Life

นอนคนเดียวไม่ใช่แค่เหงาเกินไป ‘นักวิจัยชี้ว่านอนกับคนที่เรารัก หลับมีคุณภาพมากกว่า’

By: unlockmen June 21, 2021

การนอนบนเตียงนุ่มแสนนุ่ม อุณหภูมิห้องแสนสบาย ผ้าห่มหนากำลังดี ถือเป็นความสุขใจอย่างหนึ่ง หลายคนชอบนอนคนเดียว แต่หลายคนก็จำใจต้องนอนคนเดียวบนเตียงชวนฝันอย่างเดียวดาย เพราะโสด เพราะไม่มีใครข้างกาย หรืออาจเพราะไม่มีใครสักคนที่เชื่อใจมากพอจะให้เขามาเคียงข้างร่วมเตียง

คล้ายว่าการนอนคนเดียว (สำหรับคนที่ต้องจำใจนอน) จะไม่ได้มีอุปสรรคแค่ความเดียวดายเท่านั้น เมื่องานวิจัยล่าสุดออกมาบอกว่าการนอนกับใครสักคนที่เรารักและเชื่อใจ ทำให้การนอนมีเสถียรภาพกว่าเมื่อเทียบกับการนอนคนเดียว

Bed-Sharing in Couples Is Associated With Increased and Stabilized REM Sleep and Sleep-Stage Synchronization คืองานวิจัยชื่อโคตรยาวที่เพิ่งเผยแพร่สด ๆ ร้อน ๆ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าคู่รักมีประสบการณ์การนอนหลับที่ลึกกว่า และถูกรบกวนน้อยกว่าเมื่อพวกเขาร่วมเตียงกัน เทียบกับการนอนเพียงลำพัง

อย่างไรก็ตามงานวิจัยชิ้นนี้ถือว่าออกมาโต้ผลงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้ เช่น Two in a bed: The influence of couple sleeping and chronotypes on relationship and sleep. เมื่อปี 2016 ที่ระบุว่าการนอนร่วมเตียงกันนั้นอาจทำให้คุณภาพการนอนลดลง รวมถึงอาจเพิ่มปัญหาด้านสุขภาพจิตอีกด้วย

ในขณะที่หลายคู่ซึ่งต้องใช้เตียงร่วมกันก็แชร์ความเห็นว่าการนอนร่วมเตียงกันหลายครั้งก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ คนหนึ่งอาจเข้านอนเร็วกว่า อีกคนหนึ่งเข้านอนช้ากว่า (ซึ่งก็ส่งผลเรื่องเวลาตื่นที่ต่างกันด้วย) สิ่งเหล่านี้คล้ายเป็นปัจจัยเล็ก ๆ แต่อย่าลืมว่าเมื่อใครคนหนึ่งเข้านอนแล้ว แล้วอีกคนตามมาภายหลัง หรือยังต้องเปิดประตู เปิดไฟ รายละเอียดเหล่านี้ก็ส่งผลต่อเสถียรภาพการนอนได้ไม่น้อย

รวมถึงมนุษย์แต่ละคนมีรายละเอียดการนอนของตัวเอง การเคลื่อนไหวร่างกายแต่ละคืนก่อนจะเข้าสู่ห้วงนิทราของคนหนึ่งจึงอาจกระทบกับคุณภาพการนอนของอีกคนหนึ่งได้เช่นกัน

ถึงอย่างนั้น นักวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ก็ระบุว่า กระบวนการทดลองของพวกเขาแตกต่างจากการวิจัยครั้งที่ผ่านมาซึ่งเน้นไปที่การวัดการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นหลัก แต่งานวิจัยชิ้นนี้ใช้กระบวนการที่เรียกว่า “Polysomnography”

polysomnography คือการตรวจสอบการนอนหลับที่ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่เรื่องการเคลื่อนไหวของร่างกายเท่านั้น แต่เป็นการบันทึกคลื่นสมอง การเคลื่อนไหวของร่างกาย ความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ การหายใจ ไปจนถึงระดับออกซิเจนในเลือด โดยกลุ่มตัวอย่างจะต้องนอนในห้องทดลองและผ่านการมอนิเตอร์จากนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญตลอดการทดลองนี้

มากไปกว่านั้น งานวิจัยชิ้นนี้ยังสำรวจลงลึกไปถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มตัวอย่าง เพื่อให้ได้ความเชื่อมโยงของคุณภาพการนอนหลับและความสัมพันธ์ โดยกลุ่มตัวอย่างจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับสถานะความสัมพันธ์ของพวกเขา เช่น ความลึกซึ้ง ระยะเวลา ระดับความรักความเชื่อใจ

ผลการทดสอบ ออกมาว่า คู่ที่นอนร่วมเตียงกันมีอัตราการนอนหลับแบบ Rapid Eye Movement (REM) เพิ่มขึ้น โดยการหลับแบบ REM นั้นเชื่อมโยงกับความฝัน อารมณ์ ความทรงจำ และความคิดสร้างสรรค์

นอกจากนี้คู่รักที่นิยามสถานะความสัมพันธ์ของตัวเองว่า “มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งแนบแน่น” มีแนวโน้มที่จะประสานจังหวะการเคลื่อนไหวของร่างกายขณะนอนหลับไปด้วยกัน ที่น่าสนใจก็คือแม้คู่รักของเราจะมีการขยับเคลื่อนไหวระหว่างการนอนหลับ แต่คุณภาพการนอนหลับของทั้งคู่กลับไม่ถูกรบกวนแต่อย่างใด

Dr. Henning Johannes Drews จากศูนย์จิตเวชศาสตร์เชิงบูรณาการแห่งเยอรมนีระบุว่า การนอนกับคู่รักที่ลึกซึ้งเพิ่มคุณภาพการนอนได้นั้น ถือเป็นเรื่องพื้นฐานทางวิวัฒนาการ โดยให้ความเห็นว่า

“จากมุมมองของวิวัฒนาการการนอนหลับนั้นเป็นเรื่องสถานะทางสังคมแน่นอน ถ้าคุณสังเกตสัตว์กลุ่มไพรเมต (primate) รวมถึงวัฒนธรรมการนอนจากสังคมดั้งเดิม หรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของสังคมยุโรป การนอนร่วมกับคนอื่นนั้นเป็นเรื่องธรรมดามาก ดังนั้นการนอนหลับจึงผูกโยงเข้ากับการรวมกลุ่มทางสังคม ไม่แปลกที่การใช้ชีวิตในยุคใหม่ เทรนด์การต้องนอนคนเดียวต่างหากที่ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ”

จินตนาการถึงมนุษย์ก่อนที่จะมีห้องส่วนตัว การต้องนอนรวมกันทั้งเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย การเฝ้าระวังภัยให้แก่กัน (เพราะตอนนอนคือช่วงที่เราอ่อนแอที่สุด) หรือด้วยข้อจำกัดอื่น ๆ จึงไม่แปลกที่เมื่อเรามีวัฒนธรรมการแยกห้องนอน มีสำนึกเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เมื่อได้นอนชิดใกล้กับใครสักคนที่เรารักและไว้ใจมาก ๆ จึงดึงเอาความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยนั้นกลับมาได้ จนเพิ่มคุณภาพการนอน

ไม่เพียงเท่านั้น Dr. Henning Johannes Drews ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่ามีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้การนอนร่วมเตียงกับคนที่เรารัก เพิ่มการหลับ REM

อย่างแรกคืออุณหภูมิ โดยการนอนหลับแบบ REM นั้นจะลดความสามารถในการรักษาอุณหภูมิร่างกายตามธรรมชาติไว้ได้ การมีใครอีกคนร่วมเตียงจึงช่วยรักษาอุณหภูมิของกันและกันให้คงที่ได้มากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยด้านจิตวิทยาก็มีผลเช่นกัน เพราะความเครียดทางจิตใจ หรือความกลัว จะลดประสิทธิภาพการนอนหลับแบบ REM ได้ ดังนั้นสภาพแวดล้อมที่มั่นคงและปลอดภัยมากพอนั้นสามารถส่งเสริมคุณภาพการนอนหลับได้จริง

จึงไม่แปลกที่คู่รักที่ไว้เนื่อเชื่อใจและระบุว่ามีความสัมพันธ์แนบแน่นลึกซึ้งจะมีคุณภาพการนอนที่ดี เพราะการมีใครสักคนที่เราเชื่อใจมากพอก็สามารถทำให้บรรยากาศการนอนนั้นมั่นคงปลอดภัยได้มากขึ้นด้วย

 

การนอนคือกุญแจสำคัญของการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สุขภาพใจที่มั่นคง ไปจนถึงประสิทธิภาพการทำงานและการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ

ปกติการนอนอย่างมีคุณภาพก็ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะทำได้ง่าย ๆ แต่การหาใครักคนที่เรารักและเชื่อใจมากพอจะร่วมเตียงแล้วรู้สึกมั่นคงปลอดภัยจนเพิ่มคุณภาพการนอนก็ยิ่งไม่ง่ายเข้าไปใหญ่

อย่างไรก็ตามยังมีวิธีเพิ่มคุณภาพการนอนอีกสารพัดสารพัน ติดตาม UNLOCKMEN ไว้ เราจะเป็นทั้งกำลังใจให้คุณ และเอากลวิธีดี ๆ เพื่อนอนหลับมาฝากเป็นประจำ


 

SOURCE 12, 34

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line