World

NIHON STORIES : “PRIVACY vs PUBLIC HEALTH” เมื่อผู้มาเยือนญี่ปุ่นต้องยอมให้รัฐจับตาทุกฝีก้าว

By: TOIISAN April 2, 2021

หากใครได้ติดตามข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาเป็นระยะ คงพอจะทราบกันว่าญี่ปุ่นนับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เผชิญปัญหาครั้งใหญ่ไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ ตอกย้ำซ้ำเติมว่าในเร็ววันนี้เราคงอาจจะยังไม่มีโอกาสได้ไปเหยียบญี่ปุ่นอีกนาน และหากวันที่ญี่ปุ่นเปิดประเทศอีกครั้งพร้อมให้เราได้ไปเยือน เราจะรู้สึกสะดวกใจที่จะไปญี่ปุ่นอยู่หรือไม่ หากรัฐบาลญี่ปุ่นบังคับให้นักท่องเที่ยวต้องอนุญาตให้รัฐติดตามเรา

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์ประกาศข้อบังคับใหม่ในยุคไวรัสแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น รวมถึงคนญี่ปุ่นที่กลับประเทศ จะต้องติดตั้งแอปพลิเคชันตามตัวโดยไม่มีข้อยกเว้น โดยจะเริ่มบังคับใช้กฎดังกล่าวตั้งแต่ 18 มีนาคม 2021

แอปพลิเคชันทั้ง 3 ที่จะต้องติดตั้งเมื่อเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นมีดังนี้

  • OSSAMA แอปพลิเคชันระบุตำแหน่งเจ้าของสมาร์ตโฟนเพื่อบันทึกว่าแต่ละวันบุคคลนั้น ๆ ได้เดินทางไปยังที่ไหนมาบ้าง
  • Skype แอปพลิเคชันนี้จะคุ้นหน้าคุ้นตาคนไทยขึ้นมาหน่อย ผู้มาเยือนญี่ปุ่นทุกคนจะต้องติดตั้งแอปฯ นี้ เผื่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่รัฐจะต่อสายตรงมาสอบถามตำแหน่งหรือข้อมูลจากเจ้าของโทรศัพท์
  • COCOA แอปพลิเคชัน contact tracing โดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น จะแจ้งเตือนเมื่อผู้ดาวน์โหลดเข้าใกล้ผู้ที่มีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวก ทว่าแอปพลิเคชันนี้เคยถูกชาวญี่ปุ่นตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว โดยรัฐบาลยืนยันว่าจะไม่เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่จำเป็นต่อการตามตัวหากสุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัส รัฐบาลจะปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ทุกคน ขอให้ประชาชนใช้แอปฯ ได้แบบไม่ต้องกังวล เพราะยิ่งมียอดดาวน์โหลดมากเท่าไหร่ การทำงานของแอปฯ ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และระบบจะลบข้อมูลต่าง ๆ อาทิ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมล หลังการบันทึกข้อมูลผ่านไปแล้ว 14 วัน

คำถามที่ตามมาหลังจากกฎดังกล่าวบังคับใช้ คือคำถามที่ว่าคุณจะยินยอมให้มีใครกำลังดูว่าคุณเดินทางไปไหนบ้างหรือไม่ ส่วนปัญหาที่มีบางคนอ้างว่าตนไม่มีสมาร์ตโฟนหรือโทรศัพท์มือถือที่สามารถโหลดแอปพลิเคชันทั้งหลายได้เลย รัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่อนุญาตให้บุคคลดังกล่าวเข้าประเทศได้ เท่ากับว่าแม้คุณจะแจ้งต่อรัฐบาลญี่ปุ่นแล้วว่าไม่มีมือถือที่ทำได้ คุณก็ต้องควักกระเป๋าซื้อสมาร์ตโฟนเพื่อโหลดแอปฯ ดังกล่าวอยู่ดี

ผู้เดินทางขาเข้ามายังญี่ปุ่นจะต้องเซ็นชื่อยินยอมปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด หากพบกรณีร้ายแรงอาจทำให้ญี่ปุ่นเพิกถอนสถานภาพการพำนักของชาวต่างชาติที่ถือวีซ่าทำงานหรือวีซ่าศึกษาในญี่ปุ่นได้ แต่กรณีดังกล่าวคือตัวเลือกหลัง ๆ ที่รัฐบาลจะใช้ โดยข้อบังคับทั้งหมดจะเริ่มใช้ที่สนามบินระหว่างประเทศที่เปิดทำการอยู่ตอนนี้ คือ สนามบินนาริตะและสนามบินฮาเนดะ และในอนาคตอันใกล้นี้ ข้อบังคับที่เข้มงวดนี้จะถูกบังคับใช้ในสนามบินทั่วประเทศญี่ปุ่น

PRIVACY OR SECURITY?

ก่อนมาตรการดังกล่าวจะถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง รัฐบาลญี่ปุ่นเคยขอให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มรายใหญ่ทั้ง Google, Yahoo Japan และ Amazon แบ่งปันข้อมูลทั่วไปของผู้ใช้บริการ ร่วมถึงตำแหน่งผู้ใช้แก่รัฐบาล (คล้ายๆ กับการลงทะเบียนอะไรบางอย่างแล้วถูกขอให้กด ‘ยอมรับ’ เพื่อแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวด้วยความสมัครใจ) ซึ่งจุดประสงค์ที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการฐานข้อมูลผู้ใช้จำนวนมากเป็นเพราะต้องการสืบสาวหาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อย่างโตเกียวและโอซาก้า

สิ่งที่รัฐขอจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ Yahoo Japan คือการเข้าถึงประวัติการค้นหาของผู้ใช้ที่เสิร์ชว่า ‘ไข้’ หรือ ‘อาการ’ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลขอก็ดูไม่ได้จะเป็นข้อมูลส่วนตัวเชิงลึกมากนัก Yahoo Japan จึงตกลงที่จะส่งมอบข้อมูลที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการ และระบุเงื่อนไขว่าการส่งมอบข้อมูลดังกล่าวสามารถยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้

การที่ระบบแฟลตฟอร์มต่าง ๆ นำข้อมูลของผู้ใช้ส่งต่อให้รัฐบาลสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง บางคนมองว่าตนยินยอมให้ข้อมูลกับระบบที่ใช้ แต่ไม่ได้หมายความว่าระบบจะสามารถนำข้อมูลส่วนตัวหรือตำแหน่งของตนไปส่งมอบต่อให้กับรัฐบาล

เดิมทีพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับที่ 57 ปี 2003 กำหนดว่า การนำข้อมูลส่วนบุคคลของใครไปใช้จะต้องแจ้งวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนต่อเจ้าของข้อมูลนั้น และการประมวลผลข้อมูลของบุคคลนั้น ๆ จะต้องอยู่ในขอบเขตตามกฎหมายกำหนด หากข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำไปใช้นอกเหนือวัตถุประสงค์ที่กำหนดหรือส่งมอบต่อให้บุคคลที่สาม จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน ยกเว้น สามารถอนุญาตให้นำข้อมูลส่วนบุคคลส่งต่อให้แก่บุคคลที่สามได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สถานการณ์ที่ว่าคือการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของแต่ละบุคคล หรือการที่อยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติและรัฐบาลกับรัฐบาลท้องถิ่นเล็งเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จึงทำให้ในช่วงที่วิกฤตไวรัสระบาดไปทั่วโลก ประชาชนชาวญี่ปุ่นจึงจำต้องยอมแบ่งปันข้อมูลส่วนตัว ‘บางส่วน’ ให้รัฐ เพื่อรัฐจะได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

ตอนนี้ญี่ปุ่นกลับมาเดินหน้าเรื่องการจัดงานโตเกียวโอลิมปิกอีกครั้ง แต่ยังคงคุมเข้มห้ามเดินทางระหว่างประเทศ หลังจากประกาศว่าผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจะต้องโหลดแอปพลิเคชัน กลายเป็นว่าในวันที่ 21 มีนาคม 2021 รัฐได้ยกระดับมาตรการควบคุมผู้โดยสารขาเข้า ระงับการเดินทางเข้าญี่ปุ่นทุกประเทศ รวมถึงระงับการเดินทางเข้าญี่ปุ่นของนักธุรกิจ ผู้พำนักอาศัย (คนทำงาน นักเรียน คู่สมรสวีซ่าใหม่) ก่อนกำหนดให้ผู้ที่ยังเข้าประเทศได้มีแค่ ผู้มีบัตรพำนักระยะยาว (ไซริการ์ด) และผู้ที่มีความจำเป็นต่อประเด็นมนุษยธรรมเท่านั้น

การเปลี่ยนมาตรการรับมือไวรัสหลายครั้งของรัฐบาล ทำให้ทั่วโลกต่างคาดว่าญี่ปุ่นจะไม่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติยาวจนถึงช่วงที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจบลง เมื่อไหร่ที่ญี่ปุ่นเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดพร้อมจะรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง แต่อาจจะต้องโหลดแอปพลิเคชันหลายตัวเพื่อให้ตามตัวได้ เมื่อนั้นคุณอาจจะต้องกลับมาคิดทบทวนอีกครั้งว่าจะยอมให้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าถึงข้อมูลส่วนหรือไม่

 

Source

https://digital.freshfie lds.com/post/102g4nl/privacy-vs-public-health-data-protection-in-japan-during-covid-19

https://www.theverge.com/2020/6/19/21296603/japan-covid-19-contact-tracking-app-cocoa-released

https://soranews24.com/2021/03/19/travelers-entering-japan-will-have-to-install-location-confirmation-app-skype-on-smartphones/

https://www.mhlw.go.jp/stf/seisakunitsuite/bunya/0000121431_00250.html

 

Source Photo

https://www.japantimes.co.jp/news/2020/06/27/national/science-health/japan-coronavirus-app-downloads/

https://www.thestar.com.my/tech/tech-news/2020/06/18/japan-urges-citizens-to-install-virus-tracking-app

https://hammockmagazine.ge/en/post/vizualuri-haiku-anu-iaponuri-kontseptualuri-fotografia/467

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line