Life

“กังวลไปก็ไม่ช่วยอะไร” ลองดู 5 ขั้นตอนที่ช่วยให้เราแก้ปัญหาในชีวิตได้ดีขึ้น

By: unlockmen February 4, 2021

รู้ไหมว่ามันมีเส้นบาง ๆ ระหว่าง ‘แก้ปัญหา’ กับ ‘กังวล’ หลายคนมักสับสนและมองว่าสองสิ่งนี้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง และทำให้เราคลี่คลายปัญหาได้ต่างกันด้วย UNLOCKMEN เลยอยากมาอธิบายว่า การแก้ปัญหา กับ การกังวล มันต่างกันอย่างไร ?


WHAT IS PROBLEM SOLVING ?

เวลาเราเผชิญหน้ากับปัญหา แต่ละคนอาจมีวิธีแก้ปัญหาแตกต่างกัน บางคนใช้ ‘ทักษะในการแก้ปัญหา’ (problem solving skills) ในการแก้ปัญหาจริง ๆ แต่หลายคนก็มักใช้ ’ความกังวล’ ในการแก้ปัญหา อาจเป็นเพราะเข้าใจว่า ‘กังวล’ กับ ‘แก้ปัญหา’ เป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ สองอย่างนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

กังวล (worrying) คือ การคิดเพื่อแก้ปัญหาเหมือนกับ problem-solving แต่ต่างกันตรงที่ว่า มันจะโฟกัสกับเรื่องร้าย ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเดียว โดยไม่ดูเรื่องดี ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเลย เมื่อเราเกิดความกังวล เราจะคิดอยู่อย่างเดียวว่า “เมื่อเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น เราจะรับมือกับมันได้อย่างไรบ้าง?” และความกังวลมักทำให้เราตื่นตระหนกมากเกินไป จนไม่มีสติมากพอที่จะคิดและหาโซลูชั่นที่เหมาะสมกับปัญหา

นอกจากนี้ความกังวลอาจจะทำให้เราเกิดความกลัวตามมา โดยเฉพาะความกลัวในสิ่งที่มักจะไม่เกิดขึ้นจริงในอนาคต และเมื่อเราเกิดความกลัว เราอาจตัดสินใจหนีจากปัญหามากกว่าที่จะแก้ไขมัน เช่น ไมวางแผนรับมือกับปัญหาไว้ก่อน หรือ เพิกเฉยต่อปัญหาไปเลย ส่งผลให้เราไม่มีความพร้อมรับมือกับปัญหา และได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเมื่อมันเกิดขึ้น

ในทางกลับกัน การแก้ปัญหา คือ การคิดแบบมีโครงสร้าง และเป็นการโฟกัสกับวิธีการรับมือกับปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและความยืดหยุ่น ซึ่งการแก้ปัญหาจะใช้ทักษะในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การนิยามปัญหา การคิดถึงวิธีการทั้งหมดในการแก้ปัญหา การประเมินข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี และตัดสินใจวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาแผนรับมือกับปัญหาที่มีคุณภาพ และสามารถประเมินผลลัพธ์ เพื่อนำไปปรับปรุงวิธีการรับมือของตัวเองในอนาคตได้อีกด้วย จึงถือเป็นทักษะที่เราทุกคนควรมีติดตัวกัน

อย่างไรก็ตาม คนที่ชอบกังวลมักไม่รู้ว่าตัวเองกำลังกังวลอยู่ และคิดว่ามันคือการแก้ปัญหา เพราะแค่คิดถึงปัญหาพวกเขาก็มักเกิดความกังวลแล้ว นอกจากนี้บางคนยังคิดว่าการกังวลทำให้เกิดความ productive ด้วย เพราะทำให้พวกเขาคิดถึงปัญหาซ้ำ ๆ แต่ในความเป็นจริงความกังวลไม่ได้ช่วยให้พวกเขาไปไหนเลย แถมยังกินพลังงานกายและใจของพวกเขาไปแบบเปล่า ๆ ด้วย ดังนั้น ใครที่กังวลอยู่ จึงควรเลิกกังวลและหันมาแก้ปัญหาแบบจริงจังกันซะที


HOW TO DO IT ?

ข่าวดี คือ ถ้าเรารู้แล้วว่า ความกังวลแย่อย่างไร เราจะสามารถหันมาแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งวิธีการตรวจสอบว่าตัวเองกำลังกังวลอยู่หรือไม่ก็ง่าย คือ หยุดคิดและเช็คตัวเองในระหว่างที่เรากำลังคิดถึงปัญหา ลองดูว่าตัวเองในตอนนั้นกำลังรู้สึกอย่างไร เครียด ซึมเศร้า โกรธอยู่หรือไม่ ? ตัวเองใช้เวลาไปกับการโฟกัสในเรื่องแย่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นมากเกินไปหรือไม่ ? และประเมินวิธีการแก้ปัญหาของตัวเองว่าแย่ไปหมดรึเปล่า ? ถ้าคุณพยักหน้าให้กับ 3 คำถามนี้ คุณอาจกำลังกังวลอยู่ก็เป็นได้ ลองหายใจเข้าช้า ๆ และทำตัวให้ผ่อนคลายดูจะช่วยลดความกังวลได้ แต่ถ้ามันไม่เวิร์ก เราขอแนะนำให้หยุดคิดถึงปัญหาก่อน และค่อยเริ่มใหม่อีกครั้ง

เมื่อใจเราพร้อมแล้ว เรามั่นใจแล้วว่าตัวเองไม่มีความกังวลแล้ว ต่อมาก็คือการลงมือแก้ปัญหา ซึ่งกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดอาจขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ บางปัญหาอาจต้องใช้วิธีการเรียนรู้ปัญหาให้มากที่สุด และนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการคิดวิธีการแก้ปัญหา ส่วนบางปัญหาอาจต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากหน่อย วิธีการแก้ปัญหาส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับขั้นตอนเหล่านี้ ได้แก่

การกำหนดปัญหาที่ชัดเจน

ปัญหาที่มีความชัดเจน คือ ปัญหาที่เราสามารถอธิบายได้ว่าอะไรที่ทำให้มันเป็นปัญหา เช่น มันเกิดขึ้นช้าเกินไป มันอยู่ผิดสถานที่ หรือว่า มันเป็นการกระทำที่ผิดข้อตกลง เป็นต้น เมื่อเราเข้าใจปัญหาอย่างชัดเจนแล้ว มันจะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาต่อไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปัญหาของเรา คือ ก่อนหน้านี้ต้องจ่ายค่าน้ำในช่วงกลางเดือน และค่าโทรศัพท์ปลายเดือน แต่เดือนนี้ต้องจ่ายทั้ง 2 บิลพร้อมกันกลางเดือน ตอนนี้ฉันมีเงินไม่พอจ่าย เมื่อปัญหาของเราชัดเจนแล้วว่าเป็นเรื่อง ‘เงิน’ เราอาจคิดต่อได้ง่ายว่า เราจะแก้ปัญหาอย่างไรดี เช่น จะขอยืมเงินคนอื่นก่อนไหม ? หรือว่า จะทำงานพิเศษเพิ่มเติมดี ? เป็นต้น

คิดและเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

เมื่อเรามีความชัดเจนในปัญหาที่เราต้องการจะแก้แล้ว ต่อมา คือ การหากลยุทธ์ในการแก้ปัญหา ลองคิดดูว่าเรารู้อะไรเกี่ยวกับปัญหานี้บ้าง และลองคิดวิธีการแก้ปัญหาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทำเป็นลิสต์ออกมา จากนั้นค่อยเริ่มกำจัดวิธีที่ไม่มีเหตุผลหรือไม่ต้องการออกไป เหลือเพียงแต่วิธีที่เราต้องการเท่านั้น จะช่วยให้เรากรองวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่มีประสิทธิภาพออกไปได้บางส่วน

ประเมินข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี

เมื่อเราคัดเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่น่าสนใจออกมาได้จำนวนหนึ่งแล้ว ต่อมาก็ คือ การกรองอีกครี่งหนึ่ง โดยการประเมินว่าแต่ละวิธีการแก้ปัญหามีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง เพื่อคัดเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่จะนำไปใช้ได้จริง ซึ่งอาจจะคัดมาแค่ 1 วิธี หรือ มากกว่านั้นก็ได้ และในแผนควรมีการกำหนดด้วยว่า ใครจะเป็นคนลงมือทำ แผนจะเริ่มต้นเมื่อไหร่ และจะทำตามแผนอย่างไร

ติดตามการทำงานตามแผนอย่างเข้มข้น

การแก้ปัญหาที่ดีจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น เพราะในระหว่างที่ทำตามแผน เรื่องที่ไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ พอมันเกิดแล้ว แผนที่ใช้อยู่เดิมอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป หรือ มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาน้อยลง เราเลยจำเป็นพิจารณาวิธีการที่ใช้อยู่อีกครั้ง หรือ เปลี่ยนแผนไปเลย เพื่อรักษาประสิทธิภาพในการทำงาน

ประเมินผลลัพธ์
หลังจากที่เราสามารถทำตามแผน และแก้ปัญหาได้สำเร็จแล้ว อีกหนึ่งขั้นตอนที่ขาดไม่ได้เลย คือ การประเมินผล เพื่อดูว่าสิ่งที่เราทำเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาได้ดีอาจจำเป็นต้องใช้พลังงานและเวลา แต่ในบางสถานการณ์เราอาจต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน จนส่งผลให้เราตัดสินใจได้แย่ลงได้ ในสถานการณ์นี้ การทำตัวเองให้ผ่อนคลายก็ช่วยได้เช่นกัน เพราะเมื่อเราตั้งสติได้แล้ว การแก้ปัญหาจะดีขึ้นตามมาเอง


Appendixes: 1 / 2 / 3

 

 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line