Entertainment

THE REAL: “DOME PAKORN LAM” เกิด แก่ เจ็บ ยังไม่ตาย ก็ต้อง TRY ให้สุดชีวิต!

By: JEDDY March 26, 2022

ณ Mid-Den Haus Studio สตูดิโอบ้านสไตล์วินเทจย่านซอยพหลโยธิน 44 เมื่อสัปดาห์ก่อน เรามีนัดพูดคุยกับศิลปินและนักแสดงชื่อดังที่อยู่ในวงการบันเทิงมานานเกิน 20 ปี แต่ไม่น่าเชื่อว่ากาลเวลาจะทำอะไรผู้ชายที่ชื่อว่า “โดม ปกรณ์ ลัม” ไม่ได้เลย

โดมจะมาพาทุกคนไปไล่ย้อนไทม์ไลน์นับตั้งแต่วันแรกที่เข้าวงการจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงมุมมองของสังคมและประเทศไทยในปัจจุบันที่ถูกแช่แข็งอยู่กับที่มาอย่างยาวนาน ซึ่งคงไม่บ่อยมากนักที่เราจะได้ฟังทัศนคติของโดมที่จะพูดถึงเรื่องราวเหล่านี้ พร้อมแล้วไปลุยกันเลยครับ!


เข้าสู่วงการตั้งแต่วัยเด็ก

โดม เป็นคนที่มีชีวิตวัยเด็กไม่ต่างจากเด็กทั่ว ๆ ไป ตื่นเช้าไปเข้าเรียน ตกเย็นเตะบอลกับเพื่อนแล้วค่อยแยกย้ายกลับบ้านนอนตามปกติ แต่สิ่งที่แตกต่างกว่าคนอื่น ๆ ซักเล็กน้อยก็คงเป็นการทำงานถ่ายโฆษณาตั้งแต่วัย 2-3 ขวบ ซึ่งโดมเล่าให้ฟังว่ามีงานเข้ามาบ่อยมาก เนื่องจากตนเองเป็นเด็กที่อึดมาก ไม่ค่อยงอแง ทำให้ได้งานตลอด มีรายได้พิเศษมาช่วยคุณแม่จนกระทั่งเข้าสู่วัย 6 ขวบ

“ถ่ายโฆษณาไปมา จนไปเตะตาพี่คนหนึ่ง เขาทำละครอยู่ช่อง 3 ตอนนั้นประมาณ 6 ขวบ ผมเล่นละครช่อง 3 เป็นตัวละครเด็กนี่แหละครับ ได้เล่นอยู่หลายเรื่อง จากนั้นก็เริ่มมีงานตามมาเรื่อย ๆ ลักษณะกึ่งดาราเด็กแต่ก็ไม่เชิง เพราะว่าสมัยนั้นไม่ค่อยมีดาราเด็กที่โด่งดัง จะเป็นพระนางเสียส่วนใหญ่ เด็กก็จะเป็นตัวประกอบในละคร”

“จากนั้นก็ได้ไปเล่นภาพยนตร์ตอนช่วง 5-6 ขวบ จำได้ว่า พี่มาช่า วัฒนพานิช เป็นนางเอก (เรื่องอีจู้กู้ปู่ป้า ปี 2531) ช่วงนั้นก็เริ่มรู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่เหมือนเด็กคนอื่นละ เริ่มไม่ได้ไปเตะบอล ไม่ได้เล่นกับเพื่อน นอนดึกกว่าเด็กคนอื่น

บางที 2-3 ทุ่มยังอยู่โลเคชั่นที่ถ่ายทำอยู่เลย อีกวันก็ต้องตื่นไปเรียน แล้วเรียนเหนื่อยเหมือนกัน แต่เราก็รู้แค่ว่ามันคือการหารายได้พิเศษ แล้วก็เอาเงินไปช่วยแบ่งเบาภาระให้คุณแม่ เพราะคุณแม่ผมก็เป็นซิงเกิลมัม เลี้ยงผมคนเดียวมาตั้งแต่เด็ก”


จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญกับการเข้าสู่ค่ายย่านลาดพร้าว

อย่างที่เราทุกคนทราบ โดยเฉพาะบรรดาเด็กยุค 90’s ยุคนั้นชื่อของ โดม ปกรณ์ ลัม อยู่ในช่วงโด่งดังสุดขีด ทั่วประเทศไม่มีใครไม่รู้จัก โดยเฉพาะสาว ๆ ที่แค่เห็นพี่โดมก็แถบหมดสติ หลังการก้าวเข้ามาเป็นศิลปินเดี่ยวในค่าย RS Promotion ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของค่ายเช่นกัน เต็มไปด้วยศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แร็ปเตอร์, ลิฟท์ ออย, เจอาร์ วอย, ศรราม, เต๋า สมชาย และนุ๊ก สุทธิดา เป็นต้น

“จุดเปลี่ยนมันมาตอนที่ผมเล่นภาพยนตร์เรื่อง ‘อนึ่ง คิดถึง พอสังเขป’ ตอนอายุ 14 มันเป็นหนังชีวิตนักเรียน ถ้าเปรียบเทียบก็คงเหมือนหนังฮอร์โมนสมัยนี้ เป็นเรื่องตีแผ่ชีวิตนักเรียนในโรงเรียน มีรักกัน มีทะเลาะกัน ใส่ชุดนักเรียนมัธยมเล่นกัน หนังค่อนข้างประสบความสำเร็จมากครับเรื่องนั้น แต่ก็เป็นหนังเรื่องสุดท้ายที่ผมเล่นครับ”

“พอหลังจากนั้นก็ได้รับการติดต่อจากค่ายเพลง เป็นช่วงประมาณ ม.1 – ม.2 ซึ่งเราเริ่มสนใจดนตรีแล้วครับ เริ่มมีกิจวัตรคือเลิกเรียนก็ไปเปิดห้องซ้อมแถวโรงเรียนกับเพื่อน หวดกันเต็มที่ ใส่กันยับ ก็ไม่รู้ดีไม่ดี แต่มันเหมือนได้ระบาย ได้เล่นดนตรีที่ชอบ ซึ่งช่วงนั้นเรากำลังอินกับการฟังดนตรีแนว Nirvana, Pearl Jam ฟังเพลงพวก บริตป๊อป, กรันจ์”

จริง ๆ แล้วก่อนหน้าที่โดมจะเซ็นสัญญากับค่าย RS ก็มีค่ายเพลงหลายค่ายติดต่อเข้ามา หนึ่งในนั้นก็คือ Grammy ด้วยเช่นกัน แต่ก็เหมือนเส้นทางถูกกำหนดไว้แล้ว โดมจึงเลือกเดินเข้าสู่ฝั่งลาดพร้าวแทน 

“พอเราเริ่มมาทำเพลงที่ RS แม้อัลบั้มแรกมันจะเป็นเพลงแบบลูกกวาดมากเลย แต่เราก็รู้สึกว่ามันก็คืองานที่เราชอบ เราได้เข้าไปเจออะไรหลาย ๆ อย่าง ได้เข้าไปเทรน ได้ฝึกฝนฝีมือ ตอนนั้นเรารู้สึกเลยว่าการทำเพลงมันใช่ มันรู้สึกสนุกกว่าเล่นหนัง ก็เลยเป็นที่มากับการที่เราหันมาจริงจังทางนี้ครับ”


ฝีมือต้องโดดเด่นเหมือนหน้าตา

ในช่วงยุค 90’s เป็นยุคที่นักร้องส่วนใหญ่จะเน้นหน้าตา หรือหลาย ๆ ครั้งก็มีการนำดารามาร้องเพลง จนถูกเรียกกันว่าเป็นยุคที่ค่ายเอาศิลปินมาขายหน้าตามากกว่าฝีมือ แต่แท้จริงแล้วพวกเขาเหล่านี้ต้องฝึกฝนอย่างหนักกว่าที่ภาพจะออกมาเป็นอย่างที่เราได้เห็นกัน

“จริง ๆ โอกาสที่เข้ามาเป็นนักร้องมันก็จริงนั่นแหละครับ ยุคก่อนมันเป็นยุคที่ค่ายเอาดารามาร้องเพลง เราเห็นพระเอกนางเอกที่อยู่ในทีวีทุกคนต้องมีเพลงเป็นของตัวเองเหมือนกัน

ถามว่าง่ายไหม? ผมว่ายุคนี้ง่ายกว่าในการเข้าไปเป็นดารา เพราะในยุคก่อนมันไม่มีโซเชียล ไม่มีอะไรเลยที่จะทำให้คุณพรีเซนต์ตัวเองออกมา ยุคนี้บางทีไม่ต้องมีโอกาสอะไร ทำเพลงให้ดี ลงไปใน YouTube ก็มีโอกาสที่คนจะรู้จักได้เพียงชั่วข้ามคืน” 

“ระบบเมื่อก่อนผมว่าประณีตกว่า ทีมงานมันใหญ่ การจะปั้นศิลปินคนนึงจะมีทีมงานที่อยู่เบื้องหลังมากถึง 30-40 คน แบ่งกันเลยว่าคนนี้ดูเรื่องอะไร เช่นคนนี้ดูเรื่องภาพ มันชัดเจนมาก แต่เดี๋ยวนี้ด้วยความที่เพลงก็ดาวน์สเกลลง แต่มันก็ดีที่ทำให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ได้แสดงความเป็นตัวเอง”

“ส่วนการมาอยู่ค่ายเพลง สิ่งหนึ่งที่ต้องปรับตัวเลยก็คือการเทรน ถ้าถามว่าเทรนนานไหมผมว่าไม่นาน ไม่ถึงปี กับเด็กคนหนึ่งผมถือว่าน้อยนะ กับเด็กคนหนึ่งที่ไม่มีประสบการณ์อะไรแล้วต้องมาเป็นศิลปิน มาปล่อยเพลง แล้วคุณใช้เวลาเทรนไม่ถึงปี ตัวเองร้องเพลงแรกออกมายังขำตัวเองอยู่เลย เหมือนเป็นคนร้องเพลงไม่ได้แต่มันก็ออกมาในมุมของศิลปินเด็ก ๆ พวก Teen Pop Idol”

“แต่ที่ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องปรับตัวจริง ๆ คือเรื่องของสถานะของเราที่เปลี่ยนไป คือเดิมเรามีเพื่อน เราได้เล่น ตอนนั้นอายุประมาณ 15-16 ปี มันเป็นช่วงที่เด็กวัยรุ่นกำลังอยากไปดูหนัง อยากมีแฟน เรื่องพวกนี้มันก็จบไปเลย เราต้องไปทัวร์ปีนึงเยอะมาก เพราะศิลปินแต่ก่อนมีไม่เยอะ ออกมาปีนึง 30-40 คนเท่านั้นในตลาด คือพูดง่าย ๆ ถ้าออกมามีงานอยู่แล้ว ทุกคนต้องทัวร์ ต้องถ่ายทำนู่นนี่นั่นกัน มันต้องปรับตัวเยอะเหมือนกัน จนเริ่มมีท้อ ๆ จนรู้สึกว่า ‘เฮ้ย! ทำไมกูไม่เหมือนเพื่อนเลย ทำไมเลิกเรียนแล้ว มันไปเที่ยวนู้นเที่ยวนี่ ไปเดินห้าง’ ก็มีท้อเหมือนกันครับ”

อีกสิ่งที่ใครหลายคนในยุคนี้อาจจะไม่ทราบคือเรื่องการวัดความดังของศิลปิน สมัยนี้สามารถวัดได้จากยอดไลก์ ยอดวิว ยอดคอมเมนต์ในโซเชียลเนตเวิร์ก แต่สมัยก่อนจะวัดได้ก็ต่อเมื่อเดินไปไหนมาไหนแล้วมีคนมอง มีคนมาทักเท่านั้น


ปัญหาเรื่องการวางตัว

แน่นอนว่าการเป็นคนมีชื่อเสียง วิถีชีวิตของเราก็จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากคนธรรมดาก็กลายเป็นจุดสนใจในพื้นที่สาธารณะ หลาย ๆ คนอาจจะตั้งหลักรับมือได้ แต่ก็มีอีกหลายคนที่มีปัญหาเรื่องการวางตัว ซึ่งโดมเองก็เคยพบกับปัญหาแบบนั้นเช่นกัน แต่ก็ได้คุณแม่ และวิลลี่ แมคอินทอช ดารารุ่นพี่มาช่วยปรับทัศนคติให้เปลี่ยนไป

“มันเริ่มวางตัวไม่ถูก เป็นเด็ก 16 แล้วอยู่ดี ๆ มีคนเริ่มเข้ามาขอถ่ายรูป ไปกินข้าวก็มีคนแอบมองเราว่าเรากินอะไร กินยังไง อากัปกิริยาเราเป็นอย่างไร เราก็เริ่มอึดอัด แล้วคุณแม่ก็เข้ามาบอกเราว่า ‘โดมต้องให้เกียรติอาชีพตัวเองด้วย ออกไปไหนทำตัวพูดจาให้ดี อย่าไปเสียงดัง’ เรารู้สึกว่าเหมือนเป็นการแบกภาระบางอย่างที่ใหญ่มากสำหรับเด็กอายุ 16”

“มีอยู่เหตุการณ์นึง จำได้เลยว่าเป็นพี่วิลลี่ แมคอินทอช แกเป็นคนที่ดังมากเลยตอนนั้น พระเอกเบอร์ 1 ของยุคเลย แล้วเราก็ยังเด็ก ๆ อยู่ ผมจำได้ว่าผมเข้าไปงานหนึ่ง เป็นงานอีเวนต์ที่มีดาราดัง ๆ มาเต็มไปหมด แล้วเราเป็นนักร้องเด็ก ๆ คนหนึ่ง พี่วิลลี่เดินเข้ามากอดไหล่ผม คงเห็นเราเด๋อ ๆ แล้วรู้จักชื่อเราด้วย เข้ามาทักทายว่า ‘โดมเป็นไง มา ๆ ๆ’ ตอนนั้นแอตติจูดเรารู้สึกดีมากเลย” 

“หลังจากนั้นผมคือเปลี่ยนไปเลย เรารู้สึกว่านี่คือแบบอย่างที่ถูกต้อง ถ้าเรามีทัศนคติที่ดีกับสังคมรอบข้างที่มันเปลี่ยนไป เราก็ไม่ต้องแบกโลกนี้ไว้” 

“แต่ก่อนพอคนเริ่มมองจะอึดอัด เหมือนวางตัวไม่ถูก เอ๊ะยังไงดี และด้วยความเป็นเด็กดื้อด้วย มันจะก็ ‘เฮ้ย อะไรวะ ยุ่งอะไรกับกูมาก’ มันมีวิธีคิดเหวี่ยง ๆ แบบนี้อยู่ แต่พอเจอพี่เขาเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ก็แค่ไนซ์เอง เขามองเพราะเขาจำเราได้ เราก็ทักทายดิ ลองยิ้มดู มองมันให้มันมุมบวก” 

“คือจริง ๆ ทุกคนแค่อยากถ่ายรูป แค่อยากจะขอลายเซ็นครับสมัยก่อน แค่นั้นเอง เขาจำเราได้ เขาก็หวังกับเราแค่ตรงนั้นเอง ถ้าเราไม่ทำให้เขา แล้วความสำคัญที่เรามาอยู่ตรงนี้คืออะไร? มันจะอยู่ไปเพื่ออะไร?

จริง ๆ สิ่งที่เราทำให้แล้วเขาแฮปปี้ก็คือที่สุดแล้ว พอเรามองในมุมแบบนี้ปุ๊ป เราเริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย จริง ๆ มันสนุกนะ เจอคนรู้จักเรา เราก็ทักทายกันเลยดีกว่า ก็เปลี่ยนทัศนคติไปเลยครับ”


ความสำเร็จของโดมไม่ใช่ยอดขายล้านตลับ

ในช่วงยุค 90’s ศิลปินส่วนมากจะวัดความสำเร็จจากทางยอดขาย โดยเฉพาะการขายเทปได้เกินล้านตลับ แน่นอนว่าโดมก็ผ่านจุดนั้นมาเหมือนกัน แต่เจ้าตัวมองว่าสิ่งที่ได้รับมาต้องยกเครดิตให้กับทีมงานที่ช่วยปลุกปั้นจนเขากลายเป็นศิลปินที่โด่งดัง อย่างไรก็ตามมุมมองความสำเร็จของโดมกลับไปใช่ยอดขาย แต่เป็นรางวัลสีสัน อะวอร์ดส์ กับผลงานการโปรดิวซ์ของตัวเอง

“พอเราเริ่มมาถึงชุด 2 ชุด 3 เราเริ่มรู้สึกว่าเราอยากเป็นตัวจริง เราอยากทำเพลง มันก็พอดีตรงที่ว่าเราไม่มีเพื่อนรุ่นเดียวกัน เพราะเราไม่ได้มีเวลาไปเล่นสนุกเหมือนวัยรุ่นทั่วไป เพื่อนที่เรามีก็คือพวกพี่โปรดิวซ์เซอร์ พวกพี่ ๆ ที่อยู่ในห้องอัดนี่แหละครับ” 

โดมได้เรียนรู้วิชาการใช้โปรแกรมต่าง ๆ จากบรรดาโปรดิวซ์เซอร์เหล่านี้ จนลามมาถึงการลองเปิดแผ่นเป็น DJ ได้มีโอกาสเอาแผ่นเปิดตามผับ ตามไนท์คลับแบบไม่หวังรายได้ เรียกว่าเปิดเอามันส์อย่างเดียว แต่มันก็กลายเป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่โดมได้สั่งสมมาจนสามารถเรียบเรียงเพลงด้วยตนเองได้ในที่สุด

“การที่เราได้เรียบเรียงเพลงเอง มันเป็นอีกเลเวลหนึ่งของคนที่อยากเป็น DJ และอยากมีแทร็กของตัวเอง พอเริ่มทำได้ก็เริ่มทำเพลงส่งให้โปรดิวซ์เซอร์ฟัง ก็ค่อย ๆ พัฒนาไป จนมาถึงความสำเร็จสูงสุดคือการเป็นโปรดิวซ์เซอร์ในอัลบั้มที่ 4 (Dome Naked) ของตัวเอง”

“อัลบั้มนั้นเราภูมิใจมากที่ไปได้รางวัลที่ผมเชื่อว่านักดนตรีหลายคนอยากได้ นั่นคือสีสัน อะวอร์ดส เป็นรางวัลดนตรีของคณะกรรมการที่เป็นคนดนตรีจริง ๆ ให้กัน แล้วเราได้รางวัลศิลปินยอดเยี่ยมแห่งปี แล้วดันเป็นอัลบั้มแรกที่เราโปรดิวซ์เองทั้งชุดเลย พอเราทำได้ เราก็รู้สึกว่า เออ! มันต้องอย่างนี้สิ” 

“เรารู้สึกภูมิใจว่าเราทำมันได้แล้ว จากนักร้อง Teen Pop Idol ธรรมดามา 2-3 ชุด แล้วสุดท้ายเรากล้าเดินไปหาผู้ใหญ่เพื่อบอกว่าผมอยากโปรดิวซ์งานครับ ซึ่งต้องขอบคุณเฮียฮ้อเหมือนกันที่กล้าเล่นด้วย คือมันมีเรื่องสปอนเซอร์ที่เข้ามาเกี่ยว มีไทม์ไลน์ที่เข้ามาบีบด้วย เพราะมันต้องรันไปกับสปอนเซอร์ที่เขามาซัพพอร์ตชุดนี้ ก็ถือว่าเป็นใบเบิกทางที่ดีที่ทำให้เราอยากทำงานตรงนี้จริงจังต่อไป”


ไอคอนแห่งยุค 90’s 

โดม ปกรณ์ ลัม ชื่อนี้คงไม่มีใครกล้าปฎิเสธว่าเป็นหนึ่งในไอคอนแห่งยุค 90’s อย่างแน่นอน แต่โดมกลับตอบคำชมต่อตำแหน่งนี้อย่างถ่อมตัวว่า

“จริง ๆ เป็นเกียรตินะครับ แต่ผมมองว่ายุคนั้นถ้าตัวงานประสบความสำเร็จใครก็เป็นไอคอนได้หมดเลย เพราะศิลปินไม่เยอะ สื่อต่าง ๆ ก็ยังไม่เยอะ เพลงไทยตอนนั้นก็แข็งแรงมาก เพลงไทยตอนนั้นก็แข่งแค่กับเพลงไทย แต่เดี๋ยวนี้โลกมันเปิดหมด เพลงไทยมันก็ต้องแข่งกับเพลงต่างชาติ แข่งกับเกาหลี คือมันแชร์ทุกอย่างในผังเดียวกันไปหมดแล้ว การที่จะมีไอคอนแบบนั้นมันก็อาจจะยากในยุคนี้ อาจจะเพราะว่าเราเกิดมาในยุคนั้นมันก็เลยโชคดีครับ”


NOLOGO

Nologo อีกพาร์ตของอาชีพศิลปินของโดม ปกรณ์ ลัม เป็นวงดนตรีที่นำเสนอแนวดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ร็อกสุดล้ำ มีเพลงดังออกมาประดับวงการมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “Paranoid”, “ยินดี” หรือ “เคว้งคว้าง” ซึ่งชื่อวงก็เอามาจากชื่อกลุ่มสเกตบอร์ดตอนเด็ก ๆ ของโดม

จุดเริ่มต้นของวงนี้มาจากการที่โดมได้ไปเรียนต่อด้านซาวด์เอนจิเนียร์ที่อเมริกา บวกกับหมดสัญญากับทาง RS แล้ว พอกลับมาไทยก็เลยมีไอเดียในการทำโปรเจกต์แนวดนตรีอิเล็กทรอแคลส เป็นแนวดนตรีที่โดมอินมากในช่วงนั้น ก็เป็นที่มาของวง Nologo ได้มาร่วมงานกับทาง Smallroom

“ตอนนั้นทำกับพี่รุ่ง พี่เชาว์ ที่ Smallroom ตอนนั้นทำเป็นคอมพลิเอชั่น Smallroom 003 / 004 / 005 มีศิลปินหลาย ๆ คนเข้าร่วมโปรเจกต์นี้ ตอนนั้นเราก็ไปทำอยู่ 2 ชุดเลยครับ มีเจ มณฑล อยู่ในอัลบั้มด้วย มีหลายคนเหมือนกันที่เริ่ม ๆ ไปทำงานกับ Smallroom วง Nologo เกิดขึ้น และเริ่มมีผลงานในตลาดจากตรงนั้น”

หลังจากที่ไม่ได้ไปร่วมงานกับ Grammy ตอนเป็นศิลปินเดี่ยว แต่สุดท้ายโชคชะตาก็ได้นำพาโดมและ Nologo มาทำงานกับฝั่งอโศกจนได้ 

“จำได้ว่ากลับมางานแต่งงานพี่ชายคนหนึ่งในวงการ เพราะว่าเขาอยากให้ผมมาเปิดเพลงให้ ถึงขั้นซื้อตั๋วเครื่องบินให้เลย เขาบอกว่า ‘มึงมาเปิดเพลงงานกู’ เปิดเสร็จกำลังจะกลับประมาณ 2 วัน ก็มีผู้ใหญ่โทรมาว่าให้เข้าไปที่ตึกแกรมมี่หน่อย มีผู้ใหญ่อยากคุยด้วย”

คนที่โดมได้เข้าไปเจอคือ พี่เล็ก บุษบา ดาวเรือง ทีมผู้บริหารของค่ายแกรมมี่ และได้ส่งต่อให้ พี่ป้อม อัสนีย์ ที่ตอนนั้นดูแลค่ายมอร์ มิวสิค ปรากฎว่าคุยกันแล้วคลิก เลยลงเอยด้วยการเซ็นสัญญาทำผลงานเพลงด้วยกัน จนกระทั่งมอร์มิวสิคปิดไป โดมได้ย้ายมายังส่วนกลางของแกรมมี่ รวมเวลาที่วนเวียนอยู่ในตึกนานถึง 7 ปี

อย่างไรก็ตามทุกสิ่งย่อมไม่มีอะไรแน่นอน การเดินทางของวง Nologo ก็มีวันต้องหยุดลง เนื่องจากภาระหน้าที่ของสมาชิกวงแต่ละคนที่เติบโตขึ้นไปตามวัย เช่น Katsuhiro Hatano มือเบสของวงที่ต้องกลับไปดูแลคุณแม่และลูกที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ถึงแม้ Nologo จะแยกย้ายกันไปแล้ว โดมยืนยันว่าความสัมพันธ์ยังคงแน่นแฟ้น มีการนัดปาร์ตี้ด้วยกันเป็นประจำ


กลับสู่การเป็นศิลปินเดี่ยว

หลังจากที่ Nologo ยุติบทบาทไป แต่แพชชั่นทางดนตรีของโดมยังไม่มอดลง เขายังมุ่งมั่นที่จะทำเพลงต่อไปและได้กลับมาเป็นศิลปินเดี่ยวอีกครั้ง แต่คราวนี้มันแตกต่างจากครั้งแรกโดยสิ้นเชิง เพราะโดมสามารถใส่ความเป็นตัวเองได้เต็ม 100%

“ความเข้มข้นและแนวคิดในตัวของเราก็เปลี่ยนไปตามยุค มาปีนี้เรื่องของเนื้อหาคอนเทนต์ที่เล่ามันก็เข้มข้นขึ้น และเรื่องของดนตรี เราชอบอย่างไรก็ทำอย่างนั้นเลย มันไม่ได้มีตัวแปรอื่นเหมือนที่ผ่านมา เพราะแต่ก่อนมันยังมีเรื่องยอดขาย เพราะเราอยู่ค่ายใหญ่ใช่ไหมครับ ต้องมีเพลงที่ทำงาน แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่แล้ว ผมอยากได้ยินอะไรผมก็ทำอย่างนั้นเลย”


มุมมองต่อสังคมไทย เป็นสิ่งที่ต้องพูด

ใครที่ติดตามผลงานเดี่ยวของโดมในระยะหลัง เช่นในซิงเกิ้ลเมื่อปีก่อนอย่าง “ซัดฟาง” จะพบว่ามีเนื้อหาการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวด้านลบในสังคมอย่างตรงไปตรงมา มีการจิกกัดเรื่องตรรกะที่ผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวได้อย่างชาญฉลาด โดมได้อธิบายถึงที่มาที่ไปของเรื่องราวดังกล่าวให้ฟังว่า

“ผมว่ามันต้องเล่านะ มองดูสังคมเราทุกวันนี้ซิ ผมว่ามันเละมากเลยนะ มันมีอะไรสะท้อนออกมาจากตรงนี้เยอะมากเลย ทุกบริบทเลย ทั้งสังคม การเมือง ศิลปะ ผมว่าในมุมของความถดถอยมันมีสูง”

“จริง ๆ แล้วศิลปะโดยเฉพาะแขนงที่มันเป็นเพลงรับใช้ ถ้ามันสามารถส่งความจริงใจให้กับสังคมในการกระตุ้นคนฟังในบางมุมได้มันก็ควรจะทำ เพราะเพลงเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงคนง่าย เข้าถึงได้ทุกคน ในเมื่อเพลงที่ฟังได้ง่าย ย่อยได้ง่ายในตลาดมันมีเยอะแล้ว ก็มีเพลงที่มันพูดในอีกมุมหนึ่งบ้างผมว่ามันก็ไม่แปลก”

แล้วมุมต่อสังคมไทยของโดม ปกรณ์ ลัม ตอนนี้เป็นแบบไหน?

“ทุกวันนี้เป็นสังคมที่ทุกคนอยากมีพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิด เพราะพื้นที่ที่มีอยู่มันง่ายไปหมดเลย ใครจะโพสต์อะไร ใครจะแสดงอะไร ใครจะป่าวประกาศว่าฉันคือพวกนี้ ฉันคือคนแบบนี้มันก็ง่ายมาก

ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดีและข้อไม่ดี ข้อดีคือถูกต้อง เราต้องสามารถเป็นในแบบที่ตัวเราเองต้องการได้ เราต้องสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี แต่ข้อไม่ดีก็คือไม่รู้ว่าตรงไหนถูก ตรงไหนผิด เพราะพื้นที่มันเปิดจนทุกคนใส่กันเละไปหมด

ตรงนี้ผมว่ามัน Sensitive มาก มันสะท้อนให้เห็นว่าถ้าคุณจะ Open เสรีในเรื่องการแสดงออกไปได้ถึงขนาดนี้ ภูมิคุ้มกันของประชากรต้องแข็งแรงด้วย ซึ่งภูมิคุ้มกันเหล่านี้ผมว่ามันมาจากโครงสร้างของการศึกษาของประเทศนั้น ๆ เลย”

“ทำไมยุโรปทุกคนแสดงออกได้หมด ก็เพราะการศึกษาเขาแข็งแรงมาก คนในทุกระดับเรียนฟรีกันหมด คนในสแกนดิเนเวียเขาสอนให้คนมี EQ มากกว่า IQ  มันโชว์เรื่องอารมณ์ได้หมด แล้วถ้าเราสังเกตตอนนี้ในสังคมไทย นอกจากการแสดงออก มันเป็นการแสดงออกที่ปนอารมณ์เข้าไปด้วยเต็ม ๆ เลย และก็ยังมีอีกเยอะที่ข้อมูลต่าง ๆ มันเข้าไปไม่ถึง ทุกคนก็อาจมีข้อมูลที่ผิด แต่ทุกคนก็อยากจะมาแสดงออกกัน มันเลยทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมได้ มันอาจทำให้คนที่ถูกต้องกลายเป็นคนผิดคนชั่ว ไม่ต้องชั่วข้ามคืนมั้งเดี๋ยวนี้ แค่ชั่วชั่วโมงเดียวมันก็กลายเป็นถูกสังคมประณามไปได้เลย”

“ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้ต้องใจเย็น ๆ ต้องเอาโครงสร้างมาชำแหละดู เพราะว่าการศึกษาเรามันค่อนข้างจะยุคเก่ามาก ๆ เลย คือถ้าผมมีลูกวันนี้ ผมคิดว่าจะให้ Home-School ครับ ผมไม่อยากให้ไปเข้าเรียน ผมไม่ได้ว่านะ แต่มันก็ต้องปรับปรุงกันได้แล้วเพราะมันเป็นระบบที่เก่า แล้วตรงนี้มันสะท้อนมาถึงผลผลิต สะท้อนมาถึงตัวผมด้วย เพราะว่าผมก็เป็นผลผลิตในยุคนั้นมาเหมือนกัน มันสะท้อนว่าท้ายที่สุดแล้วก็ใช้อารมณ์ ใช้กำลัง พวกมากใส่กันไป ซึ่งมันไม่ถูกต้องแล้วถ้ามันเป็นอย่างนี้ต่อไป มันก็จะเกิด Conflict ต่อไปเรื่อย ๆ ในสังคม”

“ก่อนที่คุณจะ Judge เรื่องอะไร คุณจะต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ ตรวจสอบว่าข้อมูลที่มีอยู่มันถูกต้องไหม การฟังความมันก็ต้องฟังหลาย ๆ ด้าน มันจะมาฟังด้านเดียวไม่ได้ครับ”


ประเทศไทยควรไปได้ไกลมากกว่านี้

ต่อเนื่องจากคำถามจากข้อที่แล้ว เราได้พูคคุยกับโดมต่อถึงประเทศไทย ณ เวลานี้ ที่ยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมันชะงักอยู่ในตำแหน่งนี้มานานจนแทบไม่เห็นทางขยับขึ้นไปได้

“ประเทศไทยควรไปได้ไกลกว่านี้มากครับ โดยเฉพาะเรื่องศิลปะ คือเพลงเรา ศักยภาพเรามันพร้อมตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ตั้งแต่พี่เต๋อ เรวัฒน์ พุฒินันท์ แกวางไว้ เพลงไทยเราล้ำมากนะตอนนั้น เพลงร็อก แบบโปรเกรสซีพ ตอนนั้นเกาหลีคือเรื่อง Entertainment ล้าหลังกว่าเราในทุกมิติเลย แต่ว่าเราไม่เคยสนใจในเรื่องเหล่านี้ เราไม่เคยมอง เรามองเป็นการเต้นกินรำกินอยู่”

“แต่เรามองว่าเกาหลีพัฒนามาจากการไม่ค่อยมีโครงสร้างของวัฒนธรรมเท่าไร สถานที่ดึงดูดการท่องเที่ยวมาก็ทำมาทั้งนั้น สร้างมาทั้งนั้น ที่ไปห้อยกุญแจกัน นู่นนี่ ที่อยากจะดูเพราะเราเห็นในหนังในซีรีส์ จริง ๆ มันเป็น Manmade ทั้งหมด แต่เค้าสามารถใช้ศิลปะผลักดันจนกลายเป็นสถานที่สำคัญได้”

“กลับมาดูพวกเรา จริง ๆ แล้วเราเข้มข้นในวัฒนธรรมมาก เรามีทุกอย่าง เรามีทั้งสถานที่จริง ๆ มีทั้งอาหาร มีทั้งบุคลากร จริง ๆ ภาพรวมของเรามันไปได้หมดเหมือนกับที่เขาทำ แต่ว่าเขาทำจริงจัง รัฐบาลสนับสนุนจริง ๆ แต่เราเหมือนหยุดอยู่กับที่มา 30 ปีแล้ว

ส่วนช่วงประมาณ 15 ปีที่แล้วคือถอยหลังเลย คนดี ๆ บุคลากรดี ๆ ในอุตสาหกรรมอยู่ไม่ได้ ต้องไปเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวบ้าง โปรดิวซ์เซอร์ผมที่เก่งมากต้องไปทำอย่างอื่น นักดนตรีเก่ง ๆ ก็ต้องไปทำอย่างอื่นหมด ตรงนี้มันก็เกิดช่องโหว่ทำให้มันต่อกันไม่ติด ทั้งที่จริง ๆ ถ้าเกิดได้รับการสนับสนุนมาตั้งแต่ตอนนั้น ผมว่าป่านนี้พวกเราไปได้ไกลมาก”

“ทุกวันนี้เกาหลีเขาไป World Class แล้ว หนังเขาได้ Oscar เพลงเขา World Tour เขาทำได้อย่างไร เขาไม่ได้ทำสำเร็จได้ในปีเดียว มันเป็นการ Connecting The Dot มันเป็นการต่อจุดเล็ก ๆ จนรวมกันเป็นภาพใหญ่”

“แล้วคราวนี้เราไม่ได้กำลังพูดถึงเรื่องเพลงแล้ว เรากำลังพูดลึกไปถึง K-culture พูดถึง K-cosmetic ทำไมเราถึงต้องซื้อครีมของเกาหลี ทำไมผู้หญิงอยากจะมีหน้าสวย ๆ เหมือนดาราเกาหลี ทำไมเราฟัง K-pop ทำไมเราอยากไปเที่ยวเกาหลี ทำไมเรากินรามยอนเหมือนกับที่นางเอกกินอยู่ในซีรีส์”

“พวกนี้คือสิ่งที่มันไปทั้งแผงกันหมด มันเป็นวัฒนธรรม พอมันไปแล้วมันง่ายที่จะไปนั่งอยู่ในใจ เพราะ Entertainment มันง่ายในการเจาะใจผู้คน มันมีสิ่งดึงดูด มันมีสีสัน ซึ่งพอเจาะได้แล้ว การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอื่น ๆ มันเข้าไปหมด พร้อมเปิดรับ เขาเรียกโสตประสาทมันเปิดรับ มันก็เป็นเม็ดเงินมหาศาล ก็เสียดายนะ 20-30 ปี จริง ๆ มันควรจะต้องกลายเป็นแบบนั้น ก็ไม่เป็นไรครับ ผมว่าสถานีต่อไปอาจจะเป็น T-Pop ก็ได้”


วิกฤตวัยกลางคนของโดม ปกรณ์ ลัม

วิกฤตวัยกลางคนหรือ Midlife Crisis มักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุ 40 ขึ้นไป โดมก็เป็นอีกหนึ่งคนที่โดนวิกฤตดังกล่าวเล่นงานตั้งแต่ตอนยังไม่เข้าเลข 4 เลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในตอนที่ค่าย Iconic Studio ค่ายที่ตัวเองปลุกปั้น ค่ายที่ลงแรง ลงทุน ลงใจไปแบบสุดตัว แต่มันกลับไม่ออกมาอย่างที่คิดเอาไว้

เมื่อความคาดหวังกลายเป็นผิดหวัง โดมจึงตัดสินใจวิ่งหนีปัญหา พาตัวเองไปอยู่ที่ไกล ๆ ไปเข้าป่า ไปขี่จักรยาน ก่อนจะได้สติจนคิดได้ว่าเราไม่สามารถหมกปัญหาไว้ได้ตลอดไป ทำให้โดมตัดสินใจลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นด้วยตนเอง ด้วยการทำความเข้าใจ ต่อสู้กับมัน จนสามารถหลุดพ้นออกมาได้

“ผมตัวเบาเลยนะพอมุมมองมันเปลี่ยน มันก็โล่งไปหมด รู้สึก happy กับสิ่งที่มี รู้สึกว่าเราเดินมาถึงจุด ณ วันนี้ได้ เราควรจะภูมิใจมากกว่ามัวไปมองในจุดเล็ก ๆ ที่เราผิดพลาด แต่ก็ต้องมองมันเป็นบทเรียน ไม่ใช่มองมันเป็นจุดเล็ก ๆ แล้วลืมมัน แล้วทำผิดซ้ำ ๆ มันก็มีหลายจุดที่ต้องใช้เป็นบทเรียน และเราก็ต้องยอมรับในความผิดพลาดของเราด้วย

สมัยที่มันเกิดเหตุแรก ๆ พอมันเครียด มันก็เหวี่ยงไปหมด โทษคนนู้น โทษคนนี้ พยายามวิ่งออกจากปัญหาไป เอาตัวเองไปไกล ๆ แต่จริง ๆ แล้วทุกข์มันอยู่ที่ใจ จะเข้าป่า ออกไปพม่ามันก็ไม่หายทุกข์หรอก เพราะมันอยู่ตรงนี้ (ชี้ไปที่ใจ) ใช่ไหมครับ พอตอนหลังเราเข้าใจ เราเผชิญหน้ามัน เราก็เคลียร์กับมันได้ครับ”


ความสุขเกิดขึ้นได้รอบตัว

กาลเวลาผ่านไป มุมมอง ความคิด การใช้ชีวิตก็เปลี่ยนตามไปด้วย โดมรู้สึกว่า ณ ปัจจุบันทำอะไรเรียบง่ายมากขึ้น ไม่ยึดติดกับวัตถุ ทำอะไรมีสติมากขึ้น เพราะความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ทำให้ตัวเองสามารถมองหาความสุขกับสิ่งรอบตัวได้ง่ายขึ้น

“เด็ก ๆ นี่ซ่ามาก รอดมาได้ก็บุญแล้ว ณ วันนี้ ด้วยอายุ วัยวุฒิต่าง ๆ มันไม่ใช่แล้ว มันควรจะต้องรอบคอบสุขุมให้มากขึ้น พอเตือนตัวเองตรงนี้มันก็ทำให้มุมมองเราเปลี่ยน อะไรช่วยเหลือคนอื่นได้ก็ช่วย อะไรที่มันไม่ถูกต้องก็อย่าปล่อยให้มันเกิดขึ้น มันก็มีความชัดเจนในวิธีคิดมากขึ้นครับ”

“เราเห็นความสุขเล็ก ๆ ได้ง่ายมากเลย แต่ก่อนเหมือนกับต้องมีอะไรปรุงแต่งไปหมดถึงจะรู้สึกว้าว เดี๋ยวนี้ง่าย ๆ แค่ไปนั่งโง่ ๆ อยู่ในป่ากับเก้าอี้ตัวหนึ่งฟีลมันก็ดีแล้ว ผมรู้สึกว่านี่แหละชีวิต เราไม่ต้องไปอะไรให้มันยุ่งยากมากมาย กินง่ายอยู่ง่ายสบายสุด”


เกิด แก่ เจ็บ TRY

กลับมาที่ผลงานเพลงล่าสุด “เกิด แก่ เจ็บ Try” ของโดม ปกรณ์ ลัม ที่เพิ่งปล่อยออกมาให้ฟังเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2022 ยังคงชัดเจนกับการผสมผสานระหว่างซาวด์ของดนตรีสังเคราะห์และดนตรีร็อกได้อย่างออกรส การเขียนเพลงนี้ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นที่สวนรถไฟในวันที่โดมไปวิ่งออกกำลังกาย คำแรกที่เข้ามาในหัวคือ “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” แต่ก็ถูกนำมาคิดต่อว่าคนเรามันจะต้องวนอยู่กับ 4 สเต็ปแบบนี้จริง ๆ ใช่ไหม?

“ผมรู้สึกว่าคนเรามีชีวิตเดียวมันต้องสู้ดิวะ มันต้องวิ่งตามหาสิ่งที่ตัวเองต้องการดิ ก็เลยมาสะดุดกับคำว่า ‘เกิด แก่ เจ็บ ตาย’ ที่แปะอยู่หลังรถ เราจะยอมรับวัฏจักรของชีวิตแค่ 4 สเต็ปนี้จริงเหรอ? แล้วความเป็นจริงมันเป็นอย่างนี้จริงเหรอ? 

ผมยังเห็นลุง 70 เข็นรถเข็นข้างถนนอยู่เลย มันไม่ใช่ตายแล้วมั้ง ถ้าลมหายใจมันยังไม่ใช่ลมสุดท้ายแล้วจริง ๆ คุณต้องสู้ ชีวิตมันไม่ง่ายเลย มันสู้กันหมด เราเห็นคุณยายมาหาบ มาแบกของขายกันอยู่เลย ทุกคนต้องดิ้นกันหมดเลย ก็เลยเกิดเป็นชื่อ ‘เกิด แก่ เจ็บ Try’ ครับ”

“ผมอยากให้กำลังใจทุกคน ผมว่าเราหนักมา 2-3 ปีแล้วช่วงโควิด คนก็เหี่ยวกันไปเยอะแล้ว ถ้าฟังแล้วช่วยกระตุ้นอะไรขึ้นมาได้มันก็ดีครับ”

สำหรับเพลง “เกิด แก่ เจ็บ Try” จะถูกนำไปรวมอยู่ในอัลบั้ม “6 WAS 9” ที่ใช้เวลาในการสร้างสรรค์ผลงานมานานถึง 9 ปีเต็ม ๆ

 

นี่คือเรื่องราวของ โดม ปกรณ์ ลัม ที่เราต้องยอมรับว่ารู้สึกเซอร์ไพรส์ในหลาย ๆ เรื่องโดยเฉพาะเรื่องมุมมองต่อสังคมและประเทศ ทำให้เรารู้ว่าผู้ชายคนนี้นอกจากจะดูดี มีความสามารถทั้งเรื่องดนตรีและการแสดง เขายังมีวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจมาก ๆ เกี่ยวกับมุมมองโครงสร้างเชิงลึกที่บางทีเราก็คาดไม่ถึง

สามารถติดตามผลงานของโดม ปกรณ์ ลัม ได้ที่ Youtube : Dome Pakorn Lam

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line