Life

“ภาวะเครียดทางการเมือง”ผลจากการเมืองดุเดือดอาจทำให้ป่วยใจโดยไม่รู้ตัว

By: TOIISAN March 26, 2019

หลังจากรอคอยมา 5 ปีคนไทยก็ได้เลือกตั้งอย่างที่หวัง นอกจากได้ออกไปใช้สิทธิและได้นโยบายที่จะตามมาหลังจากนี้แล้ว อีกสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวคือการที่การเมืองส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของเรา

ยิ่งการเมืองร้อนแรงมากเท่าไหร่ หรือต้องเจอการถกเถียงที่ชวนปวดหัว สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่ความเครียดที่เรียกว่า Political Stress Syndrome หรือ ภาวะความเครียดทางการเมือง

หลายครั้งที่ความเครียดทางการเมืองคืบคลานเข้ามาใกล้โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว UNLOCKMEN จะพาไปทำความรู้จักกับโรคชนิดนี้ให้มากขึ้น ว่าเกิดจากอะไร ใครบ้างเสี่ยงที่จะเป็น และควรที่แก้ปัญหาความเครียดนี้อย่างไร 

“อริสโตเติล”นักปรัชญาชาวกรีกกล่าวไว้ว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่หมกมุ่นเรื่องการเมือง เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การจัดระบบระเบียบสังคมให้เข้าที่เป็นสิ่งที่มนุษย์ส่วนมากให้ความสนใจและจับตามองว่าการจัดการแต่ละครั้งจะออกมาในรูปแบบไหน ดังนั้นเรื่องราวทางการเมืองไม่ว่าจะเป็น การเลือกผู้นำ ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายค้าน จึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มานานแล้ว 

เห็นได้ชัดว่าเราไม่สามารถบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนเรา ได้ และเมื่อความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันอาจทำให้มีการโต้เถียง จนนำไปสู่ความเครียดและความสิ้นหวังได้ง่ายกว่าที่คิด 

 

ว่าด้วยภาวะความเครียดทางการเมือง

Political Stress Syndrome (PSS) คือ ภาวะความเครียดจากการเมือง เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ปกติแล้ว PSS มักเกิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง หรือเกิดกับประชาชนที่ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งนี้อาจทำให้คนไทยเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ใช่แค่คนที่ติดตามข่าวการเมืองมาตลอดก็สามารถเป็นด้วยเช่นกัน 

ภาวะ PSS ไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่เป็นความไม่สมดุลทางสภาพจิตที่เกิดขึ้นจากเรื่องการเมือง จากการสำรวจของกรมสุขภาพจิต ปี 2550 พบว่า 1 ใน 4 ของประชากรไทยกำลังประสบปัญหาความเครียดจากการเมือง และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าร้อยละ 3.53 มีสาเหตุมาจากการเมือง เพราะยิ่งเห็นข่าวก็ยิ่งเครียด ยิ่งเห็นผลลัพธ์ทางการเมืองที่รับไม่ได้ก็ยิ่งปวดหัว จนบางครั้งทำให้ไม่กล้าเปิดประเด็นสนทนาเรื่องการเมืองกับใคร เพราะไม่แน่ใจว่าคนที่คุยด้วยคิดเหมือนหรือคิดต่างกับเรามากน้อยแค่ไหน

ความคิดต่าง ๆ เหล่านี้คือความกังวลล่วงหน้า หรือ Anticipatory Anxiety ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดภาวะ PSS ทำให้เรื่องการเมืองที่ใครหลายคนคิดว่าเป็นสิ่งไกลตัวกลับกลายเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราและส่งผลกระทบต่อชีวิตมากว่าที่คิด 

กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นภาวะความเครียดจากการเมือง ได้แก่ นักการเมือง ประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายการเมือง กลุ่มผู้ที่ติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมือง กลุ่มสื่อ กลุ่มญาติผู้สูญเสียคนที่รักไปจากความขัดแย้งทางการเมือง และกลุ่มผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่ก่อนแล้ว

แต่ถ้าในช่วงเวลาที่การเมืองร้อนแรงเช่นหลังการเลือกตั้ง ช่วงนับคะแนนเสียง หรือการเปิดสภาครั้งแรก เหตุการณ์เหล่านี้มีผลที่ทำให้คนทั่วไปที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาจเกิดภาวะเครียดจากการเมืองได้ด้วยเช่นกัน 

 

อาการอะไรบ้างที่แสดงว่าเรากำลังเครียดกับการเมือง

แม้เราต้องเครียดทุกวัน แต่ความเครียดทางการเมืองอาจสร้างผลกระทบเป็น 2 เท่า

การสำรวจความเครียดทางการเมืองสามารถดูเบื้องต้นได้ 3 อย่าง คือ อาการทางกาย เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับหรือหลับ ๆ ตื่น ๆ อ่อนเพลีย กินข้าวไม่ลง ชาตามร่างกาย หายใจไม่เต็มปอด และน้ำหนักตัวลดลงหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ

สิ่งต่อมาที่ต้องดูคือ อาการทางสภาพจิต เช่น เมื่อดูข่าวการเมืองจะเกิดความวิตกกังวลหรือหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ บางครั้งอาจซึมเศร้า ท้อแท้ และไม่มีสมาธิ จนบางคืนเก็บเอาเรื่องการเมืองไปฝัน  

อาการสุดท้ายที่จะต้องสังเกตคือ อาการทางพฤติกรรม เช่น โต้เถียงเรื่องการเมืองกับคนใกล้ตัว (ต้องแยกให้ว่าอะไรคือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และอะไรเป็นการโต้เถียงที่รุนแรง) รู้สึกอยากเอาชนะฝ่ายตรงข้ามเวลาพูดเรื่องการเมือง รู้สึกยอมไม่ได้ จนการเมืองกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ หนักเข้าอาจเกิดการทำร้ายร่างกายกันเพียงเพราะคุยเรื่องการเมืองแล้วคิดไม่เหมือนกัน 

 

ถ้าพบว่าตัวเองกำลังเผชิญกับความเครียดจากการเมืองควรทำอย่างไรต่อดี ?

สำหรับคนที่พบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็น PSS หรือเกิดภาวะความเครียดจากการเมืองไปแล้วอาจไม่จำเป็นต้องพบแพทย์เสมอไป อย่างแรกที่ควรทำคือการปรับตัว ไม่พาตัวเองไปสู่จุดที่จะทำให้ความเครียดพุ่งสูงขึ้น เช่น ถ้าปกติเช็กข่าวการเมืองทุกครั้งที่ว่าง ให้เปลี่ยนเป็นแบ่งเวลาว่างไปทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองบ้าง

จิตแพทย์แนะนำว่าเราไม่ควรอ่านข่าวการเมืองเกิน 40 นาทีต่อวัน เพราะหากเกินกว่านั้นจะทำให้เกิดความกดดันที่จะนำไปสู่ความเครียดและก้าวร้าวได้ง่าย 

นอกจากต้องลดการตามข่าวแล้ว ไม่ควรคุยเรื่องการเมืองกับคนที่รู้อยู่แล้วว่าความคิดเห็นไม่ตรงกันและควรออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงกินอาหารที่ดีต่อร่างกายก็จะสามารถช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิดของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ

อย่างไรก็ตามหากใครที่ลองทำทุกอย่างแล้วยังไม่ดีขึ้น เห็นข่าวทีไรก็เครียดหนักเหมือนเดิม จนบางครั้งอาจส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตปกติแบบเดิมได้ เช่น ซึมเศร้าหนัก นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลง จนอยากทำให้ฆ่าตัวตาย ไม่ควรซื้อยาคลายเครียดกินเองโดยเด็ดขาด แต่ควรปรึกษาจิตแพทย์

หากไม่สามารถเลี่ยงบทสนทนากับคนที่เห็นต่างทางการเมืองได้ เราควรศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วน ใช้วิจารณญาณ และเปิดใจเพื่อรับฝั่งข้อเท็จจริงของอีกฝ่าย

ถึงแม้ว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่อย่าให้เรื่องของการเมืองมาทำให้ตัวเองเครียดจนเกินไป และทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างต้องพินาศลง 

 

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line