Girls

รูปถ่ายคือการร้อยเรียงตัวตน รู้จัก “แพร-รัมภาพร” ช่างภาพสาวที่ถ่ายภาพเพื่อก้าวไปข้างหน้า

By: PSYCAT August 3, 2018

เราต่างมีวิธีหอบร่างกายและชีวิตไปข้างหน้าในรูปแบบของเราเอง บางคนรู้สึกว่าชีวิตกำลังก้าวไปข้างหน้าเรื่อย ๆ จากการทำเพื่อคนอื่น บางคนรู้สึกว่าชีวิตก้าวไปข้างหน้าจากการตามหาความฝัน ในขณะที่บางคนรู้สึกว่าชีวิตกำลังก้าวไปข้างหน้าเพราะการได้ทำสิ่งที่ตัวเองหลงใหลและเรียนรู้มันไปแบบไม่มีวันจบ

“แพร-รัมภาพร วรสีหะ” เป็นหนึ่งในนั้น หนึ่งในคนที่เชื่อว่าการจะพาชีวิต ร่างกายและหัวใจแกร่ง ๆ ก้าวไปข้างหน้าได้คือการได้ทำในสิ่งที่หลงใหลแบบสุดจิตสุดใจ พร้อม ๆ กับเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากสิ่งนั้นไปด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เธอเชื่อในพลังของการถ่ายภาพเสมอ

“เราถ่ายรูปโดยที่ไม่รู้ตัวหรอกว่าถ่ายอะไรไปบ้าง แต่พอเราจับรูปมาเรียงกัน มันจะบอกตัวตนเราหมดเลย”

นั่นคือประโยคที่เราจำขึ้นใจ ใช่ นอกจากรูปถ่ายจะพาเธอก้าวไปข้างหน้าแล้ว รูปถ่ายมันยังร้อยเรียงกันจนเล่าเรื่องตัวตนของมนุษย์คนหนึ่งได้จริง ๆ นี่จึงเป็นเหตุผลง่าย ๆ ที่ UNLOCKMEN กระหายที่จะคุยกับเธอ ช่างภาพสาวที่เชื่อว่ารูปถ่ายคือการร้อยเรียงตัวตนและเชื่อว่าการถ่ายภาพมันพาชีวิตเธอก้าวไปข้างหน้าได้ ส่วนเราจะเชื่อแบบเธอหรือไม่ก็ตาม อย่าเพิ่งเค้นคำตอบตัวเองตอนนี้ ดำดิ่งกับบทสนทนาไปพร้อม ๆ กับเราก่อน

เสพติดรูปถ่ายจนหยุดดูไม่ได้คือจุดเริ่มต้น

แม้วันนี้ใครหลายคนจะรู้จักแพร-รัมภาพรในฐานะอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพและช่างภาพอิสระ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ จุดเริ่มต้นในการจับกล้องของเธอก็ชวนให้เราเข้าใจวลีที่ว่า “หลงใหลจนเข้าขั้นเสพติด”

“ชอบจริง ๆ ก็น่าจะเป็นตอนมัธยมปลาย มีเว็บบอร์ดหนึ่งที่จะมีคนเข้ามาโพสต์รูปถ่ายทุก ๆ วัน โพสต์รูปใบไม้ ต้นไม้ ไปเที่ยว เราเข้าไปดูเสร็จปุ๊บแล้วรู้สึกว่าติดมาก”เธอลากเสียงยาวจนเราอดอมยิ้มไม่ได้ “ติดในที่นี้ คือเราเลิกดูไม่ได้ เลิกเข้าไปไม่ได้ ทุกเย็นกลับบ้านไปก็ต้องเข้าไปดูในเว็บไซต์นี้เพื่อที่จะเข้าไปดู เข้าไป save รูปที่เราชอบไว้”

แม้จะหลงใหลรูปถ่ายจนเข้าขั้นเสพติด แต่การค้นพบทางของตัวเองก็ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่เราเดา “ตอนมัธยมปลายไม่รู้เลยว่าชอบอะไร เพราะว่าเรียนสายศิลป์ภาษาจีน ได้ไปเรียนที่จีนสามเดือน กลับมาแล้วยังก็ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร แต่รู้สึกว่าตัวเองชอบภาษาอังกฤษ ชอบภาษา หัวด้านวิทย์ ด้านคณิต มันไม่ใช่เรา”

“แต่พอได้ถ่ายรูปปุ๊บ เรารู้สึก เฮ้ย อันนี้มันสนุกดีว่ะ แต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจนะว่าฉันชอบถ่ายรูปมาก แต่ว่าพอมันได้ทำไป เราก็รู้สึกว่า โห ๆ ๆ สนุกจัง” เธอเล่าถึงห้วงเวลาแรก ๆ ที่เธอได้ถ่ายรูปด้วยแววตาเป็นประกายคล้ายกับว่าความตื่นเต้นจากการจับกล้องครั้งแรกยังอวลอยู่รอบ ๆ ตัวเธอในวันนี้

ไม่ต้องเรียนตรงสายก็ได้ แต่ต้องไม่หยุดเรียนรู้

แม้จะรู้ตัวว่าตัวเองชอบถ่ายภาพ แต่เธอก็ไม่ได้เรียนเรื่องการถ่ายภาพมาโดยตรง แต่เรียนด้านภาพยนตร์แทน เราอดถามไม่ได้ว่าการสร้างสรรค์รูปถ่ายกับการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ พอมาเรียนจริง ๆ แล้วมันเหมือนกันไหม ? “มันไม่มีอะไรเหมือนกันเลย มีแค่อย่างเดียวที่ได้เรียนคือ photo พื้นฐานของนิเทศ เราก็จะงง ๆ นิดนึง แต่เรียนดันทุรังไปจนจบ”

แม้เธอจะเรียนจบมาแบบไม่ได้หลงใหลกับการสร้างสรรค์ภาพยนตร์มากนัก แต่เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้คือการเอาอะไรก็ได้มาปรับใช้ให้เข้ากับสิ่งที่หลงใหลอย่างการถ่ายภาพ ภาพยนตร์ก็คือการเล่าเรื่อง การถ่ายภาพก็คือการเล่าเรื่อง นั่นคือสิ่งที่เธอเข้าใจ “เราว่าช่างภาพ คือคนที่รู้ว่าตัวเองชอบถ่ายรูป เหมือนเกิดมาจาก passion ก่อนและการได้ลองถ่ายก่อน พอได้ลองปุ๊บ มันเห็นเป็นภาพแล้วมันรู้สึกแบบ อันนี้แหละคือสิ่งที่เราจะสื่อสารออกไป”

พ้นจากโลกออนไลน์ รูปถ่ายเราอาจไม่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างในชีวิตช่างภาพอย่าง “แพร-รัมภาพร” คือการตัดสินใจไปเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพอย่างจริงจังที่นิวยอร์ก เปล่า ไม่ใช่เพราะเธอรู้สึกว่าเธอจะเก่งขึ้นได้แบบก้าวกระโดดจากการไปเรียนต่างประเทศครั้งเดียว แต่วัฒนธรรมการเรียนรู้ที่แตกต่างจากที่นั่นที่พาเธอก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่ต่างหากที่ทำให้เธอกลายมาเป็นเธออย่างทุกวันนี้

“มันโคตรต่างกันเลย ต่างกันแบบหน้ามือหลังมือ ก่อนเราไป สังคมเรามันอยู่แค่ใน เฟซบุ๊ก ประเทศไทยเป็นประเทศที่เล่นเฟซบุ๊กมากที่สุดประเทศนึง เราก็เลยรู้สึกว่าทุกอย่างมันอยู่ในเว็บบอร์ด อยู่ในพันทิป ทุกอย่างอยู่ในโลกออนไลน์”

เราเชื่อว่าไม่ใช่แค่เธอเท่านั้นที่คิดว่าตัวตนหรือผลงานของตัวเองใหญ่คับฟ้าเมื่ออยู่ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะโลกออนไลน์ที่รายล้อมไปด้วยคนรู้จักที่พร้อมจะชื่นชม แต่ไม่กล้าวิจารณ์เราตรง ๆ

“เหมือนเราเห็นโลกแค่นี้ แล้วการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรอบข้างในสังคมใหญ่ ๆ มันยังไม่มี หนึ่ง เราเป็นเด็กด้วย เราก็มีเพื่อนแค่ที่มหา’ลัย แล้วก็เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก เราก็อยู่แค่นั้น แต่พอไปเรียนที่นั่น มันกลายเป็นอีกเรื่องเลย” การได้ไปเรียนที่นิวยอร์กจึงเหมือนเป็นการกระซิบบอกเธอกลาย ๆ ว่าโลกใบนี้มันกว้างใหญ่กว่าที่เธอเคยเชื่อ

“แทบจะชัตดาวน์จากเฟซบุ๊กไปเลย ทุกคนที่นั่นมาจากหลายประเทศมาก แล้วเขาก็ไม่ค่อยใช้เฟซบุ๊กกัน เรามี mindset ประมาณนึงว่ารูปฉันสวยมาก รูปที่ฉันส่งไปนี่แหละคือรูปที่สวยที่สุดในชีวิต แต่พอไปถึงที่นั่นปุ๊ป กลายเป็นเขาบอกว่า เออ ก็สวยดีนะ แต่ว่ามีคอนเซ็ปต์อะไร” วินาทีนั้นเองที่เธอยิ่งมั่นใจว่าการถ่ายภาพจะพาเธอก้าวไปข้างหน้าในพื้นที่ที่เธอไม่เคยไปมาก่อนได้จริง ๆ

เมื่อรูปถ่ายไม่ได้จบ หลังถ่ายจบ

เธอเริ่มก้าวไปข้างหน้าด้วยการเริ่มถ่ายภาพที่นั่น เธอรู้ตัวว่าตัวเองมีของ ทั้งการเลือกแบบที่ใช่ในแสงที่ใช่ การจัดวางที่เหมาะสมไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเธอ “เป็นผู้หญิงโป๊ ๆ เปลือย ๆ นิดนึงในห้องนอนของเราที่นิวยอร์ก เพราะพอไปถึงแล้ว เขาให้สร้างเซ็ตรูปเซ็ตใหม่ขึ้นมาเซ็ตนึง เรารู้จักนางแบบไทยที่นั่นพอดี พองานออกมามันก็สวยงามประมาณนึง ในเฟซบุ๊กคนก็กดไลก์กันเยอะมาก” เธอเล่าไปพร้อมกับที่ไม่ปฏิเสธว่ายอดไลก์ในเฟซบุ๊กยังมีอิทธิพลต่อเธออยู่

“แต่พอเราเอาไปเสนอเขา เขาก็บอกว่ารูปสวยดี แสงสวยดี ใช้แสงธรรมชาติเก่งนะ แต่แล้วยังไงต่อ ? มันมี on going project ไหม ? มันเป็นโปรเจกต์ที่ต่อเนื่องไหม ? เราก็แบบทำไมวะ ทำไมมันต้องต่อเนื่อง ? มันจบแล้วนี่ ถ่ายแค่แบบหนึ่งชั่วโมง แล้วก็ทำรูปเสร็จแล้ว 10 – 20 รูปแล้วก็จบแล้วนี่” เธออดสงสัยไม่ได้ เพราะจากความเคยชินที่ผ่านมา ถ้าถ่ายออกมาสวย ออกมาดีก็คือจบ ทำไมมันต้องมีอะไรมากกว่านั้น ? นั่นสิ แล้วภาพถ่ายมันมีอะไรมากกว่านั้นเหรอ เราสงสัยตาม

เธอเดินออกมาจากห้องนำเสนองานพร้อมความสงสัย ก่อนจะเจอเพื่อนร่วมชั้นเรียนชาวอังกฤษและผลงานของเขาวางหราอยู่บนโต๊ะหน้าห้อง ทันทีที่เธอเห็นผลงานของเขา เธอก็เข้าใจทันทีว่าการถ่ายรูปมันไม่มีวันจบ “เพื่อนถ่ายมา 20-30 รูป แล้วก็ยัง on going project อยู่ สามารถถ่ายไปได้เรื่อย ๆ เราเลยเข้าใจว่าคอนเซปต์มันคืออย่างนี้นี่เอง มันต้องต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ สิ มันไม่ใช่แค่แบบจุดความคิดเล็ก ๆ แล้วมันก็จบแล้ว แต่มันคือสิ่งที่มึงสนใจจริง ๆ จากนั้นก็จุดประกายให้ตัวเองเลย”

รูปถ่ายคือการร้อยเรียงตัวตน

จากที่ช่วงแรก ๆ ของการเรียนถ่ายรูปที่นิวยอร์ก เธอตอบคนอื่นไปแบบทื่อ ๆ ว่าคอนเซปต์รูปถ่ายของเธอก็คือการถ่ายภาพคน แต่วิธีการเรียนรู้จากตัวตนของตัวเองและผู้อื่นทำให้ทุกอย่างค่อย ๆ คลี่คลายไปสู่คอนเซปต์ที่หนักแน่นมากขึ้น “เขาเริ่มจากการคุยกันในห้องว่าชีวิตคุณเป็นมายังไงบ้าง เอารูปที่คุณชอบมาสิ มาคุยกันหน่อยว่าทำไมถึงถ่ายรูปนี้”

“สมมติว่าในหนึ่งวันหรือในหนึ่งอาทิตย์เราถ่ายรูปโดยที่ไม่รู้ตัวหรอกว่าถ่ายอะไรไปบ้าง แต่พอเราจับรูปมาเรียงกัน มันจะบอกตัวตนเราหมดเลยว่าเราแม่งโตมาแบบไหน ตอนนี้กำลังสนใจอะไรอยู่ หรือเรากำลังให้ความสนใจเรื่องอะไร มันมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่อยู่ในรูปเรา”

แต่ไม่มีอะไรที่ง่ายหรือเป็นสูตรสำเร็จตายตัว เธอก้าวจากจุดที่ไม่เข้าใจเรื่องคอนเซปต์มากนัก ไปจนถึงจุดที่ค่อย ๆ ร้อยเรียงตัวตนจากรูปถ่าย แต่การหาคอนเซปต์ที่ใช่และเป็นตัวเองก็ไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น “ถามว่าเรารู้ก็รู้แล้วว่าคอนเซปต์เป็นแบบนี้ แต่สรุปกูมีเรื่องอะไรจะเล่าวะ ก็คือยังไม่รู้อยู่ดี “ เธอหัวเราะ

แต่การถ่ายภาพทำให้เธอก้าวไปสู่พื้นที่ใหม่ ๆ ได้จริง ๆ แม้มันจะไม่ใช่ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่เธอเรียนอยู่ที่นิวยอร์กก็ตาม “ทั้งปีที่เรียนเราไม่ได้ชัดเจนแบบนั้นด้วยซ้ำว่าเราจะทำอะไร หลัง ๆ ต่างหาก หลังจากที่จบมาแล้ว ความคิดถึงตกตะกอน แล้วเราก็ค่อย ๆ รู้ว่าเราจะจับเป็นชิ้นเป็นอันได้อย่างไร”

ถ่ายรูปเพื่อสื่อสาร เป็นอาจารย์เพื่อส่งต่อ

“ตั้งแต่ตอนที่ไปเรียนแล้ว เรียนไปประมาณ 3 เดือนแรก เรารู้สึกว่าทำไมที่ไทยมันไม่เห็นมีอะไรแบบนี้เลย ? เลยรู้สึกว่ากลับไทย ยังไงก็อยากเปิดโรงเรียนในแบบที่เราได้เรียนมา เคยประสบมา เพราะมันมีอิทธิพลกับเรามาก มันเปลี่ยนเราไปเลย เปลี่ยนเราเป็นอีกคนไปเลย” เธอเล่าถึงเหตุผลที่ไม่ได้อยากแค่ถ่ายรูปอย่างเดียว แต่อยากเป็นอาจารย์ด้วย

“การถ่ายภาพกับการสอนเหรอ ? การสอนเป็นอีกเรื่องเลยนะ เวลาสอนหนังสือ เราจะรู้สึกว่าเราเหนื่อยมากระหว่างที่สอน กว่าจะไล่จาก 1-10 แต่พอถึง 10 แล้วปุ๊บ เราเห็นว่าเด็กได้อะไร เราหายเหนื่อยเลยเราก็รู้สึกว่าไอ้สิ่งที่ทำให้หายเหนื่อยนี่แหละที่ทำให้เราสอนมาได้ตลอด 4-5 ปี” เธอพูดถึงการสอนที่ความหลงใหลในการถ่ายรูปพาเธอก้าวมาถึงจุดนี้

ถ่ายภาพด้วยมุมมองและสมอง ไม่ใช่เพศ

แม้ความหลงใหล การเรียนรู้ และความพยายามจะพาเธอมาสู่อาชีพช่างภาพได้อย่างงดงาม แต่บางความขรุขระที่ขวางให้เธอช้าลงบ้างในตอนเริ่มต้นก็อาจจะมาจากเรื่องที่เราคิดว่าไม่น่าเกิดขึ้นแล้วอย่างเรื่องเพศและเรื่องความเป็นผู้หญิงของเธอ

“ตอนแรก ๆ เลยนะ ประมาณปี 2012 – 2011 6-7 ปีที่แล้ว สังคมของเพศยังมีอยู่ เรารู้สึกว่าอยากเป็นช่างภาพ จบมาแล้วเราก็ทำ port ของเราแล้วไปสมัครเป็นผู้ช่วยช่างภาพ อยากเรียนรู้ อยากทำงานใน Magazine เราก็ยื่น Magazine ต่าง ๆ

Magazine fashion เขาก็จะเขียนว่าต้องการช่างภาพผู้ชาย ผู้ช่วยช่างภาพผู้ชาย เพื่อที่จะไปยกของ มึงต้องถึก ต้องทำงานได้ แล้วเรารู้สึกว่า เฮ้ย กูก็ทำได้นะ กูก็ทำได้เหมือนกัน เรารู้สึกว่าพลาดแล้ว มึงพลาดแล้ว” เธอหัวเราะ

“ขอแค่ฝึกงาน เขายังไม่เรียกเราเลย แล้วเราก็เลยคิดว่าไม่เป็นไร ไปเรียนของเราดีกว่า อาจจะไม่ใช่ทางเรา”

โลกหมุนพาเอาวันเวลาและทัศนคติบางแบบให้หายไป พร้อมความเข้าใจเข้ามาแทนที่ และการถ่ายรูปก็พาเธอก้าวมาสู่จุดที่เธอตระหนักแล้วว่า

“ด้วยการทำงาน หรือว่าฝีมือ แพรว่ามันไม่ต้องเอาเรื่องเพศมาตัดสินกันแล้ว มันอยู่ที่ความคิดมากกว่า อยู่ในหัวสมองมากกว่าว่าคุณเจ๋งแค่ไหน”

เธอยังฝากบอกสาว ๆ ที่อยากเป็นช่างภาพ (หรือหนุ่ม ๆ จะรับรู้ไว้ด้วยก็ได้) ว่า “อยากให้เริ่มที่รู้ว่าตัวเองชอบถ่ายอะไรในทุก ๆ วันก่อน สมมุติว่าถ่ายรูป อยากให้รักการถ่ายรูปจริง ๆ ไม่ใช่ว่าฉันทำเพราะว่าฉันทำได้ และฉันจะทำสิ่งนี้เพราะฉันเก่ง แค่อยากให้รู้สึกว่าชอบ ชอบมันก่อน แล้วเราค่อยหาเทคนิคเพื่อที่ทำให้เราสนุก เพราะว่าเมื่อไหร่ที่มันไม่สนุก มันจะทำได้ไม่นาน”

ขอบคุณวันนี้ที่เราเจอกันเพราะรูปถ่าย

เราเห็นด้วยแบบไม่มีข้อแม้ว่าไม่ว่าจะเป็นสิ่งใด ถ้ามันไม่สนุกเราจะทำมันได้ไม่นาน เราจึงเชื่อหมดใจว่า “แพร-รัมภาพร วรสีหะ” ทั้งสนุกกับการถ่ายภาพ ทั้งเสพติดการถ่ายภาพ พอ ๆ กับที่เรียนรู้จากมันจนพาตัวเองก้าวต่อไป ๆ ได้เรื่อย ๆ “เอาจริง ๆนะ ถ้าไม่ได้เป็นช่างภาพก็ไม่รู้เหมือนกันว่าชีวิตจะไปอยู่ในตรงไหน” เธอตอบเมื่อเราถามถึงสิ่งที่ได้จากการเป็นช่างภาพ

“เรารู้สึกว่าการถ่ายภาพทำให้เรารู้จักคนหลายคนมาก รู้จักคนในแบบที่เราไม่มีทางรู้จักจากอย่างอื่น เราสามารถใช้กล้องของเรา ในการรู้จักเขาได้ในลักษณะพิเศษ เรามีกล้องเป็นข้ออ้างให้เราได้เจอกัน ฉันอยากรู้เรื่องคุณ คุณเล่าเรื่องคุณได้ไหม ถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่มีบทสทนากันระหว่างการถามตอบ แต่เวลาที่เราถ่าย เขาเชื่อใจเราขนาดไหน เรารู้สึกได้” เธอมองจ้องเข้ามาในตาเราและยิ้มให้ เรามั่นใจว่าเธอเชื่อใจเราโดยที่เธอไม่ต้องบอก

บทสนทนากับช่างภาพสาวที่เชื่อว่ารูปถ่ายคือการร้อยเรียงตัวตนและเชื่อว่าการถ่ายภาพมันพาชีวิตเธอก้าวไปข้างหน้าได้จบลงตรงนี้ เราจะเชื่อแบบเธอหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อแน่ ๆ คือความหลงใหลในการถ่ายภาพของเธอทำให้เธอรุ่มรวยไปด้วยเสน่ห์และทัศนคติดี ๆ ที่เราจะจำเอาไปปรับใช้กับเรื่องอะไรก็ได้ ไปจนถึงการทำให้เราอยากคว้ากล้องมาถ่ายรูปสักใบ เพื่อสักวันเราจะได้เรียงร้อยตัวตนในแบบของตัวเองออกมาและก้าวไปข้างหน้าในแบบของเราเองเช่นกัน

 

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line