Entertainment

Series Guide : Rebooting (2023) ถ้าชีวิตสามารถแก้ไขใหม่ได้เรื่อย ๆ แล้วอะไรคือความหมายของการใช้ชีวิตกันล่ะ ?

By: GEESUCH January 30, 2024

“พออายุเข้าเลข 30 ทุกอย่างก็จะเร็วขึ้นมาก” 

เราจำไม่ได้แล้วว่าตัวละครไหนในเรื่อง Rebooting เป็นคนพูดคำนี้ แต่จำได้แม่นว่ามันเป็นบทสนทนาซึ่งเกิดขึ้นในฉากระหว่างขับรถกลับบ้านหลังร้องคาราโอเกะตอนเที่ยงคืนเสร็จแล้ว ของแก๊งเพื่อนสาวสามคนรวมนางเอก Asami พวกเธอจอดแวะที่ Family Mart แห่งหนึ่ง กินไอติม ก่อนจะโบกมือลากันโดยที่ Asami ขอเดินกลับเองเพราะบ้านอยู่อีกไม่ไกลแล้ว ไม่นานเธอก็โดนรถชน ตายตอนอายุ 33 ก่อนที่จะ … (ไว้เล่าต่อตอนบรรทัดเรื่องย่อ)  

ตอนที่เขียนบทความนี้เราใช้ชีวิตอายุ 30 ได้ครบอาทิตย์นึงพอดี เอาจริงไม่ได้รู้สึกเป็นผู้ใหญ่หรือโตขึ้นเลยว่ะ 555 แต่ช่วงนี้มีสิ่งหนึ่งที่แปลกดี คือเหมือนว่ามีใครบางคนคอยส่งคอนเทนต์อะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้คุ้มในช่วงอายุนี้มาให้เสมอ Rebooting ซีรีส์ญี่ปุ่นที่เรากด Wish List จากเพจ Tamachanja ทามะจังการซับ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ชีวิตขวบปีที่ 33 ของ Kondo Asami ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เธอเป็นสาวโสด อาศัยอยู่กับพ่อแม่และน้องสาวเพราะประหยัดค่าใช้จ่ายดี ทำงานเป็นพนักงานเคาเตอร์ในศาลาว่าการของจังหวัดที่มักจะมีคนคอยบ่นปัญาหาจุกจิกเรื่องระบบราชการไม่เว้นแต่ละวันให้ฟัง อาซามิฮีลใจของตัวเองผ่านการนัดกินข้าวกับเพื่อนสนิทตั้งแต่ประถม Miho กับ Natsuki ทุก ๆ หนึ่งถึงสองครั้งต่อเดือน รูทีนชีวิตที่แสนสงบนี้ดำเนินไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งอาซามิถูกรถชนเสียชีวิต แต่เธอได้รับโอกาสให้เกิดใหม่ (Reboot) ใช้ชีวิตเป็น Kondo Asami อีกครั้งเพื่อแก้ไขความผิดในชีวิตก่อน สะสมแต้มบุญ และมีชีวิตหน้าเป็นอะไรก็ตามที่ตัวเองตั้งใจอยากเป็น

** บทความนี้มีการสปอยล์เนื้อหาในซีรีส์ Rebooting นิดหน่อย **


ตัดสินใจดูเรื่องนี้เพราะไม่ได้เจอกับคุณ Ando Sakura นานแล้ว ครั้งสุดท้ายก็ตอนหนังของโคเรเอดะ Shoplifters (2018) นู่นนนแหละ 

เอองั้นขอเล่านิดนึง นี่เป็นคนรู้จักคุณซากุระครั้งแรกจาก Love Exposure (2008) ตำนานหนังคัลท์ญี่ปุ่นของผู้กำกับสุดเวียร์ด Sion Sono หนังความยาวเกือบ 4 ชั่วโมง (ยาวสัส) แต่เราดูเวอร์ชันที่ Netflix เอามาลงแล้วซอยแบ่งตอน ๆ เหมือนซีรีส์ ก็สำหรับคาแรคเตอร์ Koike กับการแสดงของคุณซากุระในเรื่องนั้น ทำเราสลัดเห็นเขาไปเป็นภาพอื่นไม่ออกจนถึงทุกวันนี้ เวลายิ้มแต่ละครั้งไม่ว่าจะอยู่ในหนังหรือซีรีส์เรื่องไหน ก็คิดว่าต้องมีเรื่องแย่เกิดขึ้นแน่ ๆ แล้วใน Rebooting คือยิ้มตาสระอิตลอดทั้งเรื่องเลยอ่าาา แรก ๆ ก็กลัวนะ หลัง ๆ พอตบตีกับตัวเองให้เข้าใจได้ว่าเรื่องนี้ตัวละครเขาเป็นผู้หญิงธรรมดาเว้ยมึง ก็พอช่วยให้ยิ้มของคุณซากุระใจดีขึ้นบ้าง

รู้สึกว่า Casting & เคมีของเรื่องนี้เป็นสิ่งที่พิเศษ อ่าาา จากเรื่องย่อมันดูจะเป็นซีรีส์แฟนตาซีใช่ปะ แต่เอาเข้าจริงออกไปทาง Slice Of Life กว่ามาก ๆ เพราะฉะนั้นนักแสดงก็ต้องแสดงให้เป็นเหมือนเวลาคนเรา ๆ แสดงออกในชีวิตจริง การได้ดูแก๊งเพื่อนสาวมิโฮะ นัทซึกิ อาซามิ และมาริ (ผู้มาทีหลัง) เลยเป็นเหมือนอะไรที่คล้าย ๆ กับพี่-น้องใน Umimachi Diary (2015) มันน่ารักมากเลยเว้ย เป็นความสัมพันธ์แบบที่ชีวิตนี้ไม่ขออะไรอีกแล้วถ้าเราได้เพื่อนที่พร้อมจะยอมรับในกันและกันเท่านี้ แค่ดูพวกเธอนั่งรถไปด้วยกัน นอนค้างคอนโดเพื่อน ร้องเกะแบบเปิ่น ๆ มันฮีลใจสุด ๆ และขอปรบมือให้คนเขียนบทหนัก ๆ ที่เอาความสัมพันธ์เพื่อนสาววางไว้ในโพซิชั่นที่เป็น Safe Zone ของอาซามิ แบบที่ก็ไม่ได้โบลด์ให้มันใหญ่โต แต่กลับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของเรื่องที่อาซามิและคนดูเผลอหลงลืมไปในตอนแรกก่อนจะมาเข้าใจทีหลัง    


พบว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ดูคอนเทนต์ว่าด้วย ‘ความตาย’ ไม่ค่อยไหวอย่างเรา คือการที่ Rebooting มันเล่าเรื่องนี้แบบเรียบง่ายที่สุดถึงขั้นพยายามให้ตลกด้วยซ้ำ ซึ่งไม่ใช่แบบตลกร้ายด้วยนะ แต่เขามองมันด้วยสายตาว่าเป็นเรื่องปกติจริง ๆ ความตายก็มีความเศร้าจริงแหละ แต่การมองให้เป็นเรื่องสนุกก็ช่วยให้เศร้าน้อยกว่าไม่ใช่เหรอ

เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้เราก็จะได้เห็นตัวเอกอาซามิพยายามพยายามใช้ชีวิตหลังรีบูตรอบแรก แบบที่ทั้งเห็นแก่ส่วนตัว พยายามสะสมแต้มบุญเพื่อให้ได้เกิดใหม่เป็นสิ่งที่อยากเป็น (ซึ่งก็คือคน) และเห็นแก่คนอื่นซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับบุญส่วนตัวแบบเปิ่นมาก ๆ ทั้งนั่งรถไฟข้ามจังหวัดเพื่อช่วยครูสมัยม.ต้นที่ถูกกล่าวหาว่าลวนลามคนบนรถไฟ ไปนั่งรอเพื่อนสนิทตอนประถมทั้งวันเพื่อกันไม่ให้เธอถูกหลอกจากผู้ชายที่แต่งงานแล้ว ตั้งใตจดรียนเพื่อเป็นหมอทำวิจัยเพื่อมนุษยชาติเพื่อทำความดีสะสมแต้มบุญ หรือทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ซีรีส์เพื่อสร้างความสุขให้คนทางบ้านสะสมแต้มบุญเหมือนกัน ว็อทเดอะ ! 555 

แต่ส่วนที่จริงจังของการมองความตายแบบชีวิตจริงใน Rebooting ก็มี มันคือการที่ผู้คนซึ่งอาซามิได้เข้าไปมีปฎิสัมพันธ์หรือไม่มีปฎิสัมพันธ์ด้วยเส้นทางชีวิตของพวกเขาจะไม่เหมือนกันเลย โคตรจะความจริงมาก พูดง่าย ๆ เลยคือถ้าเราไม่เข้าไปอยู่ในชีวิตใครเขาอาจจะมีชีวิตที่ดีกว่า หรืออาจจะแย่ลงก็ไม่รู้ โห ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นโจทย์ที่อยากมากถ้าตัวเองได้รับการรีบูตบ้าง เราจะกลับไปคบแฟนคนเดิมมั้ย จะเปลี่ยนเพื่อนสนิทคนอื่นดีรึเปล่า หรือเราจะสามารถช่วยคนที่เคยพลาดไม่ช่วยจากชีวิตก่อนได้สำเร็จมั้ยนะ


หลังจากดูทั้ง 10 ตอนจบแล้ว ก็ต้องชมว่าญี่ปุ่นนี่มันโคตรญี่ปุ่นเลยเนอะ ไอเดียตั้งต้นของ Rebooting ต้องเป็นอะไรที่โคตรเรียบง่าย โคตรอินไซต์ และเชื่อเลยว่าต้องเกิดจากการตั้งคำถามประชดประชันชีวิตปัจจุบันประมาณนี้

“เฮ้อออ ถ้าได้ใช้ชีวิตรอบ 2 มันก็คงจะดีกว่าที่เป็นอยู่นี่แน่นอน”  

– ทีมเขียนบทสักคนของ Rebooting

แต่เขาคิดไปไกลกว่านั้น ถ้าหากเราไม่ได้รีบูตได้แค่รอบเดียวล่ะ จะใช้ชีวิตที่แก้ไขใหม่ได้เรื่อย ๆ ให้คุ้มค่าได้อย่างไร อะไรคือความหมายของชีวิตที่สามารถแก้ไขได้กันแน่ ?

สิ่งสำคัญที่เราได้จากเรื่องนี้มันจึงคือการพยายามเก็บรายละเอียดของชีวิตให้ได้มากที่สุด เป็นการใช้ชีวิต (ที่ไม่แน่ใจว่ามีกี่รอบ) แบบรวดเดียวเสมือนว่าตัวเองกำลังใช้ชวิตในรอบที่ 2 อยู่ เพื่อให้เข้าใจว่าชีวิตนี้มีความหมายเพราะว่าอะไร เพราะถ้าหากพลาดไปแล้วเราอาจจะมาเก็บตกไม่ได้อีกแล้ว 

ตลอดซีรีส์ Rebooting การรีบูตใหม่ทุกครั้งนอกจากผลของการกระทำ (หรือไม่ทำ) ที่ทำให้คนรอบตัวเปลี่ยนไปแล้ว ตัวอาซึมิก็จะได้เจอผู้คนในช่วงจังหวะที่ชีวิตก่อนหน้าพลาดไปด้วย และมันก็เปิดมุมมองบางอย่างให้กับเธอ การไขว่คว้าช่วงเวลาเอาไว้อาจจะเป็นพอยต์สำคัญกว่าว่าเธอได้แก้ไขอะไรไปบ้าง

ซีรีส์ที่พูดถึงความตายจะไม่พูดถึง ‘ความฝัน’ ได้ไง มันจะมีตัวละครคนหนึ่งที่ชื่อ ‘ฟุกุดะ’ พ่อหนุ่มคนนี้เป็นเพื่อนตอนม.ต้นของอาซามิกับแก๊งเพื่อนสาวทุกคน เป็นชายหนุ่มอัธยาศัยดี ที่ทำให้เพื่อน ๆ รอบตัวมีความสุขอยู่เสมอทุกครั้งที่อยู่ใกล้ และเขาก็มีฝันว่าจะเป็น ‘นักดนตรี’ ที่เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเพลงญี่ปุ่น แต่ ความจริงกลับไม่เป็นอย่างนั้น ฟุกุดะไม่สามารถประสบความสำเร็จทางดนตรีได้ และต้องมาเป็นพนักงานประจำคาราโอเกะที่บ้านแถวบ้าน หย่ากับภรรยาที่คบกันตั้งแต่มัธยม มีแฟนใหม่กำลังจะแต่งงานและมีลูกอย่างที่ฝันด้วยกันมาตลอด

ที่เราพยายามจะบอกก็คือใน Rebooting เขาให้ค่าความพยายามกับความฝันมาก ๆ ฝันของฟุกุดะนี่ระดับ 20 ปีถึงจะเลิกล้ม ส่วนของอาซามินี่คือต้องรีบูต ใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดใหม่อีกครั้ง รวม ๆ แล้วหลัก 100 ปี ถึงจะสมหวังกับสิ่งที่ตัวเองตั้งใจเอาไว้  


Seijin no Hi (成人の日) หรือสิ่งที่เรียกว่า ‘วันบรรลุนิติภาวะ’ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่เกิดในเรื่อง Rebooting เราจะได้เห็นอาซามิกับแก๊งสาว ๆ สวมกิโมโนแบบพิเศษที่เรียกว่า Furisode (振袖 ) เพื่อฉลองวันเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เราชอบตรงที่ว่าซีรีส์นี้ใช้วันบรรลุนิติภาวะทำหน้าที่เป็นเหมือน ‘ที่คั่นหนังสือ’ ของชีวิตโดยทำหน้าที่แบ่งออกเป็น 2 ช่วง 

1.คั่นกลางครึ่งแรกของชีวิต ในชีวิตแรกของอาซามิก่อนการรีบูต วันบรรลุนิติภาวะคือวันที่เป็นประตูสู่วัยผู้ใหญ่และความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุดที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น และวันฉลองกับเพื่อนม.ต้นแบบรวมตัวกันครบเป็นครั้งสุดท้ายก่อนแยกย้ายไปใช้ชีวิตครึ่งหลังของตัวเอง 

2.คั่นหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มแรก ส่วนนี้เป็นเหมือนที่คั่นบันทึกความทรงจำเมื่อใช้ชีวิตครึ่งหลังจนจบทั้งเล่มมาสักพักแล้ว มันเป็นตอนที่อาซามิรีบูตและกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งและใช้ชีวิตไปไกลกว่าวันนั้นมาก ๆ แล้วพบว่าเมื่อหยิบบทสนทนาของวันนั้นขึ้นมาพูดถึงเมื่อไหร่ นอกจากจะได้ทบทวนวันเวลาดี ๆ ที่ผ่านมา ยังเป็นการเช็คว่าปัจจุบันพวกเธออยู่ตรงไหน และกำลังจะเดินทางไปทางไหนต่อ    

เราว่าการคอยรีเช็คว่าชีวิตที่ผ่านมาในอดีตเป็นอย่างไรแบบพวกอาซามิที่พูดถึงวันบรรลุนิติภาวะตลอด แล้วถามตัวเองในปัจจุบันว่าจะเอายังไงต่ออยู่เรื่อย ๆ ไม่ใช่การยึดติดกับวันวานหรอกนะ แต่เป็นการช่วยให้ชีวิตข้างหน้าไม่ต้องพลาดสิ่งที่เคยพลาดมาก่อนมากกว่าล่ะ : )

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line