ (Oda Nobukatsu) รู้สึกรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ใช้เรื่องสายเลือดมาเป็นการแสดงถึงสิทธิอันชอบธรรม ขณะที่ฮิเดโยชิมีทั้งกองทัพ อำนาจ เส้นสาย และประสบการณ์ในการต่อสู้ที่มากกว่าหลายเท่า ซามูไรลูกชาวนาจึงเป็นคนที่เหมาะสมกว่าในสายตาใครหลายคน

โนบุคัตสึขอความช่วยเหลือจากอิเอยาสึ ซึ่งอิเอยาสึก็เอาด้วย จนเกิดสงครามระหว่างฝั่งทายาทโอดะพ่วงกับอิเอยาสึ รบกับฝั่งของฮิเดโยชิ แต่สงครามระหว่างสองฝั่งกลับกินเวลายาวนานกว่าที่คิด ไม่มีใครแพ้หรือชนะอย่างเด็ดขาด จนทำให้อิเอยาสึกับฮิเดโยชิ ต้องตัดสินใจสงบศึกด้วย ‘ระบบตัวประกัน’

อิเอยาสึ อยู่เคียงข้างทั้งโนบุนากะและฮิเดโยชิ เป็นคนใกล้ชิดที่ดีและสุขุม ประวิงเวลารอจังหวะที่ใช่ เพื่อนที่บางครั้งก็เป็นศัตรูทยอยล้มหายตายจาก เขาก็ยังคงอยู่และรอวันที่จะได้ขึ้นสู่อำนาจอย่างเต็มที่ แม้จะมีเรื่องน่าเจ็บใจจากการที่ภรรยาของตัวเองสมคบคิดกับกบฏในยุคที่โนบุนากะเป็นใหญ่ หลังจากนั้นเขาก็มีสนมราว 19-20 คน และมีทายาทสืบสกุลมากมายโดยไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องทายาทแบบฮิเดโยชิที่มีลูกยากเสียเหลือเกิน ซึ่งการมีลูกยากและมีลูกช้าของฮิเดโยชิ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตระกูลของเขาต้องจบลงในรุ่นของตัวเอง ก่อนจะเปลี่ยนมือมาเป็นตระกูลโทกุงาวะ ฝังรากลึกยาวนานในระบบการปกครองต่อไปนับสองร้อยปี

โดยสรุป สารคดี Age of Samurai: Battle for Japan ทำออกมาได้ดีพอสมควร แต่ด้วยจำนวนตอนที่มีเพียง 6 ตอน จึงต้องเดินเรื่องอย่างรวดเร็ว อาจมีหลายช่วงหลายตอนที่อยากจะให้เล่าได้มากกว่านี้ รวมถึงการตัดไปมาระหว่างการเดินเรื่องและหน้าของนักประวัติศาสตร์ที่อาจรู้สึกไม่ชินหรือขาดตอน รวมถึงการบิ๊วอารมณ์ว่าทุกศึกล้วนสำคัญไปเสียหมด หรือการแอบใช้ฉากซ้ำในบางครา ถ้ามองข้ามประเด็นเหล่านี้ไปได้ ก็ทำให้อินกับการต่อสู้ของเหล่าชายชาตรีได้อย่างไม่ยากเย็น

หากใครเป็นผู้สนใจประวัติศาสตร์แบบภาพรวม การดูสารคดีเรื่องนี้จะเพิ่มอรรถรสและเก็บข้อมูลแบบกว้างได้พอสมควร ส่วนใครที่ชอบเรื่องราวของญี่ปุ่นแต่ไม่ค่อยพึงใจอยากจะเห็นฉากตัดหัว ฉากคนหัวขาด ฉากการทำเซมปุกุ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ฮาราคีรี อาจจะต้องทำใจไว้ก่อน เพราะฉากเหล่านี้มีอยู่บ่อยมากในสารคดี ส่วนใครที่ตอนนี้เบื่อ ๆ ไม่รู้จะดูอะไร และสนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นทุนเดิม ก็ต้องย้ำอีกครั้งว่าถ้ามีเวลาก็ดูเถอะครับ ได้อะไรกลับมาแน่นอน


 

Source

https://www.netflix.com/th-en/title/80237990

Source photo

https://medium.com/jeffs-film-tv-reviews/age-of-samurai-battle-for-japan-75d5184fb72d

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line