Entertainment

“THE EAST GERMAN PUNKS” เมื่อวงดนตรีพังก์สามารถพังม่านเหล็กยักษ์ที่แบ่งแยกเยอรมนี

By: TOIISAN November 14, 2019

ค่ำคืนหนึ่งในเยอรมนีที่เงียบสงบดูเหมือนว่าทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดีเหมือนทุกวัน แต่แล้วเมื่อรุ่งเช้าชาวเมืองตื่นขึ้นมาพบกับกำแพงลวดหนามที่ฉีกประเทศให้แยกออกจากกัน เพียงข้ามคืนการเดินทางอย่างอิสระไปทั่วประเทศถูกปิดกั้นเพราะอุดมการณ์ที่แตกต่างช่วงสงครามเย็น 

UNLOCKMEN อยากพาทุกคนย้อนเวลากลับไปยังยุคสมัยแห่งความตึงเครียดอย่างสงครามเย็นที่ทำให้เยอรมนีแตกออกเป็นสองฝั่ง แต่ใต้ความเครียดอันกดดันแสนหดหู่ก็ยังมีเรื่องเท่ ๆ เกิดขึ้นฝั่งเยอรมนีตะวันออก เมื่อเหล่าปัญญาชนและผู้คิดนอกกรอบจะไม่ยอมอยู่ภายใต้เผด็จการอีกต่อไป

การต่อต้านของเหล่าขบถมีหลายแบบ แต่สิ่งที่รวมคนหลากกลุ่มในเยอรมนีทั้งเด็กนักเรียน เด็กเกเร คนทำงานที่ไม่ชื่นชอบระบอบการปกครองที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่คือเสียงดนตรีและวงดนตรีที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์อย่างพังก์ (Punk) 

 

เมื่อพังก์กลายเป็นสัญลักษณ์ของเหล่าขบถ

กำแพงลวดหนามถูกเปลี่ยนเป็นกำแพงใหญ่คล้ายม่านเหล็ก ระเบิดจำนวนมากถูกวางไว้นอกเขตพร้อมกับการคุ้มกันหนาแน่น มีหอสังเกตการณ์ของพลซุ่มยิง เพื่อให้แน่ใจว่าคนทั้งสองฝั่งไม่เล็ดลอดสายตาแอบไปมาหาสู่กันโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมนีตะวันออกอย่างเลี่ยงไม่ได้ต้องการชีวิตเสรีภาพดั่งเคยมีมาตลอด หลาย ๆ คนออกมาแสดงความคิดเห็น ออกมาชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องขอเสรีภาพแต่ก็ต้องล้มเหลวไปทุกครั้งเพราะผู้มีอำนาจทำเป็นมองไม่เห็นเสียงเหล่านี้ 

เมื่อพูดคุยกันอย่างปัญญาชนไม่สำเร็จ พวกคนที่พยายามเรียกร้องจากการชุมนุมประท้วงก็ยังคงเดินหน้ากันต่อ แต่บางคนมองว่าสุดท้ายคนเบื้องบนก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นต่อไปอยู่ดี พวกเขาจึงหันเดินลงสู่ใต้ดินและทำอะไรนอกกรอบกันบ้าง 

วัยรุ่นหลายคนที่ชำนาญการช่างหันมาแต่งรถซิ่งสร้างแก๊งเพื่อขับรถก่อกวนเจ้าหน้าที่ทั่วเมือง เหล่าศิลปินที่ไม่สามารถเข้าไปแสดงดนตรีได้ดังเดิมหันมาจัดงานคอนเสิร์ตผิดกฎหมายผ่านการชักชวนกันแบบปากต่อปาก บางครั้งจัดคอนเสิร์ตเถื่อนในโบสถ์ บ้างก็เปลี่ยนไปจัดในชั้นใต้ดินของร้านเล็ก ๆ ตามตรอกที่ไม่มีใครสนใจ และไม่ลืมถ่ายวิดีโอเก็บไว้และส่งเทปบันทึกภาพเหล่านั้นให้คนในเยอรมนีตะวันออกที่ไม่ได้ไปดูคอนเสิร์ต

การกระทำนอกกรอบของกลุ่มต่อต้านสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนห่อเหี่ยวหลังม่านเหล็กได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อความห่ามอันบ้าคลั่งของเหล่าวัยรุ่นและนักดนตรีรู้ไปถึงหูของผู้มีอำนาจ สิ่งที่ตามมาคือกฎระเบียบเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม กลุ่มเครือข่ายดนตรีพังก์ใต้ดินของเยอรมนีตะวันออกถูกจับตามองโดยรัฐบาลเผด็จการ 

แม้จะมีศิลปินตั้งหลายแนวที่แอบจัดคอนเสิร์ตผิดกฎหมายแต่ทำไมวงพังก์ถึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ ? นั่นเป็นเพราะวงดนตรีพังก์เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์อันแตกต่าง การแต่งตัวจัดจ้าน บุคลิกพร้อมเผชิญหน้า รวมถึงบทเพลงเต็มไปด้วยอารมณ์

ความหมายของเนื้อเพลงที่บอกเล่ารุนแรง ส่วนพังก์จากเกาะอังกฤษมีเนื้อเพลงที่ว่าด้วยอนาคต สังคมและเศรษฐกิจที่พร้อมก้าวไปข้างหน้า แต่ปัญหาที่ผู้คนในเยอรมนีตะวันออกกำลังเผชิญมันตรงกันข้ามกับบทเพลงพังก์แบบอังกฤษอย่างสิ้นเชิง พวกเขาตกงาน ถูกกดขี่ ไม่มีเวลามานั่งนึกถึงอนาคตสว่างไสวอันแสนไกลเหมือนคนอังกฤษ สิ่งเหล่านี้หลอมรวมให้วงพังก์ในเยอรมนีตะวันออกมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากกว่าที่ไหน ๆ ด้วยความร้อนแรงแบบนี้จึงไม่แปลกที่ผู้มีอำนาจมองว่า ‘วงดนตรีพังก์คือปัญหาใหญ่ของเยาวชน และเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง’

วงพังก์ที่มีบทบาทมากช่วงสงครามเย็นมีหลายวงด้วยกัน เช่น Wutanfall พวกเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านเผด็จการ เนื้อเพลงของพวกเขาวิพากษ์วิจารณ์สตาซี (Stasi) หน่วยสอดแนมของเยอรมนีตะวันออกที่ชอบแอบตามชีวิตของประชาชน พร้อมบอกเล่าปัญหาที่ชาวเยอรมนีตะวันออกต้องเผชิญผ่านเพลง 

สมาชิกวง Wutanfall นามว่า Juergen Gutjahr เล่าว่าเขาจดจำความรู้สึกใกล้จะตายได้อย่างชัดเจน สตาซีจับผมยัดใส่ถุงเน่า ๆ ผูกปมให้แน่นจากนั้นก็ตีด้วยของแข็งบางอย่าง รู้สึกถึงขาที่เตะเข้าลำตัวจากนั้นก็เอาร่างของเขาไปทิ้งไว้ในป่า เป็นประสบการณ์แสนแย่ที่ไม่มีวันลืม 

พังก์ของเยอรมนีตะวันออกกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยที่มีรากฐานฝังลึกกับการเคลื่อนไหวทางสังคมให้กับประชาชนหลังม่านเหล็ก เป็นมากกว่าวงดนตรีที่มอบความสุขให้ผู้ชมผ่านบทเพลง เคยมีคนนิยามไว้ว่าทุกคนควรได้ใช้ชีวิตตามต้องการ แต่งตัวในแบบที่ชอบ ฟังเพลงแบบที่อยากฟัง และสิ่งเหล่านี้ไม่ควรถูกจำกัดอยู่หลังกำแพงหรือลวดหนาม และพวกพังก์ก็สุดเหวี่ยงไปกับสิ่งเหล่านี้ได้แม้ต้องอยู่ใต้การควบคุมที่ไม่เป็นธรรม

“วงดนตรีพังก์กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่ยืนหยัดต่อสู้กับรัฐ เป็นตัวอย่างของชีวิตไร้กฎเกณฑ์ และสนุกกับชีวิตได้อย่างแท้จริง” – Christiane Eisler

Jana Schlosser นักร้องนำวง Namenlos ถูกจับกุมและได้รับโทษจำคุกทันทีเป็นเวลาสองปีหลังจากเปรียบเทียบสตาซีว่าเหมือนกับกลุ่ม SS (Schutzstaffel) ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กลุ่มนักกิจกรรมหลายคนถูกขึ้นบัญชีดำ หาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ส่วนนักดนตรีพังก์ที่ยังเหลือรอดก็ไม่ยอมหยุดสร้างผลงานศิลปะเสียดสีรัฐบาลแม้รู้ว่าสุดท้ายผลงานของพวกเขาจะต้องถูกแบนก็ตาม 

ผู้ชายที่ถูกจับกุมส่วนมากเป็นนักศึกษา คนทำงาน ศิลปิน พวกเขาไม่ใช่สายลับหรือผู้ก่อการร้ายอย่างที่สตาซีว่าไว้ บางคนติดคุก หลายคนถูกเกณฑ์เข้ากองทัพ มีวงดนตรีจำนวนมากยังไม่ยอมแพ้และสู้ในแบบของตัวเองเรื่อยมาจนเข้าสู่ปี 1983 ชาวพังก์หลายคนเริ่มออกเดินถนนร่วมกับผู้ชุมนุมเพราะการต่อสู้ในครั้งนี้พวกเขามีศัตรูคนเดียวกัน

การต่อสู้อันแสนยาวนานของชาวเยอรมนีตะวันออกที่ไม่ยอมแพ้ได้รับผลตอบแทนในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 ม่านเหล็กถูกทำลาย พลซุ่มยิงและกับระเบิดที่ขวางไม่ให้ฝั่งตะวันออกข้ามฝั่งไปยังตะวันตกหมดสิ้นลง

พวกเขาสามารถไปมาหาสู่หรือเดินทางไปทั่วเยอรมนีได้ตามเดิม เหล่านักดนตรีพังก์จำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าการเดินทางของพวกเขามาถึงจุดจบเสียที หลายคนเลิกทำเพลง แยกย้ายกันไปตามเส้นทาง อยู่กับครอบครัว ใช้ชีวิตแบบที่อยากเป็น เพราะพวกเขาบรรลุเป้าหมายที่ทำมานานอย่างการเขียนบทเพลงและแสดงดนตรีเพื่อขับไล่เผด็จการ

 

SOURCE 1 / 2

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line