Guide

เจาะลึกประวัติศาสตร์ร้านเหล้าสไตล์ลูกผู้ชายตัวจริง พร้อมลายแทงร้าน IRISH PUB ที่หนุ่ม ๆ ไม่ควรพลาด

By: Thada May 24, 2018

ไม่ว่าคุณจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ไหนบนโลก สิ่งที่เราจะสามารถพบได้ทุกแห่งไม่ต่างจาก 7-11 คือ ย่าน china town และไอริชผับ แต่ปัญหาคือเวลาที่หนุ่ม ๆ ออกไปย่ำราตรีหรือดื่มสังสรรค์ยังร้านที่มีลักษณะตกแต่งด้วยไม้ ๆ  มีชาวต่างชาตินั่งกันอยู่เต็มร้าน เรามักจะเหมารวมว่านี่คือ ไอริชผับ ไปก่อนแล้ว ซึ่งอันที่จริงสถานที่บันเทิงแห่งนั่นอาจจะเป็นเพียงบาร์ปกติทั่วไปที่ตกแต่งในสไตล์ยุโรปก็ได้

โดยในบ้านเราเองที่มีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับไอริชผับอยู่มาก อาจจะว่าถูกดัดแปลงวัฒนธรรมมาจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมต้นตำรับจาก Ireland ดังนั้นวันนี้ UNLOCKMEN จะนำเรื่องราวของไอริชผับแบบเจาะลึกทุกมุม รวมถึงลายแทงร้านเจ๋ง ๆ ย่านสุขุวิทที่หนุ่ม ๆ ไม่ควรพลาดไปเช็คอินกับแก๊งเพื่อนดูสักครั้ง

History of Irish pubs

เชื่อหรือไม่ว่าไอริชผับแห่งแรกเกิดขึ้นย้อนกลับไปราว ๆ ค.ศ 900 ชื่อว่า Sean’s Bar (ถูกยกให้เป็นบาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปจาก Guinness World Records) ตั้งอยู่ในย่าน Athlone ประเทศ Ireland ทว่ามีการถกเถียงกันมากมาย เพราะมีหลาย ๆ ร้านต่างเคลมเครดิตว่าตัวเองคือผับที่เก่าแก่ที่สุดใน Ireland แต่จากทุกแหล่งข้อมูลต่างชี้ชัดว่าไอริชผับน่าจะเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 10 (ค.ศ. 901 – ค.ศ. 1000)

ลักษณะเด่นของร้านไอริชผับบรรยากาศที่เป็นกันเองเรียบง่าย เนื่องจากสร้างขึ้นจากบ้านพักคนที่เปิดให้ชนชั้นแรงงาน ได้ออกมาดื่มสังสรรค์กันในที่สาธารณะ ซึ่งตัวร้านไอริชผับเอง ยังไม่ได้มีลักษณะเป็นเคาน์เตอร์บาร์เหมือนเช่นปัจจุบันนี้ เพราะก่อนศตวรรษที่ 19 บรรดาเจ้าของกิจการยังเปิดขายของหลาย ๆ อย่างเต็มไปหมด อาทิ บาร์ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมเชลฟ์วางสินค้า หรือขายอุปกรณ์ของใช้ต่าง ๆ ที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับการดื่มสังสรรค์เสียเท่าไหร่

แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาล Ireland อยากให้มีการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ จึงสั่งให้เจ้าของกิจการที่เปิดขายเครื่องดื่มแยกตัวออกจากร้านขายของชำอย่างชัดเจน เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกันนี้ ได้เกิดซูเปอร์มาร์เก็ตขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว

เป็นเวลากว่าหลายศตวรรษที่ชาวไอริชใช้ร้านไอริชผับเหมือนที่รวมตัวของคนในชุมชน ไม่ต่างจากการไปโบสถ์ นอกจากมันจะทำหน้าที่เป็นสถานที่บันเทิงจำหน่ายเครื่องดื่มมึนเมาแล้ว ยังเป็นจุดรวมตัวเวลาที่มีกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ อย่างเช่น งานแต่งงาน การแข่งขันกีฬานัดสำคัญ หรือแม้กระทั่งที่นัดเดทของหนุ่มสาว

ด้วยบรรยายกาศความเป็นกันเองที่อบอุ่น จึงเป็นจุดขายให้กับคนที่ผ่านมาผ่านไป รู้สึกหลงใหลในวัฒนธรรมแบบไอริชนี้ และแม้ว่ารัฐบาลจะอนุญาติให้จำหน่ายเครื่องดื่มอะไรก็ได้ แต่ด้วยลักษณะ DNA ความชาตินิยมของชาวไอริช เกือบแทบทุกร้านจึงจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันเกือบแทบจะทั้งหมด ซึ่งเป็นเครื่องดื่มจากประเทศ Ireland ไม่ว่าจะเป็น Guinnesse, Jameson, Bushmills บวกกับอาหารพื้นเมืองเลิศรส ไอริชผับจึงได้รับความนิยมเป็นแหล่งรวมตัวไม่เฉพาะชาวไอริชอีกต่อไป นักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมาจึงได้ลิ้มรสชาติของเครื่องดื่ม Made In Ireland และบอกต่อ ๆ กันไปจนทำให้เครื่องของไอริชเป็นที่ขึ้นชื่อลือชา

ปัจจุบันไอริชผับไม่ได้มีเฉพาะที่ประเทศ Ireland เท่านั้น แต่ยังกระจายตัวไปอยู่ทั่วทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทย และเผื่อหนุ่ม ๆ อาจจะไม่ค่อยรู้ว่าร้านที่เป็น ไอริชแท้ ๆ กลิ่นอายจาก Dublin หน้าตาเป็นอย่างไร เราจึงนำจุดเด่นที่พอคุณดูปุ๊ป จะรู้เลยว่าเนี่ยคือร้านไอริชผับต้นตำรับจากประเทศ Ireland แน่นอน

The Real Irish Pub

ผับไอริชของจริงต้องมีเพียงสีเขียวกับน้ำตาล เหมือนคุณกำลังอยู่ในขบวนพาเหรดในวัน St.Patrick อย่างใดอย่างนั้น เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหน คุณจะพบแต่สีเขียวในการตกแต่งร้าน ที่ตัดสลับกับวัสดุไม้ แต่สำหรับผับไอริชที่มีการประยุกต์เอาวัฒนธรรมของอเมริกันเข้าไป จะมีการใช้ tri-colour เหมือนสีต้นไม้ Joshua ในการตกแต่งร้าน คนไอริชจะมีความชาตินิยมสูง ดังนั้นมั่นใจได้เลยว่าของประดับในร้านทั้งหมดจะต้องสื่อความหมายถึงความเป็น Ireland เท่านั้น อะไรที่ไม่เกี่ยวข้องจะไม่มีทางได้เห็นอย่างแน่นอน

 

ส่วนชื่อร้านโดยส่วนใหญ่แล้วจะตั้งตามนามสกุลของเจ้าของผู้ก่อตั้ง อย่างเช่น O’Shea, O’Donnell, Maguire เป็นต้น หรือถ้าอย่างแย่ที่สุดก็จะนำชื่อถนนเส้นนั้นมาตั้งเป็นชื่อร้าน จะไม่มีการนำคำประหลาดพิลึก ๆ มาใช้เป็นชื่อร้าน

การแบ่งโซนต่าง ๆ ภายในร้านหากเป็นบาร์ไอริชที่เราเห็นทั่วไปอาจจะไม่มีการแบ่งโซนบาร์ และเลานจ์ที่นั่งเล่นไว้อย่างชัดเจน จะเป็นการจัดมายัดรวมกันหมดภายในบริเวณเดียว ถ้าหากไอริชผับของจริงต้องแบ่งโซนอย่างชัดเจน บริเวณบาร์คุณจะต้องพบกับทีวีที่เปิดช่องกีฬาทั้งวัน แม้ว่าคุณจะไม่อยากดูก็ตาม กลับกันฝั่งเลานจ์ทีวีจะมีการเปิดสื่อความบันเทิงทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นหนัง หรือรายการเกมส์โชว์ แต่นั้นก็ไม่ได้ช่วยหรอก เพราะเลานจ์สไตล์ไอริช จะต้องมี live band ที่ทำให้ต้องปิดเสียงทีวีเครื่องนั้น

ซึ่ง live band ของไอริชผับจะไม่มีการติดไมค์ หรือเครื่องขยายเสียงแต่อย่างใด เพราะว่าในไอริชผับ จะมีโซนสำหรับพูดคุย เนื่องด้วยวัฒนธรรมของคน Ireland ชื่นชอบในการแลกเปลี่ยนทัศนคติ พวกเขาจะพูดคุยกับคุณไม่ว่าคุณต้องการให้พูดหรือไม่ ทำให้ไอริชผับเหมือนแหล่งรวมตัวชั้นเยี่ยมของก๊วนเพื่อนเหมือนเป็นจุด meeting point จึงไม่แปลกหากจะมีกิจกรรมเกมส์ต่าง ๆ ในร้าน อาทิ โต๊ะพูล หรือการเล่นปริศนาคำใบ้กันในร้าน จะเป็นธรรมเนียมภายในบาร์ไอริช

เพราะบาร์ไอริชในประเทศ Ireland เปรียบดังลมหายใจของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นวันธรรมดา หรืองานแต่ง ทุกคนต้องไปสังสรรค์กันที่ไอริชผับ อย่างเช่น ก่อนที่คู่บ่าวสาวจะเข้าพิธีแต่งงาน พวกเขาก็มักจะดิ่งมาฉลองกันในผับประจำท้องถิ่น ก่อนจะตรงดิ่งไปที่โบสถ์เพื่อทำพิธี และหลังจากเสร็จพิธีพวกเขาก็จะกลับมาฉลองกันอีกแบบ non-stop อีกรอบหนึ่ง จนเป็นที่มาความคอทองแดงของชาวไอริชที่ขึ้นชื่อในเรื่องการดื่มจัด

ที่เจ๋งอีกอย่างคือในไอริชผับไม่มีการจำกัดอายุสำหรับการดื่ม ทำให้หากใครมีโอกาสเดินทางไปประเทศ Ireland จะสามารถเห็นลุงอายุเกิน 60 จนถึงวัยรุ่นเด็กนักเรียน นั่งซัดเบียร์กันตั้งแต่หัววัน สุดท้ายนี้ไอริชผับของแท้จะมีเมนูน้อยนิดให้คุณได้เลือกกิน เพราะคนที่นี่มาเพื่อดื่มไม่ได้มาเพื่อกิน ดังนั้นอย่าคาดหวังถึงเมนูอาหาร เพราะหากเราถามว่าอะไรคือของขึ้นชื่อของไอริชบาร์ พวกเขาคงตอบว่า Chardonnay ( ไวน์ ) หรือเบียร์เป็นแน่แท้

พอเราทราบว่าคาแรกเตอร์ของไอริชบาร์ที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร ในบ้านเราเองก็มีบาร์ประเภทนี้ซ่อนตัวอยู่ตามถนนสุขุมวิทมากมายเต็มไปหมด ทว่าเราจะมาแนะนำ 5 ร้านเด็ด ที่เราได้ไปสัมผัสมากับตัวเองแล้วรู้สึกว่าใกล้เคียงกับความเป็นไอริชผับมากที่สุด จนอยากจะบอกต่อเพื่อหนุ่ม ๆ คนไหนจะลองไปดื่มด่ำกับบรรยากาศสไตล์ Dublin ดู แถมเหมาะจะเป็นจุดรวมตัวของเพื่อนเพื่อรับชมฟุตบอลแมตช์สำคัญ ไม่ต้องเสียอรรถรสมีวงดนตรี หรือเสียงคนคุยกันจ้อกแจ้กเหมือนกับร้านเหล้าแบบไทยสไตล์

Robin Hood

ร้านนี้ถือว่าหาค่อนข้างง่าย เพราะสามารถเดินมาจากรถไฟฟ้าสถานีพร้อมพงษ์ได้เลย โดยร้านจะตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ตรงข้ามกับอุทยานเบญจสิริ  ที่ร้าน Robin Hood ถูกตกแต่งสไตล์ไอริชอย่างชัดเจน เพราะร้านจะถูกประดับประดาไปด้วยธงไอริช บรรยากาศในร้านจะคึกคักเต็มไปด้วยชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเย็น ๆ หลังเลิกงานที่ร้านจะแน่นขนัดเป็นพิเศษ จุดเด่นอีกอย่างของที่นี่คือทีวีมากมายที่พร้อมเปิดฉายช่องกีฬาจากทั่วทุกมุมโลก (ส่วนใหญ่จะเป็นฟุตบอล) ให้หนุ่ม ๆ แฟนกีฬาได้มาแฮงเอ้าท์กับเพื่อนฝูงแบบสุดเหวี่ยง ดังนั้นใครที่อยากจะสัมผัสบรรยากาศการเชียร์บอลแบบใหม่ ๆ พร้อมกับดื่มเบียร์ราคา happy hour ก็สามารถแวะมาได้ที่ร้าน Robin Hood ปากซอยสุขุมวิท 33/1

Herrity’s Irish Pub

เดินเรียบเข้ามาในซอยเดียวกัน (สุขุมวิท 33/1) เราก็จะพบร้านไอริชผับอีกหนึ่งร้านชื่อว่า Herryty’s Irish Pub ร้านนี้มีเมนูอาหารที่ค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่อาหารพื้นเมืองไอริช จนไปถึงอาหารไทย และของหวาน สำหรับบรรยากาศจะค่อนข้างเล็กกว่าร้าน Robin Hood แต่จะได้ความเป็นกันเองมากขึ้น หากหนุ่ม ๆ คนไหนอยากจะปลีกวิเวกมาดื่มคนเดียวหลังเลิกงาน เราแนะนำว่ามาร้านนี้ไม่เสียหาย เพราะทุกวันพฤหัส ทางร้านจะมีการเล่นปริศนาคำใบ้ พร้อมแจกเงินรางวัลกว่า 20,000 บาท สำหรับผู้ชนะ อย่างไรก็ตามแค่ร่วมสนุกคุณจะได้เบียร์ไปดื่มฟรี ๆ เช่นกัน

Mullis

หลายคนอาจจะคุ้นชื่อ Mulligans ร้านไอริชชื่อดังย่านข้าวสาร เพราะจัดเป็นแลนด์มาร์คเด็ดต้องไป ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าที่ Mullis นี่เป็นอีกสาขาหรือแค่บังเอิญชื่อเหมือนกัน โดยร้านตั้งจะอยู่ในซอยสุขุมวิท 11 เข้าไปค่อนข้างลึกทีเดียว แต่ร้านจะตั้งเด่นอยู่ริมถนนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน สำหรับสไตล์การตกแต่งร้านออกมาในโทน Sport Bar จะเน้นฉายช่องกีฬาแบบเต็มข้อและมีโต๊ะพูลให้ได้เล่นกันเพลิน ๆ แถมมีสองชั้นให้เลือกนั่ง ที่สำคัญร้านนี้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นใครดื่มยังไม่สุดและไม่รู้จะไปต่อไหน UNLOCKMEN แนะนำเลยว่าต้องมาที่ร้านนี้

The Drunken Leprechaun

ร้านนี้มีคอนเซ็ปต์ที่มาจากนิทานของชาวไอริชมาเป็นกิมมิคของร้านเกี่ยวกับภูติแคระ ทำให้จะมีพนักงานตัวเล็กน่ารัก ๆ มาคอยให้บริการ ดังนั้น The Drunken Leprechaun จะเน้นความเป็นกันเอง ง่าย ๆ สบาย ๆ  เพราะทีเด็ดอยู่ที่โชว์วงดนตรีที่บอกได้เลยฝีมือระดับเซียน ใครที่ชื่นชอบเพลงอังกฤษยุค 80s-90s ไม่ควรพลาดร้านนี้ มิหนำซ้ำบางสัปดาห์ยังมีสลับผลัดเปลี่ยนเอาโชว์อื่น ๆ อย่างเช่น stand up comedy หรือเกมแจกเบียร์ลังใหญ่ มาคอยเอาใจขาดื่มกันเป็นประจำ สำหรับ The Drunken Leprechau ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 ของโรงแรม Four Points by Sheraton ในซอยสุขุมวิท 15 สามารถมาได้ทั้งทาง MRT (สุขุมวิท) และ BTS (อโศก)

Hanrahans

สำหรับร้านสุดท้ายเราคิดว่า Hanrahans น่าจะเป็นเจ้าของเดียวกับ Herrity’s เพราะลักษณะเมนู วิธีการจัดร้านช่างเหมือนกันราวกับแกะ เพียงแต่ที่นี่จะได้ฟีลดิบกว่า เพราะตั้งอยู่บริเวณย่านนานา ที่มีนักท่องเที่ยวครึกครื้นตลอดทั้งคืน ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่ามานั่งคนเดียวแล้วจะเหงาอย่างแน่นอน  แค่เลือกนั่งโซน outdoor มองคนเดินผ่านไปผ่านมาก็เพลินแล้ว โดย Hanrahans ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 4 ร้านอยู่ติดถนนอีกเช่นกันถือว่าหาไม่ยาก

หลังจากเราได้พิกัดของร้านไอริชผับเจ๋ง ๆ ในกรุงเทพแล้ว ครั้นจะเดินเข้าไปสั่งเบียร์พื้น ๆ ที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาด ก็ดูไม่คูลสักเท่าไหร่ ดังนั้นเราต้องเข้าไปแบบคนเป็นสั่งให้ดูว่าเรามีกึ๋น ซึ่ง UNLOCKMEN จะมาแนะนำเมนูเด็ดพร้อมการจับคู่กินกับเบียร์ที่จะทำให้เราดูเท่ ไม่ว่าจะไปกับเพื่อนหรือไม่โชว์ภูมิกับสาวได้อย่างเหนือชั้น

Guinness (stout) + Heavy Meal

ถ้าพูดถึงเบียร์ยอดฮิตที่เป็นซิกเนเจอร์ของไอริชผับ แบรนด์แรกที่เราจะพลาดไม่ได้ก็คือ Guinness เบียร์ดำแบบ stout ซึ่งรสชาติจัดได้ว่า strong เข้มข้นเพราะผ่านการคั่วจากข้าวบาร์เลย์ จนติดกลิ่นหอมของถ่านไม้มา Guinness จึงเหมาะจะนั่งจิบเรื่อย ๆ ชิว ๆ แบบไม่เร่งรีบ โดยสรรพคุณของเบียร์ดำสามารถขยายเส้นเลือดตีบ แถมยังทำให้สมองแล่น จึงเป็นทางเลือกสำหรับดื่มไปทำงานไปด้วยได้ แต่ถ้าเกิดจะจับคู่อาหารกับเบียร์ดำ เราจำเป็นจะต้องเลือกอาหารจานหนักเพื่อให้รสชาติไปในทิศทางเดียวกันอย่างเช่น พิซซ่า เบอร์เกอร์ หรือสเต็กจะช่วยส่งเสริมทั้งรสชาติของเบียร์และอาหารไม่ให้ถูกกลบลงไป เป็นการกินแบบ compoud

Magner (cider) + Creamy Taste

สำหรับคนที่อาจจะไม่ชอบรสชาติหนัก ๆ ของเบียร์ อาจจะเลือกเป็น Magner (cider) รสผลไม้เพื่อรีเฟรชความสดชื่นหลังจากทำงานหนักมาตลอดทั้งวัน โดยเราสามารถเลือกดื่ม cider ที่มีความเปรี้ยว มาคั่นกับอาหารที่มีความเป็นครีมมี่ อาทิ สปาเก็ตตี้คาโบนาร่า เพื่อตัดความเลี่ยน หรือถ้าจะเกิดอยากได้อารมณ์แบบไอริช สั่งแอปเปิ้ล พาย มาจับคู่กับ Magner (cider) ก็ให้อารมณ์ความกลมกล่อมไปอีกแบบหนึ่งอย่างน่าเหลือเชื่อ

Kilkenny (pale ale) +  Fried

มาร้านไอริชจะพลาด Kilkenny ไปได้อย่างไร เพราะนี่คือเบียร์เจ้าแรกของไอริชที่มีต้นกำเนิดมากว่า 300 ปี  โดยรสชาติของเบียร์จะมีความหวานติดคมปลายเล็ก ๆ แถมถูกอัดด้วยไนโตรเจนทำให้เกิดเป็นฟองสวยงาม จนเป็นที่มาของสโลแกน “cream ale” หากเราอยากจะดื่ม pale ale ตัวนี้ด้วยหลัก cleanes หรือการชะล้างอาหารจานหนัก อย่างเช่นของทอดต่าง ๆ อาทิ  เฟรนฟราย, ฟิชแอนด์ชิพส์ เลือกเป็นถั่วเขียวต้มเพื่อมาตัดความขมของเบียร์ รับรองว่าคุณจะคลีนอาหารมือเย็นได้อย่างไม่ยากเย็น

เราเชื่อว่าเนื้อหา Irish pub ที่นำมาเสนอแบบจัดเต็มอันแน่นในวันนี้ น่าจะทำให้หนุ่ม ๆ ทุกคนได้เข้าใจวัฒนธรรมไอริชผับอย่างแท้จริง ซึ่งในไทยแม้ว่าจะมีหลากหลายร้านที่ติดป้ายว่าเป็นไอริชผับขนานแท้ เราอยากให้เช็กจนมั่นใจก่อน เพราะมีหลายเจ้าที่แอบอ้างสรรพคุณ แต่พอเดินเข้าร้านไปกับไม่มีเครื่องดื่มหรืออาหารต้นตำรับจาก Ireland เลย แบบนี้จะเรียกว่าไอริชผับได้อย่างไร หรือถ้าเกิดชาว UNLOCKMEN มีร้านไอริชผับที่เจ๋ง ก็สามารถแนะนำเรามาได้ เพราะเราเป็นหนึ่งคนที่ชอบใช้เวลาพักผ่อนไปกับร้านสไตล์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใกล้เทศกาลบอลโลกที่จะเตะกันที่ Russia ถ้าจะเอาให้ได้ฟีลอย่างไรก็ต้องไปมันส์กันที่ไอริชผับเท่านั้น

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line