Life

THE REAL: จิณณ์ DHR ชีวิตที่เรียนรู้ผ่านการลงมือทำสู่ YOUTUBER และ VIDEO COLORIST มือฉมัง

By: SPLESS July 2, 2020

ถ้าพูดถึงนักเกรดสีวิดีโอหรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ Video Colorist เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่าคนที่มีความสามารถในด้านนี้จะมีเส้นทางสู่อาชีพนี้ได้อย่างไร จะต้องเรียนฟิล์มหรือไม่ หรือควรมีมุมมองในการทำงานแบบไหน ซึ่งเส้นทางของแต่ละคนคงมีความแตกต่างกันออกไป

แต่สำหรับชายที่ชื่อจิณณ์-โสธร ฉุดพิมาย เจ้าของช่องยูทูบและเพจ JINN DHR ชีวิตเส้นทางสู่การเป็น Video Colorist ของเขาคนนี้ มีทั้งมุมมองที่แตกต่างและประสบการณ์ที่น่าสนใจ แต่เส้นทางการเรียนรู้ชีวิตของเซียนทำสีคนนี้จะพบเจอกับอะไรมาบ้าง มารู้จักตัวเขาให้ดีขึ้นไปพร้อม

ทางเดินที่เลือกเริ่มต้นด้วยตัวเอง

ปัจจุบัน จิณณ์ โสธร ฉุดพิมาย หรือ จิณณ์ DHR คือ Video Colorist หรือนักเกรดสีวิดีโอ และยูทูบเบอร์เจ้าของช่อง Dusty Hue Room (DHR) ช่องครอบจักรวาลที่เปิดให้พูดคุยและแชร์ความรู้เรื่องงานภาพเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการจัดไฟ การถ่าย การตัดและเกรดสี  รวมถึงเป็นอาจารย์สอนพิเศษในระดับมหาวิทยาลัยอีกด้วย แต่ก่อนจะมาถึงวันนี้ตัวเขาต้องใช้เวลาในการตามหาตัวเองและเรียนรู้สิ่งใหม่มามากจนนับไม่ถ้วนเลยทีเดียว

จิณณ์พูดให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการตามหาสิ่งที่อยากทำในชีวิต โดยต้องย้อนกลับไปในสมัยมัธยมปลาย ช่วงเวลาที่เพื่อนและครูกำลังยิงคำถามถึงเขาบ่อย ๆ ว่า จะไปเรียนต่อที่ไหน ?” โดยตัวเขาในเวลานั้นก็ตอบไปอย่างตรงไปตรงมาว่า ฉันยังไม่มีที่ที่อยากจะเรียนต่อวะ ฉันขอไม่เรียนมหาลัยก็แล้วกัน”

“ความคิดของเรามันตีกันมากในช่วงเวลานั้น เรารู้สึกว่าการเรียนต่อยังไม่มีวิชาอะไรเลยที่น่าสนใจพอ ตอนนั้นเราคิดว่า เฮ้ย!! ต้องเรียนอยู่กับวิชาเดียว 4 ปีเลยนะ มั่นใจหรือยังว่าจะเลือก เรารู้สึกว่าตัวเองยังตัดสินใจไม่ได้เลยตัดสินใจพักเบรกตัวเองก่อน”

จิณณ์ในวัยจบมัธยมปลายตัดสินใจพูดตรง ๆ กับครอบครัวว่า “ไม่ต้องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย” แม้จะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับคนรอบตัวอยู่นาน แต่การเลือกที่จะปรับความเข้าใจกันตรง ๆ ก็ทำให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี ช่วงเวลานี้เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้รู้จักและลงมือลองทำสิ่งใหม่ ๆ ให้กับชีวิตจำนวนมาก

ร่วมทำงานมูลนิธิ
สู่เด็กเสิร์ฟอาหารและคนเฝ้าบาร์ในประเทศแอฟริกาใต้  

หลังจากจิณณ์เรียนจบในระดับมัธยมปลาย และรู้ตัวว่าจะไม่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ประสบการณ์แรกที่เขาเลือกมอบให้กับตัวเอง คือการกับทำงานมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กและคนด้อยโอกาสที่ชื่อ Music Sharing  ซึ่งมูลนิธิที่นำดนตรีมามีส่วนในการช่วยดูแลเด็กและช่วยเหลือชุมชนของให้ดีขึ้น โดยเริ่มจากการทำกิจกรรมในย่านคลองเตย

ขณะเดียวกันระหว่างทำงานร่วมกับมูลนิธิต่าง ๆ จิณณ์ก็ตัดสินใจพาตัวเองไปลองใช้ชีวิตในต่างแดน ซึ่งประจวบเหมาะกับคุณพ่อที่ทำงานเกี่ยวกับคนงานในประเทศแอฟริกาใต้ ทำให้มีคนงานชาวไทยอยู่เป็นจำนวนมากจนเกิดเป็น Thai Community เกิดขึ้นมา

จิณณ์มีโอกาสได้ไปทำงานกับเพื่อนของพ่อในการดูแลร้านอาหารไทย หน้าที่คือดูแลการรับ-ส่งของและวัตถุดิบเข้าร้าน โดยการทำงาน 1 รอบจะกินเวลาประมาณ 2-4 เดือน ตัวเขาบอกว่าเดินทางไป-กลับประเทศแอฟริกาใต้ทั้งหมด 3 ครั้งและทุกครั้งก็มักได้รับประสบการณ์ที่น่าสนใจติดตัวกลับมาเสมอ

เรามีโอกาสได้พบเจอกับคนที่มีความคิดคล้ายกันกับเรามากขึ้น คนที่คิดว่าไม่จำเป็นจะต้องเรียนรู้โดยระบบ ในสถานใดสถานที่หนึ่งเสมอไป แต่สามารถเรียนรู้ผ่านหนังสือ อินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งการขอร้องว่าคนอื่นว่า “พี่ผมขอไปฝึกงาน ผมขอเฝ้าร้านให้พี่นะ” จิณณ์กล่าวเสริม

ชีวิตกับเสียงดนตรีและการขึ้นแสดงในเทศกาล WonderFruit

นอกจากการทำงานมูลนิธิและคนดูแลร้านอาหารในต่างประเทศแล้ว อีกความชอบหนึ่งที่จิณณ์มีติดตัวมาตั้งแต่วัยเด็กคือการเล่นดนตรี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพาร์ตของชีวิตที่ตัวเขาชื่นชอบไม่แพ้ส่วนอื่น ถึงขนาดเคยปลอมบัตรประชาชนเพื่อเข้าไปเล่นตามผับและโรงแรมกับรุ่นพี่และอาจารย์กันเลยทีเดียว

การเล่นดนตรี คืออีกหนึ่งทางเลือกที่ผมชอบมานานตั้งแต่ประถมแล้ว ตอนมัธยมเราหันมาเล่นแซกโซโฟน เริ่มจากเล่นเพลงแจ๊สกับเพื่อน ๆ ต่อมาเพื่อนที่สนิทมากเป็นมือกลองของวงเขาขาหัก จนต้องเลิกเล่นและไปเรียนด้านอื่น ทำให้ต้องยุบวงไป

ด้วยความที่เล่นด้วยกันมานาน ขนาดที่หันไปมองหน้ากันก็รู้ว่าต้องทำยังไง การเลิกของเพื่อนสนิทเลยทำให้เราตัดสินใจเลิกเล่นแจ๊สไป พอมีโอกาสได้ไปอยู่เมืองนอก ก็มีโอกาสได้รู้จักกับดนตรีโฟล์คมากขึ้น  ได้ไปเจออากาศเย็น ๆ กับคนเล่นกีตาร์ตัวเดียว เราก็เลยตัดสินใจเริ่มศึกษาดนตรีโฟล์คอีกครั้ง”

จิณณ์ตัดสินใจทำวงดนตรีโฟล์คขึ้นกับเพื่อนและพี่ที่รู้จักอีกครั้ง ในช่วงแรกเขายอมรับว่าวงยังขาด Element ในหลายด้าน เพราะมัวแต่คิดว่าตัวเองอยากจะใส่อะไรลงไปในเพลงบ้าง แต่ไม่ได้คิดเลยว่าคนฟังจะต้องการอะไร แต่การฟอร์มวงในครั้งนั้นถือว่าน่าพอใจเพราะในช่วงท้าย พวกเขาจบด้วยการได้เล่นในเทศกาลดนตรีและศิลปะอย่าง Wonderfruit

แต่ก็เหมือนกับคำสาป เพราะหลังจากการร่วมงานครั้งนั้นสมาชิกแต่ละคนในวงของเขาก็มีอันต้องแยกย้ายไปทำหน้าที่ของตัวเอง ส่วนจิณณ์ยังคงทำงานด้านมูลนิธิสลับกับการจัดการร้านอาหารต่อไป แต่ใครจะรู้ว่าการกลับไปเยือนแอฟริกาใต้อีกครั้ง กำลังจะทำให้ชีวิตของเขาได้รู้จักกับการถ่ายภาพและงานย้อมสีซึ่งจะเป็นจุดยืนสำคัญของชีวิตในเวลาต่อมา

จุดเริ่มต้นการทำความรู้จัก การเกรดสีและงานวิดีโอ  

 ช่วงที่จิณณ์ยังคงอาศัยและทำงานอยู่ในประเทศแอฟริกา นอกจากได้รับมุมมองจากผู้คนและประสบการณ์ในการใช้ชีวิตแล้ว ที่นี่ยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เขาโคจรมาพบกับอาจารย์คนแรก ที่ทำให้ได้รู้จักการทำสีภาพ โดยเริ่มจากการมีโอกาสได้ไปถ่ายรูปแนวสัตว์ป่า (Wild Life) และได้พบช่างภาพต่างประเทศคนหนึ่ง หลังจากเห็นการทำงานของช่างภาพคนดังกล่าว จิณณ์ก็ประทับใจและถือโอกาสขอร้องเพื่อฝึกงานด้วย จนนำมาสู่การเกรดสีครั้งแรกในชีวิตที่เกิดขึ้นกับภาพถ่าย

ด้วยความที่อาจารย์ของผมเขาเริ่มถ่ายภาพจากกล้องฟิล์มมาก่อน พอเปลี่ยนมาถ่ายกล้องดิจิทัลอารมณ์ภาพจึงไม่เหมือนกัน เขาเลยโยนงานมาให้เรา นั้นเป็นครั้งแรกที่เราได้มีโอกาสเกรดสี เป็นครั้งแรกเลยที่เราได้รู้จักกับงานแนวนี้”

 

จิณณ์ฝึกฝนเกี่ยวกับการถ่ายภาพและการทำสี จนกระทั่งเดินทางกลับมาอยู่ในเมืองไทยจึงเลือกจะไปทำงานในกองโปรดักชันเล็ก ๆ โดยมีหน้าที่ย้อมสีภาพนิ่งซึ่งไม่เป็นที่นิยมนักในยุคสมัยนั้น ก่อนเหตุการณ์พลิกชีวิตของเขาจะเกิดขึ้น เมื่อผู้กำกับในกองเดินมาพูดว่า “มึงทำย้อมสีขนาดนี้ ทำไมไม่ทำงานเป็น Colorist เลยวะ!“

นั่นเป็นครั้งแรกที่จิณณ์ได้ยินคำว่า Colorist ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยรู้เลยว่า Colorist มีหน้าที่อะไร ก่อนนำคำแนะนำที่ได้มาไปต่อยอดหาข้อมูลเพิ่มเติม และตัดสินใจค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ในการทำสีวิดีโอเพิ่มมากขึ้นด้วยตัวเอง

จิณณ์เล่าให้ฟังถึงช่วงแรกที่เริ่มศึกษางานด้านนี้ เขายอมรับว่าค่อนข้างยากและลำบาก เพราะต่อให้ในยุคนั้นมีอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังไม่มีช่องยูทูบในเชิงสอนให้ความรู้ออกมามากนัก ตัวเขาจึงตัดสินใจซื้อหนังสือเกี่ยวกับ Color Grading มาศึกษาเอง แต่ความยากก็ยังไม่ลดลงไม่แต่น้อย

ด้วยความที่หนังสือเป็นภาษาอังกฤษ เราก็อ่านไม่ออก ก็พยายามเรียนภาษาไปด้วยเพื่อแกะคำให้รู้เรื่อง เพื่อจะนำความรู้ในหนังสือออกมาใช้ จนมาถึงยุคที่เริ่มมีช่องสอนเกี่ยวกับการเกรดสี ทำให้เรามีโอกาสได้ศึกษาตรงนี้เพิ่มเติม ต่อมาเรามีโอกาสไปสอนโปรแกรม Davinci ในโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่ง ทำให้มีชื่อติดเข้ามาติดอยู่ในทำเนียบอาจารย์สอน Davinci ที่มีในเมืองไทย”

การมีรายชื่ออยู่ในทำเนียบอาจารย์สอน Davinci ทำให้บริษัทผู้ผลิตโปรแกรม Davinci อย่าง Black Magic Design ติดต่อเข้ามาเพื่อชักชวนเขาให้ไปสอบเป็นเทรนเนอร์ จิณณ์ตัดสินใจอย่างรวดเร็วในการตอบรับเข้าฝึกและสอบประมวลผลจนกระทั่งได้ใบรับรองมาครองได้สำเร็จ ถือเป็นการการันตีฝีมือที่ยอดเยี่ยมในงานด้านนี้ของตัวเขาอีกครั้ง

หลังหันทำงานเกี่ยวกับวิดีโอมากขึ้น จิณณ์ก็ตัดสินใจทุ่มเทให้กับงานวิดีโอแบบเต็มตัว เริ่มจากเปิดเพจและช่องยูทูบของตัวเองในชื่อ JIN DHR แต่ในเวลาเดียวกันก็ได้รับการติดต่อจากคุณเอก VFX บอกว่าได้เสนอให้ทางมหาวิทยาลัยรังสิตนำเขามาสอนในเรื่องนี้ จินณ์บอกว่านี่คือจุดเปลี่ยนอย่างแท้จริงที่ทำให้เขาทุ่มเทให้กับงานวิดีโอ และการแชร์เทคนิคต่าง ๆ ผ่านเพจและช่องของเขาเอง

อย่างไรก็ตามการทำช่องยูทูบหรือเพจก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแม้จะเป็นเรื่องที่ชอบหรือถนัด หลังจากลงมือทำได้สักพักเขาก็เริ่มมองเห็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากยอดการเข้าชมที่ลดลง รวมถึงเสียงตอบรับที่สะท้อนกลับมา 

ช่วงหนึ่งมีปัญหามากขึ้น ผมทำ EP ออกมาเยอะมาก แต่ไม่มีคนดูเลย เราเพิ่งจะมารู้ทีหลังว่าวิดีโอแนะนำที่เราทำ มันเข้าใจยากจนเกินไปและต้องมานั่งไล่ดูทุก EP ถึงจะเข้าใจได้ ซึ่งคนเราไม่มีเวลามากขนาดนั้น ต่อมาเราจึงมานั่งคิดหาวิธีว่า ทำยังไงถึงจะสามารถเอาความรู้ดี ๆ ที่มีไปแชร์ให้กับคนอื่นได้ ไม่ใช่ทำออกมาจำนวนเยอะ ๆ เพียงอย่างเดียว”

จิณณ์ยังยอมรับว่าเคยหันกลับมามองคนที่ทำงานประจำบ่อยครั้งและคิดว่าหรือตัวเองควรออกมาทำงานประจำดี เพราะการเป็นฟรีแลนซ์ที่ทำอยู่ มีทั้งความยากและการกดกันตัวเอง แต่เมื่อถามว่าทำไมจึงเลือกทำต่อ คำตอบก็ง่าย ๆ คือเพราะลูกเพจของเขานั่นเอง

 เพราะลูกเพจเลยครับ ถ้าไม่มีพวกเขาทุกวันนี้คงเลิกทำไปแล้ว ทุกคอมเมนต์ในยูทูบ หรือทุกความเห็นที่มีคนบอกว่า ขอบคุณนะ ที่เอาวิธีดี ๆ มาแบ่งปันกัน มันทำให้เรารู้ว่าเรากำลังยืนอยู่ตรงไหน ตัวเองกำลังมีหน้าที่อะไรต่อสังคม ผมมองว่าจุดนี้เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ผมอยากวิ่งไปต่อบนเส้นทางนี้”

ในเวลาเดียวกัน การมีโอกาสได้รู้จักและพูดคุยกับคนเก่ง ๆ หรือมีความรู้มากก็ช่วยให้เขาได้รับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปใช้พัฒนางานของตัวเองให้มีความคุณภาพมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือความรู้ด้านการตลาดที่ทำให้ตัวเขาเข้าใจว่า การทำอะไรออกมาในยูทูบเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจในรายละเอียด ตั้งแต่ การคิดว่าคลิปที่ลงไปให้อะไรกับคนดูบ้าง หรือวิธีเล่าแบบไหนที่คนดูจะได้ประโยชน์สูงสุด

อีกหนึ่งความยากของการเป็นยูทูบเบอร์ในมุมของจิณณ์คือ การห้ามหลุดออกจากวงโคจรของคนดู ต้องมีการวางแผนให้คนอยากติดตาม ซึ่งไม่ต่างจากการเป็นเจ้าของธุรกิจที่ต้องการพัฒนาร้านของตัวเองให้ดีและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ ขณะเดียวกันเพจหรือช่องจะต้องเป็น Community ที่ทุกคนสามารถมาแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ รวมถึงสามารถถกเถียงกันโดยไม่มีการตัดสินว่าถูกหรือผิด แต่เป็นการถกเพื่อหาวิธีที่ได้ผลดีที่สุดแทน

Community แห่งการถกเถียงเพื่อสร้างสรรค์

เรื่องที่น่าสนใจคือเมื่อเราถามจิณณ์ว่า ตัวเขารู้สึกเหมือนกับเป็นคนสร้าง Community แห่งนี้ขึ้นมาหรือไม่ เขากลับตอบกลับได้อย่างน่าสนใจว่า สำหรับตัวเขาแล้ว Community แห่งนี้เป็นที่ที่ทุกคนในเพจและช่องช่วยกันสร้างขึ้นมากกว่า ตัวเขาเป็นแค่คนที่เจาะรูให้น้ำไหลผ่าน เขาไม่ใช่คนสร้างแต่เป็นทางผ่านให้ผู้คนมาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกัน พร้อมทิ้งท้ายไว้ว่า

ผมเชื่อว่า Community จะทำให้เกิดการถกเถียงกัน ซึ่งจะย่อยข้อมูลที่มีประโยชน์ออกมา ผมจึงต้องการให้ทุกคนใน Community มาคุยกัน เพื่อช่วยยกระดับวงการของคนทำวิดีโอในยูทูบ ไม่ว่าจะเป็นคนดู คนผลิต ให้มาช่วยกันสร้างความเข้าใจและพัฒนาวงการไปพร้อมกันได้ และตอนนี้รู้สึกว่าต้องเริ่มต้นและลงมือทำก่อน”

ก่อนบทสนทนาระหว่างจิณณ์ DHR และ UNLOCKMEN จะจบลง เราได้ขอให้จิณณ์ฝากแนวคิดถึงคนที่มีแผนอยากเริ่มต้นตามหาความชอบด้วยเส้นทางของตัวเอง และคำตอบที่ได้รับมาก็น่าสนใจและเหมาะสมกับตัวเขามาก

 “สำหรับคนที่อยากลองตามหาตัวเอง หรือเรียนรู้ด้วยตัวเอง ด้วยความที่ผมโตมากับ YouTube ผมก็จะแนะนำให้ทุกคนเริ่มต้นกับช่องทางนี้ เพราะปัจจุบันแทบจะมีทุกอย่างให้ดูให้ศึกษาแล้ว ส่วนเรื่องถูกหรือผิดค่อยมาว่ากัน ถ้าเราศึกษาเยอะจะรู้เองว่าถูกหรือผิด ผมอยากแนะนำให้เริ่มจากสิ่งที่เข้าถึงง่าย ๆ อย่างอินเทอร์เน็ตเพราะช่องทางนี้ไม่มีข้อจำกัดในการหาความรู้ไม่ว่าจะเป็นภาษาไหนก็ตาม  

แต่ในเวลาเดียวกันที่เริ่มศึกษาก็ไม่ควรทิ้งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน อยากให้ทำควบคู่กันไป ผมคิดว่าคนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำอาชีพเดียวและตายไป แต่สามารถทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกันได้ ซึ่งต้องพึ่งพาแบ่งเวลาและวางแผนให้ดีว่าอยากลงน้ำหนักไปกับเรื่องอะไรก่อนลงมือทำให้เต็มที่ ถ้าวันไหนรู้สึกไม่ไหวคอยเปลี่ยนมาถ่วงน้ำหนักให้ชีวิตสมดุลอีกครั้งด้วยความชอบและความถนัดในด้านอื่น ๆ”

เรียกว่าชีวิตกว่าจะก้าวมาเป็นยูทูบเบอร์และนักเกรดสีวิดีโอของจิณณ์-โสธร ฉุดพิมาย ได้เดินทางผ่านร้อน-หนาวมาพอสมควรทีเดียว แม้ช่วงแรกเริ่มตัวเขาจะเลือกไม่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่ประสบการณ์จากการลงมือทำงานและลุยชีวิตจริง ๆ ก็ทำให้เขาแกร่งและเก่งขึ้นได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามมีแนวคิดที่น่าสนใจ ที่เราได้รับจากเรื่องราวของเขาคนนี้นั่นคือ “เมื่อไหร่ที่ชีวิตได้เจอเรื่องที่ทำแล้วมีความสุขทั้งกับตัวเองและคนอื่น เราก็ควรคว้าโอกาสและเต็มที่กับมันให้มากที่สุด เหมือนกับที่จิณณ์ DHR ได้เลือกให้เส้นทางการเป็นยูทูบเบอร์และการเกรดสีวิดีโอให้มาเป็นเส้นทางหลักในชีวิตตอนนี้

และไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจมีโอกาสได้เห็นชายที่มีความชอบในชีวิตจำนวนมากคนนี้ ตัดสินใจลงมือทำอะไรที่แตกต่างและแปลกใหม่ ๆ ออกมาอีกในอนาคตก็เป็นไปได้ เพราะสำหรับมนุษย์อย่างเรา “การเรียนรู้และลงมือทำไม่มีคำว่าสิ้นสุดหรือสายเกินไปอยู่แล้ว”

Photographer: Warynthorn Buratachwatanasiri

SPLESS
WRITER: SPLESS
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line