FASHION

SURVIVAL GUIDE: ตำราพิชัยสนีกเกอร์สีขาว บทเรียนวิธีทำความสะอาดที่ถูกต้องและได้ผลอย่างง่ายในพริบตา

By: Thada April 11, 2018

13 – 15 เมษายน วันสงกรานต์และปีใหม่ไทยที่รู้กันดีว่าโคตรชุ่มฉ่ำชื้นแฉะ มาพร้อมกับ Activity สนุก ๆ กับความเปียกของการเล่นน้ำดับร้อนหลายรูปแบบให้ออกไปลุย แน่นอนว่าผู้ชายคงหลายคนคงจะเลือกรองเท้าผ้าใบคู่ใจไปปะแป้งสาว ๆ เพราะมันช่วยให้เราเดินเฟี้ยวได้แบบเต็มที่มากกว่าคีบแตะไปเสี่ยงเตะขวดและโดนเหยียบเท้าเป็นไหน ๆ  หรือแม้จะไม่ได้ไปเล่นน้ำสงกรานต์ก็ตามด้วยสภาพพื้นถนนที่แสนจะสกปรกผลพวงจากการเล่นน้ำทำให้เป็นไปได้ว่ารองเท้าคู่เก่งของคุณอาจจะเลอะเทอะ เปรอะเปื้อนจาก น้ำ โคลน และแป้ง ในสภาพแห้งกรอบยับจนจำสภาพเดิมไม่ได้

ซึ่งเหตุการณ์ต่อไปนี้เราเชื่อว่าหนุ่ม ๆ ทุกคนต้องเคยต้องประสบพบเจอคือการเข้าไปค้น Google หาวิธีดูแลรักษารองเท้าขาวที่ยับเยินเหมือนผ่านสงครามโลกมา พร้อมเจอสารพัดร้อยแปดวิธีโดยพอนำไปทำตามกลับพบว่าสภาพรองเท้ายิ่งเหลืองอ๋อยจนจำเค้าโครงแทบจะไม่ได้เลย ดังนั้นเรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาให้ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะวันนี้ UNLOCKMEN ไปถามกูรูการดูแลวิธีรักษารองเท้าสีขาวที่ถูกต้องจากมืออาชีพอย่างร้าน SEEK Thailand ที่จะมาสอนการทำความสะอาดและป้องกันรองเท้าผ้าใบทั้ง 4 วัสดุหลักที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปจากรองเท้าผ้าใบมาฝาก ไม่ว่าจะเป็น Knit , Mesh , Canvas หรือ Leather  ซึ่งพออ่านจบนี้รับรองว่ารองเท้าของคุณจะขาวสว่างตราบนานเท่านาน

 

1. Knit ( ผ้าถัก)  Mesh ( ผ้าตาข่าย )

สาเหตุที่นำสองวัสดุนี้มาไว้ในหัวข้อเดียวกัน เพราะทั้งคู่มีวิธีทำความสะอาดเหมือนกัน เพราะมีคุณสมบัติหลักทำมาจากผ้าไม่ว่าจะเป็น  รองเท้าผ้าถัก ( Knit ) หรือ เท้าผ้าตาข่าย ( Mesh ) จัดว่าทำความสะอาดยากเพราะวัสดุผ้าที่ออกแบบมาเพื่อความเบาสบาย ขณะเดียวกันก็ยังต้องเบามือมากเพราะความเปราะบางของผ้า หากซักแบบฮาร์ดคอร์อาจจะเกิดการรุ่ยของผ้าได้

เริ่มจากปลดเชือกของออกเพื่อแยกซักและง่ายต่อการทำความสะอาดตัวรองเท้า ต่อด้วยการถอดพื้นด้านใน ( Insole ) ในกรณีมีหรือสามารถถอดออกได้ จากนั้นใช้ผ้าสะอาดเช็ดสิ่งสกปรกซึ่งเป็นฝุ่นที่มีโมเลกุลใหญ่ออกไปก่อนเท่าที่สามารถทำได้ และต่อมาคือขั้นตอนการขัด โดยเตรียมอุปกรณ์ดังนี้

1.  อ่างใส่น้ำอุ่น
2.  แปรงขนนุ่มพิเศษ
3.  น้ำยาทำความสะอาด

ขั้นตอนแรกคือ เทน้ำยาลงบนแปรงขัดโดยรอให้น้ำยาซึมเข้าแปรง หลีกเลี่ยงการทาใส่ตัวรองเท้าโดยตรง จากนั้นใช้แปรงจุ่มลงไปในน้ำอุ่นแล้วยกขึ้นสะเด็ดน้ำให้หมาด ขั้นตอนนี้สำคัญตรง ห้ามให้แปรงขัดเปียกจนเกินไป

เมื่อหมาดแล้วให้เริ่มทำการขัดบริเวณที่ต้องการทำความสะอาดให้เกิดฟองให้คราบหลุด เมื่อเห็นว่าฟองเริ่มน้อยลง ทำซ้ำขั้นตอนเดิม หยดน้ำยา จุ่มน้ำ และขัดต่ออีกครั้งจนกว่าจะแน่ใจว่ารองเท้าสะอาดหมดจด จึงค่อยนำผ้าสะอาดมาเช็ดออก ไม่ใช่ล้างน้ำนะครับ จากนั้นนำไปตากในที่ร่มโดยหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด เพราะอาจทำให้คราบกาวลอกออกมาเลอะตัวรองเท้าสีขาวได้

 

2 . Canvas ( ผ้าแคนวาส )

หากใครนึกไม่ออกว่าแคนวาสคืออะไร ลองนึกถึง converse หรือ vans ผ้าใบ ที่จัดได้ว่าเป็นงานหินสุด ๆ ในการทำความสะอาด เพราะผ้าแคนวาสต้องการการดูแลต่างออกไป ด้วยเนื้อผ้าแข็งและหนากว่า ย่อมทำให้คราบสกปรกติดทนแน่นมากกว่าเช่นกัน  ข้อห้ามของการทำความสะอาดผ้าแคนวาสคือ ไม่ควรปล่อยคราบสกปรกไว้นานเกินไป จนทำให้คราบซึมเข้าเนื้อเกาะแน่นยากต่อการทำความสะอาด ดังนั้นถ้าเลอะเมื่อไหร่ ให้รีบเตรียมอุปกรณ์ดังนี้

1. อ่างใส่น้ำร้อนหรืออุ่น ( ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการติดของคราบ )
2. น้ำยาทำความสะอาด
3. แปรงขนนุ่ม

เริ่มจากปลดเชือกและพื้นรองเท้าด้านในออกเพื่อทำความสะอาด จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาดเช็ดทำความสะอาดคราบสกปรกภายนอก ต่อด้วยหยดน้ำยาใส่แปรงในปริมาณพอเหมาะ จุ่มแปรงขัดลงในน้ำร้อนหรืออุ่นให้สะเด็ดน้ำ ก่อนลงมือขัดให้เกิดฟองไปทั่วบริเวณมีคราบสกปรก  เมื่อขัดรอบแรกเสร็จควรใช้ผ้าสะอาดเช็ดฟองออกให้หมด เพื่อเช็คคราบสกปรกตกค้าง ถ้ายังมีอยู่ ก็ทำซ้ำขั้นตอนการขัดอีกครั้งจนแน่ใจว่าคราบหายไป แล้วนำไปตากในที่ร่มอีกเช่นกัน

ข้อสำคัญคือไม่ควรจุ่มน้ำทั้งตัวรองเท้า เพราะคราบกาวต่าง ๆ อาจจะร่อนออกมาทำให้รองเท้าเหลืองในทันที

 

3. Leather ( หนัง )

สนีกเกอร์จากวัสดุหนังคือรองเท้าที่ดูแลง่ายสุด แต่ก็ต้องการความประณีตในการดูแลมาก เนื่องจากในขั้นตอนการทำความสะอาดไม่สามารถใช้แปรงขัดได้เหมือนกับวัสดุผ้าก่อนหน้านี้ เพราะอาจทำให้เกิดริ้วรอย และการหลุดลอกของสีจากการขัดได้ ดังนั้นจึงมีวิธีเฉพาะโดยมีอุปกรณ์ดังนี้

1. ผ้าขนหนูเนื้อละเอียด 2 ผืน
2. น้ำยาทำความสะอาด
3. อ่างใส่น้ำอุ่น
4. แปรงขนนุ่ม

เริ่มจากปลดเชือกและถอดพื้นด้านในออก  ส่วนหนังให้นำผ้าขนหนูสะอาดสวมนิ้วชี้กับนิ้วกลางในท่าถนัดสำหรับขัด หยดน้ำยาทำความสะอาดลงบนปลายผ้า จากนั้นจุ่มลงในน้ำอุ่นเล็กน้อย ก่อนจะเริ่มเช็ดลงไปบนบริเวณที่มีคราบเปื้อน ถูเบา ๆ จนกว่าคราบสกปรกจะหายไป  ส่วนบริเวณพื้นด้านข้างของรองเท้าซึ่งเป็นยาง สามารถใช้แปรงหยดน้ำยาชุบน้ำขัดได้ แต่ต้องระวังไม่ให้โดนส่วนหนัง เมื่อสะอาดแล้วจึงนำไปผึ่งในร่มจนแห้ง

 

 

 การทำความสะอาดเชือกและพื้นด้านในรองเท้า

1. เชือกรองเท้า วิธีทำความสะอาดคือ นำไปจุ่มในอ่างน้ำอุ่นที่เราใช้แปรงแช่น้ำลงไป น้ำยาซึ่งอยู่ในแปรงจะผสมอยู่ในน้ำ โดยนำเชือกลงไปแช่แล้วจึงขยำขยี้ให้สิ่งสกปรกหลุดออกมา แต่หากคราบติดแน่นทนนาน ก็สามารถให้แปรงขนนุ่มขัดเบา ๆ ได้ เมื่อสะอาดเป็นที่พอใจจึงค่อยนำไปตาก

2. พื้นในรองเท้า ( Insole ) ให้ใช้ขั้นตอนเดียวกันกับการทำความสะอาดตัวรองเท้า คือใช้แปรงหยดน้ำยา ชุบน้ำอุ่น และขัดอย่างระมัดระวัง เมื่อเสร็จแล้วจึงนำไปตาก สำหรับ Insole ที่เป็นยางควรหลีกเลี่ยงแดด เพราะจะทำให้เสื่อมคุณภาพเร็ว หากเป็นผ้าให้ออกผึ่งแดดได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดแรงเช่นกัน

 

การดูแลหลังทำความสะอาดและการรักษากลิ่น

รองเท้าที่โดนน้ำหรือลุยโคลนลุยสิ่งสกปรกมา สิ่งที่มักจะตามมาคือปัญหาความชื้นและกลิ่นอับ  มีสองวิธีสามารถช่วยปกป้องรองเท้าของเราจากสิ่งนี้ได้ อย่างแรกคือ สเปรย์กันน้ำ ( Waterproof Spray ) ต่อมาคือ ก้อนดับกลิ่น ( Deodorant blocks ) โดยมีขั้นตอนการใช้ดังต่อไปนี้

1. สเปรย์กันน้ำ ( Waterproof Spray )

หลังจากทำความสะอาดและตากจนแห้งแล้ว ก็มาถึงวิธีป้องกัน เริ่มจากร้อยเชือกกลับ จากนั้นนำไปวางในที่อากาศถ่ายเท เริ่มฉีดสเปรย์กันน้ำโดยระยะห่างเหมาะสมคือประมาณ 20 เซนติเมตร  ให้ละอองสเปรย์กระจาย ครอบคลุมทั่วทั้งรองเท้า จากนั้นนำไปผึ่งลมให้แห้งก่อนสวมใส่อีกครั้งเพื่อให้สเปรย์เคลือบเกาะติดทนนาน กันน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ก้อนดับกลิ่น ( Deodorant blocks )

หลังจากดูแลภายนอกด้วยสเปรย์ไปแล้ว ก็ควรมีก้อนดับกลิ่นเพื่อดูแลจากภายในด้วย วิธีการก็ง่ายแสน แค่โยนมันเข้าไปในรองเท้า และเก็บเข้าตู้ให้เรียบร้อย เป็นอันจบพิธี

( สำคัญมาก ) แช่รองเท้าในน้ำก่อนซัก ,โยนลงเครื่อง เป็นวิธีการต้องห้ามที่ไม่ควรทำเป็นอันขาด

ด้วยคราบสกปรกสุดหฤโหด จนทำให้รู้สึกเกินปัญญาในการทำความสะอาดเมื่อแรกเห็น ทำให้หลายคนเลือกใช้วิธีการทำความสะอาดโดยการนำไปแช่น้ำก่อนแล้วค่อยขัด หรือโยนลงเครื่องซักผ้าเลยจะได้ไม่ต้องเป็นภาระดูแล แต่วิธีเหล่านั้น กำลังลดอายุการใช้งานรองเท้าให้อยู่กับเราสั้นลง โดยมีสาเหตุดังนี้

หากเคยห่อรองเท้าเปียกด้วยกระดาษทิชชู จะพบว่ามีคราบสีเหลืองติดกระดาษมาหลังตากแดดจนแห้งเรียบร้อยแล้ว จริง ๆแล้วนั่นไม่ใช่สีของสิ่งปรกอย่างที่เคยเข้าใจ แต่เป็น “กาว” จากส่วนต่าง ๆ ของรองเท้าหลุดติดออกมา การที่เราแช่น้ำหรือซักในเครื่องจะทำให้รองเท้าโดนน้ำมากเกินความจำเป็น จนกาวหลุดร่อนละลายออกมากับน้ำ ทำให้กรอบ และมีส่วนหลุดแยกจากกันก่อนจะฉีกขาดในเวลาต่อมา

ดังนั้นจำไว้เลยว่า การทำความสะอาดรองเท้านั้น ยิ่งเปียกน้ำน้อยคือดีที่สุด

จบครบแบบไม่ตัดตอน สำหรับทุกขั้นตอนในการคืนชีพรองเท้าคู่เก่งให้กลับมาจากความเลอะเทอะ ซึ่งวันนี้ก็ต้องขอขอบคุณ คุณ พีค – ศุภกฤต ยศฟุ้งกุล Brand Manager จาก SEEK Thailand ที่ได้มาให้ความรู้ในการดูแลรักษาแบบถูกวิธี หลังจากนี้ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวรองเท้าผ้าใบจะดูสกปรกเกินใส่อีกต่อไป เชิญ เดิน วิ่ง ลุย สนุกไปให้สุดกับวันเปียก ๆ แล้วค่อยกลับมาดูแลลูกชายอย่างเอาใจใส่ภายหลังเสร็จศึกก็ยังไม่สาย

คุณ พีค – ศุภกฤต ยศฟุ้งกุล Brand Manager จาก SEEK Thailand

 

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line