Entertainment

Oscars 2021  ปีแห่งสีสัน ความหลากหลาย และการคว้าชัยของ NOMADLAND

By: unlockmen April 27, 2021

นับเป็นปีแห่งสีสัน, ความหลากหลาย และความเรียบง่าย สำหรับการแจกรางวัล 93rd Academy Awards หรือ Oscars ประจำปี 2021

ท่ามกลางความเงียบเหงาของวงการภาพยนตร์ที่ซบเซาจากวิกฤตไวรัสโคโรนาที่เข้ามาทำให้โปรแกรมใหญ่ ๆ ต้องลี้หนีไป แถมล่าสุดบ้านเราเองที่โดนวิกฤตระลอกใหม่จนทำให้ต้องปิดโรงหนังอีกรอบ แต่ใช่ว่าปีนี้ Oscars ครั้งที่ 93 จะไม่น่าสนใจ ตรงกันข้ามภาพยนตร์สะท้อนสังคมในยุคโควิดกลับเฉิดฉายในงานอย่างสมศักดิ์ศรี และเป็นปีที่นักดูหนังทั้งหลายต่างไม่กังขากับผลรางวัลที่ออกมา

เรามาดูกันว่าปีนี้ไฮไลท์สำคัญและสถิติที่สร้างขึ้นประจำปีนี้มีอะไรกันบ้าง

เหมือนดังเช่นทุกการแจกรางวัลในทุกเทศกาลที่มีการจำกัดรูปแบบของผู้เข้าชม โดยครั้งนี้รางวัลออสการ์แจกเลทกว่าปกติถึง 2 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้หนังที่ฉายปลายปีได้มีโอกาสเฉิดฉายให้คนดูหนังและคณะกรรมการที่ช่วงเวลาปลายปียังไม่ได้รับวัคซีนทั่วถึงได้รับวัคซีนกัน ซึ่งปีนี้หนังหลายเรื่องก็ตัดสินใจฉายในระบบสตรีมมิ่งที่สามารถรับชมทางบ้านได้พร้อมกับการฉายผ่านโรงหนัง

ส่วนพิธีการแจกรางวัลจากปกติที่จะจัดกันอย่างใหญ่โตอลังการ ปีนี้ก็งดยิ่งใหญ่ จำกัดจำนวนคนที่มาร่วมงาน เว้นระยะห่างและจัดกัน 2 ที่ นั่นก็คือ Dolby Theatre และ Union Station

ด้วยความที่งานจัดไม่ได้เลิศหรูอลังการเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ปีนี้การแจกรางวัลคือการแจกจริง ๆ ไม่ต้องอิงพิธีรีตรอง การเดินบนพรมแดง หรือแสดงโชว์ให้มากความ หลายคนจึงรู้สึกดีที่การแจกรางวัลแบบ New Normal นี้ได้ให้ความสำคัญกับรางวัลมากกว่าโชว์ที่ไม่จำเป็น เราจึงได้เห็นผู้รับรางวัลที่มาในชุดทะมัดทะแมงมากกว่าจะมาแบบหรูอลังการเหมือนในปีก่อน ๆ อาทิ Chloe Zhao ผู้กำกับ Nomadland ที่มาพร้อมชุดราตรีแต่สวมผ้าใบมารับรางวัล


ในทุกๆปี การแจกรางวัลมักจะเริ่มต้นจากหน่วยเล็กที่สุดและเก็บความสำคัญอย่างรางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปไว้ท้ายสุดตามลำดับความสำคัญ แต่ปีนี้การแจกรางวัลนั้นถูกถัวเฉลี่ยความสำคัญไว้เท่า ๆ กันหมด ใครจะไปคาดคิดว่าการแจกรางวัลผู้กำกับจะอยู่กลางรายการ และรางวัลพีคสุดอย่างหนังยอดเยี่ยมก็ประกาศก่อนรางวัลนำชายและหญิงยอดเยี่ยม

แม้จะเป็นค่ำคืนของ Nomadland ที่คว้ารางวัลมากที่สุด แต่ก็เป็นการคว้ามาเพียง 3 รางวัล (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม – Frances McDormand) เพื่อแบ่งสัดส่วนของการแจกรางวัลให้กับหนังเรื่องอื่นๆกันอย่างทั่วถึง จึงเป็นการลดความรู้สึกของการแข่งขัน แต่เป็นการมอบรางวัลเพื่อให้กำลังใจบุคลากรที่ต่างเจ็บช้ำจากการหยุดนิ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ต่างอ่วมตลอดในรอบปีที่ผ่านมา


ในหลายต่อหลายปี วาระซ่อนเร้นทางการเมืองและความเป็นไปของโลกนี้ เป็นที่จับตามองเสมอในการแจกรางวัลออสการ์ ไม่ว่าจะเป็นกระแส #MeToo #OscarSoWhite ส่วนปีนี้แม้จะไม่มีแฮชแท๊กอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นอีกปีที่ความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นทางเชื้อชาติ สีผิว เพศ และชนชั้น ต่างถูกเอามาพูดถึงกันมากมายสำหรับผู้ชนะในครั้งนี้

เริ่มต้นที่ Nomadland เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สะท้อนภาพของคนไร้รากที่ใช้ชีวิตในรถบ้านและออกเร่ร่อนไปอย่างคนไม่มีจุดหมาย กลายเป็นหนังแห่งปีที่สะท้อนความล่มสลายของอเมริกันดรีมแบบเก่า เพื่อก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ หนังไร้พล็อตที่เล่าผ่านตัวละครที่ไร้ซึ่งจุดหมายปลายทาง เพื่อเล่าขานถึงเหล่า “คนนอกวงโคจร” ที่รัฐบาล (โดยเฉพาะจากการบริหารในยุคทรัมป์ที่แทบไม่ใส่ใจในพลเมืองชั้นสองเลย) ต้องกลับมาให้ความสำคัญ

และจาก Parasite Effect ของปีที่แล้ว ที่ฮอลลีวู้ดอ้าแขนรับชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ฮอลลีวู้ดขึ้นมารับรางวัล ปีนี้เราจึงได้เห็นความหลากหลายทางเชื้อชาตินับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ในสาขาการแสดง เมื่อตัวแทนจากเชื้อชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น นำหญิงอเมริกันชน – Frances McDormand – Nomadland นำชายชาวอังกฤษ – Anthony Hopkins – The Father สมทบชายผิวดำชาวอังกฤษ – Daniel Kaluuya – Judas and the Black Messiah และ สมทบหญิงชาวเกาหลี – Youn Yuh-Jung – Minari ที่สะท้อนภาพความหลากหลายให้เห็นอย่างเด่นชัด เพื่อสะท้อนโลกที่ไร้พรมแดนอย่างแท้จริงเกิดขึ้นแล้วบนเวทีออสการ์แห่งนี้

รวมไปถึงเป็นปีแห่งความภาคภูมิใจของชาวเอเชีย เมื่อ Chle Zhao เป็นผุ้กำกับหญิงคนที่ 2 แต่เป็นชาวหญิงสาวชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม เช่นเดียวกันกับ Youn Yuh-Jung ที่เป็นนักแสดงชาวเกาหลีใต้คนแรกที่คว้ารางวัลบนเวทีนี้

แม้รางวัลนี้จะสร้างความหลากหลาย แต่ก็กลายเป็นความรู้สึกอึดอัดสำหรับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ไม่อยากรับ Chloe Zhao ผู้กำกับสัญชาติจีนเป็นความภาคภุมิใจ เนื่องจากที่ผ่านมา Chloe Zhao ได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานอันล้มเหลวของรัฐบาลจีนว่า “เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยคำโกหกหลอกลวง” จนหนังเรื่องนี้ถูกแบนในจีนทันที ต้องมาดูกันว่าท่าทีของรัฐบาลนั้นจะเปลี่ยนไปหรือไม่เมื่อเธอได้รับรางวัล


Frances McDormand รับรางวัลนักแสดงนำฝ่ายหญิง นับเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่เธอได้รับรางวัลสาขานี้ เธอจึงก้าวขึ้นครองตำแหน่งเป็นอันดับ 2 รองจาก Katharine Hepburn ที่คว้า 4 รางวัล แต่ Frances McDormand ยังมีเวลาอีกนานสำหรับการสร้างสถิติใหม่อีกหลายปี

ส่วน Anthony Hopkins ที่คว้ารางวัลจากหนัง The Father ก็เป็นนักแสดงนำชายอายุมากที่สุดที่คว้ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ด้วยวัย 83 ปี เช่นเดียวกันกับ Ann Roth ครองสถิติหญิงสาวอายุมากที่สุดที่คว้ารางวัลแต่งกายยอดเยี่ยมจากหนัง Ma Rainey’s Black Bottom

Glenn Close ก็เข้าสู่ที่ 1 ชองทำเนียบนักแสดงผู้ผิดหวังที่เข้าชิงแต่ไม่ได้รางวัลเป็นครั้งที่ 8 เทียบเท่า Peter O’Toole แต่ O’Toole เสียชีวิตไปแล้ว จึงมีโอกาสที่เธอจะแซงหน้าตำแหน่งนี้ในอนาคต (ซึ่งเราเองก็อยากให้เธอได้รางวัลเสียที)

และนี่คือบางส่วนของการแจกรางวัลออสการ์ประจำปี 2021 ที่แม้งานจะไม่ยิ่งใหญ่ แต่ก็เต็มไปด้วยสถิติและข้อมูลที่น่าสนใจมากมายและสะท้อนสภาพสังคมร่วมสมัยของโลกใบนี้ได้อย่างแจ่มชัด

และนี่คือรายชื่อผู้รับรางวัลทั้งหมด

Best Picture: Nomadland

Best Director: Chloé Zhao, Nomadland

Best Actor: Anthony Hopkins, The Father (ฉายในโรงภาพยนตร์)

Best Actress: Frances McDormand, Nomadland

Best Supporting Actor: Daniel Kaluuya, Judas and the Black Messiah (ฉายในโรงภาพยนตร์)

Best Supporting Actress: Yuh-Jung Youn, Minari (ฉายในโรงภาพยนตร์)

Best Original Screenplay: Promising Young Woman, Emerald Fennell (ฉายในโรงภาพยนตร์)

Best Adapted Screenplay: The Father, Florian Zeller and Christopher Hampton (ฉายในโรงภาพยนตร์)

Best International Feature Film: Another Round

Best Documentary Feature Film: My Octopus Teacher (ฉายใน Netflix)

Best Documentary Short: Colette

Best Animated Feature Film: Soul (ให้เช่า/ซื้อ ใน Apple TV)

Best Animated Short Film: If Anything Happens I Love You

Best Live Action Short Film: Two Distant Strangers (ฉายใน Netflix)

Best Original Score: Soul (ให้เช่า/ซื้อ ใน Apple TV)

Best Original Song: “Fight For You” by H.E.R., Judas and the Black Messiah (ฉายในโรงภาพยนตร์)

Best Production Design: Mank (ฉายใน Netflix)

Best Cinematography: Mank, Erik Messerschmidt (ฉายใน Netflix)

Best Costume Design: Ma Rainey’s Black Bottom (ฉายใน Netflix)

Best Film Editing: Sound of Metal, Mikkel E. G. Nielsen (ฉายใน Amazon Prime)

Best Sound: Sound of Metal (ฉายใน Amazon Prime)

Best Visual Effects: Tenet (ให้เช่า/ซื้อ ใน Apple TV)

Best Makeup and Hairstyling: Ma Rainey’s Black Bottom (ฉายใน Netflix)

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line