Entertainment

“NO WAVE” วัฒนธรรมย่อยทางดนตรีปลายยุค 70 ของคนสิ้นหวังผู้ก่อกบฏต่อพังก์ร็อก

By: Synthkid January 17, 2020

หากกล่าวถึงวัฒนธรรม Punk (พังก์) เชื่อว่าสิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคงจะเป็นแฟชั่นที่จัดจ้าน เพลงร็อกรุนแรงบาดหู และแนวคิดหัวขบถต่อต้านสังคม เพราะวัฒนธรรมย่อยประเภทนี้เกิดขึ้นเพื่อปลดแอกวิถีชีวิตของคนบางกลุ่มออกจากกรอบของสังคม พวกเขาใช้ศิลปะและเสียงเพลงในการแสดงออก ต่อต้าน ประท้วง จนสามารถรวบรวมผู้คนที่คิดเหมือนกันให้เป็นปึกแผ่นได้ จากอังกฤษ ไปอเมริกา ต่อมาก็แพร่กระจายไปทั่วโลกและเฟื่องฟูถึงขีดสุดในยุค 1970 ตอนต้น

พอเข้าสู่กลางยุค 70 การมาของวัฒนธรรม New Wave (นิวเวฟ) ก็เริ่มต้นขึ้น สิ่งนี้คือดนตรีที่เกิดจากรากฐานของพังก์ร็อก แต่หลอมรวมเอาดนตรีแนวดิสโก้และซาวด์ซินธิไซเซอร์มาผสมผสานให้กลายเป็นเพลงป๊อปแปลกใหม่ที่มีความเป็นศิลปะ ฟังง่าย เป็นมิตรต่อหูคนทุกเพศทุกวัยได้มากกว่าพังก์ พังก์จึงเริ่มเสื่อมความนิยมลงในที่สุด นิวเวฟกลายเป็นขวัญใจใหม่ของผู้คนและได้ขึ้นมาเฉิดฉายในวงการเมนสตรีม ซึ่งวงดนตรีที่ถูกจัดว่าอยู่ในซีนของ New Wave นี้ ก็มีแนวเพลงที่แตกแขนงแยกย่อยไปอีก ไม่ว่าจะเป็น New Romantic, Power Pop หรือ Post-Punk วงดนตรีชื่อดังอย่าง Blondie ก็จัดเป็นแถวหน้าของซีน New Wave นี้เช่นกัน

หากพูดกันแค่ในแง่ของดนตรีอาจจะรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างช่างน่าตื่นตาตื่นใจ แต่อันที่จริงสถานการณ์บ้านเมืองนิวยอร์กยุคนั้นกลับไม่ได้สวยหรู เมื่อย่างเข้าสู่ ค.ศ.1977 ภาพฝันอเมริกันชนก็ต้องดับสลาย อเมริกาเป็นพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม คุณภาพประชากรร่วงสู่จุดตกต่ำ แต่ยอดอาชญากรรมกลับพุ่งขึ้นสูง ฆาตกรต่อเนื่องก็ออกล่าเหยื่อเป็นว่าเล่น มันเลวร้ายถึงขั้นว่า Debbie Harry นักร้องสาววง Blondie เคยถูกสื่อสัมภาษณ์ว่า “คุณอาศัยอยู่ในนิวยอร์กได้อย่างไร ทั้งที่มันอันตรายขนาดนี้”

น่าแปลกที่คนในอยากออก แต่คนนอกบางกลุ่มกับอยากเข้า เพราะไอ้การเป็นศูนย์กลางแห่งปัญหาเนี่ยแหละที่ทำให้เกิดการรวมตัวเป็นปึกแผ่นทางศิลปะวัฒนธรรม พวกเขาเริ่มใช้ดนตรีในการระบายความในใจ และขับเคลื่อนวิถีชีวิตของตัวเอง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่สโมสร CBGB ซึ่งก็เป็นดั่ง Live House ที่เหล่าวัยรุ่นหัวขบถจะไปรวมตัวกันเพื่อชมวงดนตรี หรือทำกิจกรรมร่วมกัน ข้อดีของสโมสรนี้คือการเปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่ได้โปรโมตตัวเองแบบไม่จำกัดแนวเพลง วงดนตรีที่ขึ้นโชว์ก็จะมีตั้งแต่พังก์ร็อก โพสต์พังก์ อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงฮิปฮอป วงอเมริกันชื่อดังอย่าง Blondie และ Talking Heads ก็เริ่มสะสมฐานแฟนเพลงจากสโมสรนี้เช่นกัน

credit: shutterstock

กำเนิด No Wave (1977)

นิวยอร์กที่กลายเป็นโลกดิสโทเปียทำให้ศิลปินหลากหลายแขนงเริ่มรวมตัวกันที่ฝั่ง Lower East Side (ตะวันออกตอนล่าง) ของเมือง พวกเขาเริ่มถ่ายทอดความเน่าเหม็นและน่าเบื่อหน่ายของสังคมผ่านผลงาน ด้วยมุมมองที่เชื่อว่าบนโลกนี้ไม่มีสิ่งใดเป็นนิรันดร์ ฟังดูแล้วอาจจะรู้สึกว่าไม่ได้ต่างอะไรกับพังก์ในแง่ของแนวคิด แต่ศิลปินกลุ่มนี้เลือกจะไม่หยิบจับความจำเจของร็อกรุ่นเก่า ริฟฟ์กีตาร์แบบเดิม ๆ เข้ามาใส่ในผลงาน แต่เลือกจะพังทลายมันให้ยับเยิน

พวกเขามองว่าพังก์ร็อกเป็นแค่การรีไซเคิลแนวเพลงร็อกแอนด์โรล เหมือนจะต่อต้าน แต่ก็ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ พวกเขาจึงเริ่มทดลองสิ่งที่ต่างออกไป ด้วยการหยิบจับแนวเพลง อาทิ ฟังก์ แจ๊ซ และอิเล็กทรอนิกส์ มาผสมผสาน โดยมีพระเอกของงานเป็นเสียง Noise หรือแปลเป็นไทยง่าย ๆ ก็คือไอ้พวกเสียงแตก ๆ ที่มันสร้างความหนวกหูรำคาญใจทั้งหลายได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของศิลปินกลุ่มนี้

คนแรก ๆ ที่ลุกขึ้นมาบุกเบิกสิ่งนี้คือคู่ดูโออเมริกัน Alan Vega และ Martin Rev แห่งวง Suicide พวกเขาถูกนิยามแนวดนตรีว่าเป็นแนว ซินธ์พังก์ ใช้ซินธ์เป็นหลัก ไม่เน้นเมโลดี้ เน้นซาวด์ฉวัดเฉวียนชวนโลดโผนราวกับอยู่ในหนังสยองขวัญ ใช้วิธีร้องแบบกึ่งพูดกึ่งร้อง บ้างกระซิบกระซาบ บ้างก็กรีดร้องขึ้นมาเฉย ๆ (ใครไม่ชินนี่สะดุ้งแน่ ๆครับ) ไม่ว่าผู้คนจะเข้าถึงเพลงของพวกเขาหรือไม่ ผลงานเพลงขบถสุดโต่งของพวกเขาก็โดดเด่นแตกต่างจากชาวบ้านอย่างชัดเจน จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้วงอื่น ๆ ในยุคนั้นให้เริ่มหันมาทำอะไรที่ขัดต่อทำนองคลองธรรมแบบนี้บ้าง

วงอื่น ๆ ที่ทำเพลงลักษณะนี้ในเวลาไล่เลี่ยกันก็จะมีทั้ง Teenage Jesus and the Jerks, Mars, DNA, Theoretical Girls, the Contortions, Rhys Chatham began และอื่น ๆ อีกมามาย แต่ละวงมีวิธีการสร้างสรรค์แนวดนตรีที่ต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการพูดถึงความมืดมิดของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดทางร่างกาย เซ็กส์ที่เต็มไปด้วยรอยบาป จนไปถึงความอัปยศต่าง ๆ ของมหานครนิวยอร์ก โดยที่มีเสียง ‘Noise’ เป็นแกนหลัก มีท่วงทำนองที่ไม่สอดคล้อง และวิธีการร้องที่ดูโหยหวน คร่ำครวญ เหมือนกำลังทรมาน

credit: https://spoutnik.info/

นอกเหนือจากดนตรีแล้ว ศิลปะและภาพยนตร์ก็เช่นกัน กลุ่มคนทำหนังและนักแสดงที่ถูกหมายหัวว่าเป็น Cinema Transgressors (พวกแหกคอกในวงการภาพยนตร์) เริ่มเกาะกลุ่มรวมตัวกันในแถบ Lower East Side เพื่อผลิตหนังใต้ดินที่ถ่ายทอดเรื่องราวความไม่สงบและความไม่เท่าเทียมของสังคม โดยหนังใต้ดินเหล่านี้ รวมถึง Visual บนซีดีของศิลปินที่ทำเพลงออกมาในทิศทางนี้  ถูกนับเป็นหนึ่งในศิลปะ No Wave ทั้งหมด

“ศิลปิน No Wave สร้างศิลปะแห่งความน่าเบื่อหน่าย เขากล้าที่จะทำให้ผู้คนรู้สึกเบื่อ และโจมตีผู้คนที่รู้สึกเบื่อเหล่านั้น กระแทกพวกเขาออกจากความอิ่มเอมทั้งหลาย ให้เผชิญหน้ากับความจริงว่าขนบประเพณีคือสิ่งกดประสาท พวกเขาทำแบบนี้เพื่อยืนหยัดว่าความน่าเบื่อนั้นสามารถทำให้น่าสนใจได้” 

–  Glenn Branca จากหนังสือ No Wave (เขียนโดย Marc Masters)

คำว่า No Wave ในที่นี้จึงไม่ใช่แนวดนตรี แต่เป็นการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาทำลายกรอบแบบเดิม ๆ หากอ้างอิงจากวิกิพีเดีย การเคลื่อนไหวของวัฒนธรรม No Wave จะถูกนิยามว่าเป็น ‘การรวมตัวกันของศิลปินที่ลุกฮือขึ้นมาทำเพลง Non-Rock ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน และเวลาที่ไล่เลี่ยกัน’ นั่นเอง

ถึงแม้ดนตรีแหวกแนวแบบนี้มันจะเจ๋งแค่ไหน แต่อะไรที่เข้าถึงยากย่อมจางหายไปอย่างรวดเร็ว ย่างเข้าปี 1980 ได้ไม่นาน No Wave ทั้งหมดก็อันตรธานหายไป อาจจะมีบ้างบางคนที่ยังออกงานเพลงหลังจากนั้น เช่น  Lydia Lunch อดีตนักร้องสาววง Teenage Jesus and the Jerks ที่ยังปล่อยผลงานเดี่ยว แต่ก็เปลี่ยนไปทำเพลงทดลองแนวอื่น ๆ แทน หลายคนที่เคยเป็นที่รู้จักในยุคนั้นก็เริ่มเงียบหาย ไม่เป็นกระแส หรือได้รับความสนใจอีกต่อไป

Sonic Youth วงที่เป็นดั่งมรดกตกทอดของ No Wave

ถึง No Wave จะตายจาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีมรดกตกทอดของ No Wave หลงเหลืออยู่บนโลกอีกเลย ต่อมาดนตรีแนว Noise Rock ได้ถือกำเนิดขึ้นมาช่วงต้นปี 1980 วงดนตรีอย่าง Sonic Youth, Swans หรือ The Fall ได้นำแนวคิดและทัศนคติแบบศิลปินยุค No Wave มาผสมผสานเข้ากับดนตรีร็อกแอนด์โรล กลายเป็นว่า Noise ที่เกิดมาเพื่อก่อกบฏ กลายเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีร็อกไปเสียแล้ว

Sonic Youth ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บุกเบิก ‘Noise Rock Scene’ ในอเมริกา ทุกอย่างที่ตกผลึกจากยุคก่อนเก่า กลายเป็นรากฐานที่ถูกส่งต่อให้ดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกยุคปัจจุบัน จนพวกเขาถูกยกย่องให้เป็น “วงดนตรีที่สร้างนิยามใหม่ว่า Noise สำคัญเพียงใดกับร็อกแอนด์โรล”

ต่อมา Kim Gordon มือเบสสาววง Sonic Youth ก็ถูกขนานนามว่าเป็นนักร้องที่มี ‘เลือด No Wave เข้มข้นที่สุด’ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในยุคปัจจุบัน โดยเธอได้รับตำแหน่งนี้จากการเป็นศิลปินดูโอวง Body/Head ที่ทำเพลงแนว Experimental Noise คู่กับสาว Bill Nace ปัจจุบัน Body/Head มีทั้งหมด 5 สตูดิโออัลบั้ม อัลบั้มล่าสุดมีชื่อว่า The Switch และเพิ่งถูกปล่อยเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา

credit: http://getwallpapers.com

บางครั้งซอกหลืบเล็ก ๆ ก็อาจกลายเป็นสถานที่สำคัญที่เกิดเรื่องราวแสนยิ่งใหญ่ แม้วัฒนธรรม No Wave จะมีอายุขัยสั้น และไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในช่วงเวลาของตัวเอง แต่คนรุ่นหลังที่เห็นคุณค่า กลับนำศิลปะแห่งความสิ้นหวังเหล่านี้ มาแตกกิ่งก้านจนเติบโตงอกงาม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างไม่มีสิ้นสุด จวบจนปัจจุบัน

 

Source: 1 / 2 / 3

Synthkid
WRITER: Synthkid
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line