Life

ทุกวันนี้หนุ่มเมืองกำลังพอกความเหงา! ผลวิจัยเผยใช้เวลาบนโซเชียลมากทำให้เราหว่องและซึมเศร้า

By: anonymK November 12, 2018

“คุณเข้าโซเชียลมีเดียครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ และใช้เวลากับมันนานแค่ไหน”

ว่ากันตามตรง ประโยคคำถามข้างต้นมันเป็นคำถามที่ส่วนตัวแล้วเราเองก็ไม่ค่อยอยากจะเอามาพูดถึงบ่อย ๆ เพราะมันเป็นเรื่องที่งานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันอยู่แล้วว่าถ้าใช้มากไปก็อาจมีผลเสียตามมา แต่พวกเราหนุ่มเมืองยังคงต้องใช้มันเป็นช่องทางสื่อสาร ส่งงาน แชร์ความรู้ หรือประชุมงาน ดังนั้น เวลามีเรื่องอัปเดตเกี่ยวกับข้อมูลพฤติกรรมการใช้โซเชียลที่น่าสนใจ มีผลกับเราโดยตรง เราจึงเห็นว่าตัองเอามาบอกกัน เพราะอย่างน้อยรู้ไปก็ดีกว่าไม่รู้ ส่วนจะจัดสรรเวลาให้ดีขึ้นได้ไหม เราเองก็คิดว่าต่อให้แน่นแค่ไหนก็คงยังพอมีทางออกให้ได้บ้าง

IG, SNAPCHAT & FACEBOOK gonna killed US?

ล่าสุดในวารสาร Journal of Social and Clinical Psychology ประจำเดือนธันวาคมตีพิมพ์ผลวิจัยที่ว่าด้วยการเชื่อมโยงระหว่างการใช้โซเชียลมีเดียกับความเหงาว่ามันติดกันมาเป็นแพ็คคู่ โดย Penn research เขาวิจัยกันจริงจังด้วยการทดลอง “ตัดขาด” คนจากโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ไม่ว่าจะ Facebook, Snapchat และ IG แล้วพบว่าสุขภาพมันดีขึ้นจริง ๆ

การทดลองนี้ใช้คนเข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 143 คน (ผู้หญิง 108 คนและผู้ชาย 35 คน) จากกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ University of Pennsylvania ที่ใช้โซเชียลมีเดียทั้ง 3 อย่าง ได้แก่ Facebook, Snapchat และ IG นำมาเข้าร่วมวิจัยตอบแบบสอบถามสำรวจอารมณ์กันตั้งแต่ต้น จนถึงการแคปฯ หน้าจอโชว์แบตเตอรี่บนเครื่องจริงจังกันก่อนจะเริ่มวิจัย จากนั้นจะทำการสุ่มกลุ่มคนจำนวนหนึ่งมาบล็อกพฤติกรรมการใช้โซเชียลให้เหลือแค่ 10 นาทีต่อแพลตฟอร์ม ต่อวัน จึงเหลือการใช้โซเชียลมีเดียรวมต่อวันแค่ 30 นาทีเท่านั้น

สิ่งที่พบจากการประเมินอารมณ์ ภายใน 3 อาทิตย์ให้หลังคือผลสำรวจทางอารมณ์เรื่องความรู้สึกกังวล โรคซึมเศร้า และความโดดเดี่ยวที่ประเมินรายบุคคลแล้วให้ผลตรงกันว่าการลดเวลาในโซเชียลจะทำให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวและการเป็นซึมเศร้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเมื่อผู้วิจัยขุดลึกไป เขาพบว่าส่วนหนึ่งมาจากเรื่องการเปรียบเทียบชีวิตกันบนโลกโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหนก็ตาม การที่เราเห็นชีวิตที่เท่กว่า หรือดีกว่าเราบางครั้งก็ทำให้พาลเศร้าได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ยังไม่ถือว่าเป็นงานวิจัยที่สมบูรณ์มากนัก เพราะรายละเอียดสำคัญเรื่องเงื่อนไขของผู้เข้าร่วมวิจัยยังไม่ได้รับการกำหนดแบบลงลึก ทั้งช่วงเวลาการใช้โซเชียล กลุ่มอายุของผู้วิจัย หรือสัดส่วนเรื่องเพศ ที่เอาจริง ๆ คนแค่ 35 คนคงไม่สามารถจะใช้ครอบคลุมเหมารวมว่ามันจะได้ผลลัพธ์เดียวกันกับกลุ่มผู้ชายทั้งหมดได้ แถมงานวิจัยอีกฉบับของนักศึกษาปริญญาเอกสาขาสังคมศาสตร์จาก University of Michigan เขายังออกมาเผยผลที่ค้านกันว่าโซเชียลมีเดียมัน “ช่วยลดภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุ” (หลังวิจัยกับคนที่มีอายุ 67 ปีขึ้นในสหรัฐอเมริกา) ได้ดี ซึ่งแน่นอนว่ามันค้านกันอย่างสิ้นเชิง

ผู้ชายเราเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่าผู้หญิง แต่ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า

ผลวิจัยนอกประเทศเอามาบอกอาจจะดูเหมือนไกลตัวไปหน่อย มาฟังฝั่งตัวเลขสถิติในประเทศไทยกันบ้าง คุณว่าวันนี้มีคนซึมเศร้าในบ้านเรามากน้อยแค่ไหน หนึ่งล้านห้าแสนคนคือตัวเลขกลม ๆ ที่เคยระบุจำนวนไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว (2560) ซึ่งแน่นอนว่านับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้นจากตอนนั้น

สิ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือแม้ในรายงานจากสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติปี 2560 เผยว่าผู้หญิงเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า แต่พอมองยาวไปถึงปรากฏการณ์หลังโรคซึมเศร้าอย่างการฆ่าตัวตาย กลับมีตัวเลขบ่งชี้สถิติที่ชัดเจนต่อเนื่องกันว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของเพศชายมีสูงกว่าเห็น ๆ เรียกได้ว่าเป็น 3-4 เท่าของผู้หญิงเลยทีเดียว UNLOCKMEN จึงคิดว่าผู้ชายเราควรเกิด Awarness เรื่องนี้ทั้งกับตัวเองและคนรอบข้างเรื่องภาวะความเสี่ยง จนถึงวิธีที่จะแก้ไขมัน

สำหรับชาว UNLOCKMEN คนไหนที่อยากจะรู้ว่างานวิจัยนี้มันจริงไหม ได้ผลดีหรือเปล่า จะลองเอาตัวเองไปเป็นหนูทดลองเรื่องนี้ดูด้วยการเซ็ตเวลาการใช้โซเชียลให้มันน้อยลงเราก็มองว่าไม่เสียหาย เพราะถึงแม้มันจะไม่ช่วยเรื่องซึมเศร้าแต่คงช่วยเรื่องสมาธิ หรือสายตาเราได้ ถ้าจะลองหันไปตั้งเวลาเตือนเลิกใช้โซเชียลเราคิดว่าก็น่าสนใจดี

ส่วนใครที่ไม่มีตัวช่วยโฟกัสแทนโซเชียลมีเดีย จะหันมากด direct link เข้าเว็บไซต์ UNLOCKMEN ของเราไว้อ่านเป็นเพื่อน เพื่อรับความรู้พร้อมความมันส์ให้หายเหงา เรารับรองได้ว่าจะอยู่เคียงข้างหนุ่ม ๆ ทุกคนตลอดไป

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line