Life

‘TERRY FOX’ นักวิ่งขาเดียวตำนานมาราธอนแห่งความหวัง แม้มะเร็งร้ายก็ไม่อาจหยุดยั้งเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่

By: NTman May 23, 2018

ไม่ว่าใครต่างก็ต้องมีวันที่ได้พานพบกับมรสุมซึ่งพัดผ่านเข้ามาในชีวิต ทั้งมรสุมลูกเล็กที่มาให้ได้สัมผัสรสชาติความขมขื่นแบบเบา ๆ รวมไปถึงลูกใหญ่ที่โหมกระหน่ำพัดเข้ามาจนชีวิตแทบพังไปทั้งแถบ และบ่อยครั้งที่โคตรมรสุมสุดโหดเหล่านี้ได้เข้ามาหยุดเส้นทางชีวิตของผู้ประสบภัยทั้งหลายให้ต้องท้อถอยถอดใจ จมอยู่กับความมืดมนหมดแรงที่จะลุกขึ้นยืนหยัดหาหนทางไปต่อ

ซึ่งใครที่กำลังเหน็ดเหนื่อยกับชีวิตที่ถูกเรื่องร้าย ๆ ถาโถมเข้าใส่อยู่ตอนนี้ เรามีเรื่องราวของ Terry Fox เด็กหนุ่มชาวแคนาดา ผู้นำเอามรสุมชีวิตลูกใหญ่มาแปรเปลี่ยนเป็นพลังลมที่ผลักดันให้เขาก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และที่น่ายกย่องหัวจิตหัวใจคือ การลุกขึ้นสู้ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของเขานั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่การสู้เพื่อตัวเอง แต่เป็นการต่อสู้ด้วยเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่เพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ กับการตัดสินใจพาตัวเอง, ขาที่เหลือเพียงหนึ่งข้างจากโรคมะเร็ง และหัวใจสุดแกร่งหนึ่งดวง ออกวิ่งมาราธอนข้ามประเทศแคนาดาเพื่อประกาศให้ผู้คนตระหนักถึงความร้ายกาจของโรคมะเร็ง รวมถึงหาเงินสนับสนุนให้กับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งซึ่งยังไม่ได้เป็นโรคที่อยู่ในความสนใจ ณ ขณะนั้น (ช่วงยุค 70s – 80s) จนเรื่องราวของเขาถูกเล่าขานเป็นตำนานที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลกจวบจนทุกวันนี้

ยอดชายใจแกร่ง Terry Stanley Fox หรือ Terry Fox ถือกำเนิดขึ้นที่เมือง Winnipeg รัฐ Manitoba ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ปี 1958 เขาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางครอบครัวที่อบอุ่น เป็นลูกชายคนที่ 2 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คน โดย Terry Fox  นั้นฉายแววความชื่นชอบหลงใหลในการเล่นกีฬามาตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นด้วยกีฬาเบสบอล ก่อนที่จะหันมาสนใจบาสเก็ตบอลอย่างจริงจังช่วงเรียนไฮสคูลที่ Mary Hill Junior High School แต่ด้วยความสูงเพียง 5 ฟุต ทำให้ Bob McGill คุณครูพละโค้ชประจำทีมบาส ได้แนะนำให้ Terry Fox หันไปเอาดีทางด้านการวิ่ง Cross-Country  แม้ว่าตัวของเขาเองจะไม่ได้สนใจการวิ่งสักเท่าไหร่ แต่ด้วยความเคารพในตัวโค้ช และหวังว่าการที่เขาเชื่อฟังตั้งใจซ้อมวิ่งจะทำให้โค้ชใจอ่อนให้เข้าร่วมทีมบาส

และในที่สุดสิ่งที่เขาหวังไว้ก็เป็นจริง ด้วยความตั้งใจซ้อมวิ่ง แถมยังไม่ละทิ้งความมุ่งมั่นในการซ้อมบาส จนโค้ช Bob McGill ยอมรับเข้าทีม ในฐานะหนุ่มร่างเล็ก ผู้เล่นคนที่ 19 ของทีมบาสเก็ตบอลโรงเรียนที่มีผู้เล่นทั้งหมด 19 คน พูดง่าย ๆ คือ Terry Fox ได้เข้าไปนั่งเป็นตัวสำรองของสำรองอีกที แต่เขาก็ไม่ย่อท้อแม้จะได้รับโอกาสลงเล่นเพียงนัดละ 1 นาทีตลอดฤดูกาลแรก ยังอดทนตั้งใจฝึกฝน ไม่ปล่อยให้เสียงหัวเราะ รวมถึงท่าทีล้อเลียนของเพื่อน ๆ ในทีมมาบั่นทอนกำลังใจในการเล่นบาสของเขา จนฝีมือพัฒนาขึ้นมีโอกาสได้ยึดตำแหน่งตัวจริง โดยที่เขาก็ยังคงรัก และทุ่มเทให้กับกีฬาบาสเก็ตบอลต่อไปเรื่อย ๆ กระทั่งจบไฮสคูล และเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ Simon Fraser University ในสาขา Kinesiology หรือการเรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว กับความต้องการที่จะจบไปเป็นครูพละ ด้วยแรงบันดาลใจที่ต้องการทำหน้าที่โค้ชผู้ฝึกสอนเด็กนักเรียนที่แม้จะไม่มีพรสวรรค์ หรือข้อได้เปรียบด้านร่างกาย แต่มีความตั้งใจเต็มเปี่ยม เหมือนที่เขาเคยได้รับโอกาสจากโค้ช Bob McGill ในวัยเด็กนั่นเอง

เท่าที่อ่านมาถึงย่อหน้านี้ชีวิตของ Terry Fox อาจดูราบเรียบไม่มีอะไรหวือหวา และคงจบลงในฐานะโค้ชหนุ่มไฟแรงที่ปลุกปั้นเด็ก ๆ ให้เติบโตสู่วงการกีฬาที่เขาชื่นชอบ แต่ในที่สุดมรสุมชีวิตลูกใหญ่ก็ได้พัดผ่านเข้ามาทำลายชีวิตของเขา ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1976 หลังจากที่ Fox ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ จนเกิดอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าขวา และยังคงมีอาการปวดที่หัวเข่าข้างนี้มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเดือนมีนาคม อาการบาดเจ็บเล็กน้อยที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนต้องเข้าโรงพยาบาล พร้อมกับข่าวร้ายจากแพทย์ผู้วินิจฉัยอาการที่บอกกับเขาว่าความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากอาการของโรคมะเร็งกระดูกในบริเวณใกล้กับหัวเข่า และทางออกที่ดีที่สุดคือการตัดขาทิ้ง และเข้ารับการเคมีบำบัดโดยด่วน ถือเป็นข่าวร้ายที่เหมือนฟ้าฟาดลงกลางใจดับฝันของชายหนุ่มผู้รักในกีฬา และกำลังไล่ตามความฝันในการเป็นโค้ชให้กับเด็ก ๆ รุ่นต่อไป แต่อย่างน้อยเพื่อที่จะรักษาชีวิตเอาไว้  Terry Fox จำต้องยอมตัดขาขวาทิ้ง ทำให้เขากลายเป็นผู้พิการสูญเสียขาขวาไปเมื่ออายุเพียง 18 ปีเท่านั้น

ระหว่างเข้ารับการรักษา แม้จะต้องอดทนกับการทำเคมีบำบัด ต้องต่อสู้กับสภาพจิตใจที่ไม่สู้ดีนักหลังจากการสูญเสียขาขวาไป พร้อมด้วยความกดดันที่มีต่อการรักษา เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ในสมัยนั้น ที่ต้องยอมรับว่าโอกาสรอดชีวิตของเขามีไม่มาก แต่ Terry Fox ก็ก้าวผ่านช่วงเวลาเลวร้ายนั้นมาได้ แถมยังมาพร้อมแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ระหว่างการรักษามะเร็ง กับความต้องการที่จะรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงความน่ากลัวของโรคมะเร็ง และอยากระดมทุนเพื่อให้การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งนั้นพัฒนารุดหน้าขึ้นจากที่เคยเป็นอยู่

หลังจากได้อ่านเรื่องราวของ Dick Traum ผู้พิการคนแรกที่ลงแข่งขันวิ่งในรายการ New York Marathon เขาจึงเลิกกลัวกับข้อจำกัดของความพิการ และตัดสินใจใช้การวิ่งซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เขาถนัดไม่แพ้การเล่นบาส มาใช้ในการระดมทุนหาเงินสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง เมื่อรักษาตัวจนหาย Terry Fox  ก็ได้เริ่มมุ่งมั่นซ้อมวิ่งด้วยขาเทียม ที่แม้จะไม่ถนัด และสร้างความเจ็บปวดแทบทุกก้าวของการวิ่ง แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ จนสามารถวิ่งระยะทางไกลได้ในที่สุด และเขาก็เริ่มประเดิมเข้าร่วมรายการวิ่งที่เมือง Prince George รัฐ British Columbia ด้วยการลงสมัครในรุ่น 27 กม. ก่อนจะจบรายการด้วยการเข้าเส้นชัยในอันดับสุดท้ายตามคาด แต่ก็สามารถเรียกน้ำตา และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ร่วมงานเป็นจำนวนมาก รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับตัว Terry Fox เอง ว่าถึงเวลาทำความตั้งใจในการออกวิ่งข้ามประเทศแคนาดาเพื่อระดมเงินทุนวิจัยโรคมะเร็งให้สำเร็จเสียที

เมื่อซ้อมอย่างหนักหน่วง และเตรียมตัวจนพร้อมเต็มที่ การออกวิ่งข้ามประเทศแคนาดา หรือที่ตัวเขาเรียกว่า ‘มาราธอนแห่งความหวัง’ (Marathon of Hope) ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 2 เมษายน ปี 1980 ที่เมือง St. John’s รัฐ Newfoundland โดยมีจุดหมายอีกฟากหนึ่งของประเทศแคนาดารวมระยะทางกว่า 8,000 กม. ด้วยแผนที่วางไว้กับความตั้งใจที่จะออกวิ่งวันละประมาณ 42 กม.  หรือหมายความว่า Terry Fox จะต้องวิ่งมาราธอนติดต่อกันทุกวัน กับเป้าหมายในการระดมเงินบริจาคให้ได้ 1 ล้านดอลลาห์ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป้าหมายให้ยิ่งใหญ่กว่า ด้วยความหวังในการขอรับเงินสนับสนุนจากประชากรชาวแคนาดาคนละ 1 ดอลลาห์ หรือประมาณ 24 ล้านดอลลาห์ เมื่อเทียบจากจำนวนประชากรชาวแคนาดาในตอนนั้น

‘มาราธอนแห่งความหวัง’ ของ Terry Fox ได้ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ท่ามกลางอุปสรรค ความเหนื่อยล้าเจ็บปวดมากมายที่เกิดขึ้นกับร่างกาย แต่เขาก็ไม่เคยย่อท้อ ยังคงออกวิ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายการวิ่งข้ามประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าดีใจ ที่ระหว่างทางผู้คนต่างให้ความสนใจ ออกมาร่วมวิ่ง ส่งเสียงให้กำลังใจ และมอบเงินสนับสนุนให้กับ Terry Fox มากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดเส้นทาง ชื่อของ Terry Fox และ ‘มาราธอนแห่งความหวัง’ต่างเป็นที่รู้จัก ได้กลายเป็นที่สนใจของผู้คนชาวแคนาดาทั่วทั้งประเทศ จากจุดเริ่มต้นที่มีเพียงแค่ตัวเขา กับเพื่อนซี้สมัยไฮสคูลอย่าง Doug Alward คอยขับรถตามประกบเพียงเท่านั้น

ระหว่างการออกวิ่งบนเส้นทางแห่งความหวัง มรสุมชีวิตก็ได้มาเยือน Terry Fox อีกครั้ง ในวันที่ 1 กันยายน ปี 1980 หลังจากวิ่งมาได้ 143 วัน  รวมระยะทางกว่า 5,373 กิโลเมตร ขณะกำลังอยู่ที่ Thunder Bay สุดท้าย Fox จำใจต้องหยุดวิ่ง เนื่องจากร่างกายของเขาไม่สามารถฝืนทนความเจ็บปวดต่อไปได้ เนื่องจากมะเร็งได้ลุกลามไปยังปอดของเขา และถึงแม้ Terry Fox จะประกาศเอาไว้ว่าจะกลับมาวิ่งอีกครั้งหลังรักษามะเร็งปอดจนหายดี แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้กลับมา หลังจากใช้เวลารักษาตัวที่โรงพยาบาล the Royal Columbian กว่า 1 ปี Terry Fox ก็ได้จากโลกไปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ปี 1981 ก่อนวันเกิดครบรอบอายุ 23 ปีเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น การจากไปของ Fox ถือเป็นอีกหนึ่งการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศแคนาดา ทางภาครัฐได้มีคำสั่งให้ลดธงลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยให้กับ Terry Fox และถ่ายทอดพิธีศพของเขาไปทั่วประเทศ

แต่ถึงแม้ตัวของ Terry Fox จะจากไปกลางคัน ไม่อาจทำตามความฝันในการออกวิ่งระดมทุนข้ามประเทศแคนาดาได้สำเร็จ แต่สิ่งที่เขาเริ่มต้นเอาไว้ก็ไม่สูญเปล่า ด้วยยอดเงินบริจาคที่ยังคงหลั่งไหลเข้ามาเรื่อย ๆ จนครบจำนวนที่เขาตั้งใจเอาไว้ และกิจกรรมการวิ่งมาราธอนแห่งความหวังเพื่อระดมทุนวิจัยโรคมะเร็งก็ยังคงดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน มีการจัดงานวิ่งขึ้นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยของเราในนามของมูลนิธิ Terry Fox ซึ่งถือเป็นมูลนิธิที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งมาโดยตลอด สมกับที่ Terry Fox เคยได้กล่าวไว้ระหว่างการวิ่งมาราธอนแห่งความหวังว่า “Even if I don’t finish, we need others to continue. It’s got to keep going without me.” แม้ตัวเขาจะทำไม่สำเร็จ แต่ความตั้งใจอันแน่วแน่ของเขาจะต้องไม่ถูกหยุดไว้ ขอแค่ใครสักคนมานำพาให้มันเดินหน้าไปต่อ โดยไม่จำเป็นต้องมีเขาก็ได้

ตำนานมาราธอนแห่งความหวังของ Terry Fox ถือเป็นอีกเรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแน่วแน่ ไม่ยอมให้อะไรมาหยุด แม้ตัวจะจากไปแต่ก็ขอให้เจตนารมณ์เพื่อเพื่อนมนุษย์ของเขานั้นได้ดำเนินต่อ  ถือเป็นหลักคิดที่ยอดเยี่ยม และเหมาะที่จะนำมาปรับใช้ในเส้นทางของชีวิต ในวันที่ต้องพบเจอสิ่งที่จะทำให้เราหยุด มันอาจจะเป็นความเหนื่อย ความท้อแท้ ความล้มเหลว  ความเป็นไปไม่ได้ ความกลัว  เหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือแม้กระทั่งความสำเร็จ ที่ทำให้บางคนยอมให้สิ่งเหล่านี้เป็นข้ออ้างที่จะหยุด

แต่เราหวังว่าเรื่องราวของ Terry Fox จะเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นให้ชาว UNLOCKMEN ทุกคนมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมหยุด และก้าวข้ามมันไป นำหัวจิตหัวใจ จิตวิญญาณความเป็นนักสู้ของ Terry Fox มาเป็นแรงผลักดันสร้างเชื้อพลังในตัวเองให้มีพลังไปต่อในเส้นทางที่ตั้งใจเอาไว้  ลองคิดง่ายๆว่า ชีวิตก็เหมือนมอเตอร์ไซค์ ถ้าหยุดออกแรงบิด ก็หมดสิทธิ์ไปข้างหน้า  WHAT STOPS YOU?  มุ่งไป อย่าให้อะไรมาหยุด

#WHATSTOPSYOU? #มุ่งไปอย่าให้อะไรมาหยุด #รถจักรยานยนต์ฮอนด้า

 

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line