Life

อารมณ์เศร้าเสียใจ ไม่ได้มีแค่ด้านลบ วิทยาศาสตร์ค้นพบประโยชน์ที่มันทำให้เราเจ๋งขึ้น

By: Chaipohn July 6, 2018

ชีวิตที่ดีต้องมีแต่ความสุข คำพูดที่ถูกปลูกฝังมาจากหนังสือและแรงบันดาลใจจากกูรูหลากหลายอย่างหนัก ดูเผิน ๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ในชีวิตจริงคงเป็นไปได้ยากที่จะมีความสุขได้ตลอดเวลาขนาดนั้น วันนึงเราเกิดสงสัยในความจริงเรื่องนี้ว่า ยิ่งโดนปลูกฝังให้มีความสุขตลอดเวลา มันยิ่งรู้สึกเหนื่อยในการพยายามประคองรักษาระดับความสุขของตัวเอง เกิดเป็นปมเปรียบเทียบกับคนอื่นว่า คนอื่นเค้ามีความสุขกัน แล้วทำไมเราถึงต้องเศร้า ต้องอารมณ์ไม่ดี ทั้งที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวนอกเหนือการควบคุมนั้น พร้อมที่จะทำให้เราเสียใจได้ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่การจราจร เพลงเศร้า ลูกค้าด่า เจ้านายคลั่ง ของหาย และอื่น ๆ อีกมากมาย

“You should take the approach that you’re wrong, Your goal is to be less wrong”- Elon Musk

สิ่งที่เราสนใจคือการได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ Elon Musk ที่มีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาเหนือกว่าคนอื่น ส่วนนึงมาจากความสามารถรับมือกับความผิดพลาด ตัวเค้าผ่านความผิดพลาดมาชนิดนับครั้งไม่ถ้วน ด้วยความชอบทดลองลงมือทำอะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา Musk มองว่าเป้าหมายของเค้าไม่ใช่การไม่ผิดพลาด แต่เป็นการเอาชนะความเสียใจจากความผิดพลาดนั้น และพยายามผิดพลาดให้น้อยลง จนกระทั่งไม่ผิดพลาดเลย การใช้ข้อดีจากความเสียใจในข้อผิดพลาดของ Musk ทำให้เค้าเป็นนักสร้างสรรค์ที่ล้ำหน้ากว่าใคร ดูได้จากการทดลองเอาจรวดกลับมาจอดเพื่อใช้ใหม่ ที่ระเบิดไปเพราะความผิดพลาดไม่รู้กี่ครั้ง ถ้ามัวแต่เศร้ากับมันแล้วหยุดทำ วันนี้ไอเดียของ Musk ก็คงไม่สำเร็จแบบในทุกวันนี้

หลังจากอ่านผลวิจัยมามากมาย เราบอกได้เลยว่า การมีอารมณ์เศร้า อารมณ์เสียมากกว่าความสุขนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก คุณไม่ใช่คนส่วนน้อย และมันเป็นสิ่งที่ติดตัวช่วยให้มนุษย์วิวัฒนาการมาได้จนถึงทุกวันนี้

อย่างที่เรารู้กันว่า ธรรมชาติได้พยายามลดทอน ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปจากร่างกายในทุกวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งความเศร้าเสียใจ ความผิดหวัง ความกลัว ความโกรธ ความขยะแขยง ซึ่งเรียกรวมกันว่า ‘Negative Emotion’ ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นสิ่งไม่ควรมี คนดี ๆ ชีวิตแฮปปี้เค้าไม่มีกันนั้น เป็นอารมณ์ที่กระตุ้นให้บรรพบุรุษมนุษย์รู้จักเรียนรู้ความผิดพลาด หลบ หลีก เลี่ยง รับมือจากภัยอันตราย ปรับตัวเอาชีวิตรอดมาได้ตั้งแต่ยุค Homo sapiens เหมือนกันสัตว์ป่าที่เจออะไรแปลก ๆ ก็พร้อมจะปรับเข้าโหมดเตรียมต่อสู้นั่นเอง

มีการวิจัยหลายรูปแบบเกี่ยวกับประโยชน์ของความเศร้าเสียใจ ซึ่งเป็นอารมณ์พื้นฐานที่สำคัญยิ่งของมนุษย์ ทั้งจากการ Scan ดูการทำงานของสมองเมื่อรู้สึกเศร้าเสียใจ รวมถึงการวิจัยจากพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างในสถานการณ์ควบคุม ทำให้มีการสรุปประโยชน์ของความเสียใจเอาไว้ได้หลายข้ออย่างน่าสนใจ ซึ่งการเข้าใจมัน น่าจะช่วยให้เราเข้าใกล้ความสำเร็จแบบ Elon Musk ได้มากขึ้น

ความเศร้าทำให้ความจำดี

นักวิจัยค้นพบว่า มนุษย์สามารถจดจำรายละเอียดได้ดีกว่าในขณะที่เราอยู่ในภาวะเศร้าเสียใจ ซึ่งมักจะมีสมาธิในการโฟกัสจดจำรายละเอียดต่าง ๆ ตรงหน้าได้ดีกว่า อาจจะเป็น Defense Mechanism ของร่างกายมนุษย์ที่พยายามจะหลีกเลี่ยงภาวะเสียใจแบบเดียวกันในอนาคต กลับกัน ในภาวะอารมณ์ดี กลุ่มทดลองจะจำรายละเอียดได้น้อยกว่า ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากการรู้สึกดีในทุกรายละเอียดเท่า ๆ กัน (มองอะไรก็เป็นสีชมพู คนนั้นก็ดี สิ่งนี้ก็สวยงาม) ทำให้สมองไม่พร้อมที่จะโฟกัสในรายละเอียดต่าง ๆ เมื่อถูกถามให้ Recall จึงไม่สามารถทำได้ดีมากนักนั่นเอง

ความเศร้าทำให้การตัดสินใจแม่นยำ

ในขณะที่เราอารมณ์ดี เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินอะไรบางอย่างด้วยความแม่นยำ มักจะมีอารมณ์และความ Bias ส่วนตัวเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ทำให้เราตัดสินใจได้ไม่เฉียบคมมากพอ เช่นเจอบริการที่ไม่ดีจากพนักงาน แต่ด้วยอารมณ์ที่ดี เราจึงมองข้ามหรือคิดเหตุผลสนับสนุนความผิดพลาดนั้นโดยอัตโนมัติ และให้คะแนนความพึงพอใจที่สูงเกินความเป็นจริง (ไม่เป็นไรหรอกมั้ง เรื่องแค่นี้เอง) ในขณะที่คนเศร้าเสียใจ จะสามารถกำจัด Fundamental Attribution Error ออกไปจากการตัดสินใจ และใช้เหตุผล ปัจจัย ความถูกต้องในการตัดสินใจมากกว่า

ความเศร้าทำให้มุ่งมั่นและพัฒนาได้มากขึ้น

เช่นเดียวกับเรื่องของ Elon Musk ที่เราเกริ่นไปด้านบน ความเศร้าทำให้เรามีการเรียนรู้และระมัดระวังในความผิดพลาดมากกว่า เหมือนคนที่ไม่ได้คิดอะไรมากตอนทำข้อสอบ หลายครั้งก็เกิดความประมาทเพราะคิดว่าอยู่ใน Safe Zone ทำให้มีความเลินเล่อมองข้ามรายละเอียดบางอย่างไป ในขณะที่คนเครียด (ในระดับที่พอเหมาะ) มักจะมุ่งมั่นตั้งใจจดจ่อ ใช้เวลาทบทวนมากกว่า และเข้าถึงทุกรายละเอียดเพื่อป้องกันความผิดพลาด

การเข้าใจและยอมรับภาวะทางอารมณ์ของเราเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าปราศจากความผิดพลาด ย่อมปราศจากการทดลองเรียนรู้สิ่งใหม่ ซึ่งการเรียนสกิลใหม่ ๆ นั้นย่อมต้องผ่านช่วงพยายามและผิดหวังหลายครั้ง อยู่ที่ว่าเรารับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ ของเราอย่างไร เมื่อเราเข้าใจและรู้จักใช้ประโยชน์จากมัน ย่อมเป็นความเศร้าเสียใจที่เหนื่อยน้อยกว่าความเครียดและซึมเศร้าจากการโทษตัวเอง เพราะคิดว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มน้อยที่ชีวิตไม่มีความสุข การพยายามมีความสุขจากปากของเหล่ากูรู หรือการโทษตัวเองที่รู้สึกเศร้าเสียใจ อาจจะนำพาไปสู่ภาวะเครียดเกิดพอดี และการจมปลักอยู่ในอารมณ์ความเศร้าแบบนั้น เป็นต้นทางไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้า เป็นปัญหาใหญ่ตามมาในอนาคต

อารมณ์ดีได้บ่อยย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อไหร่ที่เราอารมณ์ไม่ดี หรืออยู่ใน Negative Emotion ก็พยายามยอมรับมัน เมื่อเราควบคุม ใช้ประโยชน์จากอารมณ์ของตัวเองได้ ชีวิตจะมีความสุขได้แบบไม่เหนื่อยเลยล่ะครับ

 

Appendix: 1 / 2

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line