Work

หยุดปลุกใจด้วยคำว่าแพสชั่น! นักวิจัยชี้ว่า”ยิ่งบอกให้คนมีแพสชั่น”คนยิ่งทำงานแย่

By: PSYCAT July 5, 2018

แพสชั่น ความหลงใหล หรือความชื่นชอบต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างถึงแก่น กลายเป็นเหมือนสูตรสำเร็จของผู้คนยุคสมัยนี้ไปแล้ว ผู้ชายอย่างเรา ๆ ก็หนีไม่พ้น ไม่ว่าจะได้งานที่ไหน ใคร ๆ ก็พากันพูดถึง “แพสชั่นในการทำงาน” กันทั้งนั้น

ไม่ว่าจะเป็น “หาแพสชั่นในงานนี้ให้เจอสิ” , “ทำงานแบบมีแพสชั่นหน่อย”, “ถ้าไม่มีแพสชั่น ทำงานแค่ไหน ก็ไปไม่ถึงจุดพีคหรอกเว้ย!” และอีกสารพัดบทท่องจำที่เมื่อไหร่ใส่คำว่า “แพสชั่น” เข้ามาในบทสนทนา คำพูดนั้นจะกลายเป็นคำพูดปลุกใจโคตรศักดิ์สิทธิ์ที่่ล่อลวงผู้ชายอย่างเราให้ไฟลุก รีบตามหาแพสชั่นของชีวิตกันแบบสุดหล้าฟ้าเขียว

แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า UNLOCKMEN อยากบอกว่า “แพสชั่นไม่ใช่ยาวิเศษของชีวิตและการทำงาน” และมันอาจมีผลเสียมากกว่าที่คิด ถ้าเราเอาชีวิตไปผูกติดกับคำ ๆ เดียวอย่าง “การหาแพสชั่นให้เจอ”

การท่องคำว่าแพสชั่นซ้ำ ๆ เหมือนล้างสมองตัวเองอาจต้องถูกพักเอาไว้ก่อน เพราะงานวิจัยที่มีชื่อว่า Implicit Theories of Interest: Finding Your Passion or Developing It? ที่เขียนขึ้นโดยนักจิตวิทยาจาก Yale-NUS College แห่ง
National University of Singapore Business School ระบุว่าการบอกให้คนตามหาแพสชั่นตัวเองให้เจอ มันไม่ใช่คำตอบของการทำอะไรได้ดีเอาเสียเลย แถมมันยังเป็นคำแนะนำที่แย่ด้วย

คนที่ทำงานในวงการสร้างสรรค์อย่าเพิ่งหัวร้อน เพราะเรามักถูกปลูกฝังเรื่องแพสชั่นมาแบบแนบแน่นยิ่งกว่าวงการใด ๆ แนบแน่นจนถึงขั้นที่ว่าใครไม่มีแพสชั่น อาจจะทำอะไรไม่ลึกถึงแก่น และไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ได้ แต่อยากให้ลองเปิดใจกว้าง ๆ แล้วมาฟังคำอธิบายจากนักจิตวิทยาไปพร้อม ๆ กัน

Paul O’Keefe นักจิตวิทยาผู้เป็นนักวิจัยหลักของงานชิ้นนี้พยายามอธิบายว่าการบอกให้คนตามหาแพสชั่นตัวเองให้เจอ ถือเป็นการสื่อสารที่อันตรายมาก ๆ เพราะการบอกให้ตามหาแพสชั่นตัวเองให้เจอ เหมือนเป็นการบอกให้คน ๆ หนึ่งตามหาของวิเศษสักชิ้น และเมื่อเราเจอของวิเศษนั้นแล้วก็แปลว่า ปิ๊ง! ทุกอย่างจะสำเร็จ ปราศจากปัญหาและอุปสรรค แพสชั่นจะนำพาทุกเรื่องราวดี ๆ เข้ามาในชีวิต ดังนั้นการบอกให้หาแพสชั่นให้เจอจึงไม่ต่างจากการขายฝันว่าไม่ต้องทำอะไรหรอก แค่เจอแพสชั่นก่อน เดี๋ยวทุกอย่างก็จะดีงามตามไปเอง

แน่นอนว่ามันไม่จริง แพสชั่นไม่ใช่ยาวิเศษสำหรับจักรวาลนี้ แต่การที่ทุกคนพยายามสื่อสารเรื่องแพสชั่นและเรียกร้องให้คนมีแพสชั่นในการทำสิ่งต่าง ๆ ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำอ้อม ๆ ว่าแพสชั่นคือพลังพิเศษ

งานวิจัยชิ้นนี้เปิดเผยว่ายิ่งเรากรอกหูให้คนมีแพสชั่นมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งทำให้ผู้คนคิดอะไรอยู่ในกรอบมากเท่านั้น (ซึ่งกรอบที่ว่าก็คือกรอบที่บอกว่าต้องมีแพสชั่นเท่านั้นถึงจะทำอะไร ๆ ได้ดี) โดยการบอกให้คนหาแพสชั่น จะทำให้คนคิดและตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ น้อยลง เนื่องจากมองว่าเดี๋ยวถ้าเจอแพสชั่นแล้วก็จบ เราไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องอื่น ๆ แค่มีแพสชั่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาก ๆ ก็เพียงพอที่จะประสบความสำเร็จแล้ว

ต่างจากคนที่ไม่ถูกจำกัดให้ติดอยู่กับเรื่องแพสชั่น แต่มองไปที่เรื่อง”ความสนใจ” และเชื่อว่า การทำสักสิ่งออกมาได้ลึกซึ้งคือสิ่งที่ต้องพยายามและลงทุนกับมันอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่อยู่ ๆ จะตามหาจนเจอแล้วประสบความสำเร็จเลย

พูดง่าย ๆ ก็คือการบอกให้คนตามหาแพสชั่นนั้นเหมือนเป็นการบอกให้คนทำ “สิ่งเดียวก็พอเดี๋ยวก็สำเร็จเอง” แต่การไม่ยึดติดแค่กับสิ่ง ๆ เดียวจะทำให้คนมีโอกาสมองหาสิ่งที่ตัวเองชอบและสนใจหลาย ๆ อย่าง รวมถึงมองความสนใจตัวเองเป็นการพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่มีช่วงก่อนเจอแพสชั่นกับหลังเจอแพสชั่นเท่านั้น ความสำเร็จจึงเป็นไปตามกระบวนการที่ได้เรียนรู้อยู่เรื่อย ๆ แบบไม่ได้มีสูตรสำเร็จอย่างแพสชั่นมาคอยกำกับไว้

Paul O’Keefe กล่าวอีกว่า ทั้งผู้ปกครอง ทั้งครู และนายจ้างจะสามารถดึงศักยภาพที่ดีที่สุดในตัวของมนุษย์คนหนึ่งออกมาได้ด้วยการแนะนำพวกเขาว่า ความสนใจมันเป็นเรื่องที่มีพัฒนาการ ไม่ใช่การตามหาให้เจอง่าย ๆ อย่างที่พูดกันมา การบอกให้พวกเขาหาแพสชั่นให้เจอมันเหมือนการไปแนะนำพวกเขาว่าไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องพัฒนา ไม่ต้องทำอะไรหรอก แค่หาแพสชั่นให้เจอนะ ทุกอย่างจะดีเอง ซึ่งมันไม่ใช่ความจริง

ทางที่ดีกว่าที่จะดึงศักยภาพของคนจึงไม่ใช่การบอกให้หาแพสชั่น แต่เป็นการบอกให้พวกเขาเชื่อว่าเราต้องสร้างและพัฒนามันขึ้นมา โดยเริ่มแรกเขาอาจไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า เฮ้ย กูต้องพัฒนาอะไร ? แต่มันเป็นเรื่องที่ดีที่จะเปิดพื้นที่ให้ยืดหยุ่นเข้าไว้

ส่วนหนึ่งของการวิจัยนี้ยิ่งย้ำว่าคนที่ยึดติดกับแพสชั่นหนึ่งเดียว จะมีปัญหาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือพื้นที่ใหม่ ๆ ที่พ้นไปจากความสนใจหรือแพสชั่นตัวเอง ในขณะที่คนที่เปิดกว้าง ไม่เจาะจงว่าต้องหาแพสชั่นให้เจอ จะมีแรงกระตุ้นให้ศึกษาสิ่งใหม่ ๆ มากกว่า

อ่านจบแล้วอาจต้องมาทบทวนตัวเองกันหน่อยว่าเราเป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบบอกคนอื่นว่า “แพสชั่น” คือคำตอบของทุกอย่างอยู่หรือเปล่า ? ถ้าเราเผลอพูด แต่ไม่ได้ตั้งใจจะหมายความว่าแพสชั่นคือยาวิเศษ ก็อาจต้องลองปรับคำพูดดูใหม่ หรือถ้าเราอยากดึงศักยภาพคนอื่นออกมาได้เต็มที่ อาจต้องลองบอกให้เขาเปิดกว้างเรื่องความสนใจเข้าไว้ เพราะนักจิตวิทยาให้เหตุผลว่าการเปิดกว้างและเชื่อว่าความชอบมันมีขั้นตอนในการพัฒนาของมัน จะยิ่งทำให้มนุษย์เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และมีแรงกระตุ้นได้ดีกว่า

งานวิจัยใหม่ ๆ เหมือนเป็นความท้าทายของผู้ชายอย่างเรา ๆ ที่ทำให้เราได้ UNLOCK วิธีคิดของตัวเองไปอีกขั้น เชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่เป็นไร แต่การได้รับรู้ว่ามันมีวิธีคิดแบบอื่น ๆ ในการทำงานและใช้ชีวิตอยู่ด้วย จะทำให้เรารู้เท่าทันโลกใบนี้แน่นอน

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line