CARS

THE ICONIC CARS: MOTOCOMPO ตัวแทนวัฒนธรรมซิตี้คาร์ของฮอนด้าในยุค 80’s

By: SPLESS August 5, 2020

ปัจจุบันถ้าพูดถึง City Cars หรือรถยนต์ที่เหมาะสมต่อการขับขี่ในเขตเมือง หนุ่ม ๆ หลายคนคงมองเห็นภาพ Eco Cars และ City Cars หลากหลายรุ่นที่ถูกพัฒนาขึ้นมาตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันทั้งเรื่องของสมรรถนะ งานดีไซน์ รวมไปถึงฟังก์ชันเสริมที่มีมากน้อยแตกต่างกันไปในรถยนต์แต่ละคัน

อย่างไรก็ตามหากย้อนเวลากลับไปช่วงปี 1980 ใครจะคิดว่าค่ายผู้ผลิตรถยักษ์ใหญ่อย่างฮอนด้าจะเคยเสริมจุดขายใน City Cars ของตัวเองด้วยสกู๊ตเตอร์คันจิ๋วที่ใช้ชื่อว่า Motocompo ซึ่งต่อมาได้มาเป็นตัวแทนคำบอกเล่าของยุคสมัยรวมถึงของสะสมหายากที่ใครหลายคนตามหา แต่เรื่องราวทั้งหมดจะมีจุดเริ่มต้นยังไงและพาหนะ 2 ล้อคันนี้ได้สร้างปรากฏการณ์อะไรบ้าง มาทำความรู้จักเรื่องราวทั้งหมดไปพร้อมกัน

 

จุดเริ่มต้นของ Honda Motocompo เป็นผลพวงมาจากการพัฒนารถยนต์คันใหม่ของฮอนด้าในช่วงปี 1979 ช่วงเวลาที่ทีมออกแบบเลือดใหม่ของค่ายได้ร่วมกันระดมไอเดียเพื่อสร้างโปรเจกต์รถยนต์คันใหม่ของค่ายในฐานะ “รถยนต์ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดีที่สุดสำหรับปี 1980” ซึ่งต่อมาทุกคนรู้จักรถคันนี้ในชื่อ “Honda City”

ในเวลานั้น Hiroo Watanabe และ Hiroshi Azuma 2 วิศวกรผู้เป็นหัวเรือใหญ่ของโปรเจกต์ได้รับโจทย์ให้สร้างรถยนต์ที่มีคุณสมบัติตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ โดยเป้าหมายหลักคือการสร้างรถยนต์ที่มีสมรรถนะขั้นพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม

ที่สำคัญคือต้องเป็นรถยนต์ที่ตอบสนองการใช้งานของกลุ่มคนทำงานหนุ่ม-สาวที่ต้องการใช้รถยนต์ในชีวิตประจำวันเมืองเช่นโตเกียวหรือเมืองใหญ่ต่าง ๆ สุดท้ายคืองานดีไซน์และเส้นสายของตัวรถจะต้องถูกยอมรับในระดับสากล

influx

ไม่นานทีมงานรุ่นใหม่ไฟแรงของฮอนด้าที่มีอายุเฉลี่ยไม่ถึง 30 ปีก็เริ่มลงมือขึ้นรูปงาน Prototype ของ Honda City ออกมาเป็นแบบจำลองดินเหนียวของรถที่มีรูปทรง Hatchback อย่างไรก็ตามงานออกแบบในช่วงแรกถูกบอร์ดบริหารมองว่าเป็นดีไซน์ที่ไม่ดึงดูดมากพอ รวมถึงคำติติงจากฝ่ายขายที่คิดว่ารถยนต์คันนี้คงทำการตลาดได้ไม่ดีเท่าที่ควรซึ่งอาจทำให้โปรเจกต์ถูกพับเก็บไป

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาภายในที่แก้ไม่ตก หัวหน้าทีมโปรเจกต์ทั้ง 2 คนจึงตัดสินหันไปขอความช่วยเหลือจาก Toru Arisawa ชายผู้รับหน้าที่ดูแลงานโฆษณาของบริษัท ให้มาช่วยตบตีหาจุดบกพร่องที่ควรแก้ไข รวมถึงสร้างงานโฆษณาที่ดึงดูดการขายและเหมาะสมกับตัวรถขึ้นมา

ในเวลาต่อมาต้นแบบของ Honda City ก็ถูกเปลี่ยนงานดีไซน์ใหม่ไม่ว่าจะเป็นชุดไฟหน้าและออกแบบภายในห้องโดยสารให้ที่มีขนาดกว้างมากขึ้น ก่อนถูกนำเสนอพร้อมกับชิ้นงานโฆษณาสุดครีเอทที่ได้วงดนตรีแนว Ska/2Tone จากประเทศอังกฤษที่มีชื่อ MADNESS มาร่วมแสดงและร้องนำ

สุดท้ายตัวรถคันสมบูรณ์และชิ้นงานโฆษณาก็เป็นที่พอใจจากผู้บริหาร และตัวแทนฝ่ายขายและทำให้ Honda City ได้รับการตีตราผ่านเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตและเปิดตัวให้โลกได้รู้จักเป็นครั้งแรกในปี 1981 ในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ตามการเปิดตัวรถยนต์ Honda City เจเนอเรชันแรกเป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหา Space Pollutions โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่บนเกาะและมีทรัพยากรด้านพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้ทางฮอนด้าตัดสินใจสร้างสกู๊ตเตอร์อย่าง Motocompo ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในเขตเมืองและออกแบบมาสำหรับวางเก็บในช่องเก็บด้านหลังตัวรถของ Honda City โดยเฉพาะ

ฮอนด้าตั้งใจสร้างพาหนะ 2 ล้อคันนี้เพื่อขึ้นมาเติมเต็มวิถีชีวิตที่มีข้อจำกัดในเรื่องการเดินทางของคนญี่ปุ่น ให้สามารถใช้งานรถยนต์ส่วนตัวควบคู่กับสกู๊ตเตอร์ที่เดินทางในเขตเมืองได้สะดวกกว่า Motocompo จึงถูกสร้างขึ้นมาในคอนเซ็ปต์ Truck Bike หรือสกู๊ตเตอร์ที่สามารถพับเก็บได้ ทำให้คนที่ใช้รถยนต์ Honda City สามารถจอดรถยนต์ในที่จอดรถหรือสถานีรถไฟและใช้ Motocompo เดินทางสู่ที่ทำงานต่อ รวมถึงคนที่ต้องการขับรถท่องเที่ยวออกไปนอกเมืองพร้อมกับสกู๊ตเตอร์ส่วนตัวที่พร้อมใช้งาน

ด้านขุมพลังสกู๊ตเตอร์คันนี้มาพร้อมเครื่องยนต์ AB12E ขนาด 49 ซีซี ที่ให้พลัง 2.5 แรงม้าสูงสุดที่ 5000/นาที แรงบิดที่ 0.38 กิโลกรัม-เมตร ทำงานคู่กับชุดเกียร์อัตโนมัติจังหวะเดียว ที่สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง พร้อมถังน้ำมันขนาด 2.2 ลิตร ที่สามารถวิ่งได้ไกลสุด 130 กิโลเมตรต่อน้ำมัน 1 ถัง ทีมวิศวกรยังทราบดีว่าควรออกแบบ Motocompo ให้มีน้ำหนักเบาเพื่อเหมาะกับการพกพาและพับเก็บ พวกเขาจึงสร้างสกู๊ตเตอร์คันนี้ให้มีน้ำหนักเพียง 45 กิโลกรัมเท่านั้น

3 ปีต่อมาโปรเจกต์รถยนต์สำหรับตีตลาดใหม่ของฮอนด้าถือว่าประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ในปี 1983 สกู๊ตเตอร์ Motocompo สิ้นสุดสายการผลิตและทำยอดขายได้ถึง 53,369 คันจากยอดเดิมที่ตั้งเป้าเอาไว้ 10,000 คันที่สำคัญคือพระเอกของงานอย่าง Honda City เจเนอเรชันแรกที่สามารถทำยอดขายภายในช่วงเวลา 3 ปีได้ถึง 150,000 คัน

ทั้งหมดพิสูจน์ความสำเร็จในงานออกแบบของทีมฮอนด้าเจนใหม่ว่ารถของพวกเขามีดีไม่แพ้รถยนต์คันอื่นของค่ายซึ่งเวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีเพราะในปัจจุบัน Honda City ได้กลายมาเป็น 1 ในโมเดล Eco cars หรือ City Cars ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยของเรา

ด้านสกู๊ตเกอร์ Motocompo ได้กลายมาเป็นของแรร์ที่แฟนรถญี่ปุ่นหลายคนตามหามาสะสม ส่วนค่าตัวในตอนแรกที่วางขายในราคา 80,000 เยนหรือประมาณ 23,500 บาทได้เพิ่มขึ้นไปหลายเท่าตัว โดยปัจจุบันรถในสภาพดีจะมีราคาขายที่ 3,550 ดอลลาร์หรือประมาณ 110,000 บาทเลยทีเดียว

influx

คงพูดได้ว่า Motocompo และ Honda City เจเนอเรชันแรกเป็นโปรเจกต์ที่แสดงให้เห็นถึงพลังมันสมองและพลังในการลงมือทำของทีมงานรุ่นใหม่ (ในเวลานั้น) ของฮอนด้าซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายมาเป็นรากฐานที่สำคัญให้กับองค์กร ยกตัวอย่าง Hiroo Watanabe วิศวกรหัวหน้าโครงการที่ปลุกปั่น Honda City เจนแรก ในเวลาต่อมาตัวเขาได้เข้าไปมีส่วนสำคัญในการรับหน้าที่ดูแลโปรเจกต์การสร้างรถยนต์ของค่ายหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น Honda Civic ในปี 1983 และ 1987, Honda Integra ในปี 1985 ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารของ Honda R&D America ในปี 1994

อย่างไรก็ตามความสำเร็จทั้งหมดอาจเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าพวกเขาไม่มีเพื่อนองค์กรรุ่นเก๋าอย่าง Toru Arisawa ที่มองเห็นคุณค่าในผลงานที่สร้างขึ้นมาและช่วยสนับสนุนโปรเจกต์จนขายผ่านได้สำเร็จและทำให้รถยนต์อย่าง Honda City และ Motocompo กลายมาเป็นการจับคู่ของรถที่คนญี่ปุ่นในยุคนั้นและยุคต่อมาจดจำกันได้แบบไม่เคยลืมเลือน

Hagerty

SOURCE: 1/2/3/4/5/6/7

 

 

SPLESS
WRITER: SPLESS
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line